ในที่สุดก็มีโอกาสเขียนถึงหนังโปรด(และเพลงโปรด)ตลอดกาลซะที ขอเกริ่นนำเกี่ยวกับตัวหนังก่อนว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในค่ายเชลยของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีวัฒนธรรมและความรู้สึกของทหารฝั่งญี่ปุ่นกับเชลยชาวตะวันตกเป็นตัวดำเนินเรื่อง และมีประเด็นความรักต้องห้ามของเพศเดียวกันเป็นใจความสำคัญของเรื่อง ซึ่ง! สำหรับเรา เรื่องของความศรัทธาที่สวนทางกับความรู้สึกในหนังเรื่องนี้มันน่าสนใจจนทำให้เกิดอิมแพคทางอารมณ์แรงมากหลังดูจบ
ตัวหนังวางประเด็นตั้งแต่ต้นเรื่องว่าการมีความรักให้กับเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องที่ผิด ชั่วร้าย และขัดกับจารีตประเพณีของทหารญี่ปุ่น แล้วก็โยนปมกัปตันประจำค่ายที่มีความรู้สึกพิเศษต่อเชลยในค่ายตัวเองเข้ามา เข้มข้นใช่มั้ยล่ะ!
และตัวหนังยังชูประเด็นความคอนทราสต์ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความต่างกันของวัฒนธรรม เช่น การแพ้พ่ายจนถูกจับเป็นเชลยสำหรับชาวญี่ปุ่นถือว่าเป็นการเสียเกียรติและศักดิ์ศรี สมควรจะทำฮาราคีรี (การฆ่าตัวตายตามวิถีของซามูไร) แต่ฝั่งตะวันตกนั้นมองว่าถึงถูกจับเป็นเชลยแต่อย่างน้อยก็ยังมีชีวิตอยู่
ส่วนคาแรคเตอร์ตัวละครหลักทั้งหมดมันก็ช่างดีเหลือเกิน ฝั่ง แจ็ค เซลเลียร์ (David Bowie) คือคนที่กล้าหาญกึ่งๆ บ้าบิ่น รักพวกพ้องและเป็นผู้นำที่ดี ฝั่ง โยโนอิ (Sakamoto Ryuichi) ก็เป็นคนที่รักเกียรติและศักดิ์ศรีตัวเองยิ่งชีพ แถมทั้งสองคนยังมีปมในใจเหมือนกัน ก็คือมีความละอายต่อตนเอง เซลเลียร์นั้นเป็นเรื่องที่เขาได้ละเลยน้องชายในวัยเด็ก ส่วนโยโนอิเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่กับพรรคพวกตอนเกิดรัฐประหาร ทำให้รู้สึกละอายที่เพื่อนตายหมดแต่ตัวเองรอด พอคนเอ็กซ์ตร้าสองคนมาเจอกันก็เกิดแรงดึงดูดทำให้โยโนอิชื่นชมผู้ชายคนนี้เป็นพิเศษจนพัฒนาไปเป็นความรู้สึกทางอารมณ์อันแรงกล้า ส่วน มิสเตอร์ลอวเรนซ์ (Tom Conti) นั้นเป็นทหารจิตใจโอบอ้อมอารี เข้าใจผู้อื่น และ จ่าฮาระ (Kitano Takeshi) ก็เป็นพลทหารที่ขาดความเห็นใจผู้อื่น นับว่าเป็นการจับตัวละครที่คอนทราสต์กันมากๆ มาวางไว้ด้วยกันจนขับให้เกิดคอนฟลิกท์ได้อย่างลงตัว
ก่อนอื่นขอพูดถึงสิ่งที่ยังคาใจเราอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ด้วยเนเจอร์ของคนทั้งสอง โยโนอิที่เป็นคนเคร่งครัดในกฎระเบียบและความเชื่อจนเหมือนเชือกตึงเปรี๊ยะ กับเซลเลียร์ที่ติดอยู่กับเรื่องน้องชายในอดีตจนไม่สนใจปัจจุบัน ได้แต่รนหาที่ตายไปวันๆ คนแหกคอกแบบเซลเลียร์ย่อมอยากท้าทายคนเจ้าระเบียบแบบโยโนอิแน่นอน แล้วเซลเลียร์มันฉลาด มันฉวยโอกาสเอาความรักของเขามาทำร้ายตัวเขาเอง แม้ว่ามันจะเป็นการเอาชีวิตตัวเองไปทิ้งแต่ก็หาได้แคร์ไม่ แต่เราก็อดคิดไม่ได้ว่ามันมีความหมายอื่นอะไรแฝงหรือเปล่า ความเห็นส่วนตัว เราคิดว่า นอกจากทำไปเพื่อช่วยเพื่อนทหารแล้ว เซลเลียร์รู้ดีอยู่แล้วว่าทางนี้จะพาตัวเองไปตาย อาจจะเลือกทำแบบนี้เพราะคิดว่าเป็นการแสดงออกที่ดีที่สุดแล้วของมนุษย์คนนึงที่จะตอบแทนความรู้สึกที่อีกฝ่ายมีให้ก็เป็นได้ (อย่าเชื่อชั้นมาก ชั้นขี้ชิป ชั้นรับความจริงไม่ได้)
