วันนัดคุยกับคุณครูเอื้องครั้งแรก เราได้เล่าถึงสิ่งที่คิดเอาไว้จนหมด เพราะต้องการคำแนะนำว่าเราควรไปในทิศทางใด โดยต้องเล่าก่อนว่าเนื้อเรื่องตอนแรกของเคหาสน์ตฤษณาเป็นเรื่องเหมือนที่เล่าไปในตอนที่แล้ว แต่ได้มีการลองนำมาปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำวันเสนอไอเดีย จึงกลายเป็นวรรณกรรมแฟนตาซี สืบสอบสวนแทนเรื่องเดิม
ทีนี้พอเป็นแนวสืบสวนสอบสวนที่ไม่ถนัด ทำให้เราต้องคิดหลายตลบว่าเรื่องราวจะเป็นยังไงเพื่อให้ดูสมูทและมีความซับซ้อน แต่สุดท้ายคุณครูเอื้องและต้นหลิว (ที่นั่งคุยด้วยกัน) ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าให้ทำในแบบที่ถนัดจะดีกว่า เพราะเรื่องเดิมก็มีความน่าสนใจเหมือนกัน เราจึงได้วกกลับมาที่พล็อตเดิมในตอนแรก
จากนั้นงานแรกของเราคือการเขียนโครงเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมกับรายละเอียดต้นฉบับของตัวละครที่เลือกมา โดยเราเลือกจิตรางคทาจากมหาภารตะ จินตะราวาตีจากอิเหนา สำมนักขาจากรามเกียรติ์ สันธมารจากนางสิบสองและศกุนตลาจากศกุนตลา โดยตัวละครทั้ง 5 ตัวนี้เป็นตัวละครที่เรามองว่ามีปมบางอย่างที่เราอ่านแล้วสนใจ เช่น ทำไมสันธมารถึงกลายเป็นตัวร้าย ทำไมจินตะราวาตีจะต้องทนกับอิเหนาที่ไม่ได้รักกันแล้ว เป็นต้น
ซึ่งเราได้ทำเป็นตารางว่าเรื่องเริ่มต้นเป็นอย่างไรและจะมีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างในงานของเรา จากนั้นจึงเป็นการขยายพล็อตเป็นโครงเรื่อง เราได้มีเซตติ้งหลักเป็นโลกหลังวรรณคดีที่ตัวละครจะถอดหน้านักแสดงจากวรรณคดีต้นฉบับมาเป็นตัวของตัวเอง และค่อย ๆ ดำเนินเรื่องไปจนจบพร้อมการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่พบเจอ
แล้วจึงเป็นการคุยครั้งที่ 2 เราได้นำเสนอให้คุณครูเอื้องอ่าน แต่รอบนี้เป็นการนัดออนไลน์แทน ดังนั้นไฟล์งานของเราจึงส่งให้อ่านโดยละเอียดทางอีเมลอีกครั้ง และได้รับคำแนะนำในการทำให้เนื้อเรื่องมีสมเหตุสมผลมากขึ้น โดยการหาข้อมูลทางจิตวิทยามารองรับและสามารถเริ่มต้นดำเนินการเขียนได้เลย ทำให้เราต้องค้นหาข้อมูลด้านจิตวิทยาเพิ่มเติม
ความคิดแรกเราอยากจะลองหาหลาย ๆ ทฤษฎีจิตวิทยามาใช้กับตัวละคร แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่าพื้นฐานของมนุษย์ย่อมเป็นครอบครัว จึงได้เลือกจิตวิทยาการเลี้ยงดูมาใช้และอีกทฤษฎีที่เลือกมาคือ จิตวิทยาความสัมพันธ์ เนื่องจากตัวละครในชิ้นงานต่างต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงเป็นทฤษฎีที่สามารถนำมาอ้างอิงได้ (และวิชาโทจิตวิทยาเทอมสุดท้ายนี้ก็ได้เรียนเรื่องนี้ด้วย โชคดีมาก ฮา)
เราใช้เวลาประมาณสองอาทิตย์ในการเขียนบทนำ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นคือเราดำเนินงานด้วยภาษาที่แตกต่าง ทำให้รู้สึกว่าเขียนค่อนข้างยากกว่าเดิม ดังนั้นแล้วจึงได้เข้าปรึกษาครั้งที่สามเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ ซึ่งคุณครูได้ให้แนะนำให้ลองเขียนดูและให้ใครหลาย ๆ คนนอกจากคุณครูอ่านด้วย เพื่อจะได้รับคอมเม้นต่าง ๆ
แล้วเราจึงได้กลับมาเขียนบทนำต่อได้สำเร็จและทำการส่งให้คุณครูเพื่ออีดิทนั่นเอง และขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมอัพเดตเรื่องราวการทำงานทั้งหมดจำนวน 30% ซึ่งพรีเซนต์ทั้งหมดจะมีการสุ่มลำดับเหมือนกับครั้งที่แล้ว โดยรอบนี้เราได้เป็นคิวสุดท้ายและได้พรีเซนต์วันที่ 14 มีนาคม
การเตรียมสไลด์เป็นไปด้วยดีและขณะเดียวกันก็ดำเนินการเขียนบทหนึ่งต่อจากบทนำ และการนัดคุยก่อนวันนำเสนอคุณครูก็ได้เอาบทนำที่ได้ให้คำแนะนำมาคืนให้พร้อมกับอธิบายในจุดที่ขาดเพิ่มเติม และแนะนำเกี่ยวกับสไลด์นำเสนอ
คราวนี้มาถึงการนำเสนอ เราได้รับคำเม้นในส่วนที่เนื้อหาสามารถแฟนตาซีได้มากขึ้น เพ่ิ่มมุกตลกให้เยอะขึ้น เพราะตอนนี้เนื้อเรื่องยังดูเคร่งเครียด รวมถึงยังมีเนื้อหาบางจุดยังไม่สมบูรณ์และขาดการเชื่อมต่อเช่นเดียวกัน ดังนั้น ณ ตอนนี้เป็นช่วงเวลาการดำเนินงานต่อไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน
next station is - การอัพเดตช่วงทำงาน (ชื่อตอนรอลุ้นค่ะ ฮ่า)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in