เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
สามทศวรรษ Siam mapped จากการรื้อสร้างสู่การสถาปนาวาทกรรม ค.ศ. 1994-2023
  • รีวิวเว้ย (1671) สมัยเรียนปริญญาตรี หนังสือ "กำเนิดสยามจากแผนที่ฯ (Siam mapped) โดย ธงชัย วินิจจะกูล" นับเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มสำคัญที่นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครองต้องอ่าน เนื่องด้วยหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นงานศึกษาชิ้นแรก ๆ ที่อาศัยเรื่องของการศึกษาการเกิดขึ้นของชาติและความเป็นชาติจาก "แผนที่" ผ่านการก่อร่างสร้างรูปของสยาม-ไทย ผ่านรูปแบบและดินแดนที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ของสยาม-ไทย ในช่วงเวลาของการอ่าน กำเนิดสยามจากแผนที่ฯ ในห้องเรียน เราแทบไม่แน่ใจว่าเข้าใจเนื้อหาหรือความพยายามในการนำเสนอของหนังสือสักกี่มากน้อย แต่เข้าใจว่าในช่วงเวลาที่ฉบับพิมพ์ภาษาไทยของหนังสือออกวางจำหน่าย มันนับเป็นหนึ่งในหนังสือที่นักศึกษาจะถูกมอบหมายให้อ่านกันอย่างบ้าคลั่ง
    หนังสือ : สามทศวรรษ Siam mapped จากการรื้อสร้างสู่การสถาปนาวาทกรรม ค.ศ. 1994-2023
    โดย : ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
    จำนวน : 102 หน้า
    .
    "สามทศวรรษ Siam mapped จากการรื้อสร้างสู่การสถาปนาวาทกรรม ค.ศ. 1994-2023" มุ่งวิพากษ์และวิเคราะห์หนังสือ กำเนิดสยามจากแผนที่ฯ (Siam mapped) โดย ธงชัย วินิจจะกูล ในแง่มุมต่าง ๆ ได้แก่ ตำแหน่งแห่งที่ของ Siam mapped ในไทยคดีศึกษา ความเข้าใจต่อข้อเสนอของ Siam mapped และปัญหาในเชิงวิธีวิทยาของ Siam mapped
    .
    "สามทศวรรษ Siam mapped จากการรื้อสร้างสู่การสถาปนาวาทกรรม ค.ศ. 1994-2023" พบว่า Siam mapped เป็นหนึ่งในงานสายวิพากษ์ที่มาในช่วงความเสื่อมถอยขององค์ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักวิชาการอเมริกัน Siam mapped ได้ตั้งคำถามต่อชุดความรู้เรื่องเสียดินแดนและข้ออ้างเรื่องรักษาเอกราชของกษัตริย์ที่ครอบงำไทยคดีศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว Siam mapped พยายามตั้งคำถามต่อ “ภูมิกายา” (Geo-body) หรือรูปร่างของสยามบนแผนที่ซึ่งได้กลายมาเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของ “ความเป็นชาติไทย” (Thai nationhood) 
    .
    แม้ Siam mapped จะทำเพียงการวิพากษ์องค์ความรู้เดิม แต่กลับกลายเป็นฐานขององค์ความรู้ใหม่ที่เสนอว่าสยาม “ได้ดินแดน” ผ่านการอ้างอิงข้อเสนอ Siam mapped ในฐานะหลักฐานเป็นจำนวนมาก ปัญหานี้เกิดจากการที่ Siam mapped มิได้ระบุวิธีวิทยาอย่างชัดเจนอย่างการสืบสาแหรก (genealogy) ที่มุ่งเน้นวิพากษ์องค์ความรู้ในปัจจุบันหรือความจริง (truth) มากกว่าจะเป็นการวิจารณ์ต่อ “ข้อเท็จจริง” (fact) ในอดีต การอ้างอิง Siam mapped ที่ผิดพลาดจึงกลายเป็นการที่ Siam mapped ได้สร้างวาทกรรม (discourse) ของ "วาทกรรมเสียดินแดน" (lost territory discourse) ขึ้นมาเอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in