Second Opinion หมายถึงการขอความเห็นที่สองทางการแพทย์เพื่อหาความเห็นอีกมุมมองหนึ่งซึ่งอาจเหมือน คล้ายหรือต่างกันกับแพทย์ท่านแรกที่เรารักษาอยู่ก็ได้การทำอย่างนี้มักเกิดขึ้นในกรณีที่
1. ได้รับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยต้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วนและผู้ป่วยต้องการความเห็นจากหมอท่านอื่นเผื่อมีการรักษาที่ดีกว่าและอันตรายน้อยกว่า
2. ได้รับการวินิจฉัยจากหมอว่าเป็นโรคร้าย เช่น มะเร็ง,โรคเกี่ยวกับสมอง, หัวใจ
3. คำวินิจฉัยของหมอเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อของผู้ป่วย
4. บริษัทประกันหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ร้องขอ
5. ผู้ป่วยมีความกังขาในความชำนาญของหมอว่าอาจจะวินิจฉัยบกพร่องหรือผิดพลาด
6. หมอที่รักษาร้องขอให้มีการขอความเห็นจากหมอท่านอื่น
ปัจจุบันแม้แต่ตัวหมอเองก็มีความชำนาญที่ไม่เหมือนกันทำให้มีการถามความเห็นจากหมอที่เชี่ยวชาญกว่าอาจจะเป็นเพื่อนหมอกันเองหรืออาจารย์หมอท่านอื่น ๆ ก็ได้
หลังจากหาหมอครั้งที่5 หมอได้สั่งยาเดิม ๆ (Esidep,Apalife, Prenapil)เพิ่มเติมคือเพิ่มจำนวนในการกินเพื่อทำให้ฉันนอนหลับง่ายขึ้น ไม่ต้องหลับ ๆ ตื่น ๆตอนกลางคืนอีกแล้ว แต่ยาพวกนั้นมันไม่ได้ผล เมื่อเพิ่มโดสอาการนอนของฉันมันยิ่งแย่ลงจากตาหมีแพนดาแบบน้อย ๆ เริ่มกลายเป็นต้องใช้เครื่องสำอางปกปิดใต้ตาโดยเฉพาะ
หาSecond Opinion ดีกว่าไหมอย่างนี้ วูบหนึ่งขณะทำงานฉันคิดอย่างนี้และวูบนั้นนั่นแหละที่ฉันยกหูโทรศัพท์ขึ้นแล้วนัดคิวคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งโดยบอกเขาไปว่า ‘ขอคิวที่เร็วที่สุดค่ะ’ เพื่อให้เร็วกว่าการนัดหมอครั้งที่ 6 ของฉัน
แล้วฉันก็ได้คิวมาวันที่12 มีนาคม ฉันรีบขอลางานทันทีต่อให้เป็นคลินิกนอกเวลาราชการที่เปิดรักษา 4 โมงเย็นถึง 2ทุ่มฉันก็ไม่สามารถไปหาหมอทั้ง ๆ ที่ไม่ลางานได้เนื่องจากกว่าจะไปถึงที่นั่นจากที่ทำงานของฉันก็คงปาเข้าไป 2 ทุ่มครึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นการหาหมอครั้งนี้เป็นการหา SecondOpinion โดยแท้ คือเอาเฉพาะความเห็นล้วน ๆ ไม่ต้องมีการนัดหมายเพิ่มไม่ต้องมีการสั่งยาแล้วติดตามผล เพราะฉันไม่สามารถลางานไปได้บ่อย ๆ จริง ๆ ยังไงเสียฉันก็ต้องกลับไปรักษากับหมอC คนเดิมอยู่ดี
ไม่ใช่ว่าหมอคนเดิมรักษาไม่ดีเขารักษาดีมากเลยล่ะ และเชี่ยวชาญเรื่องนอนไม่หลับเสียด้วยแต่อาจจะไม่เชี่ยวชาญเรื่อง OCD หรือเปล่าฉันคิดอย่างนี้ เลยต้องไปขอความเห็นจากหมอคนอื่นเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่หมอคนเก่ามั่นใจถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ว่าฉันเป็น OCDนั้น หมอคนอื่นเขาว่ายังไง
เมื่อผ่านวูบแห่งความสับสนตรงนี้มาได้แล้วทะเลแห่งจินตนาภาพชั่วร้ายก็เริ่มปั่นป่วนอีกครั้ง
หมอเขาดีจะตายนี่เป็นการไม่ให้เกียรติหมอหรือเปล่า
ฉันกำลังทรยศหมออยู่นะต่อไปนี้จะอคติกับการรักษาและทำให้ฉันไม่ดีขึ้นไหม
ถ้าหมออีกคนบอกอีกอย่างหนึ่งล่ะฉันจะเชื่อใคร
ถ้าความเห็นต่างกันฉันควรจะบอกหมอของฉันเพื่อให้พิจารณาใหม่ดีไหมมันเป็นการหักหน้ากันหรือเปล่า
และสารพัดความคิดด้านลบที่พอจะคิดได้จนถึงขั้นมีภาพรถไฟฟ้าพลิกคว่ำระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาลแห่งนั้นเสียยังดีกว่าต้องไปเจอความคิดเห็นที่ต่างกันฉันตัดสินใจโทรไประบายกับสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ถ้ามีการทำบัตรสมาชิกสายด่วนสุขภาพจิต ฉันคงเป็นสมาชิกระดับ GoldMember ไปแล้ว
