trigger warning/ abortion (แท้ง การทำแท้ง) , rape (ข่มขืน), abduction (การลักพาตัว), pedophilia (การใคร่เด็ก)
ครึ่งทางสุดท้ายสู่เส้นชัยของการทำแท้งถูกกฎหมายในอาร์เจนตินาเกิดขึ้นในรัฐสภาวันที่ 29 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ใครที่สนใจอยากจะรู้เรื่องราวภาพรวม เรายกมาเล่าให้ฟังแบบสั้นๆ ค่ะ
บทความนี้เราจะแบ่งเป็น 4 พาร์ท
1. ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำแท้งในอาร์เจนตินา
2.ภาพรวมการเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านการทำแท้งถูกกฎหมาย
3. ความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ที่มีผลในการผลักดันกฎหมายในปี 2018 และปี 2020
4. ทิ้งท้ายในมุมกว้างกว่าอาร์เจนติน่าหน่อย ไปดูกันว่าอะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้การผลักดันกฎหมายทำแท้งสำเร็จได้ในบางประเทศของภูมิภาคลาตินอเมริกา ภูมิภาคที่ถือว่ามีปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงมากอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนั้นเราจะทิ้งแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายทำแท้งในไทยไว้ให้เพื่อนๆ ที่สนใจด้วยค่ะ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำแท้งในอาร์เจนตินา
การทำแท้งในอาร์เจนตินา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีเป็นต้นไป สูงสุด 15 ปี ผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำแท้งทั้งหมด อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรที่จ่ายยา จะได้รับโทษเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การทำแท้งจะสามารถทำอย่างถูกกฎหมายได้ในสองกรณีเท่านั้น ได้แก่ การทำแท้งเพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของมารดาโดยเล็งเห็นแล้วว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือใช้วิธีอื่นเพื่อรักษาชีวิตมารดาได้ และการทำแท้งจากการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการข่มขืน*
*การตั้งครรภ์ในหญิงที่มีความพิการทางสติปัญญานับรวมด้วยเพราะถือว่าไม่สามารถให้ความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์
แม้จะมีข้อกฎหมายกำหนดอยู่ แต่ในความเป็นจริงการเข้าถึงการทำแท้งถูกกฎหมายแบบที่ได้รับการดูแลจากแพทย์ก็ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังสวนทางกับค่านิยมในสังคม เคสที่ดังในอาร์เจนติน่า เช่น เคสของลูเซีย (นามสมมติ) เด็กหญิงอายุ 11 ปีที่ตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน ตามกฎหมายแล้วสามารถทำแท้งได้ในสถานพยาบาลโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในจังหวัดกลับขัดขวางเธออยู่หลายสัปดาห์ ทนายให้การว่ามีการจงใจหลอกให้ยาที่เร่งการเจริญเติบโตของฟีตัสให้กับลูเซียโดยอ้างว่าเป็นวิตามิน และลงท้ายที่การบังคับให้เธอผ่าคลอดแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่าไม่น่าจะรอดก็ตาม คดีดังกล่าวสร้างเสียงถกเถียงอย่างดุเดือดเรื่องสิทธิในการสืบพันธุ์ในอาร์เจนตินา เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากกรณีของลูเซียก็มีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้น คือเด็กหญิงอายุ 12 ปีถูกบังคับให้ผ่าคลอด ทารกที่คลอดออกมาในเคสนี้มีชีวิตรอดเพียง 4 วันเท่านั้น
