เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
pO2: Oxygen-like Politicsthemoonograph
วิเคราะห์ Train to Busan: ทุนนิยม เกาหลีใต้ และการปฏิวัติที่ไม่มีวันสำเร็จ
  • * บทความชิ้นนี้ดัดแปลงมาจากรายงานปลายภาคของรายวิชา Global Politics Through Film ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันที่จริง อาจารย์กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ (ผู้สอน) แนะนำให้ลองส่งสื่อออนไลน์หรือวารสารเพื่อเผยแพร่งานชิ้นนี้ในรูปบทความ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่างานชิ้นนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะความช่วยเหลือจากอาจารย์กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ และอาจารย์กัลยา เจริญยิ่ง ผู้คอยถามไถ่และให้คำปรึกษาที่ดีอยู่เสมอ ไม่เพียงแต่การหาข้อมูลและการคิดวิเคราะห์ของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว จึงตัดสินใจนำมาเผยแพร่ผ่านช่องทางนี้แทน ถึงกระนั้นก็ขอขอบคุณอาจารย์สำหรับคำชมเชยและคำแนะนำอันล้ำค่านี้ด้วยค่ะ




    Train to Busan: ทุนนิยม เกาหลีใต้ และการปฏิวัติที่ไม่มีวันสำเร็จ

              ภาพยนตร์ดิสโทเปียเป็นสื่อที่ไม่เพียงแต่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชม แต่ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เราตั้งคำถามกับระบบระเบียบที่เป็นอยู่ (สรวิศ ชัยนาม, 2561, p.14) หากกล่าวถึงประเภทของภาพยนตร์ดิสโทเปียที่แฝงนัยยะทางการเมืองและนัยยะเชิงวิพากษ์จำนวนมากก็คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์แนวซอมบี้ โดยนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ในค.ศ. 2001 เป็นต้นมา จำนวนภาพยนตร์ซอมบี้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ (Drezner, 2015, p.12) และซอมบี้เองก็กลายมาเป็นภาพแทนของหลายสิ่ง ดังเช่น โรคระบาด ฝูงชนผู้ออกมาประท้วง และแนวคิดลัทธิมาร์กซ์ (Drezner, 2015, p.12) อย่างไรก็ตาม เพราะอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ ภาพยนตร์แนวซอมบี้จึงไม่ได้ปรากฏให้เห็นเพียงแค่ในแวดวงภาพยนตร์ฮอลลีวูด แต่ปรากฏตัวในแวดวงภาพยนตร์ฝั่งเอเชียเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ซึ่งได้กลายมาเป็น “ประเทศแห่งซอมบี้” นับตั้งแต่การเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ในค.ศ. 2016 เป็นต้นมา (Balmont, 2020; Lee, 2016) 
              แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan เองก็มีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ไม่น้อย โดยแรงบันดาลใจที่นำมาสู่การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ของผู้กำกับยอนซังโฮ คือการขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับมือการแพร่ระบาดของโรค MERS ในเกาหลีใต้ ค.ศ. 2015 (Blluesherbet_, 2020; Balmont, 2020) นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ยังสะท้อนให้เห็นประเด็นความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศเกาหลีใต้เช่นเดียวกัน แต่ถึงกระนั้น ต้นตอของความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้อย่างโครงสร้างระบบทุนนิยม รวมไปถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อประเทศเกาหลีใต้ยังไม่ได้รับการพูดถึงในเชิงลึกในงานเขียนทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan มากนัก [*] บทความชิ้นนี้จึงต้องการที่จะตอบคำถามว่าภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan มีนัยยะเชิงวิพากษ์ต่อโครงสร้างระบบทุนนิยมในเกาหลีใต้ในมิติไหน? อย่างไรบ้าง? มีความสัมพันธ์กับการใช้ซอมบี้เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดประเด็นดังกล่าวอย่างไร? และเรื่องราวทั้งหมดสัมพันธ์กับจุดหมายปลายทางของเรื่องอย่างพูซานอย่างไร? 
              ดังนั้น จุดยืนของบทความชิ้นนี้คือ ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan เป็นภาพสะท้อนของผลกระทบที่ระบบทุนนิยมมีต่อเกาหลีใต้ในด้านสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม และชนชั้นแรงงาน โดย (1) ในแง่สิ่งแวดล้อม ทุนนิยมทำลายสัตว์และสิ่งแวดล้อม และกำลังพาโลกทั้งใบและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดไปสู่วิกฤต (2) ในแง่สังคม ทุนนิยมผลักไสคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนชายขอบในเกาหลี ซึ่งนำไปสู่การละทิ้งสิ่งที่จำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและต้องใช้ชีวิตราวกับตกอยู่ในนรกทั้งเป็น และ (3) ในแง่ชนชั้นแรงงาน ทุนนิยมกดขี่ขูดรีดชนชั้นแรงงานอย่างไม่เลือกหน้า และทำให้แรงงานต้องทุกข์ระทมและคับแค้นใจจนลุกขึ้นมาต่อต้านระบบที่เป็นอยู่ ถึงกระนั้นทุนนิยมก็ยังคงมีความสามารถในการกล่อมเกลาให้คนงานคอปกขาวมองว่าตนเองไม่ได้อันหนึ่งอันเดียวกันกับชนชั้นแรงงานที่เหลือ และเลือกข้างเดียวกับนายทุนเพื่อทำร้ายคนที่ลุกขึ้นสู้ แทนที่จะหันมาเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบทุนนิยม และในตอนจบของภาพยนตร์ จุดหมายปลายทางพูซานเป็นเครื่องตอกย้ำว่าการปฏิวัติที่ผู้คนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบบทุนนิยมจะไม่มีวันสำเร็จ เพราะระบบทุนนิยมจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม 
              บทความชิ้นนี้แบ่งออกเป็นหกส่วน ส่วนที่หนึ่งจะเล่าเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ส่วนที่สอง สาม และสี่ จะแสดงให้เห็นผลกระทบที่ทุนนิยมมีต่อสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม และชนชั้นแรงงานในประเทศเกาหลีใต้ตามลำดับ ส่วนที่ห้าจะวิเคราะห์เกี่ยวกับตอนจบของภาพยนตร์ และส่วนสุดท้ายคือส่วนสรุป 


