ขณะเรียน ม.3 ผมเริ่มมอง “พี่นก สินจัย” ในฐานะ “ตัวละครลับ” ที่น่าสนใจ
พี่นกเป็น “ตัวละครลับ” ในแง่ที่ว่าแม้ผมจะตามดูการแสดงของเธอมาตั้งแต่ยังเล็ก เช่น ละคร “ผู้ชนะสิบทิศ” (ปี 2532) และ “กตัญญูประกาศิต” กับ “แรงรัก” (ปี 2533)
แต่สมัยนั้น ผมซึ่งเป็นเพียงเด็กน้อย ป.2-3 ยังไม่ได้สนใจไยดีกับข้อมูลส่วนสูงดารา
ครั้นเมื่อผมตามเก็บข้อมูลของนักแสดงหญิงรูปร่างสูงช่วงแรกๆ ยุคเรียน ป.5 ผมก็ดันมองข้ามบทบาทการแสดงของพี่นกในละครเรื่อง “ในฝัน” ไปซะอย่างงั้น
ทั้งๆ ที่ในละครเรื่องดังกล่าว พี่นกกับพี่หมิว ลลิตา ได้แสดงเป็นนางเอกคู่กัน แต่ผมกลับไม่เคยตั้งใจสังเกตผ่านจอโทรทัศน์ว่า ระหว่างนักแสดงหญิงคู่นี้ ใครสูงกว่ากัน? (หรือพวกเธอตัวสูงเท่าๆ กัน?)
ส่วนหนึ่ง คงเพราะผมมีความเชื่อฝังหัวอย่างหนักแน่นว่าพี่หมิวคือนางเอกละครทีวีที่ตัวสูงที่สุดในประเทศ (ณ ห้วงเวลานั้น)
กลายเป็นว่าช่วงแตกเนื้อหนุ่มราว 1-2 ปีแรก ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าพี่นกเป็นดาราหญิงหรือผู้หญิงรูปร่างสูง
ตอนอยู่ ม.1 ผมติดละครเรื่อง “ล่า” ที่พี่นกแสดงคู่กับทราย เจริญปุระ
แต่ผมก็ดันไปหมกมุ่นกับข้อมูลที่ว่าทรายเป็นเด็กสาว ซึ่งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนสูงทันพี่นกภายในระยะเวลาเปิด-ปิดกล้อง
พี่นกจึงไม่ใช่นางเอกร่างสูง แต่เป็นนางเอกรุ่นพี่ที่ถูกเด็กหญิงอายุ 13 ย่าง 14 ปี ตัวสูงไล่ทัน (และน่าจะแซงหน้าได้สำเร็จ)
นอกจากนี้ พี่นกยังต้องไปเป็นพิธีกรงานประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ที่มักคัดสรรนางงามรูปร่างสูงใหญ่ขึ้นเวที เธอจึงแลดูตัวเล็กว่านางงามหลายๆ คนเข้าให้อีก
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกเอะใจว่าพี่นกอาจเป็นนางเอกตัวสูงอีกคนของวงการ
เหตุการณ์แรก น่าจะเกิดขึ้นกลางปี 2537 ตอนผมเรียน ม.1 เมื่อทางบริษัทเอ็กแซ็กท์ ผู้ผลิตละครเรื่อง “ล่า” และ “เพื่อเธอ” จัดรายการทีวีโปรแกรมพิเศษเพื่อฉลองความสำเร็จให้แก่ละครทั้งสองเรื่อง
คราวนั้น พี่นกกับพี่แหม่ม คัทลียา ได้มายืนออกรายการร่วมกัน แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ต่างกันพอสมควร เพราะพี่แหม่มแต่งตัวในชุดคนป่วยนอนโรงพยาบาล (ให้สอดคล้องกับตอนจบของ “เพื่อเธอ”) ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง ขณะที่พี่นกแต่งกายปกติและใส่รองเท้าส้นสูง
พี่นกจึงตัวสูงกว่าพี่แหม่มค่อนข้างเยอะ
