รีวิวเว้ย (1674) ปี 2024 เหมือนจะเป็นปีทั่วไปที่สังคมไทยผ่านช่วงระยะเวลาที่เลวร้ายอย่างเช่นภัยพิบัติโควิท-19 มาแล้ว จริงอยู่ว่ากระแสของกาลเวลาไหลไปไม่เคยย้อนกลับ แต่ว่ากระแสของคนในสังคมไทย “บางกลุ่ม“ มุ่งรอคอยการมาถึงของ ค.ศ. 2024 อย่างใจจดใจจ่อด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์การเมือง เพราะหลายปีก่อนหน้านี้ มีกระแสเกิดขึ้นมาในหมู่คนบางกลุ่มว่า เอกสารจดหมายเหตุของประเทศฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกับ ปรีดี พนมยงค์ จะเปิดขึ้นให้ผู้สนใจสามารถเข้าใช้และศึกษาได้ จากกระแสเล็ก ๆ ก็กลายเป็นกระแสที่แพร่กระจายไปวงกว้าง คำพูดปากต่อปากก็ทำให้ เอกสารจดหมายเหตุที่ฝรั่งเศสเก็บไว้เกี่ยวกับปรีดีก็เลยถูกเรียกใหม่ว่า “จดหมายปรีดี” ซึ่งทำให้นัยยะของความคาดหวังเกี่ยวกับเนื้อหาที่มีต่อชุดเอกสารดังกล่าวเปลี่ยนไป
.
ความคาดหวังของกระแสสังคมที่มีต่อการเปิด “จดหมายปรีดี” สามารถบ่งชี้หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยได้พอสมควร อาทิ ความสนใจของคนรุ่นใหม่ (ไม่ว่าจะเป็นแบบปลิวผ่านเข้ามาสู่ความสนใจหรือว่าติดตามเรื่องนี้จริงจังก็ตาม) ต่อประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี “จดหมายปรีดี” ได้ทำหน้าที่ในการสร้างความคาดหวังบางประการหรือสะท้อนความคาดหวังบางอย่างของผู้สนใจ ผู้สนใจหลายต่อหลายคนมุ่งเน้นรอคอยว่า “จดหมายปรีดี” จะมาตอบโจทย์ในใจและตอบโจทย์ทางการเมืองของพวกเขา ความคาดหวังดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพลังของข่าวลือที่เมื่อกระพือออกไปแล้วยากที่หยุดยั้งโดยง่าย บ้างก็หยอกเย้าถึงความเป็นไปได้ของ “จดหมายปรีดี” ว่าอาจจะเป็นเพียงสูตรข้าวมันไก่ บ้างก็บอกว่าอาจเป็นข้อความทำนอง “กูว่าแล้วมึงต้องอ่าน” ไม่ว่าจะมีคนพูดเล่นหยอกเย้าอย่างไร แต่เชื่อเหลือเกินว่าผู้คนต่างรอคอยนับวันให้ถึง ค.ศ. 2024 เพื่อที่จะได้ทราบว่า “จดหมายปรีดี” มีข้อความบันทึกไว้ต้องใจตามที่พวกเขาอยากจะให้เป็นหรือไม่
.
แน่นอนว่า นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ผู้คร่ำหวอดในแวดวงหลายคน โดยเฉพาะคนที่โด่งดังที่อยู่ในฝรั่งเศสเองก็เคยออกมาวิเคราะห์แล้วว่า “จดหมายปรีดี” ที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจกันนั้น น่าจะเป็นเพียง “เอกสารจดหมายเหตุที่รัฐบาลฝรั่งเศสเก็บเอาไว้” มากกว่า แต่ก็ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่ชุดเอกสารที่ว่าจะเป็นจดหมายปรีดี ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเองยิ่งปิดกั้นยิ่งอยากทราบ ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นปี 2024 จึงมีความพยายามติดตามเข้าถึงเอกสารชุดดังกล่าวเมื่อหอจดหมายเหตุฝรั่งเศสเปิดให้ใช้บริการ
.
