เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง NCT 127 - Punch
      • ในที่สุด NCT 127 ก็ปล่อยเพลงใหม่ออกมา!!

        หลังจากที่ได้สำรวจ feedback ของผู้ฟังหลายท่านแล้ว
        ก็พบว่ามีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเพลง Punch แทบจะเท่า ๆ กัน
        วันนี้จึงอยากถือโอกาสมาย่อยบทเพลงนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้ค้นพบรายละเอียด
        รวมไปถึงเข้าใจตัวเพลงมากขึ้น


      (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


      Album  NCT #127 Neo Zone: The Final Round (2020)
      Written By  Kenzie
      Composed by  Ryan JhunDwayne Abernathy JrAlawn & Kenzie

        G# minor - 91 BPM


    • ท่อน Intro เริ่มต้นมาด้วยเสียง *ostinato ที่หลายคนบอกว่าเหมือนกับเสียงในเกมส์ เป็นการเลือกใช้เสียง synthesizer ที่สามารถสื่อความหมายในตัวมันเองออกมาได้ชัดเจนมาก และมันถูกบรรเลงแบบนี้ไปตลอดเกือบแทบจะทั้งเพลงจนติดหูเรา

    • ความเจ๋งอีกอย่างของแนวทำนองนี้คือการเลือกใช้บันไดเสียงหรือ G# natural minor ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมซักเท่าไหร่ เนื่องจากเสียงในสเกลนี้ฟังแล้วอาจไม่ลื่นหูสำหรับหลายคน ถือว่าหายากที่เพลง k-pop จะใช้การเรียงตัวโน้ตแบบนี้ แถมการเลือกใช้คีย์ G# minor ก็แปลกมาก เพราะมันเป็นคีย์ที่มีคอร์ดและโน้ตยาก ๆ เยอะสำหรับเครื่องดนตรีในการบรรเลง และยังไม่ค่อยพอดีกับช่วงเสียงการร้องเท่าไหร่อีกด้วย

    *Ostinato - แนวทำนอง หรือ เบส ที่ถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ
    ในยุค Baroque ออสตินาโตที่เรียกว่า Figured Bass ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมากของเพลง


    • พอเริ่มเข้าสู่ท่อน Verse ที่เป็นลักษณะ speaking-singing เหลือเพียงเสียงเบสที่ต่ำมากๆ (G#1) ต่ำจนเป็น pedal tone คือเสียงที่ความถี่ต่ำมาก แทบจะมุดดิน จนหูของคนเกือบจะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโน้ตอะไร

    • 0.19 มีเสียงตะโกนด้วย อย่างเท่ห์! หลังจากนั้นเสียง ostinato ตอนต้นเพลงก็กลับมาอีกครั้ง

    • อีกจุดที่น่าสังเกตของท่อน Verse คือการที่เสียงพูด/ร้องจะเริ่มจากสูงแล้วไล่ต่ำลงไปเรื่อย ๆ วนกลับไปเริ่มที่เสียงเดิมใหม่ก่อนจะไล่ลงอีกครั้ง แต่พอ 0.28 กลับมีการกระโดดขึ้นไปเสียงที่สูงขึ้น แล้วก็ไล่เสียงลงด้วยแพทเทิร์นแบบเดียวกับก่อนหน้า จนมาตอนจบที่อยู่ดี ๆ ก็ไปจบที่โน้ตสูงเสียงหลบ หากไม่ได้สังเกตและฟังผ่าน ๆ อาจจะมองข้ามจุดนี้ไปที่คนแต่งซ่อนเอาไว้เพื่อ build อารมณ์คนฟังให้สูงขึ้น

    • ตั้งแต่ 0.27 จะมีเสียงเบส สไลด์ขึ้นลงไปมาตลอด คล้ายกับในเพลง Ridin' ของ NCT Dream เลย

    วินาทีที่ 0.14



    • Verse ถัดมามีการร้องโดยใช้เสียงลมเพียงอย่างเดียว ไม่มีการใส่เสียงตัวโน้ตแต่อย่างใด เหมือนกับในเพลง Baby don’t stop ของ NCT U แต่ความรู้สึกจะค่อนข้างแตกต่างออกไป เนื่องจากไม่มีแนวทำนองจากดนตรีที่ชัดเจนแบบ BBDS.. แต่ใน Punch มีเสียงเบสกับบีตที่ค่อนข้างหนัก นั่นทำให้การร้อง ASMR ในเพลงนี้จะยากยิ่งกว่า BBDS ค่อนข้างมาก ต้องใส่พลังเยอะเพื่อสู้กับเสียงดนตรีหนัก ๆ ต้องเน้นควบคุมลมให้มีความโฟกัสสูง พุ่งเร็วออกมาข้างหน้า รวมไปถึงกระแทกเสียงและออกเสียงคำให้ได้ยินชัดเจน เรียกได้ว่ากินพลังงานยิ่งกว่าร้องปกติซะอีก

    วินาทีที่ 0.29


    • ตอนช่วงท้ายมีการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนจากเสียงลมเพียงอย่างเดียวด้วยการเพิ่มเสียงโน้ตเข้าไป โดยเสียงก็จะไล่สูงขึ้น รวมไปถึงเพิ่มระดับ dynamic ความดังเพื่อส่งให้กับท่อนถัดไป

