"ถ้าห้ามคุยกับคนแปลกหน้า…แล้วเราจะมีเพื่อนใหม่ได้ยังไง?"
คำถามเรียบง่ายแสนบริสุทธิ์จากปากของเด็กหญิงวัย 10 ขวบทำให้เราอึ้งไปชั่วขณะ
แล้วจึงมองย้อนดูตัวเองพร้อมกับตั้งคำถามสำคัญถึงความเปลี่ยนแปลงที่เคยเกิดขึ้น
ทำไมเราถึงกล้าสนทนาพาทีกับคนแปลกหน้าที่ทักเรามาครั้งแรกในกล่องข้อความ
ทำไมเราถึงกล้าขอบคุณใครหน้าไหนก็ไม่รู้ที่ออกปากชื่นชมเราในช่องคอมเม้นท์
ทำไมเราถึงกล้าตอบคำถามที่บางครั้งบางทีดูละลาบละล้วงและละเมิดความเป็นส่วนตัว
ก่อนจะพึงระลึกได้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้ความแปลกหน้ากลายเป็นความไม่แปลกหน้า
ทั้งยังทลายทุกกำแพงที่ขวางกั้นในทุกสัมพันธภาพเพียงชั่วพริบตาจนกลายเป็นความชาชิน
จากคนแปลกหน้าที่เราพบเห็นในโลกเสมือนจริงกลายเป็นคนที่เราคุ้นเคยที่รู้จักกันมานาน
ผิดกับคนแปลกหน้าในชีวิตจริงที่ทำให้เรานึกหวาดระแวงและตั้งแง่ไปก่อนโดยไม่รู้ตัว
หรือว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาคือการเลือกปฏิบัติที่ไม่ได้ต่างอะไรจากสองมาตรฐาน
ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนแปลกหน้าในโลกจริงกับในชีวิตของคนไม่แปลกหน้าในโลกเสมือนจริง
ซึ่งถูกบ่มเพาะและซึมลึกอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของปุถุชนทุกคนตั้งแต่ยังไม่รู้ประสีประสา
ผ่านเรื่องราวในโลกนิทานปรัมปราที่คอยพร่ำสอนและมอบแง่คิดว่าห้ามไว้ใจคนแปลกหน้า
ดังเช่นนิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดง (Little Red Riding Hood) ที่มีตอนจบในหลายรูปแบบ
ซึ่งสวนทางกับชีวิตจริงที่ยังคงเกิดคดีความเรื่องการต้มตุ๋นลวงหลอกผ่านโลกออนไลน์อยู่ร่ำไป
โดยเฉพาะเรื่องของทรัพย์สินมีค่าจำนวนมากมายมหาศาลที่ให้ด้วยความเสน่หาอย่างง่ายดาย
ทั้ง ๆ ที่ทุกความสัมพันธ์บนโลกกลม ๆ สีฟ้าอมเขียวใบนี้ไม่มีเครื่องยืนยันหรือข้อผูกมัดใด ๆ
ที่จะช่วยการันตีหรือพิสูจน์ว่ามันจะจีรังยั่งยืน จริงแท้แน่นอน คงทนถาวร หรือเป็นอมตะ
...ชั่วกัลปาวสาน
พรชา จุลินทร (สบาย)
7 มกราคม 2565
10.55 น.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in