ความสนใจของผู้คนล้นหลามจนปรากฏว่ามีผู้พยายามเข้าถึงเอกสารชุดดังกล่าวเผยแพร่ภาพสดผ่านช่องทางเฟซบุคเพื่อให้ผู้ชมที่อยู่ที่ไทยติดตามอย่างใจจดใจจ่อ แม้ว่าจะเป็นเอกสารภาษาฝรั่งเศส แต่ก็มีคนช่วยสรุปและได้ค้นพบว่าเอกสารชุดที่ว่าเป็นเพียงเอกสารของทางการฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกับความพยายามลี้ภัยของปรีดีเท่านั้นเอง ไม่ได้มีเนื้อหาอื่นใดที่คนบางกลุ่มคาดหวัง
ของบางอย่างเมื่อปิดมานาน พอถูกเปิดเข้าก็สิ้นมนตรา เมื่อคนไทยหลายคนทราบว่านี่ไม่ใช่ “จดหมายปรีดี” ที่อาจจะมีเนื้อความอย่างที่เขาคาดหวัง ก็ไม่ได้สนใจที่จะพิจารณาต่อว่าเอกสารดังกล่าวจะมาเติมเต็มเรื่องเล่าในอดีตที่เกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดีไปยังกรุงปารีสอย่างไร และทางการฝรั่งเศสมีส่วนเหลือและเกื้อหนุนในมิติใดบ้าง การคลายความสนใจนี้เองที่เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าความสนใจของหลายต่อหลายคนที่มีต่อประวัติศาสตร์ปรีดีนั้นเป็นเพียงความใคร่รู้อย่างถ่องแท้หรือฉาบฉวยกันแน่
เพื่อเติมมิติทางวิชาการสนับสนุนกระแสความสนใจของสาธารณชนต่อ “จดหมายปรีดี” วารสารรัฐศาสตร์นิเทศจึงขอให้ผู้ เข้าถึงเอกสารชุดดังกล่าวและมีความเข้าใจในภาษาฝรั่งเศสอย่างดีเยี่ยมใช้เอกสารชุดนั้นมาเติมเต็มและตีความบทบาทของปรีดีในการลี้ภัยช่วงเวลาดังกล่าว โดยทางวารสารคาดหวังว่าเนื้อหาในบทความที่ว่าและเนื้อหาในบทบรรณาธิการฉบับนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องบ่งชี้อดีตอย่างหนึ่งที่สะท้อนธรรมชาติบางประการของผู้คนในสังคม ทั้งนี้ เราเชื่อว่า วิธีการแสดงความเคารพปรีดีที่เหมาะสมที่สุดไม่ใช่เป็นการยัดเยียดในสิ่งที่ปรีดีไม่ได้เป็น และยิ่งไม่ใช่เป็นการนำเอาปรีดีมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในยุคร่วมสมัย แต่ก็คือการศึกษาปรีดีอย่างที่เขาเป็น หรือเรียนรู้ข้อคิดที่เหมาะสมจากเขามากกว่าสิ่งอื่นใด
หนังสือ : รัฐศาสตร์นิเทศ ปีที่ 10 ฉบับที่ 2
โดย : รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
จำนวน : 288 หน้า
.
(1) การจัดการปกครองเครือข่ายนวัตกรรมอาหารภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายเมืองนวัตกรรมอาหาร ศึกษาเปรียบเทียบ 4 กรณีศึกษา
.
