เด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ วันๆเอาแต่เล่น จะถูกเรียกว่าเด็กขี้เกียจ ผู้ใหญ่ที่วันๆไม่ทำงาน อู้งาน โดดงาน ก็ถูกเรียกว่าเป็นคนขี้เกียจ ความจริงแล้ว ความขี้เกียจที่ว่านี้มีอยู่แค่ในกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้นหรือ? คำตอบคือไม่ใช่
ความขี้เกียจนั้นอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เด็กนักเรียนที่ตั้งใจเรียนหนังสือ อ่านหนังสืออย่างหนักก็มีความขี้เกียจ พนักงานที่ตั้งใจทำงาน ได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้า ก็มีความขี้เกียจ อย่างที่บอก
ความขี้เกียจนั้นอยู่ในมนุษย์ทุกคน
แล้วมันอยู่ส่วนไหนในตัวเรา คำตอบคือ
สมอง รู้หรือไม่ว่า
สมองของเรานั้นเป็นตัวขี้เกียจ Bill Gates เคยกล่าวไว้ว่า
"ผมมักจะเลือกคนขี้เกียจมาทำงานยากๆเสมอเพราะพวกเขาจะหาวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะจัดการกับมัน"
และนี่คือคำอธิบายความขี้เกียจของสมองเรา
สมองของเราทำงานแบบคนขี้เกียจในแบบที่บิลล์ เกตส์ชอบ นั่นคือ ทำงานให้เสร็จด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด สมองของเราทำงานเมื่อมีการคิด ยิ่งคิดนาน ยิ่งเสียพลังงานมาก แต่สมองของเรานั้นไม่ชอบที่ต้องทำงานนานๆ เมื่อต้องแก้ปัญหา สมองของเราจะทำการหาวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว แต่วิธีที่ได้มันอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แถมมันเชื่อด้วยว่าวิธีที่คิดได้นี่แหละมีประสิทธิภาพ
บางทีคำว่าประสิทธิภาพจะถูกยกย่องมากไปหน่อย คำว่าประสิทธิภาพแปลว่าอะไรครับ ถ้าเปิดพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานจะได้ความหมายว่า ความสามารถที่ทำให้เกิดผลในงาน
ไม่ได้แปลว่า ความสามารถที่ทำให้เกิดผลในงาน"ด้วยวิธีที่ดีที่สุด" ดังนั้นเมื่อเราแก้ปัญหาได้
เราสามารถพูดได้ว่าเราใช้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (แม้จะเป็นการแก้ปัญหาแบบลวกๆก็ตาม)
---
ปัญหาก็คือถ้าเราต้องการหาวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาจะต้องทำยังไง สมองเรามันจะเอาง่ายๆอย่างเดียว พูดอีกอย่างคือ คิดตื้นเกินไป
ถ้าต้องแก้ปัญหาใหญ่ คอขาดบาดตาย จะมาคิดตื้นๆแบบเดิมคงไม่ได้ ทีนี้เราต้องทำยังไง
David Eagleman นักประสาทวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจาก Bayor College of Medicine
มีวิธีแก้นิสัยขี้เกียจครับ เขาทำการถามปัญหาแก่ผู้เข้าทดลอง และให้พวกเขาหาคิดหาทางออก Eagleman ย้ำว่าให้หาทางออกให้ได้ซัก 10 อย่าง ห้ามตอบมาแค่อย่างเดียว นั่นก็เพราะว่า
คำตอบที่โผล่ขึ้นมาในสมองเป็นอย่างแรกมักจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด มันแค่คิดออกมาง่ายที่สุด
"สมองมักจะหาทางที่ลำบากน้อยที่สุดเพราะมันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด" Eagleman อธิบาย
ในการทดลองครั้งหนึ่ง Eagleman ทำการทดสอบผู้เข้าร่วมโดยการให้พวกเขาจินตนาการว่า
พวกเขาอยู่ที่ทะเลขณะที่พระอาทิตย์กำลังตก พอพวกเขาจินตนาการซักแปปนึง เขาจึงถามว่ามีใครบ้างที่จินตนาการถึงฟองน้ำที่ไหลมาตามคลื่น หรือมะพร้าวที่อยู่บนต้นไม้บ้างหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีใครยกมือตอบ นั่นก็เพราะสมองพวกเขาจะนึกถึงภาพง่ายๆเท่านั้น ไม่ได้นึกถึงรายละเอียด
ถ้าคุณต้องการคิดแก้ปัญหาใหญ่ๆอย่างการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา ขอให้จำไว้ว่า อย่าเชื่อไอเดียแรกของคุณ เอาไอเดียแรกของคุณเก็บไปก่อน คิดใหม่อีกรอบ เค้นสมองของคุณให้คิดไอเดียออกมาให้ได้เยอะๆ พวกที่สร้างนวัตกรรมที่สุดยอดทั้งหลายต่างพยายามคิดไอเดียออกมาให้ได้เยอะๆทั้งนั้น ไม่มีใครที่คิดไอเดียออกมาแค่อันเดียวแล้วเอาไปทำต่อ
---
การที่เราปล่อยให้สมองคิดคำตอบและเราเอาคำตอบแรกไปใช้ทันทีนั้น ก็เหมือนการเดา มันได้ผลไม่ค่อยจะดีนัก ผมเจอกับตัวเลยครับ
ปกติเราใช้วิธีเดากันตอนไหนครับ ก็ต้องเป็นตอนเจอปัญหายากๆเช่น โจทย์เลข เป็นต้น
ผมห่วยเรื่องเลขมาก ครั้งหนึ่งผมต้องสอบ A-net โจทย์แต่ละข้อผมไม่รู้คำตอบเลย เวลาก็เหลือน้อย ทางออกเดียวในตอนนั้นคือเดา (ยังดีที่เป็นข้อกา ให้ผมได้บริหารมือบ้าง ถ้าเป็นข้อเขียนก็คงกระดาษเปล่า) ผมกวาดสายตาลงมาไล่ตามข้อ เห็น choice ไหนเป็นอันแรก กาตัวนั้นเลย ผมทำยันจบ ผลออกมาสุดยอดมากครับ เรียกว่าเดาไม่ถูกซักข้อเลยก็ได้ สูสีพอกับโนบิตะ ข้อที่ได้คะแนนคือได้ผ่านกระบวนการคิด ส่วนข้อที่ผิดคือใช้การเดา
Sherlock Holmes กล่าวไว้ว่า
"การเดาเป็นนิสัยอันตราย มันรังแต่จะบั่นทอนภูมิปัญญาในการทบทวนเหตุผล"
มีอีกคำกล่าวหนึ่งที่เคยได้ยินมาแต่ลืมไปแล้ว "การเดาเป็นการดูถูกสติปัญญาของตนเอง"
ผมไม่ชอบการโดนดูถูก เดี๋ยวนี้ผมจึงแทบไม่ใช้การเดา (ที่จริงก็แทบไม่เชื่อการเดาของตัวเองตั้งแต่สอบคราวนั้น) การเดาไม่สามารถทำให้เราได้คำตอบที่ดีที่สุด
ขอเน้นอีกครั้ง เมื่อไอเดียแรกของคุณโผล่ขึ้นมา เอามันไปเก็บไว้ก่อน แล้วเค้นความคิดออกมาอีกครั้ง
---
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.businessinsider.com/neuroscientist-exercise-to-get-better-work-from-your-team-2016-3
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in