"สวัสดีครับ"
"สะ..หวัด..ดี..ขะ....ครึ...ครับ"
เสียงนักเรียนในคลาสของเราพยายามอ่านออกเสียง มันสะดุด และกระตุก ฟังไม่ลื่นไหล กว่าจะออกถูกแค่คำว่าสวัสดีก็กินเวลาไปมาก มือสีขาวจัด กับมือสีเข้ม ขยับไปบนแผ่นกระดาษเพื่อจดสิ่งที่เราอ่านแล้วพยายามออกเสียงตาม
สัปดาห์ที่ผ่านมาเราสอนภาษาไทยให้นักศึกษาต่างชาติ
เริ่มแรกของการเตรียมเราคิดว่าไม่น่าจะยาก ภาษาตัวเอง คะแนนภาษาไทยของเราเข้าขั้นดีมาก ทั้งในชั้นเรียน และการสอบระดับประเทศ (มีใบประกาศนียบัตรรับประกันทีเดียว ไวยากรณ์ วรรณคดี ร้อยแก้ว ร้อยกรอง ครบถ้วน) แต่พอมาสอนคนอื่น โอ้ว มาย บุดด้า!!
เมื่อเป็นอาจารย์ได้เปิดดูผลการเรียนมัธยมของผู้สมัครเข้าศึกษาชาวไทยตอนสัมภาษณ์ก็ต้องละเหี่ยใจกับคะแนนที่ระเรี่ยดินกันหลายคน ความที่เป็นภาษาซึ่งใช้กันจนคล่องทำให้หลายคนประมาทอย่างมาก (ยังไม่ต้องพูดถึงระบบการสอนภาษาไทยที่เดี๋ยวนี้เปิดหนังสือเรียนทีก็น่ามึนยิ่ง)
ความประมาท กับวิชาภาษาไทยเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดกับเรา เพราะเราชอบวิชาภาษาไทย (จริงๆคือวิชาภาษาทุกอัน ทั้งอังกฤษ และจีน เด่นที่สุดคือสามวิชานี้ เพราะเลข วิทย์ พละ นั้นความหวังริบหรี่ยิ่ง) ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวของเราเป็นครอบครัวภาษา เริ่มจากพ่อที่เป็นนักโต้วาทีฝีปากเอกสมัยเป็นนักศึกษา แถมเขียนโฆษณา เขียนสปอต และบทความ อย่างโชกโชน ส่วนแม่ก็ทำงานกับคนเยอะ เป็นคนเลือกใช้ภาษาใช้คำได้ดี อีกทั้งเราได้อิทธิพลจากตาที่เป็นมหาเปรียญสี่ เชี่ยวชาญบาลี สันสกฤต แต่งกลอน แต่งหนังสือเยอะมาก หนังสือหนังหาที่บ้านมีพอๆกับห้องสมุด สิ่งเหล่านี้จึงหล่อหลอมให้เรารักภาษาไทย ชอบเรียนภาษาไทยขั้นหลงใหลจนเป็นลูกรักครูภาษาไทยทั้งโรงเรียน มีอะไรก็โดนจับส่งแข่งหมด ตอนย้ายมาโรงเรียนใหม่ก็เกิดอภินิหารล้มแชมป์ภาษาไทย (ที่แม่เป็นครูภาษาไทย) กลายเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งงานวัดโพธิ์ (งานนี้แม่ปลื้มมากเพราะแม่เคยเป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งชนะรายการเดียวกันเมื่อหลายสิบปีก่อน) ภาษาไทยจึงไม่ใช่ปัญหา กระทั่งเราต้องกลับมารื้อฟื้นความรู้ ต่อมมึนก็ทำงานทันที
ตายละหว่า...อักษรสูง กลาง ต่ำ คืออะไร
ก-ฮ เรียงลำดับอย่างไร
นี่มันยังไม่ถึงขั้นสอนออกเสียง "ร" "ล" และ "ง" นะเว้ย.......