“คุณคิดว่าตอนนี้คุณยังอยากได้Second opinion ไหมคะ”
“อยากค่ะ”
“คุณคิดว่าถ้าคุณยกเลิกนัดแล้วคุณจะเสียดายไหมคะ”
“เสียดายค่ะ”
“ถ้าอย่างนั้นไปค่ะ ทำตามความต้องการของคุณ การหา SecondOpinion ทางการแพทย์จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย มันก็เหมือนเราทำงานแล้วถามความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานหลายคนเท่านั้น”
คำพูดนั้นแหละฉันถึงได้บอกคอนเฟิร์มนัดกับโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่โทรมาเมื่อตอนเช้าทันที
โรงพยาบาลที่ฉันไปพบเพื่อขอความเห็นที่2 เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชที่บรรยากาศดีมากแทบจะคล้าย ๆ โรงพยาบาลเอกชนเสียด้วยซ้ำ ไม่มีกลิ่นยาคละคลุ้งไม่มีเสียงเรียกชื่อผู้ป่วยดังสนั่น ไม่ต้องเดินหลบรถเข็นและเตียงพยาบาลที่เข็นไปมาพร้อมสายน้ำเกลือระโยงระยางเหมือนโรงพยาบาลทั่วๆ ไป
ฉันไปทำธุระเรื่องทำบัตรผู้ป่วยใหม่เสร็จแล้วเดินขึ้นไปรอตรวจชั้น2 ระหว่างรอหมอก็ต้องมีการซักถามประวัติและทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าจากพยาบาลก่อน(หากใครอยากลองทำแบบประเมินออนไลน์ลองเข้าไปทำได้ที่ http://www.srithanya.go.th/srithanya/files/pr/10072558/2Q_9Q_8Q_1.pdf)
“อืม...ความจริงภาวะอย่างน้องนี่ต้องส่งห้องฉุกเฉินแล้วนะคะ”
“โอ้โห! ฉันมันฉุกเฉินขนาดนั้นเลยเหรอคะ”
“ก็...เอาเป็นว่าลองไปพูดกับคุณหมอดูก่อนก็แล้วกัน”
หลังจากที่ฉันทำแบบทดสอบเสร็จแล้วเปิดแผลที่ทำร้ายตัวเองให้พยาบาลดูเขาก็พูดออกมาอย่างนั้น วันนั้นฉันไม่ได้ถูกส่งไปแผนกฉุกเฉินอาจจะเพราะการแสดงออกภายนอกของฉันมันไม่เหมือนคนที่คิดจะฆ่าตัวตายภายในวันสองวันแค่มีการทำร้ายร่างกายตัวเองทุกวันเท่านั้นเอง อีกอย่างฉันบอกชัดเจนว่ามาที่นี่เพื่อต้องการความเห็นที่2 ทางการแพทย์จากคุณหมอไม่ได้ต้องการรักษาต่อที่นี่แต่อย่างใด
ที่โรงพยาบาลแห่งนี้มีร้านค้าร้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ตึกหน้าของโรงพยาบาลมีไว้เพื่อให้ผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในได้มีโอกาสทำงานเพื่อฟื้นฟูทักษะการเข้าสังคมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นผ่านการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ทั้งการทำของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ เช่น ถ้วย จาน ชาม และมีร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่มีทั้งเบเกอร์รี่และเครื่องดื่มที่ทำโดยฝีมือผู้ป่วยจิตเวชทั้งสิ้น
ตอนที่ฉันไปถึงร้านนี้เป็นเวลาที่ผู้ป่วยในต้องออกมาจากร้านเพื่อกลับเข้าไปในโรงพยาบาลพอดีความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้เหมือนภาพจำในละครที่ต้องทำอะไรบ้า ๆ บอ ๆ อย่างพูดคนเดียว,เดี๋ยวยิ้มเดี๋ยวร้องไห้ หรือคลุ้มคลั่ง พวกเขาก็ปกติเหมือนอย่างเรา ๆ ทั่วไปแต่แค่อยู่ในชุดของโรงพยาบาลสีชมพูเท่านั้นเอง แต่ฉันไม่อยากขาดงานตัดขาดจากการสื่อสารภายนอกแล้วไปใส่ชุดสีชมพูอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชและอีกส่วนหนึ่งอาจจะเพราะฉันยังยอมรับตัวเองไม่ได้ว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในผู้ป่วยจิตเวชเช่นเดียวกันเพราะฉะนั้นคำว่า ‘อย่างน้องความจริงต้องส่งไปห้องฉุกเฉิน’ เป็นอะไรที่ทำให้ฉันรู้สึกกลัวขึ้นมาทันที
