เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มาๆ มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง - by ngoona_river
หากขอได้หนึ่งอย่าง เธอขอให้ปาตานีเป็น “พื้นที่ที่ได้หายใจ”
  • บทสะท้อนความรู้สึกนึกคิดจากการเข้าร่วมโครงการ Discover PATANI 
    โดยมูลนิธิความร่วมมือสันติภาพ
    บทความโดย Narantiya 
    .
    .

    1 วันหลังหลังเหตุระเบิดทั่วสามจังหวัด จำนวน 11 จุด
      
    รถตู้จากหาดใหญ่กำลังเดินทางเข้าสู่จังหวัดปัตตานี ยิ่งใกล้เข้าสู่จังหวัดปัตตานีเท่าไหร่ เรายิ่งตื่นเต้นเท่านั้น ฝนตกปรอยๆ ช่วยเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ระหว่างเดินทางขึ้นมาอีกเป็นกอง 

    การได้มา ‘ปาตานี’ – ปัตตานี ยะลา นราธิวาส – สำหรับเราเองคือจุดหมายหนึ่งของการมีชีวิต เป็นความฝันที่อยากลองมาสัมผัสสักครั้ง
       
    ข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ข่าวภาคค่ำทางทีวี หรือคำบอกเล่าที่พูดถึงสามจังหวัดนี้มีอยู่ให้เห็นทุกวี่วัน ปรากฏขึ้นให้ได้รับรู้อยู่เกือบยี่สิบปีว่าพื้นที่นี้คือ ‘พื้นที่แห่งความรุนแรง’ มีกองกำลังติดอาวุธ ระเบิด ทหารทุกฆ่า ประชาชนไม่ปลอดภัย ฯลฯ ตามแต่วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น แต่เราเชื่อว่ายังมีความจริงอีกด้านที่หลายคนยังไม่เคยได้สัมผัส รวมถึงตัวเราด้วย เพราะเหตุผลนี้ความตื่นเต้นจึงก่อตัวขึ้นราวกับมีคนรัวกลองในอก
      
    สิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาของเราเมื่อเข้าจังหวัดปัตตานี คือ ทุกอย่างที่นี่ดูปกติดี สองข้างทางเป็นบ้านผู้คนหลังเล็กหลังน้อย มีตลาดที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก มอเตอร์ไซค์จอดเรียงรายริมถนน ยิ่งเข้าเขตเมืองก็ยิ่งครึกครื้น ผู้คนทุกเพศทุกวัยออกมาใช้ชีวิตยามเย็น
      
    “ที่นี่ไม่ได้เป็นแบบที่คนคิดกันหรอก” พี่เอ (นามสมมติ) พนักงานโรงแรมที่พวกเราไปพัก พูดกับเราด้วยแววตาเป็นมิตรหลังจากที่ยืนคุยกันอยู่สักพัก

    ‘ไม่ได้เป็นแบบที่คนคิด’ ในความหมายที่ว่า คนที่นี่ไม่ได้เป็นโจร ไม่ได้พกระเบิด ไม่ได้อยู่ดีๆ เอาปืนออกมายิง หรือเต็มไปด้วยกับระเบิด ตายได้ทุกวินาทีแบบที่เรา – คนไทย - มีภาพจำมาตลอดชีวิต

    แต่ถึงอย่างนั้น แม้จะมีคำบอกเล่าจากคนในพื้นที่ หรือมีสิ่งที่ผัสสะทางดวงตาของเรารับรู้ด้วยตนเอง ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่แห่งนี้มีความไม่ปกติซ่อนอยู่ภายใต้การถูกบังคับให้ชินชา

      
    ..

      
    ถนนหนทางในเขตสามจังหวัดนี้ มีด่านตรวจที่มีทหารประจำการอยู่เป็นระยะ



    ..
      
