‘ป้าเหมียว’ ที่ฉันรู้จัก เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ย้ายไปอยู่อิตาลีกับสามีตั้งแต่ฉันยังไม่เกิด เป็นคนแต่งตัวเปรี้ยว ชอบใส่ชุดว่ายน้ำ กางเกงขาสั้น ดูอย่างไรก็ไม่เหมือนคนอายุ 64 และชอบทาเล็บสีแดงสด
ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ที่ฉันสังเกตเห็นว่าเล็บของเธอไม่มีสีแดงสดเหมือนเคย ตอนแรกฉันก็ทึกทักไปเองว่าเป็นเพราะอายุที่มากขึ้น แต่เธอสารภาพกับฉันระหว่างสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่า เป็นเพราะงานอาสาสมัครที่สถานสงเคราะห์สุนัขจรจัดต่างหาก
ป้าเหมียวที่ใช้ชีวิตอยู่ในอิตาลีมีนามว่า “แคทธี่” เธอเป็นอาสาสมัครดูแลสุนัขจรจัดอยู่ที่มูลนิธิ ENPA (Ente Nazionale Protezione Animali) ในเมืองโนวารามากว่า 9 ปีแล้ว (และยังแวะเวียนไปช่วยดูแลส่วนของแมวจรจัดด้วยเป็นบางครั้งบางคราว) โดยเรื่องทั้งหมดเริ่มจากความว่างหลังเรียนคอร์สภาษาอังกฤษจบและการเดินไปซื้ออาหารบริจาคสุนัขครั้งเดียวเท่านั้น
“แต่ก่อนก็เป็นคนรักหมา รักแมวอะไรงี้ แต่เราไม่เคยเข้าไปข้างใน (สถานสงเคราะห์) เลยว่าเป็นยังไงแล้วเนี่ย...เดือนเมษา เมื่อ 9 ปีที่แล้วพอดี (ยิ้ม) ตอนแรกเราก็แค่ไปซื้ออาหารบริจาค แล้วเขาก็ชวน เราก็คิดว่า เออ มีเวลาว่าง เราก็เลยลองทำดู”
การตัดสินใจลงไปคลุกคลีกับงานจิตอาสานั้นทำให้เธอต้องลงไปนอนคลุกฝุ่นมาหลายต่อหลายครั้งรอบล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ เธอต้องเข้าเฝือกเพราะถูกสุนัขกระชากจนล้มหงายหลังกลางทุ่งหญ้า หรือแม้กระทั่งตอนที่เธอได้จูงสุนัขครั้งแรกเมื่อ 9 ปีก่อน
“ด้วยความที่เราไม่เคยหมาก็เกือบลากเราลงคลอง เพราะมันเป็นหมาพันธุ์แบบล่าสัตว์อะ เราก็ไม่รู้ เกือบลงคลอง ดีนะเราเอาขาหนีบต้นไม้ไว้ ฮ่า ๆๆ” ด้วยเหตุนี้ ภายหลังทางศูนย์จึงให้สุนัขอยู่แค่ในบริเวณ เพราะไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุกับอาสาสมัครอีก และพยายามให้แค่อาสาสมัครหนุ่มสาวที่ยังมีแรงทำงานในส่วนนี้เท่านั้น “ที่นี่เขาจะทำประกันให้ เผื่อเราหักหรือเคล็ด บังคับฉีดยาบาดทะยักด้วย และหมาทุกตัวก็จะฉีดกันพิษสุนัขบ้าด้วยเหมือนกัน”
นอกจากการจูงหมาแล้ว อีกเรื่องที่โหดไม่แพ้กัน (สำหรับฉัน แต่ไม่ใช่สำหรับป้าเหมียว) คือ การเช็ดอุจจาระและปัสสาวะของเหล่าน้องหมา “พอไปถึงที่มูลนิธิป้าก็จะไปเอาน้องหมาออก เขาจะมีชื่อเรียงมาเลย... จะมีหมาแก่ หมาที่ไม่สบายเราก็เปลี่ยนน้ำให้เขา ดูแลผ้าห่ม ถ้าเขาถ่าย เราก็เอาสายยางมาล้างทำความสะอาดในบ็อกซ์ (box) เราก็จะเช็ดตัว ตัดขน แปรงขน เตรียมผ้าปูที่นอนให้เขาบางทีถ้าเขาไม่ยอมกินข้าว เราก็เอาใส่มือป้อนเขา แล้วก็ล้างชามของน้องหมาเป็นร้อยๆ ใบ ล้างกันจนมือ...นั่นเลย” ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ก็จะมีการหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน
มีอาสาสมัครหลายคนที่เข้าไปข้างในบ็อกซ์แล้วบ่นว่า “เหม็นจังเลย ฉันแพ้” แล้วก็ไม่กลับมาทำงานอีกเลยเพราะฉะนั้นเธอจึงบอกว่า “ถ้าเป็นคนที่รังเกียจขี้เยี่ยวของหมา ก็มาทำงานแบบนี้ไม่ได้แน่นอน”
“ป้าเหมียวว่าขี้คนเหม็นกว่าขี้หมาอีกนะ... ฮ่า ๆๆ” เธอกล่าวอย่างติดตลก
กระบวนการรับสุนัขมาเลี้ยงของทางศูนย์ ในหลาย ๆ ครั้งจะผ่านการติดต่อประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะหากได้รับแจ้งว่าสุนัขถูกทำร้าย เจ้าของก็จะหมดสิทธิ์ในการเลี้ยงดูไปโดยปริยาย แต่ในบางครั้งก็มีกรณีพิเศษเช่น ครั้งหนึ่งที่ตำรวจจับกุมผู้ค้าสุนัขข้ามชาติผิดกฎหมายจากโรมาเนียได้จนทำให้ครั้งนั้นทางศูนย์ต้องรับสุนัขกว่า 17 ตัว มาดูแลพร้อม ๆ กัน หลังจากนั้นศูนย์ก็จะพาสุนัขไปฉีดวัคซีน หรือรักษาตามอาการป่วย อาทิ เจอพยาธิในลำไส้เพราะไปกินอาหารที่สกปรก และเมื่อรักษาดูแลจนสุนัขเริ่มดีขึ้น ทางศูนย์ก็จะลงประกาศบนหน้าเพจเฟซบุ๊กเพื่อตามหาผู้สนใจขอรับเลี้ยง
“หมาพวกนี้ (ตอนมาใหม่ๆ) จะกลัวมาก สั่นมาก หางจุกก้น บางครั้งก็ขู่ หรือไปมุดอยู่ตรงข้างใต้เป็นเดือน ๆ กว่าจะยอมออกมา บางครั้งป้าเหมียวต้องพยายามนั่งอยู่ข้างในบ็อกซ์กับเขาด้วย เพื่อให้เขาชินกับเรา เดี๋ยวไม่มีคนรับเขาไปเลี้ยง สุนัขเขาก็จดจำสิ่งที่มันไม่ดีกว่าที่เขาจะหายมันก็ใช้เวลา” เมื่อฟังคุณป้าเล่าไปได้สักพัก ฉันจึงเริ่มนึกภาพออกว่าอันที่จริงสถานสงเคราะห์ของสัตว์กับของคนก็ไม่ต่างกันมากนัก ในแง่ที่ว่าสิ่งมีชีวิตที่จะมาอยู่ตรงนี้คือกลุ่มที่ถูกทิ้งหรือถูกทำร้าย และสิ่งสำคัญที่คนมักลืมไปก็คือ ที่นี่ไม่ได้ถูกก่อตั้งมาเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้าย แต่โชคไม่ดีนักที่สุนัขหลายตัวต้องเกิดและตายอยู่ที่นี่อย่างไร้ทางเลือก
เมื่อมีคนมาขอรับเลี้ยง ทางศูนย์ก็จะดูความพร้อมทางสถานที่ ตรวจสอบประวัติต่าง ๆ รอให้หมาตัวนั้นชินกับผู้ขอรับเลี้ยงเสียก่อนและตามไปตรวจสอบการเลี้ยงดูหลังจากที่รับไปแล้วอีก 2-3 ครั้ง
ครั้งหนึ่งเคยมีกรณีที่ผู้รับเลี้ยงเผอเรอเพิ่งรับสุนัขไปจากศูนย์แล้วก็แวะไปกินกาแฟที่บาร์ จนทำให้สุนัขตื่นตกใจวิ่งหนีไปเลยเมื่อเจอสุนัขตัวอื่น ตำรวจและทางศูนย์ก็ต้องช่วยกันตามหา กรณีเช่นนี้เมื่อทางศูนย์เจอก็จะเอาสุนัขกลับเลย คนที่ขอรับเลี้ยงก็หมดสิทธิ์ เพราะถือว่าหละหลวม