    • เอฟเฟคของท่อนนี้เจ๋งมาก เบสที่สวนทางกับการร้องที่ส่งมาก่อนหน้าด้วยการสไลด์ดิ่งต่ำลง เสียงดนตรีทุกอย่างดรอปหายไปจนเงียบหมด (ถือว่าค่อนข้างนานอยู่นะ) แถมน่าแปลกด้วยที่เอฟเฟคนี้ถูกใช้ตั้งแต่ช่วงต้นเพลง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา เอฟเฟคนี้มักจะถูกใช้ก่อนหรือหลังท่อนคอรัสเพื่อสร้างความรู้สึกที่รุนแรงและเปลี่ยนมู้ดเพลง


    ขออธิบายความแปลกของช่วง 0.49-0.59 ในแง่ของการแบ่งท่อน
    ส่วนใหญ่ถ้าสังเกตแต่ละช่วงมันจะยาวประมาณ 10-11 วินาที
    โดยในช่วง 10-11 วินาทีจะสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกเป็น 4 *ห้อง
    คือ 0.49-0.51, 0.51-0.53, 0.54-0.56, 0.57-0.59 โดยประมาณ
    ซึ่งถ้าไปลองฟังหลายคนอาจจะรู้สึกได้เช่นกันว่ามันสามารถแบ่งย่อยได้ประมาณนี้

    โดยทั่วไปแล้วการแบ่งย่อยมักแบ่งอย่างสมมาตร เป็นเลขคู่ คือ 2-2
    ยกตัวอย่างจากช่วงนี้ คือ มาร์คควรจะร้อง 2 ห้องที่เป็นสไตล์นึง และแฮชานอีกสไตล์นึง 2 ห้อง

    แต่ปรากฎว่าห้องแรกกลับเป็นการร้อง ASMR ตามมาด้วยแร็พเสียงปกติ 2 ห้อง และปิดด้วยร้อง 1 ห้อง

    ซึ่งจะเห็นว่ามันไม่บาลานซ์ คนฟังเลยอาจรู้สึกว่ามันแปลก ๆ ไม่ลงตัวพอดี เหมือนกับว่าแฮชานควรจะร้องเพิ่มอีก 1 ห้อง ทั้งที่ความเป็นจริง จำนวนห้อง 4 ห้องนั้นก็ปกติไม่ขาดไม่เกินเลย
    เรียกได้ว่าคนฟังก็คงจะเงิบ และถูกหลอกกันเป็นแถว


    *ห้อง, ห้องดนตรี - เป็นการแบ่งเพลงออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ ใน 1 เพลงจะมีหลายห้อง แต่ละห้องจะมีจำนวนจังหวะแต่งต่างกันไปตามกำหนด ประโยคของเพลงส่วนใหญ่จะมีความยาวอยู่ที่ 4 หรือ 8 ห้องเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะในเพลงป๊อป
    ภาพตัวอย่าง ในโน้ตเพลงจะมีเส้นกั้นห้องเพื่อแบ่งอย่างชัดเจน


    • 1.00 ท่อน Pre-chorus เริ่มมีการใช้คอร์ดนอกเหนือไปจากคอร์ด G# minor เป็นครั้งแรก และแน่นอนว่าเป็นการแนะนำเครื่องดนตรีใหม่ที่น่าแปลกใจว่ามาอยู่ในเพลงนี้ได้ยังไง นั่นคือ เปียโน เครื่องอะคูสติกเพียงหนึ่งเดียวท่ามกลางเสียงสังเคราะห์ แถมวิธีการเล่นยังน่าสนใจมาก เริ่มจากการเล่นกดคอร์ดช่วงเสียงต่ำ แล้วหลังจากนั้นย้ายไปเล่นโน้ตในช่วงเสียงสูง แถมสไตล์แนวทาง คอร์ดที่ใช้ยังมีความ impressionism สูงมาก คือเป็นการสร้างสีสัน สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก และบรรยากาศล่องลอย แม้แต่แนวประสานเสียง background vocals เองก็มีการใช้คอร์ดที่มีโน้ตนอกเหนือจากคอร์ดหลัก ทำให้เกินสีสันที่แปลกใหม่มาก


    ยกตัวอย่างเพลงในยุค Impressionism คือเพลง Jeux D'eau ของ Maurice Ravel ชาวฝรั่งเศส สีสันของเพลงนี้จะใกล้เคียงกับคอร์ดช่วงเสียงสูงของเปียโนในเพลง Punch



    • ก่อนเข้าท่อนฮุคมีการส่งด้วยเบส glissandro ซึ่งเป็นเทคนิคการสไลด์ขึ้นลงอีกแล้ว นี่น่าจะกลายเป็นอีกองค์ประกอบหลักของเพลงที่ต้องรอดูว่าต่อๆ ไปจะมีโผล่มาอีกมั้ย



    Hey We Ballin'!