    ยามพลบค่ำ ทางโครงการได้พาพวกเราที่เข้าร่วมโครงการออกมาเดินตลาดหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คนที่นี่เรียกว่าถนนหน้ามอ/สายมอ เพื่อหาอะไรกินและได้ลองเดินตลาดที่นี่เป็นครั้งแรกด้วย แต่สิ่งที่ตื่นเต้นคือการได้เห็นสิ่งที่ไม่คาดว่าจะเห็น

    “เฮ้ย ลืมถ่ายยยย” เราส่งเสียงออกมากับเพื่อนเมื่อเห็นรถกระบะบรรทุกทหารถือปืน ติดอาวุธเต็มคราบอยู่ที่หลังกระบะประมาณ 3 นายขึ้นไปขับผ่านตลาดหน้ามอ คาดว่าคงออกมาลาดตระเวน ทุกอย่างเกิดเร็วมาก และเราก็ตื่นเต้นมากเช่นกัน 

    ในความรู้สึกตื่นเต้นนั้นกับระคนไปด้วยความกลัว โกรธ หดหู่ หลังจากที่ได้ยิน ‘ซาฟี’ เพื่อนของเราที่บ้านอยู่ที่นี่พูดต่อ
      
    “ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มาอีก รอดูสิ” ซาฟีพูดด้วยน้ำเสียงเบาสบาย ปนปลงใจ

    เรากลับรู้สึกช็อก ที่นี่ได้เห็นภาพแบบนี้เป็นปกติ? ในขณะเดียวกันที่ซาฟีปลงขนาดนั้น ก็ไม่ได้ไม่ได้หมายความว่าเธอไม่โกรธ ไม่กลัว ไม่หดหู่ แต่ทำให้เข้าใจได้เหลือเกินว่า เธอถูกบังคับให้ชินผ่านสถานการณ์แวดล้อม ที่หากเราไม่ได้เป็นคนในพื้นที่นี้เราอาจจะไม่ได้พบเจอเหตุการณ์เหล่านี้ เห็นทหารติดอาวุธแบบนี้ มีด่านตรวจแทบนับไม่ถ้วน ผู้คนถูกคุกคามแบบนี้ ถูกทรมานอุ้มหาย วิสามัญฆาตกรรมเป็นว่าเล่น ถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเป็นคนสามจังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้

    ความน่าตื่นเต้นที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้สึกผิดและละอายแก่ใจ เมื่อคนที่นี่ต้องเผชิญความหวาดกลัว ความสูญเสีย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยความถี่ที่มากกว่าปกติ

    .

    จากบทความ “ความรุนแรงในกลุ่มจังหวดชายแดนใต้ของประเทศไทย: สภาพการณ์ แนวโน้มและแบบแผน 2547-2561” โดยอันเดอร์ แองวัลล์ สำรวจโดย Deep south watch ได้ระบุไว้ว่า ตั้งแต่ปี 2547 – 2561 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 6,924 ราย ไม่นับผู้บาดเจ็บ หรือพิการอีกกว่าหมื่นราย 

    นี่เป็นความสูญสียที่นับได้จากตัวเลขมีสถิติมารองรับ ส่วนความสูญเสียที่นับไม่ได้ก็อาจจะมีอีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะกับความรู้สึกทางใจที่คนในพื้นที่นี้ต้องแบกรับ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหา เหตุใดการเจรจาไม่อาจนำไปสู่สันติ? เหตุใดแม้มีทหารถืออาวุธครบมือ ก็ไม่อาจก่อให้เกิดความสงบ? เหตุใดยังต้องมีกฎหมายพิเศษ? และอีกหลายคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากวงจรอุบาทว์ที่รัฐไทยเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง


    ความไว้วางใจต่อรัฐไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในสภาพการณ์อย่างนี้

    ..
      
    ตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) พี่น้องมุสลิม
    การบุกจับกุม ตรวจค้น โดยพลการ ไม่มีหมาย
    การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย
    การอุ้มหายผู้ต้องสงสัย หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
    ฯลฯ

    สิ่งเหล่านี้คือความรุนแรงที่กระทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่นี้เพียงเพราะเป็นผู้ต้องสงสัย แต่ยังมีความรุนแรงในอีกมิติที่ทำให้พื้นที่นี้ตึงเครียด สร้างความหวาดกลัวให้ผู้คน หมกอยู่ใต้พรมแห่งความปรกติที่เกิดจากความหวาดระแวงของรัฐไทย
      
