เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
AKSORN CHULA REVIEWSporrorchor
รีวิววิชาอักษร จุฬาฯ ปี 2 เทอม 1 [reposted]
  • หมายเหตุ: รีโพสต์จาก https://www.dek-d.com/board/view/3955153/ จากวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เพื่อรวมในซีรีส์ AKSORN CHULA REVIEW ทาง minimore ครับ พร้อมกับมีบางจุดที่จะอัพเดทกันให้ทราบด้วย


    สวัสดีอีกครั้งครับ :)
    .
    kfctherevieWER กลับมาอีกครั้งในรอบเดือนกว่า ๆ ใน part แรกผมก็ได้ย้อนอดีตระลึกถึงวิชาต่าง ๆ ในปี 1 ไปเรียบร้อย มา part นี้ผมเลยจะมารีวิววิชาต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาตลอดเทอม 1 ปี 2 ในอักษรฯ จุฬาฯ ปีการศึกษา 2562 ที่เพิ่งผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ ยังจำความซัฟเฟอร์ เอ้ย! ความรู้สึกและรายละเอียดวิชาต่าง ๆ ได้ดีอยู่ ถ้าพร้อมแล้ว เชิญอ่านได้ด้านล่างเลยครับ
    .
    หมายเหตุ:    
    -วิชาที่พูดถึงในที่นี้ไม่ได้เรียงตามลำดับความชอบจ้า
    -ควรตรวจสอบตารางเรียนอีกครั้งใน reg chula ครับ
     . 
    ปี 2 เทอม 1
    .
    1) 2202217 English Reading Skill 
    ทุกวันจันทร์ 8.00 - 9.30 และวันพุธ 9.30 - 11.00

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้ [เรียกซะน่ารักเชียว]
    -อ่านและฝึกทำ passage ตาม theme ต่าง ๆ (The power of books/ Gender gap/Culture in globalized world/Urban environment/We are what we eat) มีสอบย่อย 2 ครั้งพร้อมกับศัพท์จากเรื่องที่เรียน [*คิดว่า theme และ passage ต่าง ๆ อาจเปลี่ยนไปในแต่ละเทอม*]
    -เรียนและฝึกทำ summary มีแบบฝึกหัดเก็บคะแนน 2 ครั้ง
    -เรียนและฝึกทำ structural analysis of the text (SAT) มีแบบฝึกหัดเก็บคะแนน 1 ครั้ง
    หนังสือนอกเวลา Little Fires Everywhere: สอบ 11 บทแรกตอนกลางภาคและก่อนปลายภาคมี oral discussion
    -Final: สอบ 2 articles และต้องทำ summary จาก article 2
    -มีเก็บคะแนนจาก class participation 

    วิชาโทอิ้งตัวแรกของเรา คือเหนื่อยมาก อ่านกันให้ตายไปข้าง สำหรับเราคิดว่านี่เป็นวิชาที่ดูดพลังงานและเวลาชีวิตไปพอสมควร ตอนอ่านนอกเวลานี่คือต้องรีบอ่านให้จบตั้งแต่ยังไม่มิดเทอม ไม่งั้นไม่จบแน่ ยิ่งตอนทำ summarry+SAT กับเพื่อนนี่คือปาไปเป็นสิบกว่าชั่วโมงเลยจ้า ยอมรับว่าตัว article ต่าง ๆ ที่เอามาฝึกทำหรือเอามาสอบนี่ยากกว่าสมัย Eng I-II มากขึ้นจริง ๆ ตอนสอบย่อยนี่ถึงเกินครึ่งแต่ก็ตกมีนจนชิน มีอยู่ช่วงนึงเรียนแล้วท้อจนอยากจะถอนแล้วลงอิ้งตัวอื่นมาก แต่ไหวตัวช้าไปจนต้องไปต่อลูกเดียว โชคดีที่อาจารย์ประจำเซค (อ.ฐาปนัจฉร์) ใจดีกับเด็กในเซคมาก (และสำเนียงบริติชของอาจารย์คือฟังเพลินฟังง่ายมาก) เพื่อน ๆ ในเซค/กลุ่ม oral discussion ก็คุ้นเคยกันอยู่แล้ว เลยทำให้ผ่านวิชานี้ไปได้จนจบเทอม แม้จะหืดจับหน่อยสำหรับเรา ข้อคิดที่ได้จากวิชานี้คือ อ่านเข้าใจอย่างเดียวไม่พอ ต้อง justify คำถามให้ถูกด้วยถึงจะถือว่าอ่านรู้เรื่องในวิชานี้ ใครที่เป็นสายสกิลชอบอ่านชอบวิเคราะห์ก็น่าจะชอบได้ แต่ใครไม่ชอบอ่านขนาดนั้นหรืออยากเรียนวิชาที่ได้ความรู้ใหม่ ๆ ก็อาจไม่ถูกใจวิชานี้เอาได้ง่าย ๆ 
    .
    .
    2) 2231231 French III 
    ทุกวันจันทร์และพุธ 11.00 - 12.30 (กับอ.วรุณี) และ laboratoire/oral (กับอ.Julie) 10.00 - 12.00
        