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องยากในอาร์เจนติน่าคือแพทย์บางกลุ่มเองก็ต่อต้านการทำแท้งและปฎิเสธจะทำแท้งให้แม้ว่าการทำแท้งนั้นจะสามารถทำได้ตามกฎหมายตรงตามเงื่อนไขสองข้อข้างบนก็ตาม แพทย์บางกลุ่มยอมทำแท้งให้แต่ปฎิบัติกับคนไข้ด้วยความไม่เป็นมิตร อาทิ
ไม่ให้ยาชาในปริมาณที่เพียงพอ หรือกระทั่งเคยมีกรณีมีการประท้วงหน้าโรงพยาบาลขณะที่มีการทำแท้งแบบถูกกฎหมายอยู่ด้วย กรณีดังกล่าวพบบ่อยในโรงพยาบาลรัฐที่ยังมีความเป็นคาธอลิกสูงอยู่ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดภาคเหนือของประเทศ ดังนั้นหลายคนจึงหันไปพึ่งยาทำแท้งผิดกฎหมายซึ่งมักเป็นอันตรายแทน
อาร์เจนตินามีเคสทำแท้งปีละประมาณ 500,000 เคส คิดเป็น 40% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด กฎหมายต่อต้านการทำแท้งส่งผลให้การทำแท้งเถื่อนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของมารดาในประเทศ
เขียว VS ฟ้า
การต่อต้านทั้งการคุมกำเนิดและการทำแท้งนับว่ามีความเข้มข้นในภูมิภาคลาตินอเมริกามานานพอสมควรเนื่องด้วยขัดกับความเชื่อทางศาสนา อาร์เจนตินาในอดีตก็มีความเข้มข้นเรื่องการคุมกำเนิดมากกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วยซ้ำ ในช่วงปีที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันมีการสนับสนุนให้เข้าถึงการคุมกำเนิดแล้ว อาร์เจนตินายังไม่มีนโยบายสนับสนุนใดๆ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายและการสนับสนุนเรื่องการเข้าถึงการคุมกำเนิดก็มีการปรับปรุงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับกฎหมายการทำแท้งที่มีการปรับการแก้มาแล้วหลายครั้งกว่าจะออกมาเป็นข้อยกเว้นสองกรณีข้างบนได้ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์จริงสวนทางกับข้อกฎหมาย และหลายคนก็เล็งเห็นว่าสิทธิในร่างกายและการเข้าถึงสุขอนามัยที่ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ การผลักดันให้การทำแท้งถูกกฎหมายจึงมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ด้วยประวัติศาสตร์ที่มีความเหนียวแน่นเรื่องค่านิยมและความเชื่อก็ทำให้มีการขัดแย้ง จึงมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านพากันเคลื่อนไหวลงถนน
สีเขียวตัวแทนของทางเลือก
ฝ่ายที่สนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมายหรือฝ่าย Pro-Choice สนับสนุนการมีทางเลือก คือให้ฝ่ายที่ตั้งครรภ์ได้เลือกว่าต้องการจะเป็นแม่หรือไม่หรืออีกนัยคือต้องการทำแท้งหรือไม่ ให้การทำแท้งเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สามารถเลือกได้ การเคลื่อนไหวของฝั่งนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อเรื่องสิทธิในร่างกาย และมีแรงกระตุ้นให้เคลื่อนไหวหลักๆ มาจากจำนวนการเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน และกรณีเด็กหญิงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรที่ส่วนใหญ่เกิดจากการข่มขืน เหมือนกรณีที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น
