เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สาระภาษา (ไม่) มีอยู่จริงpadumpalm
03 : เกิดมาท่ามกลางหลายภาษา ได้เปรียบจริงเหรอ? (Part 2)
  •      เคยได้ยินประโยคที่กล่าวว่า "การเรียนภาษามาจากบุญเก่าที่สั่งสมมา" บ้างไหมคะ อย่างเช่น ตอนที่ลองไปเรียนภาษาใหม่ ๆ พร้อมกันกับคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในสถาบันสอนภาษา หรือในโรงเรียนเองก็มักจะมีคนที่เหมือน 'ปีศาจ' คือจะเรียนรู้ได้ไวกว่าชาวบ้าน เป็นอับดุลที่ถามอะไรก็ตอบได้หมด แถมยังรู้จักคำศัพท์แปลก ๆ และอาจจะมีสำเนียงที่เป๊ะปังเหมือนเนทีฟมาเองอีกด้วย พอเราลองเปรียบเทียบกับตัวเองที่อยู่ในคลาสเดียวกันแล้ว ก็อาจเกิดความท้อแท้ในการเรียนภาษาได้ค่ะ 

         แต่ในเมื่อวันนี้เพื่อนๆได้หลงเข้ามาในบล็อกของเราแล้ว เราจะมานำเสนอ วิธีเพิ่มแต้มบุญทางภาษา วิธีหนึ่งกันค่ะ สืบเนื่องจากที่บล็อกที่แล้วได้พูดถึงเรื่อง การรับภาษาที่หนึ่ง ภาษาที่สอง และช่วงวัยที่เหมาะสมกับการเรียนภาษาเพื่อให้เข้าใกล้ความเป็นเนทีฟไปแล้ว (ใครยังไม่อ่านจิ้มตรงนี้เลอ) ก็อาจจะมีหลายๆคนสงสัยถึงวิธีการรับภาษาของเด็ก ๆ อยู่บ้าง ซึ่งจริงๆแล้วเรามองว่าหากเราเข้าใจ กลไกการเรียนรู้ภาษาของเด็ก ก็เหมือนได้กุญแจอีกดอกหนึ่งที่ไขไปสู่ประตูความสำเร็จทางภาษาเลยทีเดียวค่ะ 


    อัดภาษาให้เด็กมาก ๆ จะทำให้เด็กเก่งหรือพังกว่าเดิม ?


         หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าการให้เด็กรับเรียนภาษามาก ๆ จะทำให้ เด็กสับสนกับภาษาแม่ของตัวเอง จนเด็กมีพัฒนาการช้า เริ่มพูดช้า ซึ่งเราขอบอกตรงนี้เลยว่าเป็น 'ความจริง' ค่ะ (แต่ไม่ใช่กับเด็กทุกคนค่ะ เพราะจริง ๆ มีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย) เราจะขอยกประสบการณ์ที่ตนเองได้พบเจอมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกัน นั่นก็คือออออ น้องๆในบ้านเรานั่นเอง //ปรบมือ น้อง ๆ ของเรามีสองคน คนแรกเป็นน้องสาววัยหกขวบ ส่วนอีกคนคือน้องชายวัยสี่ขวบ ทั้งคู่เป็นลูกครึ่ง ไทย (อีสาน)-อิตาลี ค่ะ! 
      
         ก่อนอื่นขออธิบายสภาพแวดล้อมในบ้านก่อนนะคะ 
    • เนื่องจากคุณพ่ออิตาลีไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เลยต้องใช้ภาษาอังกฤษคุยกับคุณแม่ และเพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันเวลาสนทนา ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาหลักในบ้านค่ะ
    • พี่เลี้ยงในบ้านเป็นคนเมียนมาร์ พูดไทยและอังกฤษได้นิดหน่อย แต่มีปัญหาในการออกเสียงไม่ชัด ไม่สามารถออกเสียงตัวสะกดได้ (ถ้าให้นึกภาพก็เหมือนกับคนญี่ปุ่นเลยค่ะ ที่จะออกได้แต่เสียงสั้น ๆ เช่นเสียง อะ อิ อุ )
    • ส่วนตัวเราส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยคุยกับแม่และพี่เลี้ยง แต่ใช้ภาษาอังกฤษคุยกับน้อง ๆ ค่ะ