    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้
    -เรียน texte และ vocabulaire ใน Edito 2 บท (Du necessaire au superflu, Perle de culture) 
    -เรียน grammaire เรื่อง pharse ทั้งหลายและประเด็นที่เกี่ยวข้อง (pharse simple et 
    complexe, competif, subordonnee interrogative, discours direct et indirect, etc.)
     -มีสอบหนังสือนอกเวลาเรื่อง L’enfant dans le placard (ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงช่วงยุค 80-90 ที่เด็กชายชื่อ David Bisson ถูกแม่จับขังไว้ในตู้เก็บของ 7-8 ปี) เป็นเรื่องที่อ่านแล้วหดหู่กับหน่วงมาก

    รู้สึกว่าเฟรนซ์สามจะดีต่อใจกับเด็กมากขึ้นเป็นกอง หลังจากที่เฟรนซ์หนึ่งทุบเด็กแหลกลาญ วันจันทร์คือเรียนใน Edito เรื่อย ๆ สบาย ๆ texte ที่อ่านก็สนุกดี แม้ว่าจะเก่าไปหน่อยก็ตาม ส่วน grammaire วันพุธก็คือเรียนต่อยอดจากเรื่อง groupe du nom และ groupe du verbe ที่เคยเรียนมาจากเฟรนซ์ 1-2 แม้จะเรียนลึกขึ้นแต่ก็อยู่บนพื้นความรู้เดิมที่เคยเรียนมา (แต่ตอนทำข้อสอบ grammaire ก็แอบไม่ชัวร์อยู่บ้างนะ) แต่รวม ๆ แล้วถือว่าไม่ได้ยากมากซะจนท้อ อ.วรุณีเป็นคนสอนในวันจันทร์กับพุธ ซึ่งประทับใจมากเพราะเขาสอนละเอียด มีสไลด์ (ที่จริงเป็น word แต่เอาเถอะ) อธิบายศัพท์มีรงมีรูปให้ดูเรื่อย ๆ สปีดการสอนอาจารย์อาจเอื่อยไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรต่อความเข้าใจเรามากนัก แต่ที่ประทับใจที่สุดคือการได้เรียนกับมาดาม Julie เป็นครั้งแรก คือมาดามแกละเอียดมาก ตรวจ exercise ที่ทำในคาบ labo แบบถ้าผิดไปจากที่ฟังเขาก็ corriger (แก้) ให้ละเอียดเลย ไม่ได้ทิ้งปล่อยผ่านแค่ให้คะแนนเฉย ๆ ตอนคาบ oral คือมาดามพูดในสปีดที่ฟังทันและฟังรู้เรื่อง ซึ่งต่างจากมาดาม Sophie ที่ติดสปีดกว่าหน่อย แม้ตอนให้ presenter หน้าห้อง Julie จะ strict เรื่องการไม่ให้ดูโพยแล้วให้พูดตามความสามารถจริง ๆ แล้วเขาก็สนใจในเรื่องที่เรา presenter จริง ๆ ที่น่ารักมาก ๆ ของฌูลี่คือตอนคาบสุดท้ายจะถามนิสิตว่าอยากให้เขาพัฒนาปรับปรุงการสอนอะไรไหม แล้วเขาก็เปิดใจรับฟังมากนะ (แอบเมาท์ นี่เสนอฌูลี่ไปว่าควรนำ document อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ theme ที่เรียนนอกจากใน edito มาสอนบ้างเพื่อให้ไม่น่าเบื่อ ฌูลี่เห็นด้วยเพราะเขาก็แอบเบื่อที่ต้องสอนเรื่องเดิม แต่เขาต้องสอนตามเนื้อหาที่อาจารย์ภาคกำหนด แล้วโดนวันหยุดไปเยอะ เดี๋ยวสอนไม่ทัน เลยเอาเนื้อหาอื่นมาแทรกไม่ได้ เศร้า) แต่ที่ไม่น่ารักเลยคือโดน Julie ทุบตอนสอบหนังสือนอกเวลา คำถามสั้น ๆ  5-6 ข้อ แต่เว้นบรรทัดในตอบยาวเชียวในเวลาชั่วโมงนึง เห็นแล้วจะร้อง แต่โดยรวมแล้วก็แฮปปี้ดีกับ French III เทอมนี้
    .
    .
    3) 2231245 French Phonetics 
    ทุกวันอังคาร 13.00 - 16.00 (กับอ.วรรณชัย อัพเดท 16/10/63: ตอนนี้เป็นอ.นาถพรสอนแล้วจ้า) และวันศุกร์ 12.00 - 13.00 (กับอ.Julie)

