เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ในนามของความมั่นคงภายใน By พวงทอง ภวัครพันธุ์
  • รีวิวเว้ย (1633) ในฐานะของอดีตเด็กชาย (ปัจจุบัน 30 ขวบ) ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวทหาร อยู่อาศัยในเขตทหาร ได้รับการศึกษามาในโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพ ทำกิจกรรมหลากหลายในค่ายทหารมาแต่เล็ก และมีพ่อเป็นครูทหาร (ที่รักในอาชีพของตัวเองยิ่งชีวิต) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสอนตั้งแต่ทหารใหม่ไปจนถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ต้องเลื่อนยศสูงขึ้น ทำให้เรามีโอกาสได้เห็น ได้ยิน ได้อ่านและได้เรียนรู้ถึงการทำงานของกองทัพมาตั้งแต่เด็กจนโต (โตขึ้นก็มีโอกาสทำเอกสารประกอบการบรรยายทั้งหมดที่พ่อใช้สอนจากแผ่นใสไปสู่ PPT. ทำให้ต้องฟังการบรรยายของพ่อไปด้วยในที) หนหลังที่เริ่มได้ยินการตั้งคำถามของคนในสังคมที่ว่า "ทหารมีไว้ทำไม" เรารู้สึกว่าคำถามนี้ดีและสำคัญ เพราะเราเองก็ถามพ่อ เพื่อนพ่อและผู้บังคับบัญชาของพ่ออยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคำตอบของแต่ละคนต่อคำถามดังกล่าวมักแตกต่างกันไปตามหน้าที่ที่คนตอบแต่ละคนรับผิดชอบ แต่ส่วนใหญ่มักได้คำตอบไปในทิศทางคล้ายกันว่า "เป็นรั้วของชาติ เพื่อให้ตำลึงพัน" ไม่รู้ว่าคนตอบตอบไปงั้น ๆ เพราะเห็นว่าคนถามเป็นเด็ก หรือตัดรำคาญเพราะกลัวมันถามต่อว่า ทำไม ทำไม และทำไม เพราะหลายหนเราก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน จากการทำหน้าที่ของพ่อและคนรอบตัวพ่อหลายกิจกรรมก็ชวนตั้งคำถามว่า "ทำเพื่อ"
    หนังสือ : ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย
    โดย : พวงทอง ภวัครพันธุ์
    จำนวน : 304 หน้า
    .
    "ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย" ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นลงนิดนึงว่า "ในนามของความมั่นคงภายใน" อันเป็นหนังสือที่แปลมาจากผลงานภาษาต่างประเทศของผู้เขียนในชื่อ "Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs" ที่ผู้เขียนตั้งต้นการทำงานศึกษาจากข้อสงสัยเกี่ยวกับ "กิจการความมั่นคงภายในของกองทัพที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557" ที่คล้ายพยายามจะหาคำตอบของคำถามที่ว่า "ทหารมีไว้ทำไม" และมุมมองในเรื่องของ "ความมั่นคง" เป็นเช่นไร ผ่านการศึกษาการดำเนินงานของหน่วยงงานอย่าง "กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)" ที่มีบทบาทในการทำงานในเรื่องของ "ความมั่นคง" และเป็นหน่วยงานที่หลายคนไม่แน่ใจสถานะว่าเป็นหน่วยงานของ "กองทัพ" หรือ "พลเรือน" เนื่องด้วยโครงสร้างการบริหารงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ "สำนักนายกรัฐมนตรี" หากแต่โครงสร้างภายในหน่วยงานกลับเป็นคนของเหล่าทัพมากกว่าจะมีข้าราชการพลเรือนอยู่ในโครงสร้าง และรวมไปถึงบทบาทการทำหน้าที่ ภารกิจ และกิจกรรมในขอบเขตการดำเนินงานและขอบเขตอำนาจของ กอ.รมน. คือสิ่งที่ผู้เขียนทำการศึกษาและบอกเล่าให้คนอ่านได้เห็นภาพการทำหน้าที่เหล่านั้นภายใต้นิยามของการทำหน้าที่เพื่อ "รักษาความมั่นคง" ภายในประเทศ
    .