“พี่นกได้เปรียบเรื่องรองเท้าส้นสูงมั้ง? เลยตัวสูงกว่าพี่แหม่ม จริงๆ แล้วพี่แหม่มน่าจะยังสูงกว่าพี่นกอยู่นะ ถ้าใส่ส้นสูงเหมือนๆ กัน แต่นี่ก็แสดงว่าพี่นกตัวสูงพอสมควร เผลอๆ จะเฉียดๆ 170” ผมเริ่มฉุกคิด
หลังจากนั้นไม่นาน ความสูงของพี่นกก็ยิ่งถูกขับเน้นให้โดดเด่นขึ้นในโปสเตอร์หนัง “มหัศจรรย์แห่งรัก” ของ “หม่อมน้อย” ที่มีนักแสดงนำหญิงสามคนมายืนเรียงแถวพร้อมหน้ากัน
และก็เป็นพี่นกที่ตัวสูงกว่า “พี่นุสบา” (ตามข้อมูลบอกว่าสูง 168 ซม.) และ “พี่แอน อังคณา ทิมดี” (สื่อบอกว่าเธอสูง 166 ซม.) ชัดเจน
“เฮ้ย! หรือพี่นกจะเป็นนางเอกอีกคนที่สูงถึง 170 วะ?” ผมเริ่มตั้งคำถาม
แต่ก็เป็นช่วง ม.2-3 ที่ผมไปอ่านเจอข้อมูลว่าพี่นกตัวสูง “168 ซม.” จนรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมส่วนสูง “168 ซม.” ของพี่นก จึงดูสูงกว่า “168 ซม.” ของพี่นุสบา
อย่างไรก็ดี “เหตุการณ์สำคัญสุดๆ” ที่ทำให้ผมตาสว่างและยอมรับในความสูงของพี่นกเกิดขึ้นประมาณปี 2539 ซึ่งผมขึ้น ม.3 แล้ว
เวลานั้น พี่แหม่ม คัทลียา ได้ไปเป็นพิธีกรหน้าใหม่ในรายการ “สมาคมชมดาว” ทางช่อง 3 ซึ่งยุคต้นๆ ออกอากาศช่วงสายๆ วันอาทิตย์
ผมตื่นมาดูรายการนี้เป็นประจำในฐานะแฟนคลับของพี่แหม่ม
แล้วในเทปหนึ่ง รายการก็มีแขกรับเชิญเป็นพี่นก สินจัย
“ภาพจำ” ที่ทำให้ผมตื่นตะลึง ก็คือ ไม่เพียงแค่พี่นกจะตัวสูงกว่า “พี่หนูแหม่ม สุริวิภา” หนึ่งในพิธีกรอย่างขาดลอย (ซึ่งคาดการณ์ได้อยู่แล้ว)
แต่พี่นกยังตัวสูงกว่าพี่แหม่ม คัทลียา อยู่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ขณะที่ทั้งคู่ยืนติดกันตอนเปิดรายการ แม้ว่ารองเท้าส้นสูงของทั้งสองคนน่าจะมีขนาดส้นไล่เลี่ยกันก็ตาม
ระหว่างนั่งดูรายการสมาคมชมดาวเทปนั้น ผมเกิดคำถามขึ้นในใจมากมาย
“ถ้าพี่แหม่มสูง 170 แล้วพี่นกจะไม่สูงถึง 172-173 เลยเหรอวะ?”
“หรือจริงๆ พี่แหม่มอาจสูงไม่ถึง 170?”
“แต่ต่อให้พี่แหม่มสูงแค่ 168-169 พี่นกก็ยังถือเป็นผู้หญิงสูงอยู่ดีไม่ใช่เหรอ?”
แต่เหนือคำถามอื่นใด ผมเริ่มอยากหาคำตอบว่า “ตกลงพี่นก สินจัย สูงเท่าไหร่กันแน่? เธอสูงแค่ 168 ตามข้อมูลที่เราอ่านพบจริงเหรอ?”
และถ้าเป็นไปได้ ผมที่เรียนจบ ม.ต้น พร้อมส่วนสูง 168 ซม. ก็อยากเจอตัวจริงของเธอสักครั้งหนึ่งในชีวิต
“168 ของเรา กับ 168 ของพี่นก นี่ใครจะสูงกว่ากันวะ?” ผมคาดเดาไม่ออก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in