         จากที่โตมาในบ้านที่มีหลายภาษา ทำให้น้องเรามีพัฒนาการทางภาษาที่ช้าเมื่อเทียบกับเราค่ะ ตอนที่น้องชายอายุ 2 ขวบ จะดูไม่ค่อยมีความมั่นใจเวลาพูด พูดน้อย แต่เขาจะฟังและเข้าใจเวลาคนบอกให้ทำอะไรโดยการพยักหน้า และบอกความต้องการของตัวเองได้จากศัพท์ง่าย ๆ พอเวลาผ่านไปถึงจะเริ่มพูดอธิบายลักษณะของสิ่งต่างๆได้มากขึ้น เช่น ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพราะอะไร รวมไปถึงพูดคุยในหลายหัวข้อมากขึ้น เช่น เรื่องของเล่น , การ์ตูน , เพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ค่ะ


    น้องเรียนภาษาอะไรบ้าง?

         ในส่วนของการเรียนรู้ภาษาอื่น ๆ ขอแบ่งเป็นแต่ละภาษาพร้อมกับคะแนนความสามารถในภาษานั้นค่ะ (ประเมินโดยเราเอง 555)
    • อังกฤษ (8/10) 
         เนื่องจากใช้เป็นภาษาหลักก็จะคล่องที่สุดแล้วค่ะ ฟังและพูดได้เป็นธรรมชาติมาก ถึงแม้บางคำจะผิดไวยากรณ์บ้าง เช่น
    I remember still.   (I still remember.)      
    I want make together.    (I want to make it together.)

         แต่เราคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยค่ะ เพราะช่วงแรกๆเด็กกำลังสะสมคลังคำศัพท์ให้ได้มาก ความถูกต้องของการใช้จะตามมาเมื่อได้เรียนรู้มากขึ้นเป็นปกติ ปัญหาที่พบจริง ๆ คือเรื่องการออกเสียงของน้องชายคนเล็ก เพราะเขาต้องอยู่บ้านนานขึ้นกับพี่เลี้ยงในช่วงโควิด ทำให้เขายังออกเสียงบางคำได้ไม่ชัดตามพี่เลี้ยง แม่เราจึงพยายามให้เขาพูดภาษาไทยกับน้องแทนภาษาอังกฤษค่ะ

    • ไทย (4/10) 
         ที่ให้น้อยเพราะเราไม่ค่อยเห็นน้องใช้ภาษาไทยเท่าไหร่ค่ะ ถ้ามีคนแปลกหน้าเข้ามาทักเป็นภาษาไทยก็จะไม่ยอมคุยด้วย แต่น้องจะเข้าใจประโยคง่าย ๆ และพูดได้เป็นคำ ๆ ค่ะ เช่น ไม่เอา หิว อุ้ม ชอบ บางครั้งคุณแม่จะพยายามใช้ภาษาไทยกับน้อง เช่น บอกว่าอะไรเป็นอะไร สอนว่าอันนี้ทำไม่ได้นะ เวลาที่น้องไม่เข้าใจแม่ก็จะบอกเป็นภาษาอังกฤษอีกรอบค่ะ cocosa c'èsa c'ècosa c'è