________________________________
ฉันเริ่มสงสัยแล้วว่าอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคในการทำงานที่นี่ของเธอ เพราะไม่ว่าจะเรื่องขาหัก หรือการเช็ดของเสียก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับป้าเหมียวเลย เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่า “เคสที่งี่เง่าแล้วส่งคืนนี่แหละ” ฉันค่อนข้างประหลาดใจ เนื่องจากมีหลายคนที่ส่งสุนัขคืนเพียงเพราะรับไม่ได้ที่มันกัดประตู กัดเฟอร์นิเจอร์ หรือคุ้ยดินในสวนจนดอกไม้พัง
“หมากัดประตูกัดรองเท้า ก็มองให้เป็น art (ศิลปะ) สิ” เธอหัวเราะอย่างไม่คิดมาก ฉันก็หัวเราะให้กับอารมณ์ขันของเธอ “บ้านป้ามีแมว บางทีมันก็ข่วนผ้าห่ม เตียงป้าเหมียวยังเป็นรูเลย (หัวเราะ) คือเรารู้เราเข้าใจ แต่พวกนี้รับไม่ได้ — ถ้าคุณคิดแบบนี้คุณก็ไปซื้อตุ๊กตาหมาแมวมาตั้งไว้”
หลายคนอาจคิดว่าเป็นสิทธิ์ของผู้รับเลี้ยงที่จะส่งคืนตามความพอใจ แต่ฉันคิดว่าหมาก็เป็นสิ่งมีชีวิต มีจิตใจ “น่าสงสารมากเลยนะตอนเอากลับมาคืนมันเคยนอนดี ๆ อยู่ดี ๆ ต้องกลับเข้ากรงเหมือนเดิม ก็เสียสุขภาพจิตเขานะ” ฉันพลอยนึกถึงเรื่องที่เพื่อนเคยเล่าให้ฟังสมัยไปเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศว่าต้องเปลี่ยนโฮสต์หลายต่อหลายครั้ง และคิดว่าสำหรับสุนัขก็คงไม่ต่างกัน จึงยิ่งเข้าใจสิ่งที่ป้าเหมียวพูด
และเมื่อได้ยินเช่นนี้ก็ยิ่งตอกย้ำคำถามที่อยู่ในใจฉันว่า “อะไรกันแน่ที่ทำให้เราอยากเลี้ยงสัตว์ตัวหนึ่งหรือคน ๆ หนึ่ง?”
________________________________
อีกหน้าที่หนึ่งในการเป็นอาสาสมัครก็คือ การไปขอรับเงินบริจาคสมทบทุน มีอยู่ครั้งหนึ่งป้าเหมียวได้เจอกับคนที่จู่ ๆ ก็ยื่นไวน์มาให้แล้วบอกว่า “ซื้ออาหารให้หมาไปทำไม เอาไวน์ไปสิ เอาไวน์ให้หมากิน”
“แล้วป้าเหมียวจัดการกับเขายังไง” ฉันถาม
“ป้าก็ตอบกลับไปว่าเอาไปให้เมียคุณลูกคุณกินเถอะ (ถ้าทำแบบนี้อีก) ทีหลังฉันจะเอาอาหารหมามาสาดหน้า (และเหมือนจะแถมคำว่า ‘fuck off’ [ไสหัวไป] ด้วย)” ฉันหัวเราะให้กับความกล้า และก็พาลนึกถึงคำพูดที่ป้าเหมียวย้ำกับฉันอยู่เสมอว่า “พอทำงานกับหมาแมวมากๆ แล้วเริ่มรู้สึกเบื่อมนุษย์” ก็คงโดยเฉพาะมนุษย์ที่ชอบกวนประสาทคนอื่นเช่นนี้แล ฉันว่า
อย่างไรก็ดี แม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน ชีวิตการเป็นอาสาสมัครกว่า 9 ปี ก็ทำให้เธอได้เจอ ‘คนใจบุญ’ มากมาย—มีหลายคนที่มาขอรับเลี้ยงสุนัข โดยระบุชัดเจนว่าขอเป็น ‘สุนัขแก่ใกล้ตาย’ เท่านั้น คนพวกนั้นให้เหตุผลว่าอยากให้น้องหมาอายุมากได้ตายอย่างมีความสุข มีหลายคนที่พร้อมรับเลี้ยงสุนัขใส่ล้อวีลแชร์ สุนัขตาบอดหูหนวก ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสักนิด และก็ยังมีหลายคนที่ยกเงินที่มีทั้งหมดให้กับมูลนิธิก่อนจะเสียชีวิต