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้
    -วิชานี้ไม่มีสอนมิดเทอมและไฟนอล 
    -แต่มี controle continu หรือให้เข้าใจง่าย ๆ คือ สอบย่อย มีทุก 3 สัปดาห์ (!)
    -ทุกวันศุกร์ฝึกการฟังและออกเสียง และมี test เล็ก ๆ ให้ transcrire ประโยคที่ฟังให้อยู่ในรูป l’alphabet de l’API
    -เรื่องที่เรียน: l’API, les voyelles, les consonnes (occlusives/constrictives), le rytme - l’accentuation - l'intonation, les liaisons (liaison/enchaînement), l'élision et “e” muet 

    วิชาแรกอย่างแท้จริงของเอก french คืออย่างที่บอกไปใน part ที่แล้วว่า รู้ตัวเองว่าไม่ถนัดด้านภาษาศาสตร์หลังจากได้เรียน intro lang ไป แต่มาเทอมนี้คือเจอภาษาศาสตร์ของภาษาเอกตัวเองเลยจ้า ตอนเรียนก็พยายามทำความเข้าใจให้ได้นะ แต่หลายครั้งเราก็ไปไม่ถึงว่ะ กว่าจะตั้งตัวกับวิชานี้ได้ก็ปาเข้าไปตอน controle continu ครั้งที่ 3 ช่วงกลางเทอม จะร้อง หลายครั้งอาจารย์พยายามอธิบายเพื่อช่วยเรา แต่ก็ช่วยได้ถึงเกือบสุดอ่ะ ไปไม่สุดสักที เศร้า... การสอบย่อยทุกสามสัปดาห์มีข้อดีคือไม่ต้องไปอัดตอนมิดเทอม-ไฟนอล แต่ข้อเสียคือเรื่องไหนที่ยังไม่ซึมซับความรู้ได้เข้าใจมากพอแล้ว ไปสอบคือบ้งเลยนะ (เกิดขึ้นกับนี่ตอนสอบย่อย 2 ครั้งแรก) แล้วพอไปพาร์ทของ อ.ฌูลี่ ช่วงวันศุกร์ พอต้องฟังแล้วต้อง transcribe ให้เป็นประโยคตัวอักษรโรมันกับ IPA นี่เราไม่ถนัดจริง ๆ...
    .
    .
    4) 2722288 Dhamma Self [Gen-Ed หมวดมนุษย์ เรียนที่ครุฯ]
    เซค 1: ทุกวันพฤหัสฯ 9.00 - 12.00 (กับอ.อมรา) 

