เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Dear My Internship DiaryTonliew Suparat
Chapter 6: สัปดาห์ส่งท้าย
  •        สำหรับตอนที่ 6 นี้จะเป็นตอนสุดท้ายของบันทึกฝึกงานของฉัน ซึ่งเป็นการรวมการทำงานในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายทั้งหมดเอาไว้ ฉันต้องขอยอมรับว่าเป็นสัปดาห์ที่น่าตื่นเต้นมากทีเดียว เนื่องจากฉันและเพื่อน ๆ ได้ย้ายไปทำงานในโซนต่าง ๆ อีกหลายโซนเลยทีเดียว โดยฉันจะขอเล่าถึงโซนแรกที่ฉันได้ย้ายไปทำงาน หลังจากอยู่โซนห้องสมุดสร้างสรรค์มาอย่างยาวนาน

    โซนนักสืบไดโนเสาร์
           
           โซนนี้อยู่ชั้น 1 ของอาคารทอตะวัน เป็นโซนที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 4-12 ปี แต่เด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปีก็สามารถเข้าไปชมได้ เพราะนอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังมีโซนกิจกรรมขุดฟอสซิลกลางแจ้งให้เด็ก ๆ ได้ขุดหาชิ้นส่วนของไดโนเสาร์อีกด้วย นับว่าเป็นไฮไลท์ที่สำคัญของโซนซึ่งสามารถดึงดูดพ่อแม่และเด็ก ๆ ทั้งไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี โดยกฏในการลงไปเล่นขุดฟอสซิลนั้นง่ายนิดเดียว นั่นคือต้องถอดถุงเท้าและรองเท้าก่อนลงไปเล่น ไม่ตักสายสาดใส่กัน และต้องขึ้นจากบ่อทราย 10 นาที ก่อนเวลาปิดรอบทำความสะอาด แต่น่าเสียดายเพราะในวันที่ฉันไปประจำโซนนั้นฝนตก บ่อทรายกลางแจ้งจึงต้องปิดเพราะน้ำท่วมขังในบ่อสูง ฉันจึงทำได้แค่พาผู้เข้าชมไปเกินดูตามจุดต่าง ๆ และบรรยายให้ความรู้ ความยากอย่างที่สุดในวันนั้นคือ ผู้เข้าชมโซนนักสืบไดโนเสาร์เป็นชาวต่างชาติแทบจะทุกคน ดังนั้นฉันจึงต้องบรรยายเนื้อหาทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษโดยมีเวลาให้เตรียมตัวและคิดบทพูดไม่นานเท่าไรนัก 

    โซนต่อมาที่ฉันได้ย้ายไปทำงานคือ โซน DIY Space
    รูปโดย เจิน

          โซน DIY Space อยู่บริเวณชั้น 1 ของอาคารจักรวาล เป็นโซนที่มีนิทรรศการและกิจกรรมประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุรีไซเคิลซึ่งเหมาะสำหรับเด็กวัย 7-12 ปี เนื่องจากฉันได้ดูแลในส่วนของกิจกรรมจึงมีหน้าที่หลักในการลงทะเบียนผู้เข้าชมอาคารและสอนกิจกรรมให้เด็ก ๆ เท่านั้น โดยกิจกรรมประจำเดือนกรกฎาคมคือ พวงกุญเเจ DIY จากลูกปัด ตัวฉันได้ทดลองทำด้วยตัวเองเเล้วเช่นกัน ก็ได้พบว่ายากกว่าที่คิดเนื่องจากต้องใช้สมาธิและความแม่นยำในการจัดวางลูกปัดสูง อีกทั้งยังต้องกะเวลาในการรีดลูกปัดให้ดี หากรีดน้อยไปลูกปัดจะไม่ติดกันเป็นแผ่น แต่ถ้ารีดนานเกินไปลูกปัดก็จะละลายจนไม่สามารถเจาะรูและร้อยพวงกุญแจให้เด็ก ๆ ได้ และเนื่องด้วยการสอนกิจกรรมจำเป็นต้องสอนตัวต่อตัว บางครั้งจึงทำให้ไม่สามารถสอนน้องได้ครบทุกคน ซึ่งเป็นปัญหาในหลายโซนที่มีการจัดกิจกรรม เนื่องจากจำนวนสต๊าฟในแต่ละโซนมีไม่มาก