    • ท่อน Chorus หรือฮุคมีความยิ่งใหญ่มากจากแนวร้องที่หนา คอรัสประสานเสียงร้องทับกันหลายไลน์ แถมยังมีการใส่ reverb เสียงสะท้อนจนแทบจะคล้ายกับการร้องสวดในโบสถ์ที่เสียงก้อง ๆ แต่ก็ยังมีความหนักแน่นจากดนตรีที่รวมทุกเสียงจากช่วงก่อนหน้ามาไว้หมดแม้กระทั่งเปียโน (อาจจะได้ยินยากหน่อย แต่จะมาได้ยินชัดช่วง 1.28) รวมไปถึง adlib ตลอดช่วงนี้ เรียกได้ว่าจัดเต็มจนแอบสงสัยว่าท่อนฮุคต่อจากนี้จะมีลูกเล่นอะไรมาเพิ่มเติมเพื่อสร้างความแตกต่างนะ

    • ท่อนที่ร้องว่า 전부를 바꿀 파이터 (A fighter who’ll change everything) มีการใช้คอร์ดที่เป็นเสียง major ซึ่งมีความสดใสขึ้นมาเหมือนต้องการสื่ออะไรในประโยคนี้ที่มากกว่าแค่การเป็นนักสู้ที่ไม่ได้มาเพื่อแค่ต่อยตี แต่เราจะมาเพื่อเปลี่ยนโลกอันมืดมนให้มันสว่าง แสดงออกถึงความ positive ความมั่นใจชัดเจน





    • Verse ถัดมาคนฟังอาจมีความรู้สึกงุนงง ยิ่งฟังยิ่งรู้สึกจับต้นชนปลายไม่ได้ ฟังแล้วเหมือนมันมีความซับซ้อนสูงมาก ต้องบอกเลยว่าจังหวะของช่วงท่อนนี้มีความวุ่นวายมากกว่าที่คิด ทั้งการร้องที่เปลี่ยนความเร็วของคำไปมาตลอด  มีความ irregular สูงมาก ไหนจะเสียงเบสดรัมที่เล่นคนละจังหวะและก็ไม่สม่ำเสมอเช่นกัน ทั้งสองแนวนำเสนอจังหวะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นยังไม่พอ ดนตรีช่วงนี้ยังไม่มีการลงเน้นจังหวะตกที่เป็นจังหวะสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคง แถมมีการดีเลย์เสียงให้ไม่ตรงจังหวะเป๊ะ ๆ ทั้งสองแนวเลย โอ้โห พอมารวมกันนี่เล่นเอาหาไม่เจอว่าเพลงไปถึงไหนแล้ว มันล่องลอย ไร้ที่ยึด ไม่มั่นคง

    • แต่พอ 1.46 ที่มีบีตจาก percussion หรือเสียงของเครื่องกระทบ (แน่นอนว่าเป็นเสียงสังเคราะห์) ที่ชัดเจนเข้ามา ก็ทำให้มีความรู้สึกมั่นคงมากขึ้น เริ่มจับจังหวะได้ แม้ว่าจะยังคงฟังดูสับสนจากแนวร้องที่ complex และเสียงที่มีความดีเลย์เล็กน้อย ยังไม่นับ adlib ที่แทรกเข้ามาที่ต้องบอกว่าเจ๋งมาก แต่ก็ทำให้สับสนได้ในเวลาเดียวกัน

    • 1.52-2.02 มีลักษณะการร้องคล้ายกับ Verse ตอน 0.38-0.58 เลย แต่ถูกย่อให้สั้นลงเหลือแค่เพียงครึ่งนึงเท่านั้น ก็จะสังเกตได้ว่าทุกอย่างถูกทำให้สั้นและกระชับ จากท่อน ASMR ที่ก่อนหน้านี้ยาวก็ถูกลดเหลือเพียงแค่ 1 ห้องก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มเสียงตัวโน้ตเข้าไปตามจำนวนวินาทีที่เหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว

    • 2.03-2.13 Pre-chorus รอบนี้เองก็เป็นการย่อให้เหลือเพียงครึ่งเดียวของรอบก่อนหน้าตอน 0.59-1.20 เช่นกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เท่าที่เห็น คนแต่งมักแต่งให้เหมือนกันนะ คือเท่ากันทั้งรอบที่ 1 และ 2 มันจึงเป็นเรื่องที่แปลกแต่ก็เออเจ๋งดี ฉีกแหวกแนวไปเลย ไม่ต้องตามอะไรแบบเดิม ๆ



    • ท่อน Chorus รอบนี้มีสิ่งที่หายไปคือเสียง percussion ส่วนใหญ่ เหลือไว้เพียงแค่กลองใหญ่ ตุบ ๆๆๆ เท่านั้น กับเสียงเปียโนที่กดคอร์ดคลอไปตลอด และความแปลกที่สุดคือการที่ท่อนนี้เหลือสั้นแค่จาก 2.13-2.20 สังเกตได้ว่ามันไม่ครบ 10 วินาทีตามที่ควรจะเป็น จาก 4 ห้องตามปกติถูกลดเหลือแค่เพียง 3 ห้อง.. ไม่ใช่สั้นกว่ารอบก่อนหน้าแบบหารครึ่งด้วยนะ แต่ไม่ถึงครึ่งเลย! คนฟังจะมีความรู้สึกที่เหมือนว่า เห้ย มันควรยาวกว่านี้อีกนิดนึงอ่ะ ทำไมตัดเข้าท่อนถัดไปเร็วจัง ยังไม่ทันได้ตั้งตัวเลย