    เรื่องย่อภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan 

              ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan เป็นเรื่องราวของการระบาดของซอมบี้ในเกาหลีใต้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการรั่วไหลของสารเคมีจากบริษัทยูซอนไบโอลงสู่แม่น้ำ ณ เมืองชินจู ทำให้สัตว์ในพื้นที่ฟื้นจากความตายและกลายเป็นซอมบี้ ซึ่งในภายหลังเชื้อซอมบี้ก็ได้แพร่กระจายเข้าสู่มนุษย์ ตัดภาพกลับมาที่กรุงโซล ซอกอู ผู้จัดการกองทุนผู้ล้มเหลวในชีวิตครอบครัว กำลังพาลูกสาวอย่างซูอันนั่งรถไฟ KTX101 จากกรุงโซลไปหาแม่ของเธอที่พูซาน โดยผู้โดยสารของรถไฟขบวนนี้มีทั้งผู้สูงอายุ เด็ก นักเรียนมัธยม คนวัยทำงาน ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้อำนวยการบริษัทขนส่งอาชา รวมไปถึงคนไร้บ้าน แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อหนึ่งในคนที่ขึ้นรถไฟมาเป็นผู้ติดเชื้อ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการระบาดของเชื้อซอมบี้ในขบวนรถ 
              ซอกอูและซูอันต้องหนีไปตู้อื่นเพื่อไม่ให้ถูกซอมบี้กัด โดยซอกอูเตือนซูอันอยู่เสมอว่าไม่ต้องมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสถานการณ์เช่นนี้ แค่เอาตัวเองให้รอดก็พอ จู่ ๆ กัปตันรถไฟก็ประกาศว่ารถไฟจะหยุดที่สถานีแทจอนซึ่งมีทหารรวมตัวอยู่ ซอกอูติดต่อกับนักลงทุนรายย่อยที่เขารู้จักเพื่อขอให้เขาและซูอันไม่ต้องกักตัวเมื่อเดินทางถึงแทจอน แต่เมื่อผู้โดยสารลงไปถึงสถานี ก็พบว่าทหารที่รอพวกเขาอยู่ได้กลายเป็นซอมบี้ไปหมดแล้ว ผู้โดยสารทั้งหมดจึงต้องกลับขึ้นรถไฟ KTX101 โดยกัปตันได้เปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปยังพูซาน ซึ่งเป็นเมืองเดียวที่ทหารควบคุมสถานการณ์ได้ในตอนนี้ โดยระหว่างทางไปพูซาน ผู้รอดชีวิตต้องพยายามเอาชีวิตรอดบนขบวนรถไฟ ทั้งจากซอมบี้ที่วิ่งเข้าหาพวกเขาตลอดเวลา และจากมนุษย์ด้วยกันเอง โดยเฉพาะกลุ่มของผู้อำนวยการบริษัทขนส่งอาชาอย่างยอนซ็อก ที่พร้อมผลักไสกันอยู่ทุกเมื่อ ในขณะเดียวกัน ซอกอูก็เริ่มลดความเห็นแก่ตัวลงและหันมาช่วยเหลือผู้รอดชีวิตคนอื่น ๆ แต่รถไฟ KTX101 ยังเดินทางไม่ถึงพูซานก็พบว่ารางรถไฟถูกปิดกั้น ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนไปใช้รถไฟขบวนอื่น 
              ซอกอู ซูอัน และหญิงตั้งครรภ์ซองกย็อง หนีฝูงซอมบี้จนเปลี่ยนมาขึ้นขบวนรถไฟใหม่ได้ แต่บนขบวนนั้นกลับมียอนซ็อกที่ติดเชื้อซอมบี้ไปแล้วด้วย ซอกอูสละชีวิต ยอมโดนยอนซ็อกกัดเพื่อปกป้องซูอันและซองกย็อง และทิ้งตัวเองลงจากรถไฟก่อนที่ตัวเองกำลังกลายเป็นซอมบี้อย่างเต็มตัว ท้ายที่สุด ซูอันและซองกย็องเดินทางไปถึงพูซาน และพบกับทหารที่รอช่วยเหลือพวกเขาอยู่ 

    Photo by Sam Balye on Unsplash

    สิ่งแวดล้อม: เพราะนายทุน เราจะตายกันหมด 

              ภาพยนตร์ซอมบี้แต่ละเรื่องต่างก็มีต้นตอไวรัสซอมบี้ที่แตกต่างกันออกไป โดยสำหรับภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ได้ถูกฉายให้เห็นในช่วงต้นของภาพยนตร์ ว่าการระบาดของซอมบี้เป็นผลมาจากการรั่วไหลของสารเคมีจากเขตนิคมอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำ ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก และปรากฏให้เห็นภาพของซอมบี้ตนแรกในภาพยนตร์คือกวางที่ถูกรถชนตายแล้วฟื้นขึ้นมา ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าสัตว์ในพื้นที่อาจบริโภคปลาตายที่ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี อันนำไปสู่การกลายเป็นซอมบี้ สัตว์ที่เป็นซอมบี้ก็กัดผู้คนจนเกิดการแพร่เชื้อเข้าสู่มนุษย์ และมนุษย์ที่กลายเป็นซอมบี้ก็กัดผู้คนด้วยกันเองต่อจนเกิดการระบาดของซอมบี้ไปทั่วประเทศเกาหลีใต้ หากกล่าวโดยสั้นคือ ต้นตอของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรม ดังที่ผู้ช่วยคิมที่ทำงานกับซอกอูได้บอกกับซอกอูในช่วงท้ายของภาพยนตร์ว่า “เรื่องนี้เริ่มขึ้นที่ยูซอนไบโอ” (Lee, 2016, 01:24:44-01:24:46) และแน่นอนว่าเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพนี้มีฐานะเป็นนายทุน 
              ในแวดวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มีการถกเถียงเกี่ยวกับยุคสมัยที่เรากำลังอาศัยอยู่ ผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่าเรากำลังอยู่ใน “Anthropocene” กล่าวคือ ยุคที่มนุษย์ทุกคน ทั้งผู้เขียนและผู้ที่กำลังอ่านอยู่ในตอนนี้ เป็นต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อม และกำลังทำลายโลกด้วยน้ำมือของพวกเราอยู่ทุกวัน (Malm, 2016, p. 415) อย่างไรก็ตาม Train to Busan ได้สะท้อนแนวคิดที่ท้าทาย Anthropocene อย่าง “Capitalocene” ที่โต้แย้งว่าต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมและบุคคลที่กำลังพาโลกทั้งใบไปสู่วิกฤตไม่ใช่มนุษย์ทุกคน หากแต่เป็นระบบทุนนิยมที่มีคนกลุ่มเล็ก ๆ อย่างนายทุนอยู่เบื้องหลัง (Malm, 2016, p. 418; Roos, 2017) ดังที่ได้แสดงให้เห็นไปในเบื้องต้นว่าไวรัสซอมบี้เป็นผลมาจากนิคมอุตสาหกรรมของนายทุน นอกจากนี้ยังสังเกตได้จากฉากที่ซอกอูอ่านข่าวเกี่ยวกับการรั่วไหลของสารเคมีบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเนื้อหาข่าวระบุว่า “ชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันประณาม Biovalley: นักวิชาการกล่าว ‘Biovalley สร้างปัญหาร้ายแรงต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ’” (Lee, 2016, 00:04:35) จะเห็นได้ว่า Train to Busan ถ่ายทอดให้เห็นว่านายทุนคือต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อม อันนำมาซึ่งการระบาดของซอมบี้ โดยผลกระทบของปัญหาทั้งสองอย่างตกมาอยู่ที่สัตว์และผู้คนในประเทศ ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะสัตว์หรือคนต้องเจอกับหายนะ ทั้ง ๆ ที่ต้นเหตุของปัญหาคือคนเพียงหยิบมืออย่างนายทุน ซึ่งตรงกับแนวคิด Capitalocene 
              แต่นอกจากระบบทุนนิยมและนายทุนจะเป็นต้นตอของหายนะทั้งหมดแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ยังทำให้เห็นว่า ระบบทุนนิยมและนายทุนยังเป็นตัวการที่ทำให้สถานการณ์ทั้งหมดแย่ลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย โดยในช่วงต้นของภาพยนตร์ ซอกอูโทรศัพท์คุยกับกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) [**] ของบริษัทที่เขาทำงานอยู่ ซอกอูได้เสนอว่าพวกเขายังไม่ควรที่จะขายกองทุนหลังข่าวรายงานเรื่องสารเคมีที่รั่วไหล โดยถึงแม้ผู้ชมจะไม่ได้ยินเสียงจากทางฝั่งของกรรมการผู้จัดการที่ตอบกลับมา แต่ก็สามารถอนุมานจากคำตอบของซอกอูได้ว่ากรรมการผู้จัดการต้องสั่งให้ซอกอูขายกองทุนที่เกี่ยวข้อง 

              ซอกอู: ท่านกรรมการผู้จัดการครับ หากเราถอนตัวในตอนนี้ตลาดจะพังนะครับ แถมยังระบุสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ด้วย มีความเป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นการรายงานที่ผิด... (ถูกปลายสายพูดแทรก) 
              ซอกอู: ครับ จะทำตามเช่นนั้นครับ (Lee, 2016, 00:03:46-00:03:57) 