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาภูมิหลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายก่อนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายเมืองนวัตกรรมอาหาร รวมไปถึงเปรียบเทียบการจัดการปกครองเครือข่ายนวัตกรรมอาหารเชิงพื้นที่ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายเมืองนวัตกรรมอาหาร โดยการใช้วิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัย พบว่า ที่มาของพันธกิจและวัตถุประสงค์ของเครือข่าย มีการกำหนดขึ้นจากทรัพยากรที่มี แนวนโยบายของกลุ่มจังหวัด บริบทของพื้นที่และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แนวนโยบายของมหาวิทยาลัย และและการบูรณการสหสาขาวิชา ส่งผลให้พันธกิจและวัตถุประสงค์ของเครือข่ายนวัตกรรมอาหารมีความแตกต่างกัน ด้านการเลือกพันธมิตรและกลยุทธ์ที่ใช้ในการสร้างเครือข่าย ให้ความสำคัญจากความสามารถในการเข้ากันได้ของวัฒนธรรมองค์การ การประเมินขีดความสามารถพันธมิตร และความใกล้ชิดของผู้รับบริการ แต่มีเพียงบางกรณีศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อการเลือกพันธมิตรด้วยการมีใจและอุดมการณ์ร่วม รวมถึงการใช้ข้อกฎหมายเพื่อคัดกรองพันธมิตร ในการสร้างเครือข่ายมีการเลือกใช้กลยุทธ์จากการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ และการพิจารณาอำนาจหน้าที่ของพันธมิตร ในขณะที่กลยุทธ์แรงจูงใจทางการเงินหรืองบประมาณ กลยุทธ์การโน้มน้าวชักจูง กลยุทธ์การใช้บทบาททางกฎหมายเพื่อสร้างการยอมรับ มักเป็นกลยุทธ์สำคัญของการสร้างเครือข่ายในกรณีที่ภาคีไม่เคยมีความร่วมมือกันมาก่อนตลอดจนรูปแบบโครงสร้างเครือข่ายนวัตกรรมอาหารจะขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่และภารกิจเดิมระหว่างภาคีเครือข่ายเป็นสำคัญ
.
(2) การศึกษากระบวนทัศน์การอภิบาลมุมมองผ่านเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
.
ผลการศึกษาพบว่า เครือข่ายขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถอธิบายแนวคิดทฤษฎีที่อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์การอภิบาลแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเด็นศึกษา หนึ่ง แนวคิดการบริหารกิจการบ้านเมืองแบบร่วมมือกัน อธิบายกระบวนการบูรณาการในแนวราบที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม บทบาทผู้อำนวยความสะดวก การตัดสินใจแบบฉันทามิติ ความเชื่อที่ว่าการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการพบปะกัน และการบริหารทรัพยากรบุคคลที่หน่วยงานแกนเป็นผู้แบกรับภาระ สอง แนวคิดการจัดการปกครองเครือข่าย ช่วยอธิบายการออกแบบโครงสร้างที่เหมาะสม การระดมทรัพยากร การแบ่งบทบาทหน้าที่ของตัวแสดง การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ และการกำกับดูแลเครือข่ายที่ดี และสาม แนวคิดการบริหารกิจการบ้านเมืองเชิงพื้นที่ ช่วยอธิบายบทบาทผู้นำที่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์หลายระดับ แบบแผนการทำงาน การสร้างความชอบธรรม การเลือกตัวแสดงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ การออกแบบกิจกรรมที่สอดรับกับสภาพปัญหาในพื้นที่ และการยอมรับการสื่อสารภายที่เป็นทางการ เป็นต้น ข้อค้นพบสำคัญ ได้แก่ การกำหนดเงื่อนไขของหน่วยงานผู้ให้ทุนอาจลดทอนความเป็นอิสระเครือข่ายได้ ผู้นำภาคประชาสังคมที่ดีควรมีอำนาจบารมีและเครือข่ายเป็นทุนเดิม การกำหนดให้ตัวแสดงสำคัญของกลไกย่อยเป็นส่วนหนึ่งในกลไกหลักสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารได้ แรงจูงใจของการอภิบาลอาจมาจากความคาดหวังจากตัวแสดงอื่น ๆ และการจัดตั้งกลไกเชิงภารกิจเฉพาะอย่างเป็นทางการมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของเครือข่าย
.