เราได้ตกลงไปในกับดักของความ "ชิน" ภาษาเสียแล้ว
เหมือนกับการที่เป็นเจ้าของภาษาแต่ใช่ว่าจะสอนภาษาแม่ของตนเองได้โดยอัตโนมัติ นี่คือสาเหตุหนึ่งว่าโรงเรียนทั้งหลาย ไม่ว่าสถาบันภาษาก็ตามไม่สามารถหยิบฝรั่งทั่วไปมาสอน แต่ต้องพิจารณาวุฒิกับประสบการณ์สอนประกอบการเลือกครู
แต่เนื่องจากไม่มีใครสอนภาษาไทยแ่ก่นักศึกษาเหล่านี้ได้ (อนึ่งคือไม่มีงบจ้างครูข้างนอก รวมทั้งมันไม่ยืดหยุ่น) เราจึงรับหน้าที่เอง เรียนสัปดาห์ละสองวัน โดยออกแบบให้เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะกับการดำรงชีวิตในประเทศไทยระยะยาว ซึ่งสอดแทรกวัฒนธรรมไทยลงไปประกอบเพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่ต้องพิจารณาองค์ประกอบแวดล้อม เช่น ระดับผู้พูด ความสัมพันธ์ ขนบธรรมเนียมต่างๆ เช่นเรื่องเรียกชื่อก็ไม่เหมือนชาติอื่น การสอนที่ไม่สอดแทรกวัฒนธรรมลงไปทำให้ได้แค่เนื้อหนังแต่ไม่ได้มีกระดูกเป็นโครงไปด้วยนั่นเอง
นักเรียนของเราได้แก่ เวียดนาม 2 กัมพูชา 1 เนปาล 1 และเยอรมัน 1 ภายหลังยังงอกอินเดียมาอีกหนึ่งหน่อด้วย เป็นงานที่ต้องกุมขมับสอนเป็นระยะๆ
สิ่งแรกที่ทำคือพิจารณาภาษาทั้ง 4 ภาษาของนักเรียน เวียดนามและกัมพูชา มีความใกล้เคียงภาษาไทยเนื่องจากมีระบบรัวลิ้น วรรณยุกต์ เสียง ง ส่วนกัมพูชากับเนปาลสอนได้ง่ายเพราะมีรากสันสกฤต ส่วนเยอรมันนั้นเผอิญนักศึกษาคนนี้หัวไวด้านภาษา (แต่มาจากวิศวกรรมการแพทย์) กลับสามารถออกเสียงได้ชัดเจนดี ส่วนพี่อินเดีย (ต้องเรียกพี่เพราะแก่กว่าเราหลายปี) ก็ออกเสียงได้ดีเพราะพื้นฐานภาษาฮินดีมาจากรากภาษาสันสกฤต ประมาณว่าศัพท์ยากๆ ของภาษาไทยตรงกับฮินดีเกือบทุกคำ
สิ่งต่อมาคือ เนื้อหา จะสอนอะไร?
เราเริ่มจากการเอาหนังสือสอนภาษาไทยแก่ต่างชาติที่มีอยู่ในท้องตลาดมาเปิดอ่าน ส่วนมากก็จะเน้นกิน เที่ยว ช้อป บาร์ ซื้อตั๋ว ขอความช่วยเหลือเป็นหลักๆ ถ้าแอดวานซ์ขึ้นไปก็จะมีที่ต้องขึ้นโรงพัก ขึ้นศาล ไปจนถึงทะเลาะกับคนไทย
ที่อึ้งกว่าคือหนังสือพวก Phrase Book จากเยอรมนีที่นักศึกษาเยอรมันได้จากเพื่อนก่อนมาไทย โอ้ว มายบุดด้า หน้าที่ 15 ก็เปิดมาด้วย Flirting ตกสาวไทยได้อย่างไร...
จุด จุด จุด
เช่น "คุณสวยมาก" "คุณมีแฟนหรือยัง" อันนี้ยังโอเค แต่มันบิวด์มาถึง "ไปบ้านคุณได้ไหม" กับ "ไปห้องผมกันไหม" รวมทั้ง "ไปให้พ้น" ที่พึงทราบไว้ตอนจีบแล้วโดนถีบกลับมา
อา.....ไทยแลนด์
สุดท้ายเนื้อหาจึงออกมาตามชีวิตประจำวันมาก กิน เที่ยว ช้อป ดูหนัง ฟังเพลง ไปจนถึงร้องเพลงมาตรฐานอย่าง ลอยกระทง และเพลงช้าง
ต่อมาคือสิ่งที่ต้องสอดแทรก ซึ่งเราเลือกสิ่งที่เขาจะต้องเจอในวัฒนธรรมไทย ให้พื้นฐานที่ต้องเข้าใจเอาไว้เพื่ออยู่กับคนไทยได้ เช่น เมื่อได้ยินเพลงชาติ กับเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ต้องหยุด และยืนตรง มาถึงจุดนี้นักศึกษาก็เล่ากันว่า เนี่ย วันก่อนไปจตุจักรแล้วจู่ๆคนก็นิ่งหมดเลย มีเพลงขึ้น....เลยถามว่า "หกโมงเย็นใช่ไหม" นักศึกษาตอบว่า "ใช่ๆ เมืองไทยเล่น Flash Mob บ่อยจัง ไปรถไฟฟ้าก็เจอ"
"นั่นมันเพลงชาติ..."
การระมัดระวังการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะการอ่านออกเสียงเป็นเรื่องสำคัญมาก อาทิเช่น ขายตั๋ว กับ ขายตัว
นักศึกษาเยอรมันพลาดไปแล้ว....อินเดียก็มิน้อยหน้าเรียกคุณหมอ เป็น คุณหมา มาตลอด....กุมขมับกันเถอะค่ะ
มาถึงวันนี้ปิดคอร์สแล้ว นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนภาษาไทย เราเองก็ได้ทบทวนภาษาที่เราใช้ทุกวันทุกคืนที่เราเคยละเลยเพราะคิดว่ายังไงก็พูดได้อยู่แล้ว พอย้อนกลับมาดูภาษาไทยเป็นภาษาที่ท้าทายมาก จะเรียนให้พูดและใช้คล่องนั้นไม่ใช่ของง่าย เราพูดได้ พูดคล่อง ฟัง อ่าน เขียนด้วยความเคยชิน
ได้ย้อนกลับมามองภาษาไทยก็ดีเหมือนกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in