    การที่กรรมการผู้จัดการสั่งให้ขายกองทุน อาจอนุมานได้ว่าเขาเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นอันดับแรก และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้อื่นหรือผลกระทบอันคาดไม่ถึงอย่างการระบาดของซอมบี้ ซึ่งหลังซอกอูตอบกลับไปเช่นนั้น เขาก็สั่งให้ผู้ช่วยคิมขายกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้ทั้งหมดทันที โดยการที่ซอกอูและผู้ช่วยคิมขายกองทุนตามคำสั่งของกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้เป็นตัวแทนของนายทุน ได้ทำให้สถานการณ์การระบาดของไวรัสซอมบี้แย่ลง เพราะบริษัทยูซอนไบโอที่เป็นจุดเริ่มต้นของการรั่วไหลของสารเคมีนั้นเป็นศูนย์กลางของโครงการที่บริษัทของซอกอูดูแล ถ้าหากว่าหลังเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลบริษัทของซอกอูไม่ขายกองทุนแล้วยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ บริษัทยูซอนไบโอก็อาจแก้ไขปัญหาการรั่วไหลและอาจทำให้เชื้อไวรัสซอมบี้ไม่ลามเข้าสู่มนุษย์ แต่การที่ซอกอูขายกองทุนทั้งหมดตามคำสั่งของกรรมการผู้จัดการทำให้บริษัทยูซอนไบโอไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ และทำให้ไวรัสซอมบี้แพร่กระจายไปทั่วเกาหลีใต้ในที่สุด จึงสามารถกล่าวได้ว่านอกจากนายทุนจะเป็นต้นเหตุที่นำมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไปสู่หายนะแล้ว นายทุนที่เห็นแก่ตัวยังเป็นตัวการที่ทำให้สถานการณ์ทรุดหนักลงอีกด้วย 
              เกาหลีใต้ในความเป็นจริงก็พบเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่กำลังกัดกร่อนความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศเช่นเดียวกัน สาเหตุหลักเกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่อย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1970 ภายใต้รัฐบาลของผู้นำเผด็จการพัคจ็องฮีที่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก (Smith, n.d.) โดยในขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมได้ในระยะเวลาอันสั้น ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศกลับไม่ได้รับการปกป้องดูแลเท่าที่ควร (Smith, n.d.) และส่งผลให้เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายประการในปัจจุบัน โดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม และมลภาวะทางน้ำที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำ (Smith, n.d.) ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเดียวกับที่ปรากฏในเรื่อง Train to Busan และถูกนำมาผูกโยงเข้ากับการเกิดขึ้นของซอมบี้ 
              สิ่งที่ Train to Busan แสดงให้เห็นคือผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยคนเท่าหยิบมือนี้เป็นต้นเหตุที่กำลังพาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะสัตว์หรือมนุษย์ไปสู่หายนะ นอกจากนายทุนจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วกลับทำให้ทุกอย่างแย่ลง ท้ายที่สุด ที่เกาหลีใต้ต้องประสบปัญหาซอมบี้ระบาดทั่วประเทศในภาพยนตร์ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมในความเป็นจริง ต่างก็เป็นผลมาจากทุนนิยมทั้งสิ้น 