ประมาณ20 นาทีหลังจากพยาบาลซักประวัติชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงแล้วฉันก็ได้พบหมอสมใจ หมอที่ได้พบในวันนั้นเป็นหมอผู้หญิงและท่าทางดูคล่องแคล่วว่องไว ที่โรงพยาบาลนี้เวลาที่หมอสอบถามหรือสัมภาษณ์อะไรจะใช้ระบบคุณหมอพิมพ์ข้อมูลเข้าไปในคอมพิวเตอร์ซึ่งแน่นอนว่าฉันไม่มีสิทธิแม้เพียงจะแอบมองสักแวบหนึ่งเหมือนอย่างโรงพยาบาลที่ฉันรักษาอยู่ที่ยังใช้ระบบหมอเขียนในกระดาษเอง
“ทำไมคุณถึงมาหาหมอคะ”
“ต้องการความเห็นที่2 ค่ะว่าที่รักษากันอยู่กับหมอคนเดิมเป็นวิธีที่มาถูกทางแล้ว ไม่ใช่เสียเวลาไปเปล่า ๆ”
หลังจากนั้นหมอก็ถามคำถามและอาการของฉันหลายอย่างมือก็พิมพ์ต๊อกแต๊ก ๆ บนแป้นพิมพ์ไปเรื่อย ๆ ฉันสังเกตว่าเวลาที่หมอใช้ไปกับฉันมันนานกว่าที่ใช้ไปกับคนไข้คนอื่นๆ จนสุดท้ายก็เหมือนจะได้ข้อสรุป
“เอาล่ะถ้าวันนี้คุณอยากได้ความคิดเห็นของหมอนะ หมอว่าหมอเห็นด้วยกับหมอที่รักษาคุณอยู่นั่นคือคุณเป็นโรค OCD”
“หมอมั่นใจอย่างนี้กี่เปอร์เซ็นต์คะ”
“หมอตอบออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้แต่เอาเป็นว่าโรคแรกที่เข้ามาในหัวหลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณก็คือโรค OCD”
“แสดงว่ายังมีโรคอื่นๆ ในความคิดหมออยู่สินะคะ”
“อืม...อีกโรคหนึ่งคือไบโพล่าร์เพราะหมอสังเกตว่าคุณพูดเร็วมาก เหมือนคำพูดไปเร็วกว่าความคิดและมีพฤติกรรมหลายอย่างที่สุ่มเสี่ยง แต่หมอยังคอนเฟิร์มโรคไบโพล่าร์ไม่ได้ เนื่องจากเป็นโรคที่ต้องติดตามผลหมอคิดว่าคุณกลับไปรักษากับหมอคนเก่านั่นล่ะดีที่สุดแล้ว เขาเป็นถึงอาจารย์หมอเขาเชี่ยวชาญเรื่องโรคนี้มากกว่าหมอที่นี่นะ”
“ในความคิดของพวกจิตแพทย์แล้วการหาSecond Opinion เป็นการไม่ให้เกียรติหมอไหมคะ”
“ไม่นะการหา Second Opinion ในทางการแพทย์เป็นเรื่องปกติแต่อย่า Shopping คืออย่าเปลี่ยนหมอไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าหมอคนนี้รักษาไม่หายก็เปลี่ยนหมอไปรักษาที่อื่น หมอที่อื่นก็ยังไม่พอใจ ก็เปลี่ยนหมอไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ไม่โอเคเพราะโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษา”
“ค่ะ”
“อีกอย่างคุณไม่ควรยึดติดกับการวินิจฉัยทางการแพทย์มากนักชื่อโรคมันก็แค่เป็นสิ่งที่หมอเอาไว้ใช้คุยกันปรึกษากันหรือเป็นบันทึกทางโรงพยาบาล โรคทางจิตเวชไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า, OCD, วิตกกังวลหรืออะไรพวกนี้ยังไงก็ใช้ยากลุ่มเดียวกันคือ ยากลุ่ม SSRIs เพราะฉะนั้นการรับยาอย่างนี้คือคุณมาถูกทางแล้ว”
คำพูดนี้มันไปสัมพันธ์กับคำพูดของหมอในห้องตรวจหมายเลขห้าที่ฉันรักษาอยู่ว่าฉันไม่ควรจะไปสนใจกับคำวินิจฉัยของหมอมากนักไม่ต้องไปถามทุกครั้งว่าหมอมั่นใจกี่เปอร์เซ็นต์เพราะคำวินิจฉัยก็แค่เพื่อเป็นบันทึกให้กับทางโรงพยาบาล สิ่งที่ต้องทำกับโรคนี้มากกว่าที่ฉันควรจะใส่ใจไม่ว่าจะการกินยาให้ตรงต่อเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และทำจิตบำบัด
หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว(โชคดีมากที่ไม่ต้องแอดมิดหรือไปห้องฉุกเฉิน) คำพูดของหมอทำให้ฉันสบายใจขึ้นมากอย่างน้อยทะเลความคิดที่ว่า ถ้าความเห็นของหมอคนที่ 2 ไม่เหมือนกับหมอคนแรกฉันจะทำยังไงดี ก็ทำอะไรฉันไม่ได้แล้ว สบายใจไปเปราะหนึ่ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in