เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movie จิปาถะNopportunity
ความจริงภาคต่อของธรรมชาติ

  • An Inconvenient Sequel: Truth to Power ภาคต่อของภาพยนตร์สารคดีดีกรีออสการ์ โดยอดีตรองประธานาธิบดี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ‘อัล กอร์’

    ผมไม่เคยคิดเหมือนกันว่าภาพยนตร์สารคดีจะมีภาคต่อได้ แต่ก็นั่นแหละโลกเราก็เต็มไปด้วยสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น

    เมื่อปี 2006 An Inconvenient Truth ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกเพื่อส่งสารถึงชาวโลกว่าภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่อาจนำไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ในอนาคตกำลังคืบคลานเข้ามา หายนะที่ว่านี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘ภาวะโลกร้อน’

    นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่เรื่องราวของสภาพภูมิอากาศถูกนำมาพูดถึงในวงกว้าง บ้างก็ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น บ้างก็ว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เป็นความวิตกกังวลจนเกินเหตุ ซึ่งก็ไม่แปลกนักหากจะคิดเช่นนั้น

    จนถึงทุกวันนี้หลายคนคงอาจยังไม่รู้ว่า เราไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าภาวะโลกร้อนมีอยู่จริง และส่งผลกระทบอะไรได้บ้าง มีเพียงทฤษฎี และข้อมูลที่สอดคล้องกันจนสามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกันที่พอจะทำให้เชื่อได้ และหลักฐานเชิงประจักษ์จากภัยธรรมชาติที่มากขึ้น และทวีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลายๆพื้นที่

    ประเทศไทย และเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ อินโด กัมพูชา ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในฐานะเมืองที่ได้รับผลกระทบ เพราะอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตรพอดี



    10 ปีต่อมา อัล กอร์ ได้ปล่อยสารคดีภาคต่อออกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าปัญหานี้ยังไม่หายไป และเขายังคงเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นต่อไปทั้งในเชิงปฏิบัติ เชิงสังคม และเชิงนโยบาย

    แม้อัล กอร์จะเคยประกาศว่าจะไม่ลงเล่นการเมืองอีกหลังจากที่พ้นตำแหน่งมา แต่สารคดีเรื่องนี้ก็แฝงไปด้วยจุดยืนทางการเมือง และการเลือกฝ่ายอย่างชัดเจน

    หากจะบอกว่า An Inconvenient Sequel: Truth to Power เป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีอคติก็คงไม่ผิดนัก แต่เป็นอคติต่อทุนนิยมที่สร้างมลพิษโดยไม่คิดจะแก้ไข และโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น และหากจะบอกอีกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการเดินหมากในเกมของอัล กอร์ ก็คงจะไม่ผิดเช่นกัน

    ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรื่องภาวะความแปรปรวนของธรรมชาติถูกโยงเข้ากับเกมทางการเมือง ประชาธิปไตย และผลประโยชน์ของกลุ่มทุน


    The Blue Marble เป็นภาพถ่ายดาวโลกเต็มดวงภาพแรก โดยยาน Apollo17 วันที่ 7 ธันวาคม 1972 เป็นวันที่ชาวโลกได้เห็นโลกทั้งใบเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นเราก็ไม่ได้เห็นภาพอื่นอีกเลยตลอดหลายปี

    หากมีภาพถ่ายโลกในทุกๆวัน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเป็หลักฐานสำคัญที่จะแสดงถึงปัญหาของธรรมชาติได้ อัล กอร์เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีของโครงการสร้างและส่งดาวเทียม Dscovr ดาวเทียมค้างฟ้าที่จะโคจรรอบโลก และถ่ายภาพโลกจากอวกาศในทุกวัน นาซ่าเสนอให้ติดตั้งเครื่องตรวจจับพายุสุริยะเข้าไปในดาวเทียมดวงนี้ด้วยเพื่อประโยชน์สูงสุด