    สภาพสังคม: “นรก” โชซอนอย่างแท้จริง 

              ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้หันมาเรียกประเทศของตนว่าเป็น “นรกโชซอน” (헬조선) อันสื่อว่าการใช้ชีวิตในเกาหลีใต้เปรียบเสมือนการ “ตกนรกทั้งเป็น” (Schoonhoven, 2017, p. 44) โดยสาเหตุที่ใช้คำว่า “โชซอน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของเกาหลีก่อนการตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของคนเกาหลีใต้ในปัจจุบันไม่ต่างอะไรกับในช่วงราชวงศ์โชซอนที่ชีวิตของผู้คนถูกกำหนดโดยลำดับชั้นทางสังคม (Schoonhoven, 2017, p. 6) ทั้งนี้เป็นเพราะเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านจากประเทศที่เสียหายอย่างหนักจากสงครามเกาหลี มาเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วภายในไม่ถึงครึ่งศตวรรษ (Schoonhoven, 2017, p. 12) แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจมาสู่ระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ไม่ได้นำมาซึ่งความเท่าเทียม แต่กลับทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น (Schoonhoven, 2017, p. 23) คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เกิดใน “ชนชั้นช้อนทอง” กล่าวคือ ไม่ได้เกิดในครอบครัวที่มีฐานะดีหรือคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ต้องดิ้นรนอย่างมากในการใช้ชีวิตภายในประเทศนี้ (Schoonhoven, 2017, pp. 28-29) พวกเขาต้องพบเจอกับระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันสูง ค่าครองชีพสูง อัตราการว่างงานสูง ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานแต่สวนทางกับค่าแรงที่ต่ำ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงสวัสดิการจากรัฐอันน้อยนิด (Asian Boss, 2016; Schoonhoven, 2017, pp. 6, 45) สิ่งเหล่านี้จึงทำให้คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้สบถออกมาด้วยความโกรธแค้นที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศทุนนิยมแห่งนี้ว่า “นรกโชซอน” 
              Train to Busan เองก็สอดแทรกความเป็นนรกโชซอนของเกาหลีใต้ไว้ด้วยเช่นกัน โดยในฉากที่รายการข่าวแสดงภาพของสถานการณ์ที่ในขณะนั้นยังเชื่อว่าเป็นจลาจล แถบล่างของจอโทรทัศน์ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับอัตราการว่างงานว่า “คนรุ่นใหม่วัย 20-30 ปี ตกงานเพราะไม่มีประสบการณ์ทำงาน ยอดสูงสุดในรอบ 12 ปี” (Lee, 2016, 00:20:32-00:20:34) รวมไปถึงฉากที่นายทุนอย่างยอนซ็อกพบคนไร้บ้านซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำบนรถไฟ แล้วหันไปบอกซูอันว่า “นี่ เจ้าเด็กน้อย ถ้าเธอไม่ตั้งใจเรียนหนังสือจะลงเอยแบบเขานะ” (Lee, 2016, 00:18:04-00:18:06) ทั้งสองฉากนี้สะท้อนให้เห็นนรกโชซอนในแง่ที่เป็น “สังคมโอกาสเดียว” (One shot society) กล่าวคือ คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้มีเพียงโอกาสเดียวในชีวิต หากพลาดแล้วคือพลาดเลย พวกเขาจึงต้องตั้งใจเรียนหนังสือ สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อ เพื่อให้เรียนจบแล้วได้งานในบริษัทใหญ่ แล้วเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง (Schoonhoven, 2017, pp. 23-24) แต่หากพวกเขาทำพลาดก็อาจลงเอยด้วยการตกงาน หรือในกรณีที่เลวร้ายมากกว่านั้นคือการกลายเป็นคนไร้บ้าน 
              อย่างไรก็ตาม สังคมเกาหลีใต้ภายใต้ระบบทุนนิยมมีความเหลื่อมล้ำสูงจนการศึกษาก็ไม่อาจช่วยเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนที่ไม่ได้เกิดในครอบครัวฐานะดีได้อีกแล้ว แต่กลับนำไปสู่การผลิตซ้ำของชนชั้นที่มีทรัพยากรและทุนทรัพย์เพรียบพร้อม หรือชนชั้นช้อนทอง ทำให้คนกลุ่มนี้เป็น “ผู้ชนะในเกือบทุกด้าน” (Schoonhoven, 2017, p. 28) โดย Train to Busan ก็สะท้อนให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำนี้ในฉากที่ซอกอู ซังฮวา (สามีของซองกย็อง) และยองกุก (นักเรียนชาย) ไปช่วยคนไร้บ้าน เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ที่เป็นกลุ่มคนชายขอบในสังคมจากซอมบี้แล้วมุ่งหน้าไปที่ตู้รถไฟที่ 15 ซึ่งเป็นตู้รถไฟที่ปลอดภัย เปรียบเสมือนการที่กลุ่มคนชายขอบเหล่านี้พยายามเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคงมากยิ่งขึ้น แต่พวกเขาก็ถูกผลักไสโดยผู้คนในตู้ 15 ซึ่งเป็นนายทุนและคนงานคอปกขาว อันเป็นตัวแทนของกลุ่มที่มีฐานะดีหรือเป็นชนชั้นช้อนทอง จึงเป็นการเสียดสีให้เห็นว่าในสังคมเกาหลีใต้ปัจจุบัน ไม่ว่าคนที่ฐานะไม่ดีจะพยายามเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองด้วยการศึกษามากเพียงใด ก็ยังมีชนชั้นช้อนทองที่คอยขัดขวางไม่ให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ปล่อยให้ผู้คนที่ไม่ได้เกิดในชนชั้นช้อนทอง โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ ต้องมีชีวิตที่เปราะบางและล้มเหลวต่อไป 
              แต่นอกจากคนรุ่นใหม่จะเรียกเกาหลีใต้ว่าเป็นนรกโชซอนแล้ว พวกเขายังเรียกตนเองว่าเป็น “รุ่นแห่งการละทิ้ง 3 สิ่ง” (삼포세대) ซึ่งสื่อว่า ภายใต้ระบบทุนนิยมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง พวกเขาต้องละทิ้งบางอย่างเพื่อให้สามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้ (Moon, 2020) โดย 3 สิ่งที่ว่า ได้แก่ ความรัก การแต่งงาน และการมีลูก (Moon, 2020) ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan เองก็แสดงให้เห็นมิติของการละทิ้งด้วยเช่นกัน เช่น การละทิ้งความรักของนักเรียนหนุ่มสาวอย่างยองกุกและจินฮี จะเห็นได้ว่าในตอนต้นเรื่องจินฮีสารภาพรักกับยองกุก แต่ยองกุกไม่รับรักของเธอ แม้ว่าตลอดทั้งภาพยนตร์ผู้ชมก็สังเกตได้ว่ายองกุกเองก็รักจินฮีเช่นเดียวกัน โดยเหตุที่ยองกุกไม่ยอมรับรักก็สามารถอนุมานได้ว่าเขาละทิ้งความรัก เพราะการมีความรักก็ต้องตามมาด้วยการเดท และการเดทต้องใช้เงิน แต่ด้วยค่าครองชีพที่สูงของเกาหลีใต้ เขาจึงเลือกละทิ้งความรักเพื่อนำเงินที่มีใช้ไปกับการใช้ชีวิตแทน ซึ่งก็สอดคล้องกับผลสำรวจของสถาบันเพื่อสุขภาพและสังคมเกาหลี (KIHSA) ว่าคนรุ่นใหม่เกาหลีในช่วงอายุ 20-44 ปี มีผู้ชายที่ยังไม่แต่งงานเพียง 26% และผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานเพียง 32% ที่มีแฟนแล้ว (Jeong, 2019) กล่าวคือ คนเกาหลีในช่วงอายุ 20-44 ปี มีผู้ชาย 74% และผู้หญิง 68% ที่ยังคงเป็นโสด โดยสาเหตุที่คนส่วนใหญ่เลือกเป็นโสดเพราะค่าใช้จ่ายในการเดทที่แพงและไม่มีเวลา (Jeong, 2019) ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่าสังคมเกาหลีใต้เป็นสังคมโอกาสเดียว คนรุ่นใหม่จึงใช้เวลาไปกับการสร้างประวัติและเตรียมความพร้อมสำหรับการหางาน เพื่อให้ตนมีรายได้มากพอในการจุนเจือชีวิต และยอมละทิ้งความรัก รวมไปถึงการแต่งงานและการมีลูกไป 
              นอกจากนี้ กลุ่มคนชายขอบที่มีชีวิตอันเปราะบางมากแล้ว ยังถูกทำให้เปราะบางมากขึ้นในยุคเสรีนิยมใหม่ เนื่องจากเมื่อบทบาทของรัฐลดลง สวัสดิการอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้คนก็ถูกผลักให้เป็นหน้าที่ของเอกชนในการดูแล (K. Phuaphansawat, personal communication, April 9, 2021) ทำให้มีคนบางกลุ่มที่ได้รับสวัสดิการที่น้อย หรือไม่ได้รับสวัสดิการเลย ซึ่งเรื่อง Train to Busan ก็แสดงให้เห็นใน 2 กรณีด้วยกัน ได้แก่ ผู้สูงอายุกับคนไร้บ้าน ในกรณีของผู้สูงอายุจะเห็นได้ว่ามีหญิงสูงอายุสองคนในเรื่องซึ่งเป็นพี่น้องกัน คนพี่แต่งตัวค่อนข้างโทรม ในขณะที่คนน้องแต่งตัวหรูหรา สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อสวัสดิการกลายเป็นความรับผิดชอบของเอกชน ผู้คนต่างก็ได้รับสวัสดิการที่ไม่เท่ากัน อันนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกัน โดยแม้แต่คนที่เป็นพี่น้องกันยังมีสวัสดิการรองรับวัยเกษียณที่ไม่เท่ากันด้วยซ้ำ และในกรณีของคนไร้บ้าน พวกเขาคือกลุ่มคนที่ออกมาเร่รอนบนถนนเพราะไม่สามารถปรับตัวตามระบบทุนนิยมได้ (Austin, 2020, p. 13) โดยนอกจากที่พวกเขาจะไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐหรือเอกชนแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ยังออกกฎหมายห้ามหลับในที่สาธารณะออกมาเพิ่ม (Austin, 2020, p. 13) ทำให้ชีวิตของคนไร้บ้านในยุคเสรีนิยมใหม่ได้ทวีคูณความเปราะบางและไร้ซึ่งความมั่นคง 
              เพราะความเหลื่อมล้ำอันเป็นผลมาจากระบบทุนนิยมที่ทำให้คนฐานะดีได้รับทุกสิ่ง ส่วนคนที่เหลือต้องละทิ้งหลายอย่างในการใช้ชีวิต คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้จึงเรียกประเทศของตนว่าเป็น “นรกโชซอน” โดย Train to Busan ก็ไม่ได้ปล่อยให้นรกโชซอนเป็นเพียงคำเปรียบเปรยที่เสียดสีสภาพสังคมเกาหลี แต่เปลี่ยนให้เกาหลีใต้เป็น “นรกบนดิน” อย่างแท้จริง เห็นได้จากการตัวละครที่ต้องใช้ชีวิตราวกับตกนรกทั้งเป็นได้กลายมาเป็นซอมบี้ ทั้งคนไร้บ้านที่มีชีวิตอันเปราะบาง ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับสวัสดิการอย่างเพียงพอ คนรุ่นใหม่อย่างจินฮีและยองกุกที่ต้องละทิ้งความรัก ผู้คนเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง เป็นชีวิตที่อยู่ก็เหมือนตายในนรกโชซอน ไม่ต่างอะไรกับซอมบี้ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตครึ่งเป็นครึ่งตายในเรื่อง Train to Busan 

    Photo by Patrick on Unsplash

    ชนชั้นแรงงาน: แรงงานที่ถูกกดขี่ขูดรีด และลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติ 

              นอกจากคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนชายขอบในประเทศเกาหลีใต้ที่มีชีวิตอันเปราะบางและสิ้นหวังจะเป็นภาพแทนของซอมบี้ได้แล้ว ในส่วนนี้ บทความชิ้นนี้จะกลับมาศึกษาผ่านมุมมองดั้งเดิมที่ถูกใช้ในการวิเคราะห์ภาพยนตร์ซอมบี้ ซึ่งก็คือการมองซอมบี้เป็นภาพแทนของชนชั้นแรงงาน โดยแท้จริงแล้ว เรื่องราวของสิ่งมีชีวิตครึ่งเป็นครึ่งตายอย่างซอมบี้มีต้นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก สื่อถึงคนตายที่ฟื้นคืนชีพกลับมาหาครอบครัว (McNally, 2012, p. 115) แต่เรื่องราวเกี่ยวกับซอมบี้ก็ได้ถูกพัฒนาเมื่อทาสชาวแอฟริกันถูกพามาที่ประเทศเฮติในยุคล่าอาณานิคมที่มีการค้าทาส (McNally, 2012, p. 115) ทำให้ซอมบี้กลายมาเป็นภาพแทนของสองสิ่งด้วยกัน ประการแรก ซอมบี้เป็นภาพแทนของแรงงานที่ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างไม่รู้จบ แม้ตายไปแล้วก็ยังถูกปลุกขึ้นมาให้รับใช้นายต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนายทาสในยุคล่าอาณานิคม หรือนายทุนในยุคทุนนิยม (McNally, 2012, p. 117; Neocleous, 2016, p. 50) และประการที่สอง ซอมบี้เป็นภาพแทนของแรงงานที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติ เป็นแรงงานจำนวนมากที่ลุกฮือขึ้นมาเป็นกบฏและต่อต้านระบบทุนนิยม (Neocleous, 2016, p. 57) และภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ได้สะท้อนให้เห็นนัยยะของซอมบี้ที่เป็นชนชั้นแรงงานทั้งสองประเภท 
              ในแง่หนึ่ง Train to Busan ฉายให้เห็นภาพของซอมบี้ในฐานะภาพแทนของชนชั้นแรงงานผู้ถูกกดขี่ โดยภาพยนตร์ได้สะท้อนแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ เรื่อง “Dead Labour” ซึ่งกล่าวว่านายทุนเปรียบเสมือนแรงงานที่ตายแล้ว เนื่องจากนายทุนเพียงแค่ครอบครองปัจจัยการผลิตแต่ไม่ต้องลงแรงทำงานเอง (K. Phuaphansawat, personal communication, March 19, 2021) อีกทั้งยังครอบครองผลผลิต มีชีวิตที่สะดวกสบายผ่านการสูบเลือดสูบเนื้อของแรงงานที่มีชีวิต (Neocleous, 2016, p. 55) ซึ่งเห็นได้จากฉากที่ยอนซ็อกผู้เป็นนายทุน สั่งให้ผู้รอดชีวิตในตู้ 15 ที่ล้วนเป็นคนงานคอปกขาวนำเครื่องแต่งกายมาผูกประตู เพื่อกันไม่ให้ซอมบี้รวมไปถึงผู้รอดชีวิตกลุ่มของซอกอูเข้ามาในตู้ 15 ได้ โดยยอนซ็อกไม่ทำอะไรเลยนอกจากนั่งอยู่เฉย ๆ มีหน้าที่สั่งและปล่อยให้คนงานคอปกขาวซึ่งเป็นแรงงานเป็นฝ่ายที่ต้องลงแรงผูกประตูกันเองโดยที่ตัวเองไม่ต้องลำบาก 
              แต่นอกจากแรงงานที่ตายแล้วอย่างนายทุนจะสูบเลือดสูบเนื้อแรงงานที่มีชีวิต นายทุนยังสามารถเปลี่ยนแรงงานที่มีชีวิตให้กลายเป็น “ปีศาจพิกลพิการที่รู้สึกว่ามีชีวิตอยู่ราวกับตายทั้งเป็น” (Neocleous, 2016, p. 56) กล่าวคือ นายทุนมีความสามารถในการกดขี่ขูดรีดจนทำให้แรงงานต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ระทม ซึ่งเปรียบได้กับการที่แรงงานกลายเป็นซอมบี้ โดยหลังจากที่ยอนซ็อกอยู่เฉย ๆ แล้วปล่อยให้คนงานคอปกขาวที่เหลือผูกประตู หญิงสูงอายุที่เสียพี่สาวไปเพราะความเห็นแก่ตัวของยอนซ็อกก็เดินไปเปิดประตูอีกฝั่งแล้วปล่อยให้ซอมบี้เข้ามา เปลี่ยนให้คนงานคอปกขาวทั้งหมดในตู้ 15 กลายเป็นซอมบี้ ยกเว้นยอนซ็อกกับพนักงานรถไฟอีกคนที่รอดชีวิตมาได้ แต่ท้ายที่สุด พนักงานรถไฟคนนั้นก็ถูกยอนซ็อกผลักให้ซอมบี้กัดในขณะที่ตัวเองวิ่งหนีออกมา ฉากนี้สะท้อนลักษณะของนายทุนอย่างยอนซ็อกที่ไม่ลงมือทำอะไรเอง ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายเหนือการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน และทำให้แรงงานต้องกลายเป็นซอมบี้ ทั้งทางตรงที่เขาเป็นคนผลักพนักงานรถไฟเข้าหาซอมบี้เพื่อรักษาชีวิตตนเอง และทางอ้อมที่ความเห็นแก่ตัวของนายทุนอย่างเขาทำให้หญิงสูงอายุเปิดประตูให้ซอมบี้เข้ามากัดแรงงานที่เหลือ 
              หากเบือนหน้าจากจอภาพยนตร์มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง สภาพของชนชั้นแรงงานในเกาหลีใต้ก็ไม่ต่างอะไรกับซอมบี้ พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ค่าครองชีพสูง แม้รายได้ขั้นต่ำในปัจจุบันอยู่ที่ 8,720 วอน (247 บาท) ต่อชั่วโมง (Kim, 2020) แต่ชาวเกาหลีใต้กล่าวว่ายังไม่มากพอสำหรับการใช้ชีวิต (Asian Boss, 2016) และแม้จะมีการออกกฎหมายลดชั่วโมงทำงานที่เคยอยู่ที่ 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถูกกล่าวว่า “ยาวอย่างไร้มนุษยธรรม” เหลือ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่แรงงานชาวเกาหลียังคงทำงานมากกว่าแรงงานในประเทศอย่างสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียถึง 400 ชั่วโมงต่อปี (Haas, 2018) ซึ่งชาวเกาหลีใต้กล่าวว่าพวกเขาต้องทำงานล่วงเวลากว่า 3-4 ชั่วโมง และเลิกงานราว 21.00 น. เป็นปกติ บางครั้งอาจต้องทำงานถึง 00.00 น. ด้วยซ้ำ (Asian Boss, 2018) โดยพวกเขาก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานและถูกระบบทุนนิยมกดขี่ขูดรีดต่อไป ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น 