ฝ่ายนี้ใช้สัญลักษณ์เป็นผ้าพันคอสีเขียว ซึ่งจริงๆ สัญลักษณ์ผ้าสีเขียวนี้มีการใช้กันทั่วลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมาตั้งแต่ช่วงปี 2005 เพื่อแสดงการสนับสนุนในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงสุขอนามัยการเจริญพันธ์ของผู้หญิง คาดว่ามีแรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า the Grandmothers of the Plaza de Mayo / The mothers of the Plaza de Mayo (Las Abuelas de la Plaza de Mayo/Las Madres de la Plaza de Mayo) ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของเหล่าคุณแม่และยายที่ออกมาตามหาลูกที่ถูกลักพาตัวและฆ่าในช่วงที่อาร์เจนติน่ายังเป็นผเด็จการอยู่* โดยมีการรวมตัวที่จัตุรัสกลางเมือง และใส่ผ้าผูกผมสีขาวเป็นสัญลักษณ์ที่ดึงความสนใจให้กับการเคลื่อนไหว ส่วนสีเขียวนั้นเป็นสีที่มีความหมายเกี่ยวกับสุขภาพ ดังนั้นจึงรวมกันออกมาเป็นผ้าสีเขียว
*ช่วงที่อาร์เจนติน่าเป็นเผด็จการมีอัตราคนหายสูงมาก เหตุผลเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองนี่เอง แม้จะใช้ความรุนแรงแต่ทหารจะไม่ฆ่าคนที่กำลังตั้งครรภ์ และไม่ฆ่าเด็กอายุน้อยๆ เนื่องจากขัดกับความเชื่อทางศาสนา เขาจะรอให้คนที่ตั้งครรภ์คลอด เด็กที่คลอดจะให้พวกทหารด้วยกันเองเลี้ยง ดังนั้นเด็กเหล่านี้จะโตมาโดยไม่รู้ว่าพ่อแม่ที่แท้จริงคือใคร เกิดการพลัดพรากแบบข้ามรุ่น ส่งผลให้แม่ออกมาตามหาลูก และยายออกมาตามหาหลาน ปัจจุบันก็ยังมีการตามหากันอยู่
ภาพการประท้วง The mothers of the Plaza de Mayo ที่มา: Archivo Hasenberg-Quaretti
ภาพเพิ่มเติม
เรียกการเคลื่อนไหวโดยใช้สัญลักษณ์ผ้าสีเขียวนี้ว่า กรีนเวฟ (ภาษาอังกฤษ: Green Wave ภาษาสเปน: La Marea Verde) หรือถ้าในภูมิภาคลาตินอเมริกาจะนิยมเรียกว่า ปันญเวลาโซ (Pañuelazo) หรือ ปันญเวลาโซ เบรเด (Pañuelazo verde) แปลว่า ผ้าพันคอ/ผ้าพันคอสีเขียว นั่นเอง นอกจากชูผ้าสีเขียว และใส่ผ้าพันคอสีเขียวเวลาไปประท้วงแล้ว ในชีวิตประจำวันก็สามารถแสดงออกถึงการสนับสนุนได้โดยการผูกผ้าสีเขียวไว้กับกระเป๋า หรือผูกไว้ที่ข้อมือ ตามกำแพงต่างๆ ก็มีการพ่นสีเขียวอีกด้วย
ปัจจุบัน ข้อเรียกร้องหลักๆ ที่ดีเบตกันอยู่ คือให้การทำแท้งถูกกฎหมาย ปลอดภัย และไม่เสียค่าใช้จ่าย (Legal- Seguro- Gratuito/ Legal-Safe-Free)
โดยร่างกฎหมายฉบับ 2020 จะให้ผู้ที่ตั้งครรภ์อายุตั้งแต่ 13 ปี ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 14 สัปดาห์เลือกที่จะทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายและไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกกรณีทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในกรณีของการตั้งครรภ์จากการข่มขืนหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือจิตใจของผู้ตั้งครรภ์จะให้ระยะครรภ์ได้สูงสุดเก้าเดือน โดยผู้ที่ตั้งครรภ์เซ็นเอกสารให้การยินยอมก่อน ซึ่งฉบับนี้มีรายละเอียดที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงยิ่งกว่าปีไหนๆ
ผู้ประท้วงชี้ถึงความสำคัญในการเข้าถึงการศึกษา ยาคุมกำเนิด และการทำแท้ง โดยกล่าววา เพศศึกษาจะช่วยในเรื่องการตัดสินใจ การคุมกำเนิดจะช่วยป้องกันการทำแท้ง และการทำแท้งถูกกฎหมายจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้
แฮชแทกที่ใช้ปัจจุบัน/วลีที่มักใช้บนป้ายประท้วง
#QueSeaLey (Let it be Law)
#AbortoLegalYa (Legal Abortion Now)
สองแฮชแทกด้านบนสนับสนุนให้ถูกกฎหมายได้แล้ว
#NiñasNoMadres (Children, not mother)
แคมเปญ Niñas, No Madres สื่อความประมาณว่าเด็กๆ ไม่ใช่แม่ สืบเนื่องมาจากเคสเด็กถูกข่มขืนแล้วถูกขัดขวางไม่ให้ทำแท้ง คล้ายกับกรณีที่เรายกไปในพาร์ทแรกสุด ซึ่งเคสแบบนี้มีเยอะมากๆ จนต้องมีการออกมาประท้วงว่าเด็กๆ ไม่ได้พร้อมที่จะเป็นแม่คน แคมเปญนี้มีในหลายๆ ประเทศเลยค่ะ
https://www.ninasnomadres.org/
