"มีเส้นบาง ๆ กั้นระหว่างคำว่า...แชร์กับแฉ"
วาทกรรมของลูกพี่ลูกน้องสาววัย 10 ย่าง 11 ปีที่กำลังนั่งรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน
ไม่ได้ทำให้เราติดใจจนขอนำประโยคนี้มาขยายความเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าวเท่านั้น
หากแต่ยังทำให้เราได้นั่งไทม์แมชชีนและหวนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
ที่การใช้ประทุษวาจา (Hate speech) และการข่มเหงรังแกยังคงเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การสนทนาพาทีจึงเป็นเรื่องสามัญสำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีปาก
และมีภาษาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดสำหรับการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน
ทว่าการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและเรื่องราวระหว่างกันเสมือนการเล่าสู่กันฟังนั้น
บางครั้งอาจนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ติฉินนินทา สาวไส้ให้กากินโดยที่ไม่รู้ตัว
จนถ้อยคำที่มีเป้าประสงค์แต่แรกคือการแบ่งปันเรื่องราวกลับตาลปัตรกลายเป็นประทุษวาจา
อันนำไปสู่ข้อขัดแย้งในภายภาคหน้าเพียงเพราะความสนุกปากแค่ชั่วครู่ชั่วคราวของมนุษย์
แน่นอนว่าสมัยก่อนนั้นยังไม่มีใครนำคำว่าการกลั่นแกล้ง (Bully) มาใช้อย่างแพร่หลายในสังคมไทย
แต่เมื่อสื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตีแผ่เรื่องราวเลวร้ายที่ยังคงมีอยู่ทุกหัวระแหง
สังคมซึ่งบิดเบี้ยวจึงถูกขัดเกลาและเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับน้ำคำที่สามารถฆ่าคนได้มากขึ้น
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวาทกรรมที่มนุษย์ใช้บั่นทอนจิตใจมนุษย์ด้วยกันจะอันตรธานหายไป
เช่นเดียวกับขยะจากน้ำลายคนที่ยังคงเหลือเศษอยู่ ทุกคนที่พำนักอาศัยอยู่ในโลกปัจจุบันทันด่วนนี้
จึงมีหน้าที่เดียวคืออย่าได้สร้างขยะจากน้ำลายของมนุษย์เพิ่มด้วยการใช้คำพูดทำร้ายกันและกัน
อย่าทำให้ปากของมนุษย์เปรียบเสมือนปากกระบอกปืนท่ี่สามารถลั่นไกออกไปได้ทุกเมื่อเชื่อวัน
และอย่าทำให้เรื่องที่ผิดปรกติกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไปราวกับไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นมา
...เป็นอาจิณ
พรชา จุลินทร (สบาย)
21 มกราคม 2565
14.00 น.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in