(3) การประยุกต์ใช้อุดมการณ์ประชานิยมฝ่ายซ้ายในพรรคการเมืองกรณีศึกษาในประเทศสเปน กรีซ และไทย
.
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาการประยุกต์ใช้ทฤษฎีและยุทธศาสตร์ของการเมืองแบบประชานิยมฝ่ายซ้าย กับพรรคการเมืองในสามประเทศ โดยการเลือกประเทศเป็นกรณีศึกษานั้น เป็นเลือกกรณีศึกษาจากพรรคการเมืองที่นำทฤษฎีดังกล่าวไปปฏิบัติ และได้รับอิทธิพลจากเออร์เนสโต ลาคลาว และชองตาล มูฟ ซึ่งได้แก่ 1. พรรคโปเดมอส ในประเทศสเปน 2. พรรคซิริสซ่า ในประเทศกรีซ และ 3. พรรคอนาคตใหม่ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการศึกษาผ่านงานวิจัย หนังสือ และบทสัมภาษณ์ ในกรณีของพรรคโปเดมอสและซิริสซ่า และศึกษาผ่านเอกสาร และทำการสัมภาษณ์เชิงลึกในกรณีพรรคอนาคตใหม่ โดยเป็นการศึกษาถึงบริบททางการเมืองของประเทศนั้น ๆ อันเป็นเงื่อนไขให้เกิดประชานิยมฝ่ายซ้าย จากนั้นศึกษาการก่อตัวขึ้นของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นสอดคล้องกับความเป็น “ประชาชน” ตามแบบของประชานิยมได้อย่างไร และหยิบเอากรอบคิดต่าง ๆ เช่น ห่วงโซแแห่งความเท่าเทียม (chain of equivalence) nodal point หรือ การหลอมรวมความต้องการของประชาชน (articulation of demand) ว่ามีการนำมาปรับใช้กับบริบททางการเมืองของพรรคการเมืองในประเทศนั้น ๆ ได้อย่างไร ซึ่งบทสรุปพบว่า การเกิดขึ้นของประชานิยมฝ่ายซ้ายนั้น เกิดจากความต้องการเปลี่ยนแปลงของประชาชนโดยรวมในประเทศนั้น ๆ ซึ่งอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น อาจมีสาเหตุจากทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือความเหลื่อมล้ำหรือความไม่ยุติธรรมทางสังคม จากนั้นจึงส่งผ่านความต้องการนี้ไปสู่พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนโดยรวม ซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่จะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบรัฐสภาหรือการเมืองในระบบได้ พรรคการเมืองเหล่านั้นจึงต้องนำเสนอนโยบายเพื่อหาเสียงที่ตรงกับความต้องการของประชาชน และสร้างปกปักษ์ร่วม เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของประชาชน อาจเป็นที่สรุปได้ว่าการชนะเลือกตั้งและถืออำนาจรัฐนั้นอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จของประชานิยมฝ่ายซ้าย เนื่องจากข้อจำกัดของความความเป็นรัฐ หากแต่ความสำเร็จอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือเป็นความสำเร็จในระยะสั้น แต่เป็นความสำเร็จที่ได้ปลุกชีวิตของความเป็นการเมืองขึ้นอีกครั้งในรัฐ โดยประชาชนนั้นเองที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้การเมืองมีความเป็นการเมือง
.
(4) การสำรวจสถานภาพองค์ความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ของต่างประเทศและความท้าทายในศตวรรษที่ 21
.