    • เข้าสู่ท่อน Bridge เป็นอีกครั้งที่สไตล์ดนตรีในเพลงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การใช้ synthesizer เล่นคอร์ดลากที่มีสีสันที่สว่าง มีความสดใสมากขึ้นแตกต่างจากช่วงก่อนหน้า เครื่องดนตรีที่โดดเด่นขึ้นมาเลยคือเบสไฟฟ้าและน้องใหม่ของเพลง กีตาร์ไฟฟ้า ที่เพิ่งจะถูกเปิดตัวกันครั้งแรกในท่อน Bridge.. จังหวะช่วงนี้ไม่ได้หนักและหนามากอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นเลือกใช้เสียงบีตที่สูงและมีจังหวะถี่ขึ้นเพื่อให้ท่อนนี้รู้สึกผ่อนคลายแต่ก็ไม่ถึงกับเอื่อยเฉื่อยจยเกินไป

    • แนวทำนองที่ร้องนั้นน่าทึ่งมาก เป็นการแต่งแบบที่คนฟังไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าโน้ตต่อไปจะเป็นตัวอะไร มันไม่เหมือนเพลงอื่น ๆ ที่เราสามารถอาศัยอาศัยความเคยชินจากการฟังเพลงบ่อย ๆ แล้วคาดการณ์ได้ว่ามันจะไปในแนวทางไหน น่าจะเป็นเสียงอะไรในคำต่อ ๆ ไป แต่ในเพลงนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับเพลง K-pop เลย โดยเฉพาะตอนช่วงท้ายที่เลือกจะขึ้นไปแตะไฮโน้ตสองรอบ แปลกมาก ฟังแล้วต้องลุ้นตลอดเวลาว่าเพลงกำลังพาจะพาเราไปไหน สนุกดี ยอดเยี่ยม ไม่ซ้ำแบบใครจริง ๆ

    • ท่อน Instru หรือก็คือท่อนที่มีการเต้น dance break มีการใช้เสียง synthesizer ที่ถูกปรับให้มีลักษณะเหมือนเสียงกลุ่มเครื่อง brass หรือกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (เครื่องดนตรีประเภทแตรต่าง ๆ เช่น ทรัมเปต ทรอมโบน) ซึ่งมันให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ majestic เสียงเครื่องดนตรีเหล่านี้เป็นเหมือนตัวแทนของกองทหาร ความแข็งแกร่ง และชัยชนะ คล้ายกับตอนต้นในเพลง Jopping ของ SuperM ที่ก็มีการใช้เสียงของเครื่อง brass เพื่อประกาศศักดาเช่นกัน

    วินาทีที่ 0.32


    • Instru เป็นช่วงที่เชื่อว่าคนฟังหลายท่านจะรู้สึกว่าในที่สุดก็รู้สึกฟินกับเพลงนี้ซักที เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่มีเสียงดนตรีครบทุกช่วงเสียงอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งสูง กลาง ต่ำ โดยเฉพาะเสียงกลางจากเครื่อง brass ที่เข้ามาเติมเต็มให้ดนตรีช่วงนี้ครบสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จังหวะของเพลงเองก็ค่อนข้าง simple เข้าใจง่าย ไม่มีอะไรแปลก ๆ มีหลอกหู

    • ก่อนเข้าท่อนฮุคสุดท้ายแน่นอนว่าต้องมีเสียงเบส สไลด์ (ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายรอบนะ แต่ไม่ได้เมนชั่นถึง) และที่ขาดไม่ได้คือการดรอปเสียงดนตรีทั้งหมดออก เหลือเพียงเสียงร้องก่อนจะตามมาด้วยดนตรีหนักแน่น ในทางดนตรีความเงียบถือเป็นอิมแพคที่ยิ่งใหญ่มาก และดนตรี K-pop ก็มักจะใช้ลูกเล่นนี้บ่อยๆ ในเพลงเพื่อสร้างอารมณ์ที่พลุ่งพล่านยิ่งขึ้นให้กับผู้ฟัง ถึงกับต้องกลั้นหายใจตามเตรียมรับการกระแทกที่จะมาถึงงั้นเลย ยังมีกีตาร์ไฟฟ้าที่ถูกเพิ่มเข้ามา แล้วไหนจะแอดลิบอีกมากมายที่มาเพิ่มสีสันและความหลากหลายจนไฟลุกให้กับช่วงสุดท้ายของเพลง


    โมสาร์ทเคยกล่าวไว้ว่า

    "ดนตรีไม่ได้อยู่ในตัวโน้ต แต่อยู่ในความเงียบระหว่างบทเพลง"



    • ตอนจบเพลงยังคงมีเสียงเบส สไลด์ลง ช่างน่าประทับใจจริง ๆ ที่มันกลายเป็นองค์ประกอบหลักที่ใช้ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนท่อน แม้กระทั่งตอนจบที่สไลด์ลงต่ำและจบอย่างสมบูรณ์แบบด้วยการร้องชานท์ Hey We Ballin' ที่ให้ความรู้สึก holy ยิ่งใหญ่เกรียงไกร เป็นประกาศถึงความเป็นผู้ชนะของแมตช์การแข่งขันในวันนี้


    - จบเพลง -




    โครงสร้างของเพลง Punch

    INTRO                          0.06-0.17

    VERSE A                       0.17-0.38

    VERSE B                       0.38-0.59

    PRE-CHORUS              0.59-1.20

    CHORUS                      1.20-1.41

    VERSE C                      1.41-1.51

    VERSE B’                      1.52-2.02

    PRE-CHORUS’             2.02-2.12

    CHORUS’                      2.13-2.20

    BRIDGE                        2.21-2.41

    INSTRU                        2.42-3.03

    CHORUS”                     3.03-3.24

    OUTRO         HEY WE BALLIN'!