ถ้าโป๊ปเป็นผู้หญิง การทำแท้งก็คงจะถูกกฎหมาย
February 19, 2018. (Wikimedia Commons/Soyyosoycocomiel)
ป้ายประท้วงอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น เอาไม้กางเขนออกไปจากท้องฉัน เอาปิตาธิปไตยออกไปจากมดลูกฉัน ร่างกายฉันเป็นของฉัน ฉันจะเป็นคนตัดสินใจ มัน(กระบวนการกดขี่)ไม่ล้มหรอกแต่เรานี่แหละจะเป็นคนโยนออกไป ถ้าโบสถ์คาธอลิกต่อต้านเรื่องนักบุญใคร่เด็กจริงจังเท่าต่อต้านการทำแท้งก็คงดี (รูปภาพติดลิขสิทธิ์)
สีฟ้าตัวแทนของชีวิต
ภาพเพิ่มเติม
ฝั่งที่ต่อต้านการทำให้การทำแท้งถูกกฎหมาย อาจจะเรียกว่าเป็นฝ่าย anti-abortion ก็ได้ หรืออีกคำที่ทั้งโลกใช้ักันทั่วไปและให้อารมณ์เชิงบวกกว่ามากคือเรียกว่าเป็นฝั่ง Pro-life แปลได้ทำนองว่า สนับสนุนการมีชีวิต ใช้คู่กันไปกับ Pro-Choice นั่นเอง
สัญลักษณ์ที่ใช้เป็นสีฟ้า หรือบางครั้งจะใช้ธงวาติกันสีเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโป๊ปฟรานซิส เรียกการเคลื่อนไหวนี้ว่า บลูเวฟ (ภาษาอังกฤษ: Blue wave) ก็ได้ หรือนิยมใช้ Movilización celeste (Celestial mobilization) บางครั้งเรียกแทนกลุ่มตัวเองว่า La mayoria celeste คือ กลุ่มสีฟ้าซึ่งเป็นเสียงข้างมาก นั่นเองค่ะ
เรายังหาไม่เจอว่าทำไมถึงเป็นสีฟ้าแต่ถ้าให้เดาเอาเองคาดว่าเป็นเพราะคำศัพท์คำว่า celeste สามารถแปลว่าสีฟ้าอ่อนก็ได้ หรือแปลว่าท้องฟ้า หรือหมายถึงสวรรค์ก็ได้ค่ะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาก็อาจจะเป็นสาเหตุนี้ได้
ส่วนใหญ่ฝั่งนี้ก็จะมีความอนุรักษ์นิยมมากหน่อย และหนุนโดยศาสนจักร โป๊ปมักจะออกตัวชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง หรือออกตัวสนับสนุนฝ่ายที่เป็น Pro-life
ทวิตสนับสนุนการเดินขบวนต่อต้านการทำแท้งในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นปี 2014
จดหมายของโป๊ปฟรานซิส
แฮชแทกและวลีที่ใช้ประท้วง
#salvemoslas2vidas (wesave2lives) เชื่อว่าเป็นการรักษาทั้งชีวิตเด็กและชีวิตแม่
#abortoesgenocidio (abortion is genocide) เชื่อว่าการทำแท้งเปรียบเสมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธ์
#SiALaVida (Sey yes to life) ตอบตกลงแก่การมีชีวิต
#Abortaresmatar (Abort is killing) การทำแท้งคือการฆ่า
นิยมใช้ทั้งภาพวาดและรูปปั้นเด็กทารกเดินขบวนด้วย
ป้ายประท้วงอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น I am Argentina, let me born ถ้ามีการทำแท้งก็ไม่มีวันคริสต์มาสเพราะพระเจ้าจะไม่ได้เกิด
ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน
การเมืองมีผลเป็นอย่างมากต่อทุกความพยายามเปลี่ยนแปลงในสังคม
ตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องการทำแท้งมีการพยายามเสนอร่างกฎหมายมาแล้วหลายฉบับ ร่างกฎหมายฉบับที่เข้าใกล้ความจริงเรื่องการทำให้การทำแท้งถูกกฎหมายมากที่สุดคือฉบับที่ยื่นในปี 2018*
เมาริซิโอ มาคริ (Mauricio Macri)
ย้อนกลับไปในปี 2018 แม้ว่า เมาริซิโอ มาคริ (Mauricio Macri) ประธานาธิบดีในขณะนั้นเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม และไม่ได้หนุนข้อกฎหมายนี้ แต่ก็เปิดให้มีการดีเบตกันในสภาพร้อมทั้งให้คำสัญญาว่าจะไม่วีโต้กฎหมายถ้าหากผ่าน การดีเบตในสภากินเวลาข้ามวันพร้อมทั้งกลุ่มผู้ประท้วงทั้งสนับสนุนและต่อต้านที่ปักหลักอยู่นอกสภา ผลสรุปคือร่างกฎหมายโหวตชนะในสภาผู้แทนราษฎร แต่น่าเสียดายที่เสียงโหวตในรัฐสภาตกไปเพียงเสี้ยว คือ 35 ต่อ 33 ส่งผลให้การต่อสู้ของกลุ่มนักกิจกรรมโปรชอยส์ต้องกลับไปตั้งหลักใหม่อีกครั้ง
