เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ธีสิสในแดนที่มองไม่เห็นKrittika Aon
ออกเดินทาง ๓๐%
  • ในการเดินทาง ๓๐ % นี้ฉันได้พบกับคุณครูที่ปรึกษาโดยรวมประมาณ ๓ ครั้ง ( ๒ อาทิตย์ต่อ ๑ ครั้ง) 

    การพบกันครั้งแรก 

    หลังจากประกาศอาจารย์ที่ปรึกษา ๑ วัน ครั้งแรกจึงเป็นการทักทายและพูดคุยถึงหัวข้อที่จะทำเพื่อที่คุณครูแจ็ปจะได้แนะนำต่อยอดได้ว่าควรทำอะไรต่อไป ซึ่งฉันก็ได้บอกไปว่าฉันต้องการทำแอนิเมชันของตำนานเมืองลับแล คุณครูก็แนะนำพร้อมมอบหมายให้ทำสิ่งต่อไปนี้

    - ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองลับแลเพื่อนำไปต่อยอดเป็นงานต้นฉบับของตัวเอง
    - ออกแบบตัวละคร
    - วางโครงเรื่อง
    - เขียน Storyboard
    - ทำสไลด์มานำเสนอให้เรียบร้อย

    โดยให้เวลา ๒ สัปดาห์... 

    ซึ่งฉันในตอนนั้นมองว่าเป็นช่วงเวลาที่มากจนเผลอประมาท คิดไปว่าตัวเองคงจะทำทันอยู่แล้ว สบายมาก ตั้ง ๑๔ วันแหนะ โดยหารู้ไม่ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของนรกที่ฉันเลือกเอง

    ช่วง ๓-๕ วันแรกหลังได้รับมอบหมายฉันใช้เวลาไปกับการอ่านและหาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองลับแลและจังหวัดอุตรดิตถ์  ทั้งประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ ของใช้ ของดี ของเด่นประจำจังหวัดที่คิดว่าจะสามารถเอามาใส่ในโครงเรื่องได้ เผื่อว่าคนที่แต่งเรื่องไม่เก่งแบบฉันจะมีไอเดียเขียนเรื่อง แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวไอเดียผุดขึ้นมาเลย เสียเวลาไปเป็นอาทิตย์กับการคิดเนื้อเรื่อง สุดท้ายก็พยายามเค้นจนได้ว่าอยากนำตำนานเมืองลับแลมาใช้ในช่วงแรกและทำเรื่องราวของลูกต่อโดยให้พ่อมีบทบาทอีกครั้งด้วยการให้เป็นไก่ที่หลงเข้ามาในป่าลับแลง 


    ทำไมเป็นไก่ล่ะ

    เหตุผลที่ฉันให้เป็นไก่นั้นมีเหตุผลด้วยกัน ๒ ประการ อย่างแรกคือเพราะไก่เป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมาแต่อดีต อีกเหตุผลคือคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เป็นทั้งกวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญอุษาคเนย์เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับไก่ว่ามี "ปีก" ซึ่งเป็นสัญญะของการโบยบินและการติดต่อระหว่างดินแดนและบุคลาธิษฐานที่อยู่เบื้องบน เป็นตัวเชื่อมสำคัญต่อความเชื่อเหนือธรรมชาติของคนโบราณ (จึงมักเห็นการนำไก่หรือสัตว์ปีกไปเป็นของเซ่นไหว้บนบาน) ฉันจึงอยากนำไก่มาเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกปกติภายนอกและสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างเมืองลับแล

    หลังจากนั้นก็พยายามออกแบบตัวละครโดยตอนแรกพยายามอิงตามยุคสมัยเหมือนการ์ตูนของไทยอย่างเรื่องวันทองไร้ใจ ที่มีคการอิงเครื่องแต่งกาย สภาพบ้านเมือง และวัฒนธรรมตามสมัยโบราณ แต่เพราะตัวฉันยังมีความสามารถไม่มากนักจึงออกแบบได้ดูธรรมดาไม่ค่อยมีจุดดึงดูดอย่างที่ตั้งใจ อยากจะลองให้แฟนตาซีเหมือนในเกม Genshin impact ที่การอ้างอิงและดัดแปลงวัฒนธรรมจากประเทศในโลกที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ลังเลนานมากจนเสียเวลาไปเยอะ สุดท้ายก็คิดว่าเอาที่วาดนี้ไปปรึกษาคุณครูดีกว่า อาจจะได้คำแนะนำที่ช่วยให้หายข้องใจได้

    ภาพที่ ๑: ออกแบบตัวละครพ่อ แม่ ลูก และไก่ ครั้งที่ ๑

    ซึ่งสุดท้ายคุณครูก็แนะนำว่าไหน ๆ ก็ทำแฟนตาซีอยู่แล้ว จะดัดแปลงให้แฟนตาซีไปเลยก็ได้เพราะเมืองลับแล (ถ้าไม่อิงตามพื้นที่จริง) ก็เป็นเรื่องแต่งเกี่ยวกับเมืองลึกลับเมืองหนึ่ง

    ส่วนในส่วนของ Storyboard แรกนั้นเรียกได้ว่ายังออกมาไม่ดีเท่าไหร่เพราะอยากทำแอนิเมชันโดยใช้เทคนิค Motion graphic ซึ่งไม่เคยลองทำมาก่อนจึงยังไม่มีภาพในหัวชัด ๆ ทำได้เพียงออกแบบคร่าว ๆ ก่อน

