เป็นเวลากว่า 10 ซีซันที่ซีรีส์ซิทคอมสไตล์คอมเมดี้เรื่อง “Friends” ฉายอยู่บนจอทีวี เพราะอย่างนั้นหากเป็นเด็กที่เติบโตที่ยุค 1990-2000 แล้วละก็ คงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยินชื่อของซิทคอมเรื่องนี้มาก่อนในชีวิต และถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 25 ปีนับตั้งแต่ซีซันแรก แต่ความรักของแฟน ๆ ที่มีต่อซีรีส์เรื่องนี้ยังคงเหนียวแน่นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังเกตได้จากความนิยมในตัวนักแสดงหลักทั้ง 6 ไปจนถึงสถานที่จำลองร้านกาแฟเจ้าประจำ ‘Central Perk’ ซึ่งเปิดให้เข้าชมอย่างต่อเนื่อง และยอดการเข้าชมที่ยังสูงอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีกระแสบนโลกออนไลน์ที่แสดงให้เห็นว่ามีม (meme) และมุกต่าง ๆ ในซีรีส์ Friends ยังคงได้รับการพูดถึง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของซีรีส์เรื่องนี้อันล้นหลาม
หลายคนมักแซวว่าชื่อเรื่อง ‘Friends’ แต่กลับมีคู่รักในแก๊งตัวละครหลักไปแล้ว 2 คู่ เดาว่าคนที่แซวเช่นนั้นคงจะมีเจตนาสื่อว่า “ซีรีส์พยายามจะเล่าเรื่องของเพื่อน แต่กลับเล่าเรื่องเพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อแทน” ซึ่งเราอาจพูดแบบนั้นได้ถ้ามันส่อแววจะเป็นซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ทั่วไปแต่แรก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเนื้อเรื่องกว่า 10 ซีซันทำให้เราเห็นชัดเจนว่าทำไมสองคู่นี้ถึงเหมาะสมที่จะใช้ชีวิตร่วมกันจริง ๆ และทั้งสองคู่ไม่ได้เหมาะสมในลักษณะที่ว่าเป็น ‘คู่แท้ในฝัน’ ราวกับพรหมลิขิตส่งมาจนดูเกินเอื้อมอะไร แต่เป็นความสัมพันธ์ที่พัฒนาจนก่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่า ‘ความรักมันแยกกับมิตรภาพไม่ขาด’ เสียมากกว่า
เพราะฉะนั้น สำหรับเรา Friends ไม่ได้นำเสนอให้เราเชื่อในคำว่า ‘พรหมลิขิต’ สักนิด แต่ทำให้รู้ว่าคนเรามองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวไปมากแค่ไหนในวันที่ยังไม่เรียนรู้ และอะไรบ้างที่มีส่วนทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้น
ต้องยอมรับตามตรงว่าฉากเปิดตัวคู่มอนิก้าและแชนด์เลอร์ในคืนวันแต่งงานของรอสส์สร้างความตกใจให้เรามากอยู่ทีเดียว และเป็นจุดที่ทำให้เห็นชัดเจนมากว่าทีมเขียนบทบ้าบิ่นขนาดไหนที่กล้าเลือกให้เพื่อนสนิทสองคนมาตกอยู่ในสถานะที่กระอักกระอ่วนใจเช่นนี้ เพราะมันมีโอกาสเสี่ยงมากที่จะความต้องการอันฉาบฉวยในคืนเดียวอาจนำไปสู่มิตรภาพระหว่างเพื่อนสนิทที่พังเละไม่เป็นท่า (แม้ว่ามอนิก้าจะพูดขำ ๆ ว่า “เราไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น” ก็ตามที) ซึ่งพอได้ลองพิจารณาอีกทีระหว่างดูซีรีส์ทั้ง 10 ซีซันเป็นครั้งที่ 2 ถึงเพิ่งพบเห็นพัฒนาการของคู่นี้ที่ ‘พิเศษ’ มาแต่ไหนแต่ไร (อย่างเช่น ครั้งหนึ่งที่แชนด์เลอร์เคยแซวว่า “ถ้าอายุ 40 แล้วต่างคนต่างยังไม่มีใคร เรามาแต่งงานกันไหม” หรือ ช่วงที่ทั้งแก๊งไปเที่ยวทะเลกันและแชนด์เลอร์ใช้เวลาทั้งตอนเพื่อพิสูจน์ว่าเขามีคุณสมบัติในการเป็นแฟนที่ดีขนาดไหน) รวมถึงการที่มอนิก้ามีปัญหาเรื่องต่าง ๆ มาปรึกษาแชนด์เลอร์อยู่บ่อย ๆ จนดูเหมือนว่าทั้งคู่เป็นคนที่คุยกันรู้เรื่องมากที่สุดคู่หนึ่งในกลุ่ม (เพราะถ้าปรึกษาโจอี้คงจะต้องอธิบายกันยืดยาว ส่วนฟีบี้ก็ ‘แตกต่างเกินไป’ กว่าจะเข้าใจปัญหาธรรมดา ๆ ของเธอ)
