เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
รอบโลกรัฐธรรมนูญ By สถาบันพระปกเกล้า
  • รีวิวเว้ย (1675) หลายคนเคยเข้าใจว่า "รัฐธรรมนูญ" คือกฎหมายสูงสุด หรือกฎหมายที่วางหลักการในการดำเนินการของรัฐทั้งในเรื่องเชิงโครงสร้างและการจัดสรรอำนาจของรัฐนั้น ๆ สำคัญไปกว่านั้นหลายคนเข้าใจว่า "รัฐธรรมนูญ" จะมีเฉพาะในประเทศที่ปกครองในระบอบ "ประชาธิปไตย" เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือพยายามหลอกตัวเองและคนอื่น ๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยต่างก็มีรัฐธรรมนูญของตัวเอง อาทิ ประเทศไทย
    .
    เมื่อรัฐธรรมนูญคือกฎและกติกาเบื้องต้นของรัฐหนึ่ง ๆ การทำความเข้าใจหรือทำความรู้จักรัฐใดรัฐหนึ่งนั้น การรู้จักเรื่องของ "รัฐธรรมนูญ" ของรัฐนั้น ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่มีความสนใจในรัฐนั้น ๆ หรืออยากเข้าใจระบบการเมือง ระบอบการปกครองของรัฐเหล่านั้น การเรียนรู้รัฐธรรมนูญนับเป็นการอ่านหน้าแรกของหนังสือที่เกี่ยวข้องกับรัฐนั้น ๆ คล้ายกับการเริ่มอ่าน "สารบัญ" ของหนังสือแต่ละเล่ม หลายครั้งที่หลายคนอ่านหนังสือแต่ก็ละเลยการอ่านหน้าสารบัญ ทั้งที่สารบัญคือเนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มหนึ่ง เพราะมันคือโครงสร้างที่คอยบอกกับผู้อ่านว่าหนังสือเล่มนี้มีส่วนสำคัญอยู่ตรงไหน และเนื้อหาแต่ละส่วนนั้นประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง เช่นนั้น "รัฐธรรมนูญ" จึงเปรียบได้กับ "สารบัญ" ของรัฐรัฐหนึ่ง หากอยากเข้าใจรัฐนั้น ๆ ให้มากขึ้นและไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่จุดใด การเริ่มต้นด้วยการอ่านสารบัญจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเราจะเห็นการจัดความสัมพันธ์ของตัวแสดง โครงสร้าง กลไกต่าง ๆ ของรัฐหนึ่ง ๆ ผ่านการอ่านรัฐธรรมนูญเป็นเบื้องแรก
    หนังสือ : รอบโลกรัฐธรรมนูญ
    โดย : สถาบันพระปกเกล้า
    จำนวน : 376 หน้า
    .
    "รอบโลกรัฐธรรมนูญ" เกิดขึ้นจากการรวบรวมเอานักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์หลายคนมาเขียนแต่ละบทของหนังสือที่เกี่ยวกับ "รัฐธรรมนูญ" ของแต่ละประเทศ เพื่อใช้เป็นหนังสือที่อธิบายแนวคิดและความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่นับเป็นพื้นฐานของรัฐแต่ละรัฐ เช่นนั้น "รอบโลกรัฐธรรมนูญ" จึงเป็นข้อมูลขั้นพื้นฐานที่ควรอ่านสำหรับทำความรู้จักและทำความเข้าใจในประเทศต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ
    .
    โดยเนื้อหาของ "รอบโลกรัฐธรรมนูญ" มีการรวมเอาบทความที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของ 9 ประเทศ 11 บทความที่งานเขียนแต่ละชิ้นจะเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับกับรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ทั้งเรื่องของความเป็นมาและความสำคัญของรัฐธรรมนูญ โครงสร้าง ความท้าทาย และหนทางที่นำมาสู่การก่อรูปของรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ โดยเนื้อหาในหนังสือ "รอบโลกรัฐธรรมนูญ" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้
    .
    เกริ่นนำภาพรวมเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อรัฐธรรมนูญ โดย มานิตย์ จุมปา
    .
    บทที่ 1 รัฐธรรมนูญอังกฤษ: โครงสร้าง ที่มา หลักการสำคัญและความเป็นพลวัตร โดย พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
    .
    บทที่ 2 รัฐธรรมนูญจีน: พรรคและรัฐบนเส้นทางการพัฒนา โดย นิยม รัฐอมฤต
    .
    บทที่ 3 รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น: การสถาปนาประชาธิปไตยที่มั่นคง หลังความพินาศจากสงคราม โดย กิตติ ประเสริฐสุข
    .
    บทที่ 4 รัฐธรรมนูญเยอรมนี: บทเรียน ความล้มเหลวและความสำเร็จ โดย บรรเจิด สิงคะเนติ
    .
    บทที่ 5 รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา: รัฐธรรมนูญสร้างชาติ โดย เจษฎ์ โทณะวณิก
    .
    บทที่ 6 รัฐธรรมนูญอินเดียกับบทบาทการส่งเสริมประชาธิปไตยและความหลากหลายของผู้คนในสังคม โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนนอก ฐิติกร สังข์แก้ว และ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
    .
    บทที่ 7 รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์: พัฒนาการและการปฏิรูปการเมืองผ่านกรอบเชิงสถาบัน โดย ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
    .
    บทที่ 8 แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมของฝรั่งเศส: ลักษณะเฉพาะของอำนาจฝ่ายบริหาร การจำกัดอำนาจนิติบัญญัติ และการสร้างดุลยภาพทางการเมือง โดย วรรณภา ติระสังขะ
    .
    บทที่ 9 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอิตาลี: การออกแบบระบบรัฐสภาและการเปลี่ยนแปลง โดย ชมพูนุท ตั้งถาวร
    .
    บทที่ 10 รัฐธรรมนูญที่ดีไม่มีสูตรสำเร็จ โดย วุฒิสาร ตันไชย และ สติธร ธนานิธิโชติ
    .
    บทความทั้ง 11 ชิ้นที่ประกอบเป็นหนังสือ "รอบโลกรัฐธรรมนูญ" เมื่ออ่านตั้งแต่ต้นจนจบ จะพบว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของ "รัฐธรรมนูญ" ที่มีความหลากหลายมากไปกว่าการทำความเข้าใจตัวบทของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการทำความเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญ ที่มา บทบาท การกำหนดกติกา และความสำคัญภายในรัฐ ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ จะพบได้ว่ารัฐรรมนูญของหลากประเทศที่ปรากฏอยู่ใน "รอบโลกรัฐธรรมนูญ" มรกลไกสำคัญบางประการที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับมีเหมือนกันทั้งหมด อีกทั้ง "รอบโลกรัฐธรรมนูญ" ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจในความสำคัญของรัฐธรรมนูญมาก ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติสำคัญของรัฐหนึ่ง ๆ ไม่ว่ารัฐนั้นจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ตาม จุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจหลายครั้งจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นที่ "รัฐธรรมนูญ" แม้ว่าในบางประเทศรัฐธรรมนูญจะเขียนขึ้นมาโดยไม่ตั้งต้นอยู่บนฐานให้คนในรัฐอ่านได้และเข้าใจง่ายก็ตามที

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in