              ในอีกแง่หนึ่ง ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ก็แสดงให้เห็นซอมบี้ในฐานะภาพแทนของชนชั้นแรงงานที่ลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติ โดยคาร์ล มาร์กซ์เคยกล่าวใน The Communist Manifesto ว่า “ประวัติศาสตร์ของสังคมที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น” (K. Phuaphansawat, personal communication, February 19, 2021) ไม่ว่าจะเป็นนายทาสกับทาส เจ้ากับไพร่ หรือในปัจจุบันภายใต้ระบบทุนนิยมคือนายทุนกับชนชั้นแรงงาน (K. Phuaphansawat, personal communication, February 19, 2021) แต่ภายใต้ระบบทุนนิยมเช่นนี้ แรงงานต้องถูกนายทุนกดขี่ด้วยค่าแรงที่ต่ำ ไม่ได้รับค่าแรงมากพอที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ เนื่องจากแรงงานไม่ได้ทำงานที่สร้างสรรค์อันสะท้อนตัวตนของพวกเขา แต่กลับเป็นงานที่ลบอัตลักษณ์และกลืนกินตัวตนของพวกเขาจนหมดสิ้น (K. Phuaphansawat, personal communication, February 19, 2021) 
              วิธีเดียวที่จะออกจากระบบทุนนิยมได้คือการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ (K. Phuaphansawat, personal communication, February 19, 2021) โดยต้องเป็นการปฏิวัติที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นการรวมตัวกันโดยทั่วไปของแรงงานถึงจะนำไปสู่การลุกฮือเป็นหมู่คณะได้ (McNally, 2012, p. 124) กล่าวคือ เป็นการปฏิวัติ “จากด้านล่าง” (McNally, 2012, p. 125) ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ก็สะท้อนให้เห็นว่าซอมบี้เปรียบเสมือนแรงงานที่ลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติ โดยซอมบี้ในเรื่องต่างก็เคยเป็นคนธรรมดา เป็นแรงงานที่ต่างก็มีอาชีพที่แตกต่างกันออกไป แต่ได้กลายเป็นซอมบี้หลังการถูกกัด จนเมื่อซอมบี้วิ่งไปกัดผู้คนมากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้ก็เพิ่มมากขึ้นตามอย่างรวดเร็ว ซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสซอมบี้ก็เปรียบได้กับการแพร่กระจายของแนวคิดที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ (Neocleous, 2016, p. 63) ซึ่งก็คือ แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ 
              นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นนัยยะของการปฏิวัติ “จากด้านล่าง” โดยภาพยนตร์ไม่ได้สื่อถึงการปฏิวัติจากด้านล่างในแนวตั้งโดยตรง แต่เป็นการปฏิวัติจากด้านล่างในแนวนอนตามลักษณะของขบวนรถไฟ สังเกตได้จากฉากที่ผู้รอดชีวิตหนีซอมบี้ทหารในสถานีแทจอนกลับขึ้นมาบนรถไฟ ผู้รอดชีวิตจำนวนมากอยู่ที่ตู้ 15 ส่วนผู้รอดชีวิตกลุ่มของซอกอูกำลังเดินทางจากตู้ 9 เพื่อไปยังตู้ 15 โดยในระหว่างที่พวกเขาเดินทางผ่านแต่ละตู้รถไฟ ซอมบี้เองก็ค่อย ๆ เคลื่อนตัวตามพวกเขาจากตู้รถไฟ “เลขต่ำ” มาถึงตู้ “เลขสูง” ด้วยเช่นกัน จนท้ายที่สุด ซอมบี้ก็สามารถเข้ามากัดกินผู้คนในตู้ 15 และเปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นซอมบี้หรือแพร่กระจายอุดมการณ์ในการปฏิวัติได้สำเร็จ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการปฏิวัติจากด้านล่างในแบบฉบับขบวนรถไฟ 
              อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ชนชั้นแรงงานผู้ครุ่นแค้นและลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติเป็นศัตรูตัวฉกาจของระบบทุนนิยม (Neocleous, 2016, p. 36) ระบบทุนนิยมเองก็ฉลาดพอที่จะต่อกรกับภัยคุกคามที่อาจมาสั่นคลอนระบบที่เป็นอยู่ได้ โดยระบบทุนนิยมสามารถกล่อมเกลาให้ชนชั้นแรงงานบางส่วนเลือกอยู่ฝั่งเดียวกับตน และมองซอมบี้ ซึ่งเป็นภาพแทนของชนชั้นแรงงานด้วยกันเองว่าเป็นศัตรูที่ต้องถูกฆ่า (Neocleous, 2016, p. 60) เห็นได้จากตัวละครหลักของเรื่องอย่างซอกอูผู้ทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน อาชีพของเขาถูกผู้คนเรียกว่าเป็น “ตัวกินมด” (Lee, 2016, 00:36:00) [***] หรือเป็นอาชีพที่ “สูบเลือดสูบเนื้อคนอื่น” (Lee, 2016, 00:36:04) ซึ่งฟังดูเป็นศัพท์แสงที่มักใช้กับนายทุน หากแต่ซอกอูไม่ใช่นายทุน เขาก็ยังคงเป็นหนึ่งในชนชั้นแรงงาน เป็นคนงานคอปกขาวที่ทำงานในออฟฟิศ ไม่มีเวลาทานอาหารดี ๆ แต่ต้องทานอาหารจานด่วนไปในระหว่างที่ทำงานดังที่เห็นในฉากที่ห้องทำงานของซอกอู แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ทำให้เขาได้รับค่าจ้างมากพอที่จะทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายกว่าคนอื่น ๆ โดยการมีอาชีพที่ให้อำนาจซอกอูได้สวมบทบาทราวกับว่าตนเป็นนายทุนทำให้เขามองไม่เห็นว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นแรงงาน ทำให้เขาเลือกอยู่ฝั่งที่ปกป้องทุนนิยมและทำร้ายซอมบี้ แทนที่จะเลือกอยู่ข้างเดียวกับซอมบี้ซึ่งเป็นชนชั้นแรงงานผู้ถูกทุนนิยมกดขี่และลุกขึ้นมาปฏิวัติ ชนชั้นแรงงานที่ซอกอูเองก็เป็นส่วนหนึ่ง 