    • อิตาลี (2/10) 
         ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก ๆ ในชีวิตประจำวัน จะได้ฟังเฉพาะตอนที่คุณพ่ออยู่ค่ะ มีเปิดเพลงหรือการ์ตูนเป็นภาษาอิตาลีให้ดูบ้าง ผลคือตัวน้อง ๆ จะเข้าใจคำสั้น ๆ ที่พูดบ่อยๆ (โดยเฉพาะตอนโดนดุ) เช่น Momento (Just a moment.) ,cCosa c'è? (What's wrong?)   และคำทักทายพื้นๆอย่าง  Ciao (Hello) , Grazie (Thanks) , Salute (Cheers)   นอกจากนั้นจะเป็นชื่ออาหารที่น้องๆชอบค่ะ พวก Pizza ,  Margarita , Gelato (ที่เราพอจำได้นะคะ เพราะเราพูดไม่ได้5555) 
     //แอบกระซิบ จริง ๆ แล้วตัวคุณพ่อเองพูดได้ทั้งอิตาลี สเปน ฝรั่งเศสค่ะ (ไอดอล)

         สภาพแวดล้อมที่โรงเรียนก็จะเป็นโรงเรียนอินเตอร์ค่ะ มีเพื่อนเป็นคนไทยบ้าง แต่จะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเป็นหลัก และมีครูชาติอื่นอย่าง สเปน ญี่ปุ่น จีน ไทย ปน ๆด้วย แค่ได้ฟังจำนวนเราก็ปวดหัวแทนน้องแล้วค่ะ @_@ )


    ข้อดีของการเป็น Multilingual Child

    จากที่เราสังเกต ความพิเศษของพวกเขาคือ 
          1)     มี Inout และ Output ที่ดีมาก
                  ไม่ว่าคำที่ได้ยินจะเป็นภาษาอะไร เขาสามารถรับและตอบสนองโดยการทวนคำนั้นออกมาได้ใกล้เคียงเจ้าของภาษามาก ๆ เขามักจะใช้ (what is …?) แม้ว่าจะเป็นคำที่ยากมากๆเข้าก็สามารถทวนและเข้าใจได้อย่างรวดเร็วค่ะ (ตอนเราเรียนญี่ปุ่น น้องก็แอบพูดตามด้วยค่ะ5555) เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเด็กที่รับภาษาหลายๆรูปแบบ จะมีความสามารถในการ Input และ Output ที่ดีมากค่ะ

         2)     สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่มีภาษาอื่น ๆ ได้ง่าย
                 ถึงแม้ตัวน้องสาวเราจะไม่ค่อยยอมพูดภาษาไทย เพราะรู้สึกเขินอายและไม่มั่นใจ แต่พอถึงเวลาที่ถูกบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีคนเข้าใจเขาจริง ๆ เช่น ตอนเราไปเล่น Zipline ที่มีแต่คนไทย เขารู้สึกสนุก เลยพูดภาษาไทยออกมาว่า 
    “กาย่าเอาอีก” “กาย่าไม่กลัว” "กาย่าชอบ"  (น้องชื่อกาย่าค่ะ)   

                 นอกจากนี้น้องยังสามารถเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูดได้ เช่น ตอนเขาไปร้านสะดวกซื้อกับคุณพ่อ มีพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่น้องก็เขาใจในสิ่งที่พนักงานบอก และแปลต่อให้กับคุณพ่อได้อีกด้วย!
          เราจึงสรุปว่า ถึงแม้เด็กจะโตมากับภาษาที่หลากหลาย ไม่ได้แปลว่าเด็กจะสับสนและพูดออกมาไม่ได้ค่ะ นั่นเป็นเพราะเด็กนั้นกำลังเรียนภาษาโดยการซึมซับ ซึ่งจะกลายเป็นความสามารถแฝงของเขาไปโดยไม่รู้ตัวค่ะ และความสามารถนี้เองจะมีประโยชน์กับเขามากเมื่อโตขึ้น อย่างไรก็ตามบางครั้งเด็กอาจไม่ยอมใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาที่หนึ่ง เพราะเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คิดว่าทุกคนสามารถเข้าใจได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดภาษาอื่นค่ะ ดังนั้นหากถูกบังคับให้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ภาษานั้น ๆ เขาก็จะเริ่มพูดออกมาในที่สุดค่ะ