ซึ่งหากเป็นฟีบี้ในช่วงแรก ๆ คงแกล้งแสดงความเป็นตัวเองให้พ่อแม่เห็นชัด ๆ (แบบที่เธอชอบแกล้งคนเล่นอย่างแสบ ๆ) หรือไม่ก็หนีจาก ‘ครอบครัวชั้นสูง’ นี้ไปแล้ว เพราะมันดูไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเธอเสียเลย (เห็นได้จากการที่เธอตัดสินใจเลิกกับเดวิดได้อย่างเด็ดขาด เมื่อรู้ว่าเขาต้องไปอยู่รัสเซียนานหลายปี) ซึ่งนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า “หลายครั้งในชีวิต เรามักจะหงุดหงิดหรือไม่พอใจกับสิ่งที่ได้มาโดยที่ยังไม่ได้ทันเปิดโอกาสให้มันหรือเปล่า” ซึ่งก็นับว่าฟีบี้ตัดสินใจถูกแล้วที่ไม่ยอมทิ้งไมค์ไปตั้งแต่แรก จนได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้ชีวิตคู่ ซึ่งต่างจากความสัมพันธ์ชั่วครู่ชั่วคราวที่ผ่านมาของเธอหลายครั้งที่ผ่านมา
ความรักของสองคู่นี้ทำให้เห็นชัดขึ้นว่า "เมื่อใดที่เป็นเรื่องของความรัก มันคงไม่ได้มีแค่ 'ความบังเอิญ' อย่างเดียวที่ทำงานหรอก"
แม้ว่าคู่เรเชลกับรอสส์จะเป็นคู่แรกที่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ใน Friends แต่พวกเขาก็ดูเหมือนจะร่อแร่และมีวี่แววจะไปไม่รอด (เนื่องจากการทะเลาะกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเดี๋ยวก็กลับมาหยอกกัน และวนเข้าลูปเดิมตลอด 10 ซีซัน)
สิ่งที่ทำให้พวกเขากลับมาคืนดีกันจนได้ในตอนจบมันคงไม่ใช่เพียงเพราะว่าสองคนนี้อยากอยู่ด้วยกันเพื่อลูก หรือสองคนนี้ไม่เคยลืมความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้กันได้ แต่สิ่งสำคัญที่คู่รอสส์กับเรเชลแสดงให้เราเห็นคือ การพยายามลดอีโก้ของตัวเอง และมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด
หากเป็นคนดูเรื่องเฟรนด์ก็คงยากที่จะลืมประโยค “We Were On A Break (ตอนนั้นเราห่าง ๆ กัน/เลิกกันอยู่)” ที่ออกมาจากปากรอสส์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รอสส์เป็นตัวละครที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ส่วนเรเชลผู้ออกมาจากบ้านอันแสนสุขสบายและกลายมาเป็นเด็กเสิร์ฟ ก็เติบโตขึ้นมากและกลายเป็นผู้หญิงที่มั่นใจในตัวเองพอกัน รออส์เชื่อว่าตอนนั้นตนไม่ผิดที่ไปมีอะไรกับคนอื่นเพราะตอนนั้นทั้งคู่ห่าง ๆ กันอยู่ ส่วนเรเชลก็เชื่อว่าตอนนั้นเราแค่ทะเลาะกันยังไม่ได้เลิกกัน เพราะฉะนั้นรอสส์ไม่ควรไปมีอะไรกับคนอื่น ปัญหานี้เป็นบทสนทนาที่ไม่มีวันจบของทั้งคู่ จนแชนด์เลอร์ มอนิก้า ฟีบี้ และโจอี้ต่างเอือมระอาเมื่อใดที่ได้ยินบทสนทนาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้งคู่เติบโตและเข้าใจอะไรต่าง ๆ มากขึ้นก็กลับวางเรื่องนี้ไปได้เอง คงเพราะเรียนรู้แล้วว่ามันมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่านั้น เช่น การที่รอสส์กับเรเชลไม่ได้มีความชอบที่ตรงกันขนาดนั้น แต่ก็อยู่กินกันได้อย่างมีความสุขดี ซึ่งบางครั้งความธรรมดาแบบนี้มันก็เพียงพอแล้ว