    สาเหตุที่ทำให้เพลง Punch ฟังยากสำหรับใครหลายคน

    จากที่ได้เขียนวิเคราะห์เพลงไปนั้น มีหลากหลายสาเหตุมากที่อาจทำให้คนรู้สึกว่าเพลงนี้มันแตกต่างจากเพลงทั่วไป และยากต่อการทำความเข้าใจ จะขอนำมาเขียนสรุปให้อ่านอีกครั้ง

    • คีย์ของเพลงนี้คือ G# Minor ซึ่งเป็นคีย์ที่ไม่คุ้นหูเท่าไหร่สำหรับคนทั่วไป ไม่ค่อยถูกใช้เนื่องจากช่วงเสียงที่ไม่พอดีกับเสียงร้อง ความยากของคอร์ดก็ค่อนข้าง compliate ยังไม่ต้องพูดถึงเพลงป๊อป แม้แต่ในทางดนตรีคลาสสิกยังน้อยเลย เจอคีย์นี้นักดนตรีมีร้องไห้นะ มันยากมาก ๆ

    • การเลือกใช้คอร์ดที่ซ้ำเดิมค่อนข้างมาก ตั้งแต่เริ่มเพลงมามีอยู่คอร์ดเดียวคือคอร์ด G#m เป็นเวลา 1 นาทีเต็ม ๆ กว่าจะเปลี่ยนคอร์ด และแม้จะมีเปลี่ยนคอร์ดบ้างแต่ก็เป็นแค่ส่วนน้อยจริง ๆ เรียกได้ว่า 2 ใน 3 ของเพลงนี้ใช้คอร์ด G#m ทั้งนั้นเลย

    • เสียงสังเคราะห์หรือ synthesizer ที่เป็น element หลักของเพลงเองก็มีส่วนมาก ดนตรีประเภท electronic music แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ชอบมากและไม่ชอบเป็นธรรมดา สำหรับบางคนก็เลือกจะฟังเพลงสไตล์นี้แค่ในบางกรณี เช่น เข้าผับ ออกกำลังกาย ดนตรีประเภทนี้สำหรับหลายคนมักต้องการปัจจัยอื่นประกอบการฟังไปด้วยมากกว่าฟังเพื่อความเพลิดเพลินสุนทรีย์เท่านั้น

    • รูปแบบเพลงที่มีการจัดแบ่งท่อนค่อนข้างแปลก เพลงป๊อปส่วนใหญ่มักจะค่อนข้างมาตรฐานในเรื่องนี้ คือ แต่ละท่อน เช่น Verse หรือ Chorus มีความสมมาตรเท่ากัน รวมไปถึงการที่แต่ละท่อนมีจำนวนห้อง 4 หรือ 8  ห้องเพลง แต่ในเพลงนี้มันมีทั้งท่อนที่ยาวกว่าปกติ สั้นกว่าปกติ แล้วยังสลับท่อนสับไปมาไม่ได้เรียงแบบทั่วไป กลายเป็นว่าบางทีเราฟังแล้วรู้สึกว่า อ้าวเห้ย ทำไมเปลี่ยนท่อนแล้ว ทำไมหลอกกันแบบนี้ล่ะ

    • เพลงเน้นเสียงเบสหนักมาก แต่ช่วงเสียงกลางที่เป็นเสียง Harmony เพราะ ๆ กลับไม่ค่อยมี กว่าจะมามีดนตรีที่เมื่อเราฟังแล้วรู้สึกเติมเต็มจริง ๆ ก็ตรง 2.42 ท่อน dance break แล้วที่มีการใส่เสียงเครื่อง Brass เข้ามา

    • มีการใช้จังหวะที่ complex และเข้าใจยากหลายครั้ง โดยเฉพาะในท่อน 1.42 ที่มีเพียงเสียง bass drum เบา ๆ กับเสียงร้อง แล้วทั้งสองแนวนำเสนอจังหวะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แถมมีการดีเลย์ให้ไม่ตรงจังหวะทั้งคู่ มันเลยยิ่งฟังยิ่งรู้สึกจับต้นชนปลายไม่ได้ หาไม่เจอว่าเพลงไปถึงไหนแล้ว สร้างความสับสนและไม่มั่นคงให้กับผู้ฟัง

    • นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางดนตรีสูง แต่ละท่อนมีความแตกต่างกันไปค่อนข้างมาก ลักษณะคล้ายเพลงประเภท Rhapsody ที่เป็นการรวมดนตรีหลากหลายรูปแบบไว้ในเพลงเพลงเดียว ทำให้คนฟังอาจเกิดความสับสนโดยเฉพาะในการฟังครั้งแรก ไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ว่าท่อนไหนเป็นท่อนไหน ความเยอะนี้ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจ


    ตัวอย่าง Rhapsody เพลง Bohemian Rhapsody ของวง Queen
    ซึ่งมีลักษณะทางดนตรีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการร้อง Acapella, Ballad, Rock n' Roll
    หรือแม้กระทั่งช่วงที่มีร้อง Chorus คล้ายกับการแสดงโอเปร่า




    บทสรุป

    ในมุมมองของผู้เขียนนั้นคิดว่าเพลง Punch เหมาะที่จะเป็นเพลงไตเติ้ลสำหรับวง NCT 127 เป็นอย่างมาก  เนื่องจากเพลงสามารถนำเสนอความเป็น Neo Culture Technology ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ดนตรี Electronic หลากหลายรูปแบบผสมผสานกับดนตรี Acoustic, ดนตรีที่มีเสียงเบสหนักแน่นตามสไตล์ของ NCT, รูปแบบโครงสร้างของเพลงที่ไม่ซ้ำแบบใคร ฉีกแหวกแนว ออกจากกฎเกณฑ์แบบเดิม แต่ก็ยังไม่ถึงกับหลุดโลกจนไม่สามารถเข้าใจได้, ทำนองเพลงและดนตรีที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ล้ำสมัย และแนวร้องที่โชว์เทคนิคหลากหลายไม่ซ้ำจำเจ มีทุกรูปแบบภายในเพลงเดียว

    อีกจุดที่น่าสนใจของเพลงนี้คือ แม้จะไม่เห็นภาพ แต่ดนตรีสามารถสื่อสารอะไรออกมาได้หลายอย่างและชัดเจน จากจินตนาการของผู้เขียน ช่วงต้นที่มีการใช้เสียงแบบในเกมส์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ครั้งใหม่ หลังจากนั้นการเริ่ม Verse แรกด้วยเทคนิค speaking-singing ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาเปรียบเสมือนเส้นทางการเตรียมตัวเข้าสู่สังเวียน จนกระทั่งเข้าท่อนฮุคที่เป็นการประลองที่แท้จริง แสดงถึงความยิ่งใหญ่และทรงพลัง ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่ดนตรีมีความ soft เหมือนเป้นช่วงที่พักผ่อนให้หายเหนื่อย แล้ววนกลับมาต่อสู้ใหม่อีกครั้งโดยใช้เวลาเตรียมตัวน้อยลงตามดนตรีที่ถูกย่อสั้นลงมา จนมาเข้าช่วง Instru หรือ dance break ที่ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของผู้ชนะด้วยเสียงเครื่อง Brass เป็นแผง และปิดท้ายอย่างอลังการ สมศักดิ์ศรีของนักสู้ในตอนจบ...


    ผู้เขียนมองว่าสิ่งเหล่านี้คือความเจ๋งของเพลง NCT ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจ
    การเปิดโอกาสให้คนได้จินตนาการตาม ไม่เคยทำอะไรซ้ำจำเจแบบเดิม
    แต่กลับมักทดลองอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เหมือนกับเป็น creator ผู้สร้างสรรค์ผลงาน
    ผู้นำทางด้านดนตรีแห่งวงการ K-pop



    อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Punch อีกด้วยนะ!

