เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movie จิปาถะNopportunity
สาส์นจากห้องขังหมายเลขเจ็ด
  • ในห้องพักหมายเลข104 เวลา 22.00 นาฬิกา ผมได้รับข้อความตัวอักษรจากหญิงสาวคนหนึ่งผ่านโปรแกรมแชทบนสมาร์ทโฟนที่วางทิ้งไว้บนเตียง

    “กำลังจะดูหนัง ดูด้วยกันมั้ย”

    ข้อความถูกส่งมาจากห้องพักอีกห้องที่อยู่ห่างออกไปอีก 15 สถานีรถไฟฟ้า ถ้านี่เป็นการนัดกันไปดูหนังด้วยกันในโรง เราคงเดินทางไปหากันไม่ทันแน่ๆ แต่โชคดีที่ไม่ใช่ 

    “อย่าพึ่งดูนะ รออาบน้ำก่อน”
    ข้อความตัวอักษรถูกส่งมาอีกครั้ง

    เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมเหมือนกันที่เราต่างคนต่างดูหนังเรื่องเดียวกัน ดูไปด้วยกัน แต่ต้องดูคนละจอ เพราะเราอยู่กันคนละที่ มีสมาร์ทโฟนและหน้าจอแชทเป็นสื่อกลางระหว่างทั้งสองคนให้รู้สึกว่ายังอยู่ด้วยกัน 

    “พร้อมแล้ว”

    ผมกดปุ่มรูปสามเหลี่ยมที่เครื่องเล่นทันทีที่เธอส่งสัญญาณ

    “Miracle in Cell No.7” ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีที่มีชื่อไทยแปลไว้ตรงตัวว่า “ปาฏิหาริย์ห้องขังหมายเลข7” ปรากฏขึ้นบนจอตรงหน้าผม



    (หลังจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหา และบทสรุปของภาพยนตร์)

    ภาพยนตร์ดราม่า-คอมเมดี เรื่องนี้เล่าถึงเรื่องราวของ “ยงกู” ชายหนุ่มผู้พิการทางสมอง ซึ่งมีลูกสาวที่ชื่นชอบการ์ตูน Sailor Moon เป็นพิเศษ ชื่อว่า “เยซึง”

    “ร้องไห้แน่ๆ” 
    ข้อความแชทถูกส่งมาตั้งแต่หนังยังเริ่มได้ไม่ถึงสิบนาที

    “เดี๋ยวร้องเป็นเพื่อน”
    ผมตอบกลับไป

    ระหว่างที่ยงกูกำลังหาซื้อกระเป๋าลาย Sailor Moon เป็นของขวัญให้เยซึง ก็มีผู้พบเห็นเขากำลังปลดเสื้อผ้าของเด็กสาวคนหนึ่งออก และประกบปากของตัวเองลงไปบนปากของเด็กสาวที่นอนอยู่บนกองเลือด

    ยงกูถูกจับทันทีในข้อหาฆ่าข่มขืนเด็กสาว และถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในศาลชั้นต้น 

    เขาถูกนำตัวไปฝากขังไว้ที่ห้องขังหมายเลข 7 ซึ่งเป็นห้องของกลุ่มนักโทษที่เป็นหัวโจกอยู่ในเรือนจำ ด้วยคดีที่ติดตัวทำให้เขาถูกมองเป็นคนชั่วร้าย ทั้งจากผู้คุม และจากนักโทษด้วยกันเอง ทำให้เขาโดดเดี่ยว และมักถูกรังแกอยู่เสมอ

    “น่าสงสาร” 
    ข้อความแชทเด้งอีกครั้ง

    แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีเหตุการณ์ที่ยงกูได้ช่วยชีวิตคนไว้ถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือหัวหน้าแก๊งของหัวโจกในเรือนจำ และอีกครั้งคือหัวหน้าผู้คุมเรือนจำ ทำให้ทุกคนเริ่มคิดได้ว่าคนดีที่พิการทางสมองแบบนี้จะเป็นนักโทษประหารได้อย่างไร

    ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ยงกูได้รับความช่วยเหลือในการลักลอบพาเยซึงเข้ามาอยู่กับเขาในเรือนจำ การแสดงความรักความผูกพันของพ่อลูกคู่นี้ทำให้ทุกคนในเรือนจำเริ่มคิดหาวิธีการช่วยเหลือยงกูให้พ้นจากความผิด

    เมื่อทบทวนคดีความทั้งหมดแล้วทำให้พบช่องโหว่ของกระบวนการตัดสินในครั้งแรก ทุกคนช่วยกันเติมเต็มช่องโหว่ของเหตุการณ์ทั้งหมดเพื่อให้เรื่องราวสมบูรณ์ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 