    ดาวเทียมถูกสร้างจนสมบูรณ์และพร้อมปล่อย แต่โครงการก็ต้องชะงักเมื่อจอร์จ บุช ขึ้นเป็นประธานาธิบดี โครงการนี้ถูกตรวจสอบและสั่งให้ถอดเครื่องมือตรวจสอบสภาพอากาศออก ให้เหลือเฉพาะเครื่องตรวจพายุสุริยะ เพราะเป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจและเทคโนโลยี แน่นอนว่ากลุ่มผู้สร้างย่อมไม่ยอม โครงการนี้จึงถูกพับเก็บไป ในปี 1999 ดาวเทียมที่สร้างเสร็จแล้วก็ถูกนำไปเก็บรักษาไว้เช่นกัน

    อัล กอร์ ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ออกเสียงในสภาครั้งนั้น ล้วนเป็นนักธุรกิจ และผู้มีส่วนได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

    ในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา โครงการนี้จึงถูกขุดกลับมาพัฒนาปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ดาวเทียม DSCOVR ถูกปล่อยด้วยจรวดของบริษัท Space X ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2015

    ตลอดหลายปีที่ผ่านมาอัล กอร์ได้สร้างเครือข่ายผู้ร่วมอุดมการณด้านสิ่งแวดล้อม์ผ่านการรณรงค์และการพูดตามสื่อ และเวทีต่างๆทั่วโลก เขาได้คุยกับผู้นำของหลายรัฐ หลายประเทศ หว่านล้อมให้ทุกคนหันมาใช้พลังงานสะอาด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการเน้นย้ำคำพูดที่หลายๆชาติมักพูดถึงอเมริกาอยู่บ่อยๆว่าเป็นพวกชอบตั้งตัวเป็นมาตรฐาน และแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ทั้งๆที่บางเรื่องอเมริกาเองก็ทำไม่ได้เองด้วยซ้ำ คำกล่าวนี้ถูกสนับสนุนโดยผู้นำของอินเดียที่ยืนกรานว่าจะใช้พลังงานถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป เพราะต้นทุนต่ำ และสามารถสร้างงานให้ประชาชนได้มาก

    ปลายปี 2015 ผู้นำจากทั่วโลกถูกเรียกมาประชุมรวมกันเพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญาปารีส ที่ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซเป็นเชื้อเพลิง แน่นอนว่าการลงนามครั้งนี้ไม่สำเร็จเนื่องจากอินเดียไม่ตกลงร่วมด้วย

    หลังจากนั้นไม่นานเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ในอินเดีย เมืองเสียหายเป็นจำนวนมาก มากจนไม่มีประเทศไหนในโลกยอมให้กู้เงินจำนวนนี้แน่ๆ แผนการของอัล กอร์ จึงเริ่มขึ้น

    อัลกอร์เสนอให้ บ.โซล่าซิตี้ ของอีลอน มัสก์(เจ้าของ Space X ที่ปล่อยดาวเทียม DSCOVR และรถยนต์ไฟฟ้า Tesla) ยอมยกสิทธิบัตรล่าสุดที่พึ่งได้รับรางวัลให้กับอินเดียใช้ซ่อมแซมเมืองที่เสียหาย โดยมีเงื่อนไขว่าอินเดียจะต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาปารีส และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ฮีโร่ให้กับโซล่าซิตี้ซึ่งเป็นบริษัทผลิตพลังงานสะอาด

    แม้สนธิสัญญาปารีสจะถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่การลงนามเพราะไม่มีทางเลือกของอินเดียนั้นจะมีผลในทางปฏิบัติอย่างไรในอนาคต

    ปี 2017 โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีป้ายแดงประกาศว่าจะถอนชื่ออเมริกาออกจากสนธิสัญญาปารีส พลังมวลชนที่อัล กอร์ สร้างไว้จึงปรากฏให้เห็น มีการประท้วงเดินขบวนเพื่อต่อต้านการกระทำนี้ไปทั่วอเมริกา และทั่วโลก

    จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมักจะมีเรื่องอื่นๆแฝงเร้นอยู่เสมอ ผมไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแก้ได้ไหม หรือบางทีสิ่งที่ซับซ้อนจนเป็นปัญหาอาจไม่ใช่สิ่งแวดล้อม แต่เป็นจิตใจของคนต่างหาก

    ผมไม่แน่ใจว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะมีอีกกี่ภาค รู้เพียงแต่ว่าผู้กำกับภาคต่อๆไปก็คือตัวเรา พวกเรา ชาวโลกทุกคน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in