เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
THE PATH By ไมเคิล พูเอ็ต และคริสติน กรอส-โลห์
  • รีวิวเว้ย (1593) สมัยเรียนเรามักมีคำถามว่าคนเราต้องเรียนวิชาปรัชญา (รวมถึงวิชาทฤษฎีที่มีนักคิดกับแนวคิดแปลก ๆ) ไปทำไม ? แล้วในคณะที่เรียนจบมา ณ ช่วงเวลานั้นก็มีวิชาที่กี่ยวข้องกับปรัชญา แนวคิด นักคิด นักทฤษฎีอยู่หลายวิชา นอกจากนั้นวิชาเหล่านี้ยังเป็นวิชาบังคับของสาขาเสียอีก แน่นอนว่าตอนสอบวิชากลุ่มนี้สามารถเอาตัวรอดออกมาจากห้องสอบได้ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว จนหลายปีผ่านไปโอกาสในการอ่านหนังสือหรืออ่านงานในกลุ่มปรัชญา นักคิด นักทฤษฎียังมีอยู่บ่อย ๆ แต่แน่นอนว่าความรู้สึกและคำถามจากการอ่านงานเหล่านี้ก็ยังใกล้เคียงกับเมื่อหลาย 10 ปีก่อน ที่เกิดคำถามขึ้นเสมอว่าเราเรียนวิชาเหล่านี้ไปเพื่ออะไร นอกจากเอาไปใช้เขียนงานในเชิงวิชาการ จนเกิดคำถามว่าแล้วการรู้เรื่องพวกนี้จำเป็นต่อการช่วยให้เราใช้ชีวิตในอนาคตอย่างไร ? กระทั่งเมื่ออ่านเจอข้อความตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ "...เราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องพวกนี้เพื่อให้ใช้ชีวิตบนโลก แต่ความรู้ในสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประสบการณ์ทางโลกของเราเต็มอิ่มยิ่งขึ้น ประสบการณ์ที่เรามีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอาจแตกต่างกัน มาจากคนที่ไม่ได้บ่มเพาะความสนใจเดียวกัน แต่จะมีสักกี่ครั้งที่เราตั้งใจนำหลักการบ่มเพาะตนเองนี้ ไปใช้กับแง่มุมอื่น ๆ ในชีวิต เพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างเปิดกว้างกว่าเดิม" (น. 273) ทั้งข้อความและเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้อาจจะช่วยตอบคำถามบางประการในใจได้ว่าเราจะรู้และเอาเรื่องพวกนี้ไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร
    หนังสือ : THE PATH สร้างตน สร้างเต๋า เข้าใจเรา เข้าใจโลก
    โดย : ไมเคิล พูเอ็ต และคริสติน กรอส-โลห์
    จำนวน : 384 หน้า
    .
    ข้อความบนปกหน้าของหนังสือ "THE PATH" เขียนเอาไว้ว่า "เมื่อฮาร์วาร์ดสอนปรัชญาจีนให้นักศึกษา หนึ่งในสามวิชาที่มีคนลงทะเบียนเรียนสูงสุด" และเป็นหนังสือปรัชญาจีนที่เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ในการสอนหนังสือของผู้เขียน โดยที่ "THE PATH" มุ่งเน้นในการบอกเล่าถึงประเภท ชนิดและความแตกต่างของนักปรัชญาจีนแต่ละสำนัก พร้อมทั้งยกตัวอย่างทั้งจากในคัมภีร์อย่าง คัมภีร์หลุนอี่ว์ คำภีร์เมิ่งจื่อ และคัมภีร์เต้าเต๋อจิง มาประกอบเข้ากับตัวอย่างในชีวิตประจำวันและบริบทที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เพื่อช่วยให้เราเข้าใจรากฐานวิธีคิด รวมถึงแนวทางต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์และวิธีคิดของปราชญ์แต่ละสำนักได้แบบไม่ต้องถอดจิตย้ายร่าง
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "THE PATH" ถูกแบ่งออกเป็น 9 บทหลักและ 1 บทนำ ที่จะช่วยฉายภาพให้เห็นความสำคัญ ความสัมพันธ์ ความต่อเนื่องและรวมไปถึงความแตกต่างของปราชญ์แต่ละสำนัก คัมภีร์แต่ละเล่ม และความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของบริบทที่ถูกหยิบยกเพื่อนำมาใช้ในการขยายความความคิดของปรัชญาจีนแต่ละสำนัก ซึ่งนอกเหนือไปจากการบอกเล่าเรื่องราวของปวงปราชญ์และปรัชญาจีนแบบเข้าใจง่ายแล้ว "THE PATH" ยังหยิบเอาปรัชญาตะวันตก แนวคิดของเหล่านักคิดนักปรัชญาหลายคนของตะวันตกมาใช้เปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของความเหมือน ความต่าง และความสอดประสานกันของกระแสแห่งปวงปรัชญาระหว่างตะวันตกกับตะวันออก โดยเนื้อหาของ "THE PATH" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ
    .
    บทที่ 1 ยุคสมัยแห่งความเฉยเมย
    .
    บทที่ 2 ยุคสมัยแห่งปรัชญา
    .
    บทที่ 3 ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ : ขงจื่อกับพิธีกรรมสวมบทบาท
    .
    บทที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการตัดสินใจ : เมิ่งจื่อกับโลกปรวนแปร
    .
    บทที่ 5 ว่าด้วยเรื่องอิทธิพล : เหลาจื่อกับโลกสร้างใหม่
    .
    บทที่ 6 ว่าด้วยเรื่องพลังชีวิต : คัมภีร์ฝึกกำลังภายใน และการดำรงอยู่ราวกับเป็นจิตวิญญาณ
    .
    บทที่ 7 ว่าด้วยเรื่องปล่อยไปตามธรรม
    .
    บทที่ 8 ว่าด้วยเรื่องมนุษย์: สวินจื่อกับการวางแบบแผนให้โลก
    .
    บทที่ 9 ยุคสมัยแห่งความเป็นไปได้
    .
    ความน่าประหลาดใจของ "THE PATH" ประการหนึ่ง คือ การลดเครื่องหมายคำถามในใจตลอดหลายปีว่า "เราเรียนเรื่องพวกนี้ไปเพื่ออะไร" ลง คล้ายกับข้อความในหน้าที่ 273 ของหนังสือที่เรายกไว้ในเบื้องแรก ที่ในท้ายที่สุดแล้วการเรียนหรือการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องหยิบฉวยหรือนำมันไปใช้อย่างทันทีทันใด หากแต่ "...ความรู้ในสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประสบการณ์ทางโลกของเราเต็มอิ่มยิ่งขึ้น" และช่วยให้เราลองหยิบเอาแนวคิดของนักคิดนักปรัชญาหลาย ๆ คนมาลองเติมเต็มประสบการณ์ในบางด้านของชีวิตต่อไปในภายหน้า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in