         จากที่อ่านมาถึงตรงนี้มีความคิดทางด้านการเรียนภาษาต่างไปจากเดิมบ้างมั้ยคะ (><) สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังเรียนภาษา หรือศาสตร์ใด ๆ เราคิดว่าการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพก็คือการเรียนการสอนแบบเด็ก ๆ นี่แหละค่ะ คือเน้นความเชื่อมโยง ความเข้าใจ ความถี่ในการใช้งาน ไม่ต้องกลัวผิด ฝึกไปจนให้เราคุ้นชินในชีวิตประจำวัน และเราก็จะเกิดความสนุกและความมั่นใจในการใช้มันมากยิ่งขึ้นค่ะ! อย่าลืมนำทิปเพิ่มบุญเก่านี้ไปใช้กันนะคะ สำหรับวันนี้ ไม่ขอช้างขอม้า แต่ขอเงินหน่อยค่ะ // ผิด ไว้เจอกันใหม่ในบล็อกหน้าค่า

    อ้างอิง
    https://www.nationwidechildrens.org/family-resources-education/700childrens/2017/12/teaching-kids-a-second-language-can-it-cause-a-speech-delay
    ภาพ : 
    https://www.freepik.com/
    https://unsplash.com/

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
somusomu (@somusomu)
ชอบเรื่องน้องๆมากเลยค่ะ ส่วนตัวแอบอิจฉาเด็กที่เกิดมาในสภาพครอบครัวที่ใช้หลายภาษา เพราะคิดว่าโตขึ้นไปน่าจะได้เปรียบแบบไม่ต้องมานั่งเรียนให้ทรมานมากนัก? แต่พอฟังๆดูแล้วน้องๆเขาคงผ่านความสับสนอะไรมาเยอะกว่าจะได้ขนาดนั้น ชื่นชมค่า?
namprikplaa2 (@namprikplaa2)
สงสัยมาตลอดเลยค่ะว่าเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบ multilingual นี่เขาเป็นไงกัน ขอบคุณที่เอาเรื่องน้อง ๆมาแบ่งปันนะคะ จริง ๆ ก็คิดเหมือนกันว่าการเรียนภาษาให้ได้ประสิทธิภาพก็คือแบบที่คุณเจ้าของบล๊อกพูดมาเลยค่ะ คือมันต้องมีการฝึกใช้ผิดบ้างถูกบ้าง ขัดเกลากันไปจนซึมซับเข้าหัว แล้วก็จะสามารถพูดออกมาเองได้ พูดแล้วก็อยากย้อนกลับไปเป็นเด็กเลยค่ะ อยากฝึกภาษาใหม่แต่ศูนย์เผื่อจะพูดเก่งกว่าตอนนี้ 555555
k.l.k (@k.l.k)
อ่านเรื่องน้องแล้วน่ารักจัง พี่เลยได้สังเกตพฤติกรรรม(ภาวะ)หลายภาษาของน้องเลย ตอนที่น้องโตเริ่มอ่านเขียน น่าจะยิ่งสนุกพิศวง
kumagumi (@kumagumi)
อ่านเพลินมากเลยค่ะ55555 เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเด็กที่ต้องเติบโตมากับ multilingual จะต้องเจออะไรบ้าง แล้วจะพูดแต่ละภาษาได้มากน้อยแค่ไหน พอได้อ่านเรื่องนี้ก็เห็นภาพมากขึ้นค่ะว่าปัจจัยแวดล้อมมีผลต่อการเรียนรู้ภาษาจริง ๆ แล้วเราก็ว่าการเรียนภาษาแบบเด็ก ๆ จำไป ใช้ไป ไม่ต้องกลัวผิดนอกจากจะทำให้ทักษะภาษาเพิ่มขึ้นแล้ว ก็เรียนสนุกขึ้นมากเลยค่ะ