    ในประการที่ ‘คนนอก’ อาจจะไม่ทราบเลยคือ ณ พื้นที่ปาตานี หรือสามจังหวัดชายแดนใต้นั้นตกอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากตรงนี้ใช้เพียงกฎหมายเดียว นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงในอีกมิติ คือการเลือกปฏิบัติต่อประชาชน เป็นความไม่เท่าเทียมต่อการดำรงอยู่ของพื้นที่และผู้คนที่รัฐไทยพยายามกฎขี่ กดทับให้อยู่ภายใต้อำนาจพิเศษ เอื้อให้รัฐไทยกระทำการใดๆ อันเป็นที่มาซึ่งความรุนแรงได้อย่างไม่จำกัด ในเมื่อการตรวจสอบนั้นเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

    .
    .

    “พื้นที่นี้คือพื้นที่แห่งการปะทะทางความคิด” เพื่อนบอก เมื่อเรายิงคำถามว่าถ้าไม่นิยามว่าพื้นที่นี้คือพื้นที่แห่งความรุนแรงแล้ว อยากเล่าหรืออยากบอกคนข้างนอกว่ายังไง? และคำตอบนี้ทำให้เราเห็นภาพในพื้นที่นี้ได้ชัดขึ้น
      
    พื้นที่นี้มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่ชัดทั้งคนไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีน มลายูเชื้อสายจีน มลายูมุสลิม เป็นพื้นที่แห่งการควบแน่นทางวัฒนธรรม ทุกอย่างของทุกกลุ่มต่างเด่นชัด แต่เราเชื่อว่าหากไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบโดยรัฐไทยตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ในช่วงการปักหมุดแผนที่รัฐไทย (ไทยยังเป็นสยาม) การสร้างชาติไทยในสมัยจอมพลป. ที่พยายามทำให้ทุกคนเป็นไทย จนถึงปัจจุบันภายใต้ระบอบเผด็จการ ความรุนแรงคงไม่เกิดอย่างต่อเนื่อง 

    สิ่งที่รัฐไทยพยายามทำต่อคนและพื้นที่นี้คือการใช้อำนาจในทุกระดับและทุกมิติของสังคม แทรกซึมเพื่อลดทอนอัตลักษณ์หนึ่งๆ โดยเฉพาะมลายูมุสลิม ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ การศึกษา ภาษา เศรษฐกิจ การบริหารราชการ กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการใช้อาวุธ
      
    สิ่งที่รัฐไทยทำได้ค่อนข้างสำเร็จคือการสร้างภาพจำอันก่อให้เกิดมายาคติต่อคนและพื้นที่นี้ กำเนิดวาทะกรรมโจรใต้ แบ่งแยกดินแดน กองกำลังติดอาวุธ ผู้คนใช้แต่ความรุนแรง มีแต่ระเบิด ฯลฯ ผ่านสื่อช่องหลัก หรือ mass media ตลอดเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา 

    หากแต่ไม่พูดถึงต้นตอ สาเหตุของปัญหา และความรุนแรงที่ตนเป็นผู้ก่อขึ้นต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อันนำไปสู่การสร้างอิทธิพลทางความคิด ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มเชื้อชาติและศาสนา ไม่เพียงแต่คนในพื้นที่ที่หวาดระแวงกันเอง แต่คนนอกพื้นที่ยังระแวง กลัว และเกิดอคติต่อพื้นที่และคนในพื้นที่นี้อย่างยากจะแก้ไข 




    อคติที่เกิดขึ้นนี้กดทับพี่น้องมุสลิมในพื้นที่นี้ยิ่งขึ้นไปอีก เป็นความรุนแรงในอีกมิติที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจและการใช้ชีวิต ถูกด่าทอ เหยียดหยาม เลือกปฏิบัติ และถูกกีดกันทางอาชีพ ความเกลียดชังและอคตินี้ อาจนำมาซึ่งความรุนแรงในเชิงกายภาพหรือการมุ่งหมายเอาชีวิตได้ด้วยเช่นกัน

    เราไม่ได้หมายความว่าคนในพื้นที่เกลียดกันหรืออยู่กันด้วยความระหวาดระแวงเท่านั้น เนื่องจากประสบการณ์จากการลงพื้นที่ก็พบว่า คนที่นี่ไม่ว่าจะสวมฮิญาบ กะปิเยาะหรือไม่ ผู้คน/ประชาชนก็อยู่ด้วยกันอย่างดี หากแต่รัฐต่างหากที่พยายามขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจนขึ้นด้วยวาทะกรรมและการสร้างมายาคติ