“มีคนแบบนี้เยอะจริง ๆ เชื่อไหม บางคนให้ทีเป็น 20 30 ล้าน (ยูโร) บางคนมีลูกมีหลานก็ยังยกให้สัตว์หมดเลย” เราคงต้องยอมรับเลยว่ารายได้ตรงนี้ก็เป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้มูลนิธิ ENPA อยู่ต่อไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยพบเห็นได้มากเท่าไรในประเทศไทย
และเมื่อฉันถามถึงวินาทีที่เศร้าที่สุดของการเป็นอาสาสมัคร ป้าเหมียวก็ตอบทันทีว่าคือ การสัมผัสได้ถึงความเย็นที่ค่อย ๆ ไล่ขึ้นมาตอนที่สุนัขกำลังจะตาย และการต้องเห็นมันตายต่อหน้าต่อตา เธอบอกว่ามันเศร้ามากที่บางตัวเกิดที่นี่และก็ต้องตายที่นี่ เพราะไม่มีใครรับไปเลี้ยง แต่ถึงอย่างนั้นป้ายชื่อของสุนัขหลายสิบตัวที่จากไปแล้วก็ยังคงห้อยอยู่บนสร้อยคอและพวงกุญแจของป้าเหมียว เพราะเธอไม่อยากลืมพวกมัน
“หมาทุกตัวที่อยู่ในศูนย์จำไว้เลยว่าเป็นหมาที่มีปัญหา เขาดุเพราะเขาถูกทุบตี ถูกทำร้ายจิตใจมา เราต้องเยียวยาเขา” นี่เป็นสิ่งที่ป้าเหมียวอยากให้คนที่เป็นอาสาสมัครและคนที่จะมารับเลี้ยงสุนัขต่อไปเข้าใจ—ป้าเหมียวเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีรอยแผลสุนัขกัดตามขา ตามก้นเต็มไปหมด แต่เธอก็ไม่เคยโทษพวกมันเลย เพราะเธอเห็นใจบาดแผลที่สุนัขเหล่านั้นพบเจอมา
“อยากจะฝากถึงคนเลี้ยงสัตว์ว่า ถ้าคุณคิดจะเลี้ยงเขาจริง ๆ คุณก็ต้องเลี้ยงเขาให้ถึงที่สุด เพราะเขาไม่ได้อยู่กับคุณแค่เดือนสองเดือน แค่ปีสองปี แล้วสัตว์พวกนี้เขาไม่ได้ต้องการเงินหรืออะไรเขาแค่ต้องการความรักจากคุณเท่านั้นเอง เวลาจะเลี้ยงต้องคิดให้หลายตลบ และเลี้ยงให้ดีเหมือนลูกคนหนึ่ง เขารักคุณมากกว่าคนอีกนะ เขาไม่ทิ้งเรา บางทีคนยังทิ้งเราเลย”
ฉันคงไม่ได้เห็นสีเล็บแดงสดของป้าเหมียวอีกแล้ว เนื่องจากเธอบอกว่าไม่รู้จะทาไปทำไม และดูเหมือนว่าความสุขของเธอในตอนนี้คงเป็นการที่เธอเดินเข้าไปในศูนย์ทุก ๆ วัน แล้วได้เห็นเหล่าสุนัขที่กระดิกหางรอ เห่ากันเป็นเกลียว พร้อมกับหันมาหาเธอเป็นทางเดียวกันมากกว่า
และเมื่อฉันถามป้าเหมียวว่า “จะทำงานนี้ไปอีกนานแค่ไหน”
เธอก็ตอบฉันว่า “จนกว่าจะตายกันไปข้างนึง”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นางสุจิตรา วรรณวิจิตร (ป้าเหมียว หรือ “แคทธี่”)
เว็บไซต์ enpanovara.com
และเพจเฟซบุ๊ก ENPA - Sezione di Novara
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in