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Noey Rungthip (@fb3472119329603)
ชอบมากค่ะ ได้สาระความรู้ดีมากๆ ขอบคุณที่เขียนบทความนี้นะคะ รอติดตามบทความต่อๆไปน๊า
ryeomook (@ryeomook)
@fb3472119329603 ขอบคุณเช่นกันนะคะ ยินดีมากเลยด้วยค่ะ :)
Noey Rungthip (@fb3472119329603)
@ryeomook ว่าแต่คุณเห็นเพลงใหม่ของnct uมั้ยคะๆ อยากเห็นคุณมาวิเคราะห์make a wishค่ะเพลงนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างที่รู้สึกว่าน่าสนใจมาก ๆ เลย อยากอ่านที่คุณวิเคราะห์อีก><
parnchanok1 (@parnchanok1)
โอ้ว พึ่งเคยอ่านบทความวิเคราะห์ดนตรี ชอบมากๆเลยค่ะ ละเอียดและใช้คำง่ายๆสื่อสารได้เข้าใจ อยากขอให้ลองวิเคราะห์เพลchainด้วย เราชอบเพลงนี้มากอยากรู้รายละเอียดแบบนี้กับเพลงนี้อะค่ะ ขอบคุณมากเลยน้าที่เขียนบทความดีๆมาให้ได้อ่าน
ryeomook (@ryeomook)
@parnchanok1 ขอบคุณนะคะ ดีใจมากเลยที่ชอบ อยากให้คนอ่านรักแล้วก็เข้าใจเพลงเยอะ ๆ ส่วนเพลง Chain ขอเก็บไว้ก่อนละกันนะคะ ไว้ว่าง ๆ อาจจะเอามาเขียน ส่วนใหญ่มักจะเขียนเพลงที่เพิ่งออกใหม่ ไม่ค่อยได้ยกเพลงเก่ามาเขียนเลยค่ะ >__<
adnavius_261 (@adnavius_261)
คุณมุกที่เคยวิเคราะห์อซท.เยอะๆ ใช่ไหมคะ;-; ตอนแอคหายตกใจมากเลยค่ะ ดีใจและขอบคุณมากที่ยังมาวิเคราะห์เพลงให้อ่านกันอีกนะคะ ฮืออออออ
ryeomook (@ryeomook)
@adnavius_261 ทำไมมีแต่คนหาตัวเจอ 5555 ขอบคุณที่ตามมาอ่านเช่นกันนะคะ ;__;
black mamba (@roungkao69)
ในที่สุดก็เจอแล้ว ขอบคุณพี่มุกมาก ๆ เลยค่า น้องชอบอ่านมาก ยิ่งอ่านยิ่งทำให้ชอบเพลง NCT มากกว่าเดิม
ryeomook (@ryeomook)
@roungkao69 หากันจนเจอ เก่งมาก >< ดีใจที่ทำให้ชอบเพลงของน้อง ๆ ได้มากขึ้นนะคะ
Jay Park Jeabeom (@fb3053380148033)
นี่ว่า เสียงมันคล้ายเสียงเกม famicom อะ เกมตลับ
ryeomook (@ryeomook)
@fb3053380148033 เสียงแบบเกมส์ยุคโบราณ 8bit งั้นเลยค่ะ ชอบมาก ๆ
peachapeacha01 (@peachapeacha01)
ขอบคุณมากนะคะ ไม่มีคำไหนจะแทนคำว่าขอบคุณได้แล้ว คุณน่ะ เก่งที่สุดเลย เรารออ่านบทวิเคราะห์เพลงจากคุณอยู่นะคะ คุณเป็นคนที่ทำให้เรามองNCTลึกลงไปมากกว่าคำว่าไอดอล โลกของดนตรีมีอะไรเยอะมากจริงๆ ขอบคุณที่เราได้เจอคุณ ทำให้เรารู้สึกว่า โลกของดนตรีมันน่าค้นหาแค่ไหน รักนะคะ :)
ryeomook (@ryeomook)
@peachapeacha01 ขอบคุณมากเลยนะคะ ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณรัก NCT และดนตรีมากขึ้นค่ะ ^-^
skeletonflowerw (@skeletonflowerw)
เย้ เรานึกว่าจะไม่ได้อ่านวิเคราะห์ดีๆอีกแล้ว ขอบคุณนะคะ หาเจอจนได้ ?? เพลงนี้ฟังในคอนไม่ได้ตั้งใจฟังมาก มัวแต่มองหน้าน้อง พอปล่อยเพลงออกมาฟังแล้วชอบบบบ
มากกก แต่ไหนๆ ฟังทั้งทีเราก็อยากจะรู้จักเพลงแบบลึกๆ ด้วยยย ขอบคุณอีกทีนะคะ ไปปั่นวิวต่อแล้วววว ??
ryeomook (@ryeomook)
@skeletonflowerw อุตส่าห์หากันเจอ ดีใจมากเลย ขอบคุณมากนะคะ
oxe_21 (@oxe_21)
Found ya! เจอคุณแล้วว ในที่สุด เพลงนี้ฟังครั้งก็ร้องเหหห ออกมาเลย แต่ชอบท่อนกระซิบมาก ถึงจะเคยเจอใน bbds แต่พอมาอยู่ในเพลงนี้แล้ว โครตเจ๋ง นี่พยามนั่งแยกเครื่องดนตรีเอง ได้ยินเปียโนกับกีต้าร์ไฟฟ้า(ซึ่งชัดมาก)ก็ดีใจแล้วค่ะ55555 ส่วนท่อนฮุกรอบ2 สั้นแบบมาก อยู่ๆตัดมา bridge เลย จนต้องฟังซ้ำหลายรอบ บอกได้เลยว่า ทุกคนที่ฟังเพลงนี้ งง ค่ะ ฮ่าๆ เพลงนี้ซับซ้อนจริง ขึ้นชื่อว่าอซท ไม่เคยธรรมดา ขอบคุณอีกครั้งนะคะ ที่ทำให้การฟังเพลงครั้งต่อๆไปดูลึกถึงรายละเอียดเพลงมากขึ้น ใช้คำว่าต้องเงี่ยหูฟังเลยทีเดียว ยิ่งเป็นเพลงอซท ยิ่งมีอะไรให้ค้นหาเยอะเลย ขอบคุณนะคะ
ryeomook (@ryeomook)
@oxe_21 มีแต่คนหาเราเจอ 5555 เพลงนี้มันมีอะไรเยอะจริงค่ะ ลูกเล่นมากมายทำเอาเราตามแทบไม่ทัน แต่แจ๋วเลยที่คุณพยายามฟังเสียงเครื่องต่าง ๆ พอได้รู้แล้วมันทำให้รู้สึกว่าเพลงมันมีอะไรน่าสนใจมากขึ้นจริงนะคะ ยินดีมากและขอบคุณเช่นกันค่ะ :)
URSZULA (@URSZULA)
เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบเพลงนี้เลยค่ะ แต่พอมาอ่านบทความของคุณแล้วเราเปิดใจมากขึ้นเลยค่ะ ละเอียดมากๆ เป็นกำลังใจให้เขียนบทความดีๆแบบนี้อีกนะคะ
ryeomook (@ryeomook)
@URSZULA ยอมรับว่าตอนฟังครั้งแรกก็ไม่ถูกจริตเท่าไหร่ค่ะ แต่ก็พยายามจะตั้งใจฟังรายละเอียดเพราะเชื่อว่าทุกเพลงมีดีในแบบของมัน ดีใจที่คุณชอบบทความนี้ ขอบคุณมากนะคะ
kkn_jd (@kkn_jd)
ขอบคุณที่เขียนงานดีๆออกมาให้อ่านนะคะ
Ps. เรากำลังคิดถึงงานเขียนของคุณอยู่พอดี 5555
ryeomook (@ryeomook)
@kkn_jd ยินดีมากเลยค่า แง้ ย้ายถิ่นฐานยังอุตส่าห์หากันเจอด้วย
mondayoctober (@mondayoctober)
ในที่สุดก็ตามหาบทความวิเคราะห์เพลง Punch ของคุณมุกเจอจนได้ ดีใจมากแทบจะร้องไห้ 555 ตั้งแต่ได้ยินเพลงนี้วัน Beyond Live คือพยายามหาทวิตคุณมุกมาตลอด เพราะหลังจบคอนเหมือนโดนล้างสมอง จำอะไรไม่ได้เลย เรียกว่าเป็นอีกเพลงที่ติดหูยาก จำได้แต่ Hey we ballin' (ที่ตอนนั้นได้ยินเป็น Everybody ด้วยซ้ำ โดนแกง)