    Photo by Max Böhme on Unsplash

    พูซาน: ที่มั่นสุดท้ายของทุนนิยม 

              จุดหมายปลายทางของขบวนรถไฟ KTX101 คือเมืองพูซาน เนื่องจากในภาพยนตร์ มีพูซานเพียงเมืองเดียวจากทั้งประเทศที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดของซอมบี้ได้แล้ว โดยในความเป็นจริง พูซานเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศ เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ และเป็นเมืองจุดหมายปลายทางสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนเมื่อมาเที่ยวเกาหลีใต้ แต่นอกจากพูซานจะเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว พูซานยังเป็นเมืองที่มีนัยยะสำคัญต่อระบบทุนนิยมและประวัติศาสตร์ของประเทศเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน 
              ในช่วงเริ่มต้นของสงครามเกาหลี ค.ศ. 1950 กองกำลังของเกาหลีเหนือสามารถยึดเมืองหลวงของเกาหลีใต้อย่างกรุงโซลได้ภายใน 3 วัน และรุกคืบจากตอนเหนือของประเทศลงมาเรื่อย ๆ จนกองกำลังขององค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ต้องถอยไปตั้งหลักที่ “วงรอบพูซาน” ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากท่าเรือพูซานมาก (Defense POW/MIA Accounting Agency, n.d.) โดยในขณะนั้น วงรอบพูซานเป็นพื้นที่เดียวและพื้นที่สุดท้ายของฝั่งทุนนิยมเกาหลีใต้ที่ยังไม่ถูกฝั่งคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือยึดครอง (Defense POW/MIA Accounting Agency, n.d.) ทหารของฝั่งเกาหลีใต้ต้องสู้รบกับทหารฝั่งเกาหลีเหนือที่พยายามบุกเข้ามาในวงรอบตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 1950 จนท้ายที่สุด องค์การสหประชาชาติส่งกองกำลังมาสมทบที่ท่าเรือพูซานได้ทันเวลา และผลักกองกำลังของฝั่งคอมมิวนิสต์ย้อนกลับขึ้นไปที่เส้นขนานที่ 38 ได้ (Defense POW/MIA Accounting Agency, n.d.) โดยทหารผู้ที่ร่วมรบในยุทธการที่วงรอบพูซานได้กล่าวว่า “หากพวกเราไม่ได้ขีดเส้นที่พูซานไว้ ก็คงไม่มีเกาหลีใต้อย่างทุกวันนี้” (Korean War Legacy Foundation, n.d.) จึงอาจกล่าวได้ว่าพูซานเปรียบเสมือนที่มั่นสุดท้ายของเกาหลีใต้ในการสู้รบกับเกาหลีเหนือ หรือในภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan คือที่มั่นสุดท้ายของทุนนิยมในการสู้รบกับซอมบี้ที่เป็นภาพแทนของแรงงานที่ลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติคอมมิวนิสต์ 
              เมื่อพิจารณาตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan แม้ซอกอูจะสละชีวิตให้ซอมบี้กัด แต่นั่นก็เพื่อรักษาชีวิตของซองกย็องและซูอันให้ไปถึงพูซานได้อย่างปลอดภัย โดยซองกย็องและซูอันเป็นหญิงตั้งครรภ์และเด็ก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญพันธุ์และอนาคต หากพิจารณาร่วมกับประวัติศาสตร์สงครามเกาหลี ณ ยุทธการที่วงรอบพูซานดังที่ได้กล่าวไป จึงอาจตีความตอนจบของ Train to Busan ได้ว่า ในอนาคตระบบทุนนิยมอาจฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกครั้ง และสู้กลับจนทำให้เหล่าซอมบี้ต้องล่าถอย กล่าวคือ การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของเหล่าซอมบี้ที่เป็นแรงงานนั้นไม่สำเร็จ และระบบทุนนิยมจะยังคงดำเนินต่อไป 
              และหากย้อนกลับไปดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดทั้งภาพยนตร์ จะสามารถสังเกตข้อความเดียวกันที่ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ต้องการสื่อต่อผู้ชมอยู่ตลอดได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ระบบทุนนิยมก็จะไม่หายไปไหน ซึ่งสะท้อนแนวคิด “Capitalist Realism” ที่มองว่าทุนนิยมเป็นระบบทางการเมืองและเศรษฐกิจเดียวที่เป็นไปได้ และมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาตัวเลือกอื่นนอกจากระบบทุนนิยม (Fisher, 2009, p. 2) หรือตรงกับที่เฟรดริก เจมสัน กับซลาวอย ชิเชคกล่าวว่า “การนึกถึงจุดจบของโลกง่ายกว่าการนึกถึงจุดจบของระบบทุนนิยม” (Fisher, 2009, p. 2) ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan แสดงให้เห็นในฉากที่ซอกอูได้โทรศัพท์หาร้อยเอกมินซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มาลงทุนกับเขา เพื่อสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองแทจอน 

              ร้อยเอกมิน: ถ้าคุณมาถึงแทจอนแล้ว คุณอาจจะต้องถูกกักตัวก่อนนะครับ เสียใจด้วย 
              ซอกอู: อะไรนะ? ร้อยเอกมิน ตอนนี้ผมอยู่กับลูกสาว คุณช่วยเพียงแค่ผมกับลูกสาวได้ไหม? 
              ร้อยเอกมิน: คือว่า... 
              ซอกอู: เดี๋ยวคราวหน้าผมจะแนะนำกองทุนที่มั่นใจให้ โอเคไหม? ร้อยเอกมิน? (Lee, 2016, 00:37:53-00:38:14) [****]

    จะเห็นได้ว่า ถึงแม้สถานการณ์ซอมบี้ระบาดจะเข้าขั้นวิกฤต แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือระบบทุนนิยม ตัวละครอย่างซอกอูและร้อยเอกมินก็ยังคงนึกถึงเม็ดเงินและผลประโยชน์ และสามารถนำมาต่อรองเพื่อเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ซอมบี้ระบาดได้ แม้ในตอนนั้นพวกเขาแทบจะมองไม่เห็นอนาคตแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง Seoul Station อันเป็นต้นเรื่องของ Train to Busan ที่เมื่อตัวละครฮเยซอนที่เคยเป็นโสเภณีได้หยุดหายใจ ซอกกยูที่เป็นพ่อเล้ากล่าวกับร่างไร้วิญญาณของฮเยซอนที่อีกไม่กี่วินาทีต่อมาจะฟื้นขึ้นมาเป็นซอมบี้ว่า “ฮเยซอน อย่าเพิ่งตาย เธอต้องคืนเงินฉันก่อนสิ” (Lee, Suh & Yeon, 2016, 01:28:39-01:28:46) แสดงให้เห็นว่าแม้โลกจะล่มสลาย หรือซอมบี้จะวิ่งเกลื่อนเมือง แต่ตรรกะของทุนและระบบทุนนิยมจะยังคงอยู่ต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นในภาพยนตร์ซอมบี้สัญชาติเกาหลีใต้ทั้งสองเรื่อง 
              Train to Busan เป็นภาพยนตร์ดิสโทเปียซอมบี้ที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมในแง่มุมต่าง ๆ อีกทั้งยังเสนอให้เห็นซอมบี้ซึ่งเป็นภาพแทนของชนชั้นแรงงานที่ถูกกดขี่ขูดรีดจนลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติและเป็นปรปักษ์ต่อระบบทุนนิยม แต่ถึงกระนั้น ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ก็ไม่ได้ฉายภาพให้เห็นอนาคตอันสดใสสำหรับเหล่าซอมบี้ แต่กลับตอกย้ำว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ระบบทุนนิยมจะยังดำเนินต่อไป จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan จะมีมิติวิพากษ์ทุนนิยมและทำให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อโครงสร้างระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ แต่ Train to Busan ก็ยังคงไม่ใช่ภาพยนตร์ “ดิสโทเปียเชิงวิพากษ์” ซึ่งให้คำอธิบายว่าสภาวะดิสโทเปียมีที่มาอย่างไรและสามารถหาทางออกจากสภาวะนี้ได้อย่างไร (สรวิศ ชัยนาม, 2561, p. 23) เพราะแม้ Train to Busan จะแสดงให้เห็นว่าต้นเหตุของสภาวะซอมบี้ระบาดนั้นเกิดมาจากนายทุน รวมไปถึงทำให้ผู้ชมได้ขบคิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบทุนนิยม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นภาพของเหล่าซอมบี้ที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบบที่เป็นอยู่ แต่ท้ายที่สุด Train to Busan ก็ไม่ได้เสนอหนทางที่มนุษยชาติจะสามารถหลุดพ้นจากระบบทุนนิยมนี้ได้ แต่กลับตอกย้ำว่าไม่ว่าเราจะพยายามลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติอย่างไร เราต่างก็หนีระบบทุนนิยมไม่พ้น เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้นอกจากระบบทุนนิยมแล้ว 


    สรุป 

              กล่าวโดยสรุป บทความชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ซึ่งเป็นภาพยนตร์ซอมบี้สัญชาติเกาหลีที่ทำให้เกาหลีใต้กลายมาเป็น “ประเทศแห่งซอมบี้” มีนัยยะการวิพากษ์ผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อประเทศเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะในแง่สิ่งแวดล้อม สภาพสังคม หรือชนชั้นแรงงาน โดยภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ทำให้เห็นว่าระบบทุนนิยมเป็นทั้งต้นตอและตัวการที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแย่ลง โดยแม้ว่าต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็ก ๆ อย่างนายทุน แต่ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมกลับส่งผลต่อทั้งสัตว์ มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำและการต้องดิ้นรนใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวังราวกับตกอยู่ในนรกทั้งเป็นของคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนชายขอบในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่ต่างอะไรกับวลีของคนรุ่นใหม่ที่กล่าวว่าเกาหลีใต้คือ “นรกโชซอน” อีกทั้งยังมีนัยยะวิพากษ์ระบบทุนนิยมในแง่ของการกดขี่ขูดรีดแรงงานเช่นเดียวกับภาพยนตร์ซอมบี้เรื่องอื่น ๆ รวมไปถึงการที่ชนชั้นแรงงานลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติและต่อต้านระบบทุนนิยม แต่ถึงกระนั้น ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan ก็ให้คำตอบในตอนจบว่า ระบบทุนนิยมก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเกิดการปฏิวัติของเหล่าแรงงาน การระบาดของไวรัสซอมบี้ หรือไม่ว่าโลกจะล่มสลายก็ตามที 