    วันเกิดเหตุเป็นวันที่อากาศหนาวมากพื้นที่เปียกจึงกลายเป็นน้ำแข็ง

    เด็กสาวเสียชีวิตเพราะลื่นล้มหัวกระแทกพื้น

    เขาถอดเสื้อผ้าเด็กสาว และประกบปากเพื่อช่วยชีวิต

    เรื่องราวทั้งหมดผิดไปจากสิ่งที่ทุกคนเห็นและเข้าใจ กระบวนการสืบสวนผิดพลาดจากความรีบร้อน และด่วนตัดสินของเจ้าหน้าที่เพียงเพราะผู้เสียชีวิตคือลูกสาวของนายตำรวจใหญ่ ยงกูต้องรับโทษในคดีที่ตนไม่ได้ก่อ เพียงเพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำผลงานของเจ้าหน้าที่ และความมีทิฐิของนายตำรวจที่ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นมันผิด

    แนวคิดหนึ่งของนักจิตวิทยากลุ่มเกสท์ตัลท์ กล่าวไว้เกี่ยวกับการรับรู้ของมนุษย์ว่า คนเรามักจะรับรู้สิ่งต่างๆในภาพรวมมากกว่าที่จะแยกองค์ประกอบออกมา ในแนวคิดนี้มีกฏอีกข้อหนึ่งที่เรียกว่า “กฏแห่งการเติมเต็ม” หรือ “Law of Closure” ซึ่งอธิบายว่า มนุษย์เรามักจะเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์โดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่เคยมี และในสถานการณ์นี้ก็เช่นกันที่ผู้คนอาศัยภาพจำมาต่อเติมภาพที่เห็นจนเป็นเรื่องราวที่ผิดเพี้ยน

    แม้ความจริงจะถูกต่อเติมจนสมบูรณ์แล้ว แต่กระบวนการทางกฏหมายยังคงต้องดำเนินต่อไป การจะพ้นผิดได้ยังคงต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลอุธรณ์

    นายตำรวจพ่อของเด็กสาวที่เสียชีวิตข่มขู่ยงกูให้ยอมรับผิดในการอุธรณ์แลกกับความปลอดภัยในชีวิตของเยซึงลูกสาวสุดที่รัก และด้วยความพิการทางสมอง ยงกูจึงไม่สามารถไตร่ตรองโดยใช้เหตุผลให้รอบคอบได้ ความรู้สึกรักที่มีต่อลูกสาวทำให้เขาจำต้องยอมรับผิด และถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา 

    เยซึงเติบโตมาในครอบครัวของหัวหน้าผู้คุมที่รับเลี้ยงเธอไว้ และเธอกลายเป็นทนายความที่ขุดคดีของพ่อขึ้นมาให้ศาลไต่สวนใหม่อีกครั้งเพื่อล้างมลทินให้กับยงกู ด้วยความช่วยเหลือของอดีตนักโทษห้องขังหมายเลข7 ที่พ้นโทษออกมาและกลับใจเป็นคนดี คดีของยงกูจึงคลี่คลายลงได้ ถึงแม้จะสายเกินไป 

    จากชื่อเรื่องแล้วถ้าเรื่องนี้จะมีปาฏิหาริย์ ก็อาจเป็นปาฏิหาริย์ที่มาช้าเกินกว่าเวลาที่ต้องการ




    “ร้องไห้มั้ย” 
    ผมพิมพ์ข้อความส่งไปทันทีที่หนังจบ

    “ตาบวม ต้องประคบน้ำแข็งเลย”
    เธอตอบกลับมาพร้อมภาพประกอบ

    นอกจากมุมของการสะท้อนสังคมในเรื่องการใช้อำนาจ และปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรม ความรักความผูกพันธ์ระหว่างพ่อลูกที่ผู้กำกับพยายามใส่บทพูดที่ชวนให้น้ำตาไหล และขยี้ความรู้สึกของคนดูซ้ำด้วยเพลงประกอบแบบตั้งใจอย่างออกนอกหน้า อีกสิ่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้คือสาเหตุของเรื่องราวทั้งหมดซึ่งเกิดจากการตัดสินสิ่งที่เห็นในทันที 

    มีประโยคหนึ่งในเรื่องที่ถูกใส่ไว้เป็นมุกตลก แต่ก็ชวนให้คิดคือ 
    “เยซึงอยู่ที่นี่ไม่ได้ ที่นี่มีแต่คนเลวๆ”
     ที่น่าคิดคือบรรดาคนเลวทั้งหลายในคุกนี่เองที่เป็นกำลังหลักในการช่วยผดุงความยุติธรรมให้กับยงกู

    หนังเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า 

    “บางครั้งสิ่งที่เห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็น และสิ่งที่เป็นก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอดไป” และ “บางครั้งปาฏิหาริย์ก็ไม่ได้มาในเวลาที่เราต้องการที่สุด”

    “เศร้าเนอะ หนังพ่อตาย”
    ข้อความสุดท้ายที่เธอส่งมาก่อนที่เราสองคนจะแยกย้ายกันเข้านอน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in