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้
    -ช่วงต้นเทอมมีให้เข้าร่วมค่ายธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย วันเสาร์-อาทิตย์ ค้างคืน
    -เนื้อหาที่เรียน: ศีล สมาธิ ปัญญา, มงคล 38, จิตอาสา (ไม่ได้ไปทำนะครับ), หลักธรรมอื่น ๆ, ข่าวหรือเรื่องราวจากหลักธรรมที่สอน
    -Midterm: อ่านหนังสือเล่มเล็ก ๆ แล้วสรุปสาระความรู้ที่ได้
    -Final: สอบ 1 ชั่วโมง 4 ข้อย่อย เกี่ยวกับเรื่องศีลและปัญญา
    -มีงานกลุ่ม 1 งาน
    -บางสัปดาห์เช็คชื่อด้วยการจดบันทึกสิ่งที่เรียน/ที่ทำในคาบ

    เป็นหนึ่งในวิชาที่เขาว่ากันว่าเป็นเจนเอดสายชิว ลงติดนี่ A ก็มาแล้ว (เราหลุดวิชา meditat life dev แล้วมาเจอวิชานี้ตอน reg war พอดี แต่เอ๊ะ reg war กับเจนเอดอีกแล้วเรอะเรา!) ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เริ่มเรียนจริง ๆ ตอน 9.15 ส่วนใหญ่จบคาบไม่เกิน 11.30 ตอนเรียนอาจารย์จะมาพูดถึงหลักธรรมคำสอนและเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งฟังได้เรื่อย ๆ พลางเคลียร์งานไปอ่านหนังสือไป แต่ให้พูดตามตรงเซคนี้ก็มีความเป็นคอนเซอร์เวทีฟอยู่พอตัว เป็นการเรียนพุทธศาสนาในเชิง informative อารมณ์เหมือนตอนเราเรียนในโรงเรียน ไม่ได้มาถกเถียงเปิดกว้างอะไรกันมากนัก (แต่รู้สึกว่าเซคตอนบ่ายของอาจารย์อีกคนจะมีตรงนี้มากกว่า) บางครั้งก็เป็นบรรยายแล้วสลับกับการให้นิสิตฝึกสมาธิ/ภาวนาจิตในห้องเรียน ตอนต้นเทอมห้ามพลาดการไปเข้าค่ายธรรมฯ เพราะเก็บคะแนนและต้องทำ journal ส่ง คิดเป็น 30 เปอร์เซนต์ อาจมีน่าหลับบ้างอะไรบ้างแต่ค่ายก็ไม่ได้แย่เลย ที่สำคัญคือสะอาดและกับข้าวอร่อย (จริง ๆ นะ) เลยทำใจคนใจบาปอย่างเราผ่านสองวันนั้นไปได้แบบไม่ทรมานใจ ส่วนงานกลุ่มนี่แล้วแต่อาจารย์ว่าจะให้ทำอะไรในแต่ละเทอม (นี่ได้ทำเป็นนิทานธรรมจากมงคล 38 ซึ่งสาย) และสอบปลายภาคถึงแม้จะชั่วโมงเดียวสี่ข้อ แต่ตอบข้อละ 6-7 บรรทัดให้ตรงกับสิ่งที่เขาถามก็พอ ถ้าใครไม่คิดอะไรมากแล้วมีเวลาอยากเก็บเจนเอดให้ครบ ลงวิชานี้ก็ไม่เสียหายอะไร 
    .
    .
    5) 2200220 Thai Civilization
    ทุกวันอังคาร 9.30 - 12.30 

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้
    -เรียนกระบวนการและพัฒนาการไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
    -มีออกทริปนอกสถานที่ช่วงต้นเทอม (เลือกได้ว่าจะไปทริปที่ไหนตามโปรแกรม)
    -มีทำรายงานกลุ่ม ส่งหลังกลางภาค
    -ทั้งมิดเทอมและไฟนอล: เวลาสอบ 2 ชั่วโมง ข้อเขียนให้เลือกทำ 5 ข้อ ข้อกา 40 ข้อ 