    ยิ่งไปกว่านั้น หากถอยกลับมาในมุมเศรษฐกิจ การที่เกิดภาพจำลบๆ จากสิ่งที่รัฐไทยและสื่อพยายามสร้าง อาจส่งผลให้ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ – เช่น คนจากจังหวัดอื่นไม่กล้ามาเที่ยวเพราะกลัวไม่ปลอดภัย ไม่นับรวมถึงราชการส่วนภูมิภาคที่ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่นี้ พัฒนาไม่ต่อเนื่อง บริหารราชการด้วยข้าราชการที่พร้อมย้าย/เกษียณตลอดเวลา ไม่มีนโยบายที่เอื้อให้เกิดเม็ดเงิน ไม่เกิดการลงทุน ไม่เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เพราะการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่เกิด ทำให้คนในพื้นที่นี้ติดอันดับความยากจนเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ
       
    แล้วประชาชนจะเห็นความจริงใจในการแก้ปัญหาได้อย่างไร? 

    เพราะแม้แต่เรื่องปากท้องยังทำให้คนในพื้นที่นี้ไม่ได้ ประชาชนจะเห็นได้อย่างไรว่ารัฐไทยหวังดีต่อพื้นที่และผู้คนจริงๆ? ทั้งที่ในความเป็นจริง พื้นที่นี้คือพื้นที่แห่งศักยภาพ เป็นจังหวัดชายแดนที่มีโอกาสเอื้อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้อย่างดี มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเพราะมีทะเล ป่าเขา มีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่เด่นชัด หากตั้งใจลดความรุนแรง จริงใจในการแก้ปัญหา หาทางออกร่วมกัน หรือแม้แต่เริ่มจากการพัฒนาคุณภาพชีวิต เราเชื่อว่าสามจังหวัดชายแดนใต้ ไปได้ไกลมากกว่านี้อย่างแน่นอน

    ..
    ความสุขและความหวัง

    การได้ออกมาพูดคุยกับเพื่อนที่ร้านน้ำชา ในจังหวัดปัตตานีคือสิ่งที่เราประทับใจที่สุดในโครงการนี้ เพราะนอกจากชาอร่อย ยังได้เห็นวัฒนธรรมของคนที่นี่อย่างเด่นชัด ร้านน้ำชาก็เหมือนสภากาแฟที่ผู้คนเข้ามาพบปะ พูดคุย สนุกสนานกับการใช้ชีวิต แทนที่การเข้าร้านเหล้าที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกับแกล้ม ที่นี่ก็เป็นน้ำชาและโรตีแทน
      
    ระหว่างที่พูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัด เราก็อยากถามคำเดิมซ้ำอีกครั้งกับเพื่อนอีกคน 

    สำหรับฮายาตี หญิงสาววัย 19 ปีคนนี้แล้ว ปาตานีคือ “พื้นที่แห่งความหวัง” เธอหวังว่าบ้านเมืองของเธอจะปราศจากความรุนแรงจากรัฐ ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หวังว่าผู้คนที่นี่จะได้ลืมตาอ้าปาก หวังว่าจะมีพื้นที่หรือดินแดนที่เธอปรารถนาเหมือนที่คนปาตานีทุกคนปรารถนา


      
    ส่วนซาฟี หากขอได้หนึ่งอย่าง เธอขอให้ปาตานีเป็น “พื้นที่ที่ได้หายใจ” 

    “แค่ได้หายใจก่อน เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องที่ตามมาก็ยังได้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรือเจตจำนงทางการเมือง” 

    เพราะทุกวันนี้คนในพื้นที่นี้ – โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลายูมุสลิม ถูกต้องสงสัยจากรัฐได้ทุกเมื่อทุกคน ถูกคุกคามถึงบ้านแม้ในที่ที่ควรปลอดภัยที่สุด 

    ทั้งบ้านในความหมายของที่อยู่อาศัย และบ้านในความหมายของ ‘ดินแดนปาตานี’.

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in