*ถ้าหากนับรวมปี 2020 ด้วยแล้ว อาร์เจนยื่นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งไปแล้วทั้งหมด 9 ฉบับ ในระหว่างนั้นก็มีประธานาธิบดีที่เห็นด้วยอยู่บ้างแต่การผลักดันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เยอะ และในช่วงแรกๆ จะโฟกัสไปที่การพยายาม de-criminalize คือทำให้การทำแท้งไม่ถือเป็นความผิด และการปฎิรูปตัวกฎหมายให้โทษมากกว่า การพยายามปฎิรูปในช่วงนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อยกเว้นเรื่องการทำแท้งในกรณีการตั้งครรภ์จากการข่มขืนด้วย
อัลเบโตร้ เฟร์นันเดส (Alberto Fernández)
ภาพภ่ายโดย Nicolás Aboaf ภาพจาก Casa Rosada
ความหวังในปี 2020 ที่ดูจะมีมากกว่าปี 2018 นั้นเป็นเพราะ อัลเบโตร้ เฟร์นันเดส (Alberto Fernández) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็นประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย เข้ามาด้วยแคมเปญผลักดันสิทธิสตรี และหนุนกฎหมายนี้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังเป็นคนเสนอยื่นกฎหมายเอง
อย่างไรก็ตาม ผลก็ยังดูคาดเดาไม่ได้ ด้วยปัจจัยหลายๆ ข้อ อาทิ ตัวกฎหมายที่รายละเอียดก้าวหน้ากว่าสองปีก่อนและดูจะสร้างข้อถกเถียงมากกว่าด้วย ประวัติศาสตร์ที่โดนโหวตตกมาหลายรอบ
บรรยากาศตอนโหวตชนะในสภาล่าง/สภาผู้แทนราษฎร ของทางฝั่งสนับสนุน
สถานการณ์ปัจจุบันคือสภาผู้แทนราษฎรโหวตชนะไปในวันที่ 11 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมาด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 131 เสียง ไม่สนับสนุน 117 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ยั้นตอนต่อไปจะต้องนำร่างกฎหมายเข้ารัฐสภา ท่าทีของเสียงในรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 72 ที่นั่ง มีตัวแทนเห็นด้วย 33 เสียง ไม่เห็นด้วย 35 เสียง ทีเหลือยังไม่ได้ตัดสินใจ ในขณะที่โพลสำรวจจัดทำโดยหนังสือพิมพ์ La Nación หนังสือพิมพ์ระดับ Top3 ของอาร์เจนติน่าเผยว่าผลเอนเอียงไปทางเห็นด้วยเล็กน้อย โดย 36 เสียงเห็นด้วย 35 เสียงไม่เห็นด้วย และยังไม่ทราบอีก 1 เสียง จะเห็นว่าสถานการณ์และตัวเลขมีความคล้ายกับปี 2018 มากๆ
จะมีการโหวตในวันที่ 29 ธันวาคมที่จะถึงนี่ ทางฝั่งสนับสนุนใช้แฮชแทก #EsAhoraSenado (It's now senate) ดูแล้วทั้งสองฝั่งมีแนวโน้มออกมาลงถนนหน้าสภาค่ะ
กุญแจของความสำเร็จ
ในปัจจุบันภูมิภาคลาตินอเมริกา มีเพียงสามประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งบุตรได้ถูกกฎหมายในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการตั้งครรภ์ ได้แก่ คิวบา อุรุกวัย และกูยานา* ส่วนเมกซิโกถูกกฎหมายเพียงแค่บางรัฐเท่านั้น หลายประเทศให้ทำแท้งได้ในกรณีที่หากไม่ทำจะเป็นอันตรายต่อผู้ตั้งครรภ์และกรณีการตั้งครรภ์จากการข่มขืน บางประเทศถือเป็นความผิดมีโทษทางกฎหมายทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้น**
* ปัวโตริโก้ถูกกฎหมายเช่นกัน แต่เนื่องจากสถานะไม่นับประเทศ และกฎหมายได้รับอิทธิพลจากฝั่งสหรัฐอเมริกามากกว่า ส่วนใหญ่จึงมักจะนับว่าถูกกฎหมายเพียงแค่สามประเทศเท่านั้น
**มีโทษทุกกรณีได้แก่ เอล ซาลบาร์ดอร์, นิการากัว, ฮอนดูรัส ไฮติ
ถ้าหากอาร์เจนติน่าผ่านร่างกฎหมายสำเร็จ นอกจากจะได้เป็นอีกหนึ่งประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่ทำแท้งถูกกฎหมายได้แล้ว ยังเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคที่ทำได้ด้วย