    วิชาตัวที่สามของตระกูล civ ในอักษรฯ ซึ่งชวนปวดหัวที่สุดแล้วในบรรดา civ ทั้งหมด ครึ่งเทอมแรกจะเรียนศิลปะในอารยธรรมไทยก่อน แล้วค่อยเรียนอารยธรรมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนไทยถึงจบยุคอยุธยา ปัญหาคืออ.สถาพรสอนสลับไปมานู่นไปนี่นี่ไปนั่น ตามที่อาจารย์แกสอนยากมาก แล้วข้อมูลก็เยอะมากด้วย เลยต้องพึ่งใบบุญจากชีทสรุปที่พี่รหัสให้มา (ซึ่งช่วยได้เยอะจริง) ยังไงก็ตามอ.สถาพรเขาสอนอธิบายดีจริงตอนที่ไปออก field trip ถามตรงนู้นตรงนี้คืออาจารย์มีข้อมูลมาตอบปุ๊ปปั๊ปเลย และออร่าความอปป้าคือมาเต็ม (according to a friend) พอมาครึ่งเทอมหลังอ.ดินาเป็นคนสอนหลักก็พอตามทันอยู่ เพราะเขาสอนไล่หัวข้อไปเลยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางอารนธรรมช่วงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ ไล่เรียงมาถึงยุคปัจจุบันของไทย ส่วน 3 คาบสุดท้ายจะเรียนวรรณกรรมไทย วิถีชีวิตในสังคมไทย และการละเล่นของไทย หลังจากเรียนวิชานี้จบแล้วพูดตามตรงว่าความละเ-่ยใจคูณสองต่อเหตุการณ์ทั้งหมดทั้งปวดที่เคยและยังคงเกิดขึ้นอยู่ อันเป็นผลจากอิทธิพลของอารยธรรมไทย (esp. อารยธรรมการเมือง) ก็ไม่ค่อยแปลกใจว่าทำไมถึงเป็นกันอย่างนี้ เอาเถอะ... แต่ที่ไม่เอาเถอะคือเรื่องการสอบ ด้วยกรอบเวลาแค่ 2 ชั่วโมงกับข้อสอบจำนวนเท่านั้นคือมือเป็นระวิงอ่ะ ตอนครึ่งเทอมแรกนี่ข้อกายากกว่าข้อเขียนนิดนึง ก็ยังทำทันแบบหวุดหวิดนะ พอมาครึ่งเทอมหลังนี่ ข้อกาทำสิบกว่านาทีเสร็จ แต่เวลาที่เหลือนี่คือเกว่าจะเรียบเรียงได้นี่กินเวลาไปเยอะอยู่ จนทำให้ข้อเขียนหลัง ๆ รีบเขียนไม่ต้องสนพระอินทร์พระพรหมกันแล้ว ตาย ๆๆ ที่พอจะเป็นเรื่องดี ๆ จากวิชานี้คืออาจารย์ที่ปรึกษารายงานคืออ.นยาตอน Res Com ดีใจมากก แล้วเพื่อน ๆ ในกลุ่มรายงานก็รู้จักกันหมดอยู่แล้ว เลยทำงานได้สบายใจไปเปราะนึง (แต่คะแนนนี่ไม่รู้นะ 555)
    .
    .
    6) 2208102 Drama Everyday 
    ทุกวันพฤหัสฯ 13.00 - 16.00

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้
    -เรียนเรื่องพื้นฐานของศิลปการละครในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การละคร องค์ประกอบของละคร ประเภทละคร การออกแบบในละคร การจัดงานแสดงละคร การละครสมัยใหม่และในกระแสโลกาพิวัฒน์ การละครกับชีวิตประจำวัน และอื่น ๆ อีกมากมาย
        -ไม่มีสอบกลางภาคและปลายภาค 
        -มักมีงานกลุ่มให้ทำในคาบเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนในแต่ละสัปดาห์ 
    -มีให้วิจารณ์ละครของภาคละคร 2 เรื่องที่จัดแสดงในเทอม (หลายชีวิต และ อีดิปุส) และมีการบ้านอยู่ครั้งนึง 
    -ตอน Final ให้ทำ project กลุ่มในรูปแบบไหนก็ได้ที่ได้มีการนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน และเขียน journal 2 หน้าบันทึกสิ่งที่ได้เรียนมาตลอดเทอม และที่ได้จากการทำงานกลุ่ม