พอมาฟังเพลงตอนปล่อย 4 โมงอีกทีก็ยังแบบ what? อยู่ มา what? ซ้ำอีกทีตอนดู MV เป็นเพลงที่ฟังแล้วมีจังหวะเอ๊ะเยอะมาก โดยเฉพาะท่องคอรัสที่ 2 คือตัดฉับแบบสตั๊นท์ไปเลย
ส่วนตัวคิดว่า ถ้าท่อนคอรัสมัน full scale ครบทุกห้องแบบคอรัสหลัง dance break มันก็จะไม่แปลกหูเท่านี้ แต่ก็เข้าใจว่านักแต่งเพลงเค้าก็คงคิดมาแล้วว่าเค้าอยากได้แบบนี้ อาจจะอยากให้มันแปลกใหม่ไม่จำเจซักท่อนหนึ่งเหมือน Bohemian Rhapsody ที่แรกๆ ก็ฟังแล้วจำอะไรไม่ค่อยได้เหมือนกัน แต่ฟังหลายๆ รอบมันก็จำได้เอง

เราอยากอ่านวิเคราะห์เพลงนี้ของคุณมุกมากๆ ตอนแรกหาไม่เจอเลยไปดูคลิป producer ฝรั่ง และมีแฟนแอคต่างชาติในทวิตที่วิเคราะห์เพลงนี้ มีหลายจุดที่พูดเหมือนคุณมุกเลยค่ะ แต่บทความนี้ของคุณมุกละเอียดที่สุด คอมพลีทมาก

เสียดายที่คุณมุกปิดแอคไป เราหาแอคคุณมุกไม่เจอแล้วไม่ว่าจะแอคไหน ลิงค์นี้เราก็เจอด้วยการ search หาในทวิตเตอร์จนเจอจากที่คนอื่นโพสต์ ที่เสียดายที่สุดคือคนจะเห็นโพสต์ดีๆ แบบนี้จากคุณมุกน้อยลงไปเยอะมาก แต่ไม่เป็นไรค่ะยังไงก็ได้ขอให้เราได้มีอ่าน 555 หวงมากอยากบอก อย่าหายไปอีกนะคะ อยากอ่านเรื่อยๆ นะคะ Nonstop, Make Your Day อะไรก็ว่ามาได้เลย แง อยากอ่าน
ryeomook (@ryeomook)
@mondayoctober เป็นเพลงที่มุกฟังแล้วก็งงเช่นกันค่ะ มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในเพลงและทุกอย่างมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านไปแบบยังไม่ทันได้ตั้งตัวทั้งนั้นเลย
สุดยอดไปเลยที่คุณเสิร์ชเจอได้เพราะตอนแรกมุกเขียนเสร็จก็ยังแทบจะไม่ได้บอกใครเลยนะคะ แอบเสียดายเช่นกันค่ะ อยากให้คนอ่านเผื่อว่าจะรู้สึกเข้าใจและชอบเพลงนี้มากขึ้นได้จากบทความนี้
ยังไม่แน่ใจว่าจะเขียนเพลงไหนอีก ขอไม่สัญญานะคะ ;-; แต่สัญญาว่าจะอยู่ในนี้แหละค่ะ

ดีใจที่ชอบ ขอบคุณมากเลยนะคะ :)
angle_ole (@angle_ole)
ยาวมายังกะบทความทางวิชาการ 5555 บันเทิงๆๆๆ
เขียนอีกๆๆๆ
ryeomook (@ryeomook)
@angle_ole ได้เล้ย