    ภาพ ๒: Storyboard ใหม่ (ขออภัยที่ทำไฟล์แบบเก่าหาย และ Procreate หาวิธีกู้คืนไม่ได้ค่ะ)


    การพบกันครั้งที่สอง

    ถ้าจำไม่ผิดเหมือนจะเป็นช่วงวาเลนไทน์พอดี วันแห่งความรักที่เราต้องมาเดตกับธีสิส (ปาดน้ำตา) 
    ฉันได้นำสิ่งที่พยายามปั่นหลังจากการพบกันครั้งแรกมานำเสนอกับคุณครูแจ็ปแล้วก็ได้ความคิดเห็นกลับมา โดยมีทั้งส่วนของเนื้อเรื่อง ภาพ และเพลง


    เนื้อหา

    ในส่วนของเนื้อเรื่องในตอนแรกคุณครูยังคงติดใจเรื่องของเหตุผลที่พ่อกลายเป็นไก่ ซึ่งตอนแรกฉันคิดแค่ว่าเป็นเพราะความปราถนาแรงกล้าก่อนตายที่อยากเจอลูก ทำให้วิญญาณไปอยู่ในร่างไก่ (ฉันนึกถึงพวกละครพีเรียดของไทยที่ชอบดู ฉากที่มีการแช่งก่อนตาย คำสาปแช่งจะดูแรงกล้า ขลังและศักดิ์สิทธิ์มากกว่าความปราถนาปกติ) แต่เหมือนคุณครูจะมองว่าน้ำหนักยังดูน้อย ฉันจึงต้องไปคิดแก้ปัญหาต่อไป
    อีกอย่างคือครูต้องการเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นไก่ ตอนนั้นฉันไม่ได้อธิบายคุณครูให้เข้าใจเพราะจำชื่อคุณนักเขียนไม่ได้ ซึ่งความหมายก็มีคล้ายคลึงกับในหนังสือเกี่ยวกับสัญญะที่คุณครูให้เพื่อนอีกคนยืมไปในภายหลัง (ขออภัยที่จำไม่ได้นะคะ) ประมาณว่า ไก่ (Chicken) มีสัญญะประมาณว่าเป็นสัตว์นำทางวิญญาณในพิธีกรรม เป็นเครื่องบูชายัญ เครื่องเซ่น


    ภาพและแอนิเมชัน

    หลังจากบอกคุณครูไปว่าต้องการทำประมาณไหน ในส่วนของภาพคุณครูก็แนะนำว่าเป็นตำนานและเป็นช่วงก่อนประวัติศาสตร์ ถ้าตั้งใจทำให้เป็นแฟนตาซีก็สามารถออกแบบให้แฟนตาซีเลยก็ได้ ส่วนแอนิเมชันคุณครูก็บอกว่าถ้าทำได้ตามที่อยากทำก็ดีเลย


    เพลง 

    เกี่ยวกับเพลงคุณครุก็แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงตลอดทั้งเรื่องก็ได้ (ไม่งั้นงานจะหนักมาก ๆ ซึ่งจริงค่ะ) อาจจะทำแค่ท่อนสำคัญ ๆ ก็ได้ให้ลองไปคิดดู


    การพบกันครั้งที่สาม

    การพบกันครั้งนี้เป็นการพบกันก่อนวันนำเสนอวันที่ ๗ มีนาคม ของกลุ่มแรก ตอนนั้นยังไม่รู้จะวาดต่อแก้ไขอย่างไรดี สมองตันมาก ๆ พลังใจในการทำเริ่มร่อยหรอ จึงแก้แค่ตัวละครหลักอย่างน้องอิ่นคำที่เป็นลูกชาย เนื้อเรื่องนิดหน่อย และลองทำแอนิเมชันให้คุณครูดูเป็นตัวอย่างเล็กน้อย

    ภาพที่ ๓: ออกแบบลูกชายหรืออิ่นคำใหม่
    ภาพที่ ๔: วาดฉากเพื่อทดลองทำแอนิเมชัน
    *ตั้งใจจะแปะคลิปด้วย แต่เหมือนว่าถ้าไม่ใช่คลิปจาก Youtube จะไม่สามารถแปะได้


    คำแนะนำหลังนำเสนอความคืบหน้า ๓๐%

    หลังจากลองนำเสนอให้คณาจารย์ทั้ง ๕ ท่านแล้วก็ได้ความหลัก ๆ ว่า

    - รูปร่างของตัวละครให้ลองไปศึกษารูปร่างคนไทยสมัยก่อน ในส่วนของตัวละครเด็กถ้าอยากให้ดูเด็กลง แนะนำให้วาดหัวโตกว่าตัว
    - แนวเพลงเป็นอย่างไร อยู่ส่วนไหนบ้าง (ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะทำเพลงในส่วนบอกเล่าเกี่ยวกับเมืองและการเดินทาง) มีแนะนำให้ทำเพลงเดียวตอนเปิด-ปิด ใช้กลอนประกอบจังหวะในส่วนอื่น และมีแนะนำให้ไปฟังเพลงขอทาน
    - อยากให้วัฒนธรรมมีความชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งเสื้อผ้า โทนสี ความเป็นท้องถิ่น



    แค่ ๓๐% ก็หนักหน่วงมากแล้ว จะไหวไหมน้อ แอบได้ยินคุณครูกระซิบกันว่าไม่ควรทำคนเดียว (เห็นด้วยอย่างยิ่ง) หนูอยากแยกร่างสัก ๑๐ ร่างมาช่วยกันทำงานมาก ๆ ค่ะ



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in