    โซนที่ 3 ที่ฉันได้ไปทำคือ โซน 4D Cinema และ ป่ามหัศจรรย์

          ทั้งสองโซนอยู่บริเวณชั้น 1 ของอาคารยูนิลิเวอร์ ซึ่งเป็นอาคารใหม่ล่าสุดของพิพิธภัณฑ์ เป็นโซนชมภาพยนตร์ 4 มิติซึ่งเด็ก ๆ สามารถเข้าชมได้ทุกวัย โดยเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยภาพยนตร์มีความยาวประมาณ 5 นาที และเมื่อชมเสร็จแล้วเด็ก ๆ จะได้ไปทำกิจกรรมต่อเนื่องกันในโซนป่ามหัศจรรย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมระบายสีและปลูกต้นไม้ผ่านการแสกน QR Code แล้วฉายขึ้นจอภาพขนาดใหญ่ โดยการทำงานในโซนนี้จะมี 2 หน้าที่ด้วยกันที่ฉันได้ทำ 1. คือการควบคุมการเปิดปิดไฟและการฉายภาพยนตร์ ซึ่งจะอยู่ในห้องเล็ก ๆ ที่อยู่ภายในโรงภาพยนตร์อีกทีหนึ่ง 2. ช่วยจัดเตรียมสถานที่ในโซนป่ามหัศจรรย์และช่วยแสกนต้นไม้ของน้อง ๆ ขึ้นไปปลูกในป่าบนจอภาพ สำหรับโซนนี้งานไม่ได้หนักมากนัก เพราะจะมีพี่แม่บ้านคอยช่วยแจกและเก็บแว่นตา 3 มิติอีกทีหนึ่ง จึงทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมในสองโซนที่เชื่อมกันได้เลยทันทีและช่วยลดปัญหาสต๊าฟไม่เพียงพอในโซนได้อีกด้วย

    โซนที่ 4 คือ โซนเมืองสายรุ้ง

           เมืองสายรุ้งเป็นเสมือนโซนของเล่นสำหรับเด็กวัย 3-6 ปี โดยเป็นการจำลองเมืองหนึ่งเมือง ที่ผู้คนในเมืองมี 12 อาชีพให้เด็ก ๆ เลือกเล่นเป็นอีกโซนหนึ่งซึ่งผู้ปกครองทั้งหลายอยากพาลูกมาเล่น เมืองสายรุ้งตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารสายรุ้ง และเนื่องจากปริมาณคนเข้าต่อ 1 รอบมีจำนวนมาก จึงมีการปรับเวลาเป็น 12 รอบ รอบละ 20 นาที จากเดิม 6 รอบ รอบละ 40 นาที สำหรับงานในโซนนี้ สต๊าฟจะต้องคอยลงทะเบียนรายชื่อผู้เข้าใช้งาน โดยผู้ที่เข้าได้คือ ผู้ปกครอง 1 ท่าน ต่อเด็ก 1 คน ในกรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มีพี่ที่อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นมาด้วย จะอนุญาตให้พี่เข้าไปในฐานะผู้ปกครองของน้องเล็ก และเมื่อครบเวลาสต๊าฟจะเป็นผู้แจ้งเวลาปิดโซนให้แก่ทุกคนในห้องและทำความสะอาดของเล่นต่าง ๆ เช่นกันกับโซนอื่น

    โซนที่ 5 คือ โซนสโมสรนักประดิษฐ์

            อยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคารทอตะวัน เป็นโซนประดิษฐ์ของเล่นสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี  อนุโลมให้เด็กที่อายุ 5 ขวบสามารถทำได้ และเนื่องจากจกรรมเป็นการสอนเเบบตัวต่อตัวเช่นเดียวกับโซน DIY Space จึงจำกัดผู้เข้าทำกิจกรรมรอบละ 10 คนเท่านั้น ในช่วงที่ฉันไปประจำมีกิจกรรมประจำเดือน คือ ตุ๊กตาเส้นเด้งดึ๋ง ซึ่งฉันได้ทดลองทำก่อนสอนเด็ก ๆ ด้วย นับว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ยากมาก แต่ก็ไม่ง่ายนัก นอกจากหน้าที่สต๊าฟสอนเด็ก ๆ ทำกิจกรรม ฉันยังช่วยดูแลเรื่องการลงทะเบียนเข้าทำกิจกรรมและช่วยแนะนำผู้ปกครองเรื่องสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับเด็กที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ด้วย

    โซนครัวไทยวัยจิ๋ว เป็นโซนสุดท้ายที่ฉันได้ไปทำงาน
    รูปโดย ผักกาด


         โดยโซนนี้ตั้งอยู่ชั้น 1 ของอาคารทอตะวัน เหมาะสำหรับเด็ก 6-12 ปี เนื่องจากมีการให้ความรู้เรื่องข้าวของเครื่องใช้ในครัวและยังมีกิจกรรมทำขนมในวันหยุดอีกด้วย ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้เป็นการทำขนมโมจิไส้ช็อกโกแลต แต่เนื่องจากฉันได้ไปอยู่โซนในวันพฤหัสบดี จึงไม่มีการสอนทำขนมแต่อย่างใด สิ่งที่สต๊าฟทำจึงเป็นการให้ความรู้เรื่องของใช้ในครัวและให้ความรู้เรื่องอาหารนั่นเอง

    เนื่องจากโซนส่วนใหญ่ที่ฉันได้ไปทำ ล้วนแต่เป็นโซนทำกิจกรรมเกือบทั้งสิ้นเลยอาจทำให้รูปแบบของการทำงานดูไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ แต่ถึงอย่างนั้นงานในแต่ละโซนก็สนุกและมีความยากแตกต่างกันไปในแต่ละงาน ซึ่งช่วยให้ฉันได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายแม้ว่าทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 2 เดือนก็ตาม ท้ายที่สุดฉันก็คงต้องขอขอบคุณ อาจารย์ พี่ ๆ ทุกคน และเพื่อนของฉันที่ทำให้การฝึกงานในครั้งนี้สามารถผ่านไปด้วยดีและก็ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามมาจนถึงตอนจบของบันทึกนี้ แม้ว่าจะมีช่วงที่ทิ้งห่างหายไปบ้างก็ตาม ขอบคุณค่ะ ;)


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in