    Reference List

    - Asian Boss. (2016, February 18). Do Koreans Think Korea is Living Hell? [Video file]. Retrieved April 25, 2021, from https://www.youtube.com/watch?v=7s4CpxN4Otg.
    - Asian Boss. (2018, August 21). Why Korea Is Cutting Down on 68-Hour Working Week [Video file]. Retrieved April 27, 2021, from https://www.youtube.com/watch?v=00tpaOZhSk8.
    - Austin, J. R. (2020). ‘Do you all want to die? We must throw them out!’: Class Warfare, Capitalism, and Necropolitics in Seoul Station and Train to Busan. Irish Journal of Gothic and Horror Studies, 18, 7-29. 
    - Balmont, J. (2020, June 11). Zombie Nation: South Korea and the New Wave of Zombie Movies. Retrieved April 14, 2021, from https://theface.com/culture/zombies-film-horror-south-korea-alive.
    - Bluesherbet_. (2020, October 11). คนเกาหลีกลัวผีอะไร & ทำไมยุคนี้ ‘ซอมบี้’ ยืนหนึ่ง. Retrieved April 14, 2021, from https://thestandard.co/why-zombie-is-best-haunted-movie-for-south-korea/.
    - Defense POW/MIA Accounting Agency. (n.d.). Pusan Perimeter. Retrieved April 27, 2021, from https://dpaa-mil.sites.crmforce.mil/dpaaFamWebInPusan
    - Drezner, D. W. (2015). Theories of International Politics and Zombies (rev. ed.). Princeton, NJ: Princeton University Press. 
    - Fisher, M. (2009). Capitalist Realism: Is There No Alternative?. Winchester, England: Zero Books. 
    - Haas, B. (2018, March 1). South Korea Cuts ‘Inhumanely Long’ 68-Hour Working Week. Retrieved April 26, 2021, from https://www.theguardian.com/world/2018/mar/01/south-korea-cuts-inhumanely-long-68-hour-working-week
    - Jeong, S. (2019, May 12). For Many Young South Koreans, Dating is Too Expensive, or Too Dangerous. Retrieved April 25, 2021, from https://edition.cnn.com/2019/05/11/asia/south-korea-dating-intl/index.html
    - Korean War Legacy Foundation. (n.d.). Holding the Pusan Perimeter. Retrieved April 27, 2021, from https://koreanwarlegacy.org/chapters/holding-the-pusan-perimeter/
    - Kim, H. (2020, July 14). Korea’s 2021 Minimum Wage Set at $7.23, up 1.5% in Weakest Rise on Record. Retrieved April 26, 2021, from https://pulsenews.co.kr/view.php?year=2020&no=719944
    - Lee, D. (Producer), & Yeon, S. (Director). (2016). Train to Busan. South Korea: Next Entertainment World. 
    - Lee, D., Suh, Y., & Yeon, S. (Producers), & Yeon, S. (Director). (2016). Seoul Station. South Korea: Dadashow. 
    - Malm, A. (2016). Fossil Capital: The Rise of Steam Power and the Roots of Global Warming. London, England: Verso. 
    - McNally, D. (2012). Land of the Living Dead: Capitalism and the Catastrophes of Everyday Life. S., Lilley (Ed.). Catastrophism: The Apocalyptic Politics of Collapse and Rebirth (pp. 108-127). Oakland, CA: PM Press. 
    - Moon, G. (2020, January 20). The Young Koreans Pushing Back on a Culture of Endurance. Retrieved April 25, 2021, from https://www.bbc.com/worklife/article/20200108-the-young-koreans-pushing-back-on-a-culture-of-endurance
    - Neocleous, M. (2016). The Universal Adversary: Security, Capital and ‘The Enemies of All Mankind’. New York, NY: Routledge. 
    - Roos, J. (2017, December 27). Living Through the Catastrophe. Retrieved April 19, 2021, from https://roarmag.org/magazine/living-through-the-catastrophe/
    - Schoonhoven, J. C. (2017). Hell Joseon: Tales from a South Korean Youth Trapped Between Past and Present. (Master’s thesis). Asian Studies, Centre for East and South-East Asian Studies, Lund University. 
    - Smith, B. (n.d.). South Korea: Environmental Issues, Policies and Clean Technology. Retrieved April 24, 2021, from https://www.azocleantech.com/article.aspx?ArticleID=552
    - สรวิศ ชัยนาม. (2561). ดิสโทเปียไม่สิ้นหวัง. (กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์, แปล). กรุงเทพฯ: ศยาม. 





    [*] ดู 
    - Kim, J. (2019). Biocalyptic Imaginations in Japanese and Korean Films: Undead Nation-States in I Am a Hero and Train to Busan. Inter-Asia Cultural Studies, 20(3), 437-451.
    - Austin, J. R. (2020). ‘Do you all want to die? We must throw them out!’: Class Warfare, Capitalism, and Necropolitics in Seoul Station and Train to Busan. Irish Journal of Gothic and Horror Studies, 18, 7-29.
    - Lee, S. (2019). The New Zombie Apocalypse and Social Crisis in South Korean Cinema. Coolabah, 27, 150-166.

    [**] ตอนคุยโทรศัพท์ ซอกอูเรียกบุคคลปลายสายว่า "상무님" ซึ่งเป็นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท หรือเทียบได้เท่ากับ Managing Director 

    [***] ตอนพูดถึงอาชีพของซอกอูที่เป็นผู้จัดการกองทุน ซับไตเติลของทาง Netflix แปลว่า "ผีดูดเลือด" แต่ตัวละครในเรื่องเรียกว่า "개미핥기" ซึ่งแปลว่า "ตัวกินมด" เช่นเดียวกับตอนที่ซอกอูโทรศัพท์หาร้อยเอกมินที่ซอกอูบันทึกเบอร์โทรศัพท์ไว้ในรายชื่อ "개미들" ซึ่งแปลว่า "พวกมด" (ทาง Netflix แปลว่า "ผู้ค้ารายย่อย")

    [****] ซับไตเติลใน Netflix แปลไว้ว่า "ผมจะยกลูกค้าให้คุณกลุ่มหนึ่งเลย ว่าไง มิน" แต่ในภาพยนตร์ ซอกอูกล่าวว่า "내가 다음에 확실한 건 하나 추천할게? 응? 민 대위?" โดยหากแปลแบบตรงตัวสามารถแปลได้ว่า "เดี๋ยวคราวหน้าฉันจะแนะนำอันที่มั่นใจให้ โอเคไหม? ร้อยเอกมิน?" ซึ่งร้อยเอกมินเป็นคนที่มาลงทุนกองทุนกับซอกอูผู้เป็นผู้จัดการกองทุน จึงสามารถอนุมานได้ว่าสิ่งที่ซอกอูจะแนะนำให้ร้อยเอกมินคือกองทุนที่เขามั่นใจ (ว่าจะให้ผลตอบแทนสูง) 


    โดย: จีรัชญ์ณา หงษาครประเสริฐ
    นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in