หลังจากความพยายามในการตามหาคู่เดตมากมายที่มีความชอบเหมือนตัวเอง อยู่ในสายงานแบบเดียวกัน ดูเหมือนว่าต่างคนต่างผิดหวังกับความรักมาแล้วหลากหลายรูปแบบจนประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เรเชลกับรอสส์เรียนรู้ว่า “อะไรคือสิ่งที่ไม่สำคัญบ้างในความสัมพันธ์” และในที่สุดทั้งคู่ก็อมยิ้มได้เมื่อรอสส์เผลอหลุดเล่นมุกออกมาว่า “This is it, unless we are on a break” ในตอนท้ายซีซัน 10 เพราะมันคงหมดเวลาที่จะไปตั้งคำถามเรื่องนั้นแล้วในเมื่อวันนี้เรามีความรู้สึกดี ๆ ให้กันและความทรงจำที่ดีระหว่างกันมากขนาดนี้ เหมือนกับที่โจอี้บอกแชนด์เลอร์ว่า “ตอนนั้นมอนิก้าอาจจะต้องการตัวฉันจริง ๆ แต่มันก็เป็นแค่ระยะเวลากว่า 30 นาที ส่วนนายคือคนที่มอนิก้าอยากใช้ชีวิตไปด้วยตลอดชีวิต” เช่นกัน ไม่ว่าคืนนั้นรอสส์จะทำผิดจริงหรือไม่ แต่ตอนนี้เรเชลพร้อมจะมองข้ามมันไปได้แล้ว
เสน่ห์สำคัญของซีรีส์เรื่อง Friends คงเป็นการเจริญเติบโตของตัวละคร ควบคู่กับปัญหาชีวิตที่เปลี่ยนไปตามวัย อย่างเช่นมอนิก้าที่เคยทุกข์ร้อนกับเรื่องความรักแต่ก็ได้ลงเอยมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงในที่สุด แต่หลังจากนั้นเธอก็ยังคงมีปัญหาเรื่องมีลูก หรือโจอี้ที่เคยมีความสุขกับการคบสาว ๆ มากหน้าหลายตาในช่วงวัยหนุ่ม แต่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวและต้องการความรัก ความเข้าใจ จนหวั่นไหวกับเรเชลในที่สุด และเมื่อความรักของทั้งคู่ไม่เวิร์กก็ตัดสินใจกลับมาเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ดีของ Friends ที่เป็นภาพสะท้อนชีวิตที่ตรงไปตรงมาของทุกคนที่ก่อนเข้าสู่ช่วง ‘ข้ามผ่านความเป็นผู้ใหญ่’ โดยสมบูรณ์ และแสดงให้เห็นว่าทีมสร้างที่มองตัวละครเป็นมนุษย์ที่มีการเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงตามวัยอีกด้วย
หลังการเจริญเติบโตกว่า 10 ปีของตัวละครทั้ง 6 ทีมสร้างก็ตัดสินใจทิ้งท้ายซีรีส์เรื่องนี้ในจังหวะที่ทุกคนเป็นผู้ใหญ่และแยกย้ายตามเส้นทางของตัวเอง ซึ่งเชื่อได้เลยว่าความเป็นเพื่อนระหว่างพวกเขาคงไม่จางหายเพียงเพราะพวกเขาไม่ได้มาเจอกัน
ดังนั้นฉากสุดท้ายที่ประตูห้องหมายเลข 20 จึงไม่ใช่ตอนจบของมิตรภาพหากแต่เป็นการออกเดินทางสู่ประตูบานใหม่ในเส้นทางของมิตรภาพที่ยังไม่หยุดเติบโตต่างหาก
Friends จึงให้ความรู้สึกเหมือนอัลบั้มรูปภาพ ทำหน้าที่จดจำช่วงเวลาที่เราใช้ไปกับเพื่อนสนิท และทำให้เราหวนคิดถึงความรู้สึกเดิม ๆ ได้ทุกคราเพราะเราต่าง ‘จากกันด้วยดี’
ที่ผ่านมา เราเคยคิดว่า ‘ซีรีส์ที่ดี’ จะต้องเป็นซีรีส์ที่หยิบจับประเด็นทางสังคมหนัก ๆ มาถ่ายทอดได้อย่างคมคาย หรือซีรีส์ที่มีพล็อตแปลกใหม่อย่างคาดไม่ถึง
จนกระทั่งได้ดูเรื่อง Friends ถึงเพิ่งเข้าใจว่าบางครั้งแค่มีการเล่าเรื่องที่ซื่อตรง จริงใจ เป็นธรรมชาติ มันก็เหมาะสมกับการเป็น ‘ซีรีส์ที่ดี’ ได้เช่นกัน
- please consider this as a thank-you letter to my most favorite series of all time <3
(บทวิจารณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 'การวิจารณ์ ละครเวที ภาพยนตร์ และโทรทัศน์')
Photos from imdb.com and thesun.co.uk
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in