    วิชาบังคับเลือกระหว่างวิชานี้กับ Introduction to Literature เดิมคือวิชา Introduction to Drama แล้วปีนี้เปลี่ยนมาเป็น Drama Everyday ที่ (according to ajarns) สะท้อนให้เห็นว่าการละครนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ทุกคนพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังเรียนความรู้ต่าง ๆ ด้านการละครอยู่เหมือนเดิม เรียนช่วงแรก ๆ แล้วรู้สึกว่าค่อนข้างจะมี content ต่าง ๆ ที่ตัวเองสนใจอยู่ (และคาบเกี่ยวกับ play ana อีกวิชาที่เรียนในเทอมนี้) มีเขียนวิจารณ์ละครด้วย ซึ่งเข้าทางถนัดสายเขียนอยู่ แต่พอหลุดจากเนื้อหาแนว ๆ นั้นก็รู้สึกว่าเนื้อหาที่เหลือคือปะปนไปทั้งน่าสนใจ เฉย ๆ และเฉื่อย ๆ สลับกันไป จุดพีคของวิชานี้เกิดขึ้นตอน 2 สัปดาห์ก่อนสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนการสอนในเทอมนี้ อาจารย์เพิ่งให้รายละเอียดงานกลุ่ม final และสั่งงานอย่างเป็นทางการ เล่นเอาทุกคนเหวอไปเลยเพราะแพลนเคลียร์งานอ่านหนังสือมีอันต้องเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าอาจารย์เขาสั่งงานก่อนเนิ่น ๆ อาจจะตั้งแต่ช่วงหลังกลางภาค คงได้ทำกันก่อนเลย และลักษณะงานที่เขาสั่งไว้นี่รู้สึกว่าก็...กว้างไปนะ ส่วนกลุ่มเรานี่ทำเป็นละครสั้น 3 นาทีกว่า ๆ ซึ่งก็สร้างความเอ็นจอยและความไม่เอ็นจอยได้ในเวลาเดียวกัน (เพราะไฟไหม้จากไฟนอลแล้ว!) รวม ๆ แล้วก็เป็นวิชาที่เอนไปทางชอบอยู่จากเนื้อหาช่วงต้น ๆ เทอม
    .
    .
    7) 2208202 Play Analysis 
    ทุกวันศุกร์ 13.00 - 16.00 