งานวิจัยเรื่อง “การสำรวจสถานภาพองค์ความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ของต่างประเทศและความท้าทายในศตวรรษที่ 21” มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อสำรวจขอบข่ายการศึกษาทางรัฐประศาสนศาสตร์ในปัจจุบันของต่างประเทศ 2. เพื่อวิเคราะห์ทิศทางการศึกษาทางรัฐประศาสนศาสตร์ในอนาคต งานวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงเอกสาร (Documentary Research) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ของต่างประเทศ พิจารณาสถานภาพขององค์ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์และการจัดการเรียนการสอนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ของต่างประเทศ ว่ามีการจัดโครงสร้างการเรียนการสอนในรูปแบบคณะ ภาควิชา หรือหลักสูตร โดยพิจารณาจากการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาชั้นนำของต่างประเทศ ตลอดจนพิจารณาถึงขอบข่ายการศึกษาทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีในต่างประเทศของนักวิชาการกลุ่มต่าง ๆ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1. สำรวจขอบข่ายการศึกษาทางรัฐประศาสนศาสตร์ในปัจจุบันของต่างประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระดับปริญญาโท เน้นการบูรณาการความรู้และความเข้าใจหลักการด้าน รัฐประศาสนศาสตร์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยบูรณาการร่วมกับสาขาวิชาอื่นที่นอกเหนือจากรัฐประศาสนศาสตร์ เน้นสร้างความเข้าใจในหลักวิชาการและองค์ความรู้ด้านการวิจัยมาบูรณาการร่วมกันเป็นองค์ความรู้หลัก และ 2.วิเคราะห์ทิศทางการศึกษาทางรัฐประศาสนศาสตร์ในอนาคต พบว่า ในอนาคตทิศทางการศึกษามุ่งเน้นขอบข่ายองค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะเป็นวิชาหลัก ซึ่งมีพัฒนาการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทภูมิสังคมทางการบริหารในแต่ละช่วงเวลา โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะนั้น เพื่อความหลากหลายและสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน
.
(5) ทบทวนเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองในจีนและการลี้ภัยไปยังฝรั่งเศสของปรีดี พนมยงค์ (1948-1970) ผ่าน “เอกสารปรีดี” ที่หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส
.
ในบรรดางานศึกษาทั้งหมดที่เกี่ยวกับปรีดี พยมยงค์ อาจจะพูดได้ว่าช่วงชีวิตของปรีดีที่ยาวนานถึง 21 ปีในจีนตั้งแต่ 1948-1970 ถือเป็นช่วงเวลาที่มีการศึกษาน้อยที่สุด งานที่ผ่านมาเกี่ยวกับปรีดีในจีนจึงมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น มักจะให้ภาพของปรีดีที่หยุดนิ่ง ตายตัว โดยเฉพาะการเน้นย้ำว่าปรีดีไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ในขณะที่หลายชิ้นก็ให้ข้อมูลที่ผิดในเชิงข้อเท็จจริง หรือแม้จะถูกต้องก็อาจจะถูกแค่บางส่วน โดยไม่ช่วยให้เราเข้าใจปรีดีหรือสถานการณ์ในขณะนั้นมากนัก อย่างไรก็ตาม ในทิศทางที่สวนทางกับงานศึกษาเรื่องปรีดีที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาดังกล่าว ช่วงเวลาที่ปรีดีอยู่ที่จีนนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความแหลมคมของสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ กล่าวคือ ปรีดีผ่านช่วงสงครามเกาหลี การรัฐประหารของสฤษดิ์ สงครามเวียดนาม การเริ่มต้นต่อสู้โดยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) การ “ก้าวกระโดดไกล” และการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะอยู่ในจีน บทความชิ้นนี้ศึกษา “เอกสารปรีดี” ที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสรวบรวมไว้สองแฟ้ม ซึ่งครอบคลุมช่วง 1965-1972 และนำเสนอเนื้อหาสำคัญของเอกสาร เพื่อชี้ให้เห็นว่าหากวิเคราะห์ ตีความ และเทียบเคียงกับเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลี้ภัยของปรีดีในจีนแล้ว เราจะพอประมวลภาพความซับซ้อนของปรีดีในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนช่วง 1948-1970 ได้ โดยสามารถแบ่งช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวออกเป็นสามช่วงย่อย ซึ่งสัมพันธ์กับสถานการณ์ในไทย ในจีนและสถานการณ์ระหว่างประเทศ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in