และถึงแม้ว่าความเชื่อของฝั่งญี่ปุ่นจะแรงกล้าแค่ไหน แต่เราก็จะเห็นหลายซีนที่กัปตันโยโนอิแสดงออกตามความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเอาใส่ใจ การไปเยี่ยมที่สถานพยาบาล หรือการเอาตัวเข้ามาขวางวิถีกระสุนแทน สำหรับเราที่ดูจบในตอนแรกนั้นยังไม่เข้าใจการกระทำของโยโนอิว่าเป็นการกระทำเพราะความเคารพหรือความรักกันแน่ สิ่งที่ช่วยไขข้อข้องใจให้เราก็คือเพลง Forbidden Colours
Forbidden Colours คือเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas Mr. Lawrence เวอร์ชั่น Vocal ที่ไม่ได้ถูกใส่ไว้ในหนัง แต่กลับมาอยู่ในแทร็คสุดท้ายของอัลบั้มซาวน์แทร็ค ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจหรือเปล่าที่เอาเพลงที่เป็นคีย์สำคัญของหนังเรื่องนี้ไปซ่อนไว้ในลำดับสุดท้ายของอัลบั้ม
แล้ว Forbidden Colours หมายถึงอะไร?
เราตีความว่า Colours ที่เติม s นั้นหมายถึงสีรุ้ง หรือก็คือสีธงชาติ LGBT นั่นเอง ฉะนั้นแล้ว Forbidden Colours อาจจะหมายถึงความรักระหว่างเพศเดียวกันที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ก็เป็นได้
พอทำความเข้าใจลึกลงไปในเนื้อเพลง ก็เป็นที่ชัดเจนว่า Forbidden Colours กำลังพูดถึงความสับสนภายในจิตใจของคนคนนึง ที่ความรู้สึกกำลังสวนทางกับความเชื่อของตนเอง
ท่อนที่ว่า My love wears forbidden colours นั้นชี้ให้เห็นว่าความรักที่บุคคลคนนั้นมีเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่อาจเปิดเผยได้ และ My life believes in you once again นั้นแจงว่าสุดท้ายแล้วเขาก็เลือกที่จะเชื่อในตัวของบุคคลอันเป็นที่รักอีกครั้ง ซึ่งตรงกันกับการกระทำของโยโนอิที่แม้ว่าเซลเลียร์จะได้ทำลายเกียรติยศของเขา แต่โยโนอิก็เลือกที่จะแสดงความรักอีกครั้งโดยการกลับมาตัดปอยผมเซลเลียร์ไปเก็บไว้กับตัวเอง
สรุปแล้ว Forbidden Colours ก็คือเพลงที่เป็นคีย์สำคัญในการอธิบายความรู้สึกของกัปตันของเรานั่นเอง โดยชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าความเชื่อที่มีจะแรงกล้าแค่ไหน สุดท้ายแล้วความทรงพลังของความรู้สึกก็จะผลักให้เราเลือกทำตามหัวใจอยู่ดี
ส่วนในเรื่องการปะทะกันของสองวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนผ่านตัวละครลอว์เรนซ์และจ่าฮาระนั้นก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจมากๆ เราจะเห็นว่าตั้งแต่ต้นเรื่องนั้นจ่าฮาระขาดความเข้าอกเข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์เอามากๆ แต่เมื่อได้เรียนรู้จากลอว์เรนซ์ ในวาระสุดท้ายของชีวิต ฮาระก็ได้ซึมซับและแสดงความเห็นใจมนุษย์ออกมาในที่สุด
คำว่า Merry Christmas Mr. Lawrence ในฉากสุดท้ายคงไม่ได้หมายความถึงคำอวยพรในวันคริสมาต์ให้กับลอว์เรนซ์แต่อย่างใด แต่ดูเป็นคำที่แสดงถึงการให้อภัยและการเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากกว่า (รวมถึงอาจจะเป็นคำขอบคุณด้วย) เป็นความลึกซึ้งที่ถ่ายทอดผ่านประโยคง่ายๆ ออกมาในตอนจบ จนทำให้เราได้แต่คิดว่าหนังเรื่องนี้มันช่างสวยงามเหลือเกิน
นอกจากเหตุผลที่พูดมายืดยาวทั้งหมดแล้ว ยังมีเรื่องของสกอร์หนังฝีมือคุณริวอิจิที่ไพเราะจับใจอีก ที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังโปรดที่สุดตลอดกาลของเรา ถือว่าควรค่าแก่การรับชม ขอฝากไว้ในอ้อมอกอ้อมใจทุกคนด้วย ขอบคุณค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in