    เนื้อหาและรายละเอียดน่ารู้
    -เนื้อหา: พัฒนการ/ประวัติศาสตร์การละคร, องค์ประกอบของละคร 6 ประการ, โครงสร้างของ
    บทละคร, ประเภทของละคร, การวิเคราะห์บทละคร
    -บทละครที่เรียน (เปลี่ยนไปตามเทอม): ล่ามดี, A Streetcar Named Desire (รถรางคันนั้นชื่อ
    ปราถนา), แม่นาค เดอะมิวสิคัล ver. Dreambox, หลายชีวิต The Concept Musical, นางฟ้านิรนาม, Macbeth (แมคเบธ) และ Oedipus the King (อีดิปุส จอมราชัน) 
    -เรียนบทละครเรื่องละ 2 สัปดาห์ จบ 1 เรื่อง สั่ง 1 งาน (ยกเว้นล่ามดีที่เรียนสัปดาห์เดียวและไม่มีงานเก็บคะแนน)
    -ในคาบมีให้นำเสนอ พูดคุย และวิเคราะห์บทละคร
    -ไม่มีสอบกลางภาคและปลายภาค
    -งาน Final: วิเคราะห์บทละครเรื่องไหนก็ได้ ในแง่มุมใดก็ได้ ตามความสนใจ 5-10 หน้า
    .
    .
    หลังจากอกหักกับการลง Spanish I ไม่ติด ก็เคว้งหนักมาก จนมีเพื่อนมาถาม ๆ กันว่าจะลงวิชานี้ดีมั้ย ก็เลยยอมสละเวลาวันศุกร์บ่ายที่ควรกลับบ้านเร็วมาเรียนวิชานี้ กลับคิดถูกเฉยที่ตัดสินใจอย่างนี้ และกลายเป็นวิชาที่ชอบที่สุดของเทอมนี้เลย ที่จริงก็แพลนไว้ว่าจะเริ่มเรียนวิชาของภาคละคร (คือวิชานี้กับวิชาสายเขียนบท) เพื่อเก็บเป็นเสรีช่วงปีสามและเก็บด้วยความอยากเรียนจริง ๆ เพราะชอบศาสตร์ด้านนี้อยู่แล้ว มีอยู่ช่วงนึงที่ท้อกับ eng read skill มากแล้วอยากย้ายโทมาเรียนละครมันให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย แต่ก็นั่นแหละ ไม่ได้ย้าย กลัวย้ายแล้วจะหมดใจและขก.เก็บบังคับโทละครอย่าง theatre workshop ด้วย เอ้าแว๊บไปเรื่องอื่นเยอะเลย กลับมาที่วิชานี้ ที่เรียนทั้งเทอมนี้ก็ให้วิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น plot, character, objective, conflict, crisis & climax, symbol, main action, through line of actions และอื่น ๆ ในบทละครเรื่องต่าง ๆ วนไป อีกทั้งในแต่ละเรื่องก็จะได้เรียนปูมหลัง แนวทางการสร้างสรรค์ และบริบทต่าง ๆ ของบทละครด้วย วิชานี้มีครูสามคนมาสลับกันสอน คนแรกคือครูสาว คาบแรก ๆ ที่เรียนกับครูเขารู้สึกว่าก็โอเคนะ แม้ pace จะเรื่อย ๆ ไปหน่อย เวลาครูเงยหน้ามาถามนี่ก็จะอึน ๆ กันทั้งห้องว่าจะตอบครูยังไง เราเพื่อนและรุ่นพี่ก็คอยตอบ เพราะนั่งตรงหน้าครูเขาพอดี แต่ที่ประทับใจคือเวลาเราตอบสิ่งที่ครูสาวถาม ถ้ามีตรงไหนที่เราวิเคราะห์ไม่ตรง แคบหรือกว้างไปจากบทละคร ครูเขาก็จะอธิบายละเอียดยิบเลยแล้ว point out จุดที่เราตีความผิดไป ไม่ได้ปล่อยไปเลยตามเลย สุดท้ายเลยประทับใจวิธีการสอนของครูสาวมากที่สุด คนที่สองคือครูบัว อันนี้มาสายบันเทิงมาก ในคาบก็นั่งคุยกันนั่งวิเคราะห์กันถึงบทละครที่ได้เรียนกับเขา เรียนไปขำไป แต่สั่งงานมานี่ขำไม่ออกเลย ให้เอาเรื่อง A Street Car มาปรับทำเป็น plot ในบริบทยุคนี้ อืมม รู้เรื่องเลย พอมางานสองของครูเขาก็ค่อยยังชั่วหน่อย คือให้หาบทละครหรือหนังอะไรก็ได้ที่เล่าเรื่องแบบ non-linear มาวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ สองหน้า แต่นี่ทำมันส์จัด ปาไปห้าหน้าเลยจ้า อ้อ ในคาบครูสาวกับครูบัวก็จะมีให้มา present หน้าห้อง แต่เขาจะสอนก่อนแล้วค่อยสั่งให้พรีเซนต์คาบอื่น ส่วนคนสุดท้ายคือครูเฟียต วิธีการสอนจะคล้าย ๆ กับครูบัว แต่จะให้วิเคราะห์บทฯ แล้ว present กันในคาบเลย ตอนครูเฟียตสั่งงานจะเน้นการเปรียบเทียบบทละครที่เรียนกับเขา (นางฟ้านิรนามกับอีดิปุส) กับเรื่องราวในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งเหมือนจะง่ายแต่ก็ต้องพยายามเขียนไม่ให้หลุดกรอบ ไม่งั้นคนเขียนเนี่ยแหละจะงงเอง [ขอเมาท์อีกรอบ คือสงสัยมากว่าครูเฟียตเขาอยู่ได้ไงโดยที่ไม่มีลุกไปเข้าห้องน้ำ ไม่มีน้ำมากินอะไรเลย เข้าห้องมาปุ๊ปคือสอนได้รัว ๆ เลย งงจริงจัง] มาถึงงานไฟนอลที่ก็ไฟไหม้พอสมควรเลย ให้เลือกบทละครเรื่องไหนก็ได้ที่ไม่ซ้ำกับเรื่องที่เรียนมาวิเคราะห์ในด้านที่สนใจ จะวิเคราะห์พวกองค์ประกอบทั้งหมดหรือจะเจาะเป็นประเด็นใดหนึ่งก็ได้ นี่เลือกวิเคราะห์ A Midsummer Night’s Dream ของ Shakespeare ไป เพราะเห็นว่าไม่ยาวไม่สั้นเกินไป กลายเป็นว่ามันน่าสนใจและตลกมาก ๆ ชอบเฉยเลย อ่อ อีกอย่าง จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่เคยรู้คะแนนจากงานที่ส่งไปเลยสักชิ้น เดาเกรดกันไม่ถูกเลย (85+ ถึงได้ A ในวิชานี้) แต่ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่ได้จากวิชานี้คือทำให้เราได้แนวคิดดี ๆ ในการสร้างสรรค์มาก ช่วยให้เราได้ดูละคร หนังและอื่น ๆ ด้วยความสังเกตในรายละเอียดต่าง ๆ มากขึ้น และที่สำคัญคือ ช่วยให้เรามีไฟที่จะเรียนในเทอมนี้จนจบเทอม พอถึงวันศุกร์ทีไรเรานี่ดีใจทุกที เรียนวิชานี้จบแล้วทำให้เราอยากเรียนเ playwriting 1 เทอมหน้าเร็ว ๆ แล้ว (ถ้าเซคมันไม่เต็มอ่ะนะ) เป็นวิชาทรงคุณค่าสำหรับคนที่ชอบดูหนังดูละคร ไม่หวั่นงานเยอะแต่สนุก และอยากเรียนเพื่อไปพัฒนาสกิลการเขียนบทหรือการสร้างสรรค์งานเขียนต่าง ๆ ต่อไป
    .
    .
    นี่ก็คือทั้งหมดทั้งมวลของวิชาที่ได้เรียนไปในเทอมนี้ เป็นเทอมที่ดูแล้วมีวิชาที่ไม่ค่อยชอบมากกว่าวิชาที่ชอบ และชอบวิชาเก็บเสรีมากกว่าวิชาเอก/โทของตัวเองซะอีก (ฮา) นอกจาก play analysis ที่เป็นกำลังใจสำคัญให้เราผ่านวันเวลาในแต่ละวีคไปได้ อีกสองอย่างที่คอยช่วยเติมไฟคือ หนึ่ง การดูหนังหลังเลิกเรียน ที่ดูอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาฯ ที่ดูหนังโปรแกรม film buffet ที่ house เป็นว่าเล่น (ขนาดคัดแล้วนะ) และสอง การได้มาแบ่งปันความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับหนัง/ซีรีส์ที่ได้ดู ผ่านการเขียนรีวิวนี่แหละ แม้ว่าช่วงเดือนที่ผ่านมาจะไม่ได้เขียนรีวิวอย่างจริงจังหรือเป็นกระทู้ ๆ ก็ตาม แต่ใน twitter @kfcthereviewer ยังคงมีรีวิวสั้น ๆ ไว้คอยอัพเดทอยู่นะครับ (ขอขายของกันตรงนี้เลย แหะ ๆ)
    .
    .
    ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ครับ หากมีสิ่งบกพร่องในรีวิวทั้ง 2 part นี้ก็ขออภัยด้วยนะครับ ไว้จบเทอมหน้าจะกลับมารีวิววิชาต่าง ๆ ใหม่ ขอจบการรีวิวนี้ด้วยคำพูดของครูเฟียตว่า 
    .
    .
    “ราตรีสวัสดิ์” ครับ
    .
    16/10/63 ปล. หากรุ่นน้องอักษรมีตรงไหนอยากเสริมอยากแก้ให้น้องรุ่นถัด ๆ ไปได้อ่านกันเพิ่มเติมก็คอมเมนต์กันมาเพิ่มได้นะครับ
    .
    แล้วพบกับรีวิววิชาอักษรฯ จุฬาฯ ปี 3 เทอม 1 ที่ level-up ขึ้นมหาศาล และไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนอย่างเดียว จะเป็นยังไงนั้น กลางเดือนธันวาคม 2563 ได้อ่านกันแน่นอนครับ!


    ภาพถ่ายที่: โรงอาหารอักษรฯ
    คนในภาพ: พี่อ้น แห่งร้านป้าเบลอ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in