เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง By กษิดิศ อนันทนาธร
  • รีวิวเว้ย (1630) อำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบัน ที่มีระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ดี หรืออยู่ในประเพณีการปกครองที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาก็ดี สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ในกาลปัจจุบัน (2567) การใช้พระราชอำนาจต่าง ๆ ดังกล่าวดูจะเป็นสิ่งที่เราคุ้นชิ้น อาทิ เรื่องของการแต่ตั้งองคมนตรี การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ การเป็นจอมทัพไทย หรือกระทั่งการเป็นอัครศาสนูปถัมภก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราไม่เคยตั้งคำถามและไม่เคยสงสัยในที่มา-ที่ไป เพราะคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพระราชอำนาจแต่เดิมหรือเป็นประเพณีทางการปกครองที่มีสืบมาจากครั้งอดีต จนเราหลงลืมไปว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนสถานะของการปกครองในสังคมสยามขนานใหญ่ กระทั่งนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ในสังคมขึ้นใหม่ในทุกระดับ แล้วพระราชอำนาจแต่เดิมหรือเป็นประเพณีทางการปกครองที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันมีที่มาอย่างไรกัน
    หนังสือ : ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง
    โดย : กษิดิศ อนันทนาธร
    จำนวน : 200 หน้า
    .
    "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง: ข้อถกเถียงในรัฐสภาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492" ต่อไปนี้จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง" สำหรับหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นงานศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์กฎหมาย ที่มุ่งเน้นการศึกษาไปที่การดูความเป็นมาและการจัดวางสถานะของ "ระบอบพระมหากษัตริย์" ในข้อถกเถียงของสภาในช่วงเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ศึกษาผ่านเอกสารรายงานการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 13 - ครั้งที่ 22 ตั้งแต่วันที่ 14 - 22 มกราคม 2492
    .
    รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญยุคหลังคณะราษฎรที่จัดความสัมพันธ์ใหม่ของ "ระบอบพระมหากษัตริย์" กับ "ระบอบประชาธิปไตย" และเรื่องของการแต่ตั้งองคมนตรี การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ การเป็นจอมทัพไทย หรือกระทั่งการเป็นอัครศาสนูปถัมภก ก็ปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน หากพูดกันในภาษาปัจจุบันคงเรียกได้ว่าการระบุพระราชอำนาจในหลายด้านของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 นับเป็น "นวัตกรรมทางรัฐธรรมนูญ" ชิ้นสำคัญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ณ ช่วงเวลาดังกล่าวที่ยังผลสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน
    .
    ในส่วนของเนื้อหาของ "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง" มุ่งเน้นไปที่การศึกษา "ข้อถกเถียง" ที่ปรากฏในรัฐสภาทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตอบ-ถาม ความเห็นกันในประเด็นต่าง ๆ ที่จะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ซึ่ง "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง" มุ่งเน้นไปที่ข้อถกเถียงในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะปรากฏและมีผลบังคับใช้เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยเนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็น 6 บท หลักที่บอกเล่าเรื่องราวของพัฒนาการ ประวัติศาสตร์ ข้อถกเถียงซักถามต่าง ๆ และแถมทายด้วยข้อคิดเห็นและบทความที่สำคัญอีก 2 ชิ้นในภาคผนวกอันได้แก่ ทัศนพิจารณ์ และ ต้นกำเนิดและการล่มสลายของประชาธิปไตยยุคโบราณ บทบาทรัฐสภาต่อประชาธิปไตย สำหรับเนื้อหาทั้ง 6 บท แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทที่ 1 การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492
    .
    บทที่ 2 ระบอบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
    .
    บทที่ 3 พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์
    .
    บทที่ 4 การแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย
    .
    บทที่ 5 พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย
    .
    บทสรุป
    .
    "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง" ทำให้เราเกิดคำถามสำคัญขึ้นในหัวว่า หลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่มีการถก-เถียง กันในประเด็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกหรือไม่ ? เพราะข้อถก-เถียงแต่ละเรื่องที่ถูกหยิบยกมาบอกกล่าวเล่าถึงใน "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง" นับเป็นการท้ายทายต่อความเคยชินของสังคมเป็นอย่างมาก (โดยเฉพาะกับสังคมปัจจุบัน 2567) ด้วยทัศนะ ข้อคิดเห็นและคำถกเถียงของทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคน ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมีใครกล้าตั้งคำถาม ถก และเถียงกันดังข้อความในหลาย ๆ ตอนที่ปรากฏอยู่ใน "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง" (ลองดูข้อความในหน้า 86-89 ของหนังสือ เป็นตัวอย่าง)
    .
    เรียกได้ว่า "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่มีประชาธิปไตยเป็นการปกครอง" นอกจากจะเปิดเผยถึงแนวคิด ที่มา ที่ไป ในเหตุ-ผล ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในเรื่องของสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 แล้ว หนังสือยังแสดงให้เราเห็นถึงความหาญกล้าของการตั้งคำถามต่อการมีอยู่และการเกิดขึ้นของพระราชอำนาจในหลายประเด็นที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ที่ในปัจจุบันอำนาจเหล่านั้นได้กลายมาเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่เราไม่เคยตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของอำนาจและบทบัญญัติต่าง ๆ เหล่านั้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in