    ในการนี้ผู้เขียนจึงได้ศึกษาและนำเสนอประวัติความเป็นมา การดำเนินงาน และพลวัตของหน่วยงานอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในงานศึกษา "ในนามของความมั่นคงภายใน" ของผู้เขียน แบ่งการเล่าเรื่องของหนังสือออกเป็น 7 บท เริ่มตั้งแต่การบอกวัตถุประสงค์ของการทำความเข้าใจในการนำเสนอของ "ในนามของความมั่นคงภายใน" ที่จะช่วยขยายมุมมองในเรื่องความมั่นคงของรัฐไทย ไล่ไปจนถึงพัฒนาการทางด้านแนวคิดเรื่องการจัดการภัยคุกคามของรัฐในช่วงยุคทศวรรษ 2500 และนำเสนอต่อเนื่องในเรื่องของการขยับบทบทและสร้างภาพจำใหม่ของหน่วยงานด้านความมั่นคง และรวมไปถึงการนำเสนอข้อมูลในเรื่องของการทำงานแบบ "การเมืองนำการทหาร" การจัดตั้งและเข้าไปทำงานกับมวลชนในนามของความมั่นคง อีกทั้งในส่วนของภาคผนวกของ "ในนามของความมั่นคงภายใน" ได้นำเอา "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี" สำคัญ 2 ชิ้นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในเรื่องของการจัดการภัยคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย อันได้แก่ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ และ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมืองเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ มานำเสนอในส่วนท้าย โดยเนื้อหาทั้ง 7 บทของหนังสือแบ่งไว้ดังนี้
    .
    บทที่ 1 ทำไมต้องรู้เรื่องความมั่นคงภายในของกองทัพ
    .
    บทที่ 2 แนวคิดการจัดการภัยคุกคามความมั่นคงภายใน
    .
    บทที่ 3 การสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพ
    .
    บทที่ 4 กำเนิดทหารนักพัฒนาจากชนบทสู่เมือง
    .
    บทที่ 5 การจัดตั้งมวลชนโดยรัฐยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์
    .
    บทที่ 6 การขยายมวลชนจัดตั้งหลังการรัฐประหาร 2549
    .
    บทที่ 7 บทสรุป
    .
    ในฐานะของคนอ่าน "ในนามของความมั่นคงภายใน" ที่เติบโตมาในวงศ์วานว่านเครือของทหาร สิ่งที่ปรากฏอยู่ใน "ในนามของความมั่นคงภายใน" หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เราเคยได้เห็น เคยได้ยินและเผลอ ๆ อาจจะเคยเข้าร่วมกิจกรรมที่ถูกพูดถึงอยู่ในเนื้อหาด้วยซ้ำไป ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพูดถึง "ในนามของความมั่นคงภายใน" ในฐานะของหนังสือเล่มหนึ่งเราเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังสือมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเรื่องราวของ "ความมั่นคง" ในมิติหนึ่งที่สำคัญ ที่หลายครั้งหลายหนเราอาจจะหลงลืม ละเลย หรือไม่เคยได้เห็นความเชื่อมโยงของหลากกลไกหลายกระบวนการที่ดำเนินไป "ในนามของความมั่นคงภายใน" เพราะสิ่งหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธสำหรับสังคมไทย เมื่อใดที่เป็นเรื่องของ "ความมั่นคง" เมื่อนั่นคล้ายกับว่าคำนี้มีพรอันประเสริฐที่จะถูกงดเว้นการกล่าวถึงในบัดดล โดยดูตัวอย่างจาก "พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540" ในหมวด 2 ว่าด้วยเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย มาตรา 15 (1) ดูก็ได้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in