ในที่นี้จะยกบางปัจจัยที่ช่วยส่งผลให้การเรียกร้องการทำแท้งถูกกฎหมายสำเร็จในบางรัฐของเม็กซิโก ได้แก่
1. ชูเรื่องปัญหาสาธารณสุข (public health) คือเน้นว่าการทำแท้งปลอดภัยเป็นเรื่องของสุขภาพ ควบคู่ไปกับเรื่องของความยุติธรรมในสังคม (social justice) และประชาธิปไตย (Democracy)
2.วิธีการในการสื่อสารต่อสาธารณะหรือวาทกรรมสาธารณะ (Public Discourse) เน้นให้เป็นไปในทางที่คนมีแนวโน้มจะสนับสนุนมากที่สุด เช่น
- การสนับสนุนให้การทำแท้งถูกกฎหมายไม่เท่ากับการสนับสนุนการทำแท้ง แต่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือก
- การสนับสนุนให้การทำแท้งถูกกฎหมายเป็นไปเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน
- ทุกฝ่ายต่างต้องการหยุด 'ความจำเป็นที่จะต้องทำแท้ง' และต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ การสนับสนุนเพศศึกษาและการคุมกำเนิด
3. โต้ตอบกับฝั่งตรงข้ามโดยการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า มีการใช้วิธีลดความน่าเชื่อถือโดยการพูดเรื่องการใช้งบประมาณของฝั่ง Pro-life ลำดับชั้นทางสังคมและข่าวเสียหายเรื่องใคร่เด็ก (pedophilia) ของโบสถ์คาธอลิก
การดึงให้สาธารณชนมาเห็นด้วยเหล่านี้ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาการเข้าถึงกฎหมาย การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข หาความร่วมมือจากองค์กรณ์ต่างๆ และสร้างพันธมิตรไปด้วย
นอกจากผลักดันให้ทำแท้งถูกกฎหมายได้สำเร็จแล้วก็ต้องมีการดูแลเรื่องการเข้าถึงโรงพยาบาลและสุขอนามัยหลังการทำแท้งต่อไปด้วย
_______________________________________________________________________
ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมอื่นๆ ค่ะ
- สถานการณ์ในไทยสามารถติดตามได้จากหลายช่องทาง เพิ่งเอาเรื่องเข้าสภาไปวันที่ 23 ผลสามารถติดตามทาง I-Law ได้เลยนะคะ
- เราพยายามไม่ใช้คำว่าผู้หญิงตั้งครรภ์เพราะอันที่จริงแล้วปัญหานี้ก็เกิดกับคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้หญิงหรือไม่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงได้เช่นกัน เช่น ผู้ชายข้ามเพศ non-binary intersex etc. ทั้งนี้ถ้ามีหลุดไปก็ขออภัยนะคะ ทักมาบอกให้แก้ได้นะคะ
- Transnational social movement
การเคลื่อนไหวที่มีความ transnational คือเราได้เห็็นการส่งต่อจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่ เพราะมีปัญหาบางอย่างร่วมกัน เช่น การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใช้เพลงแรป เป็นต้น ในภูมิภาคใกล้ๆ กันจะยิ่งเห็นชัด
ตัวอย่างใกล้ตัวที่เพิ่งได้เห็นในไทยคือเพลงสีดาลุยไฟ ที่แปลมาจากเพลงประชดประชันตำรวจที่ชิลี ตัวเพลงถูกนำมาใช้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อประท้วงเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว จากชิลีส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา จากนั้นไปสหรัฐอเมริกาและไปที่อื่นๆ ทั่วโลก เนื้อเพลงมีการปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมในแต่ละประเทศ บริบทของการประชดประชันตำรวจชิลีหายไปเม่ื่อส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ แต่ใจความของเพลงยังอยู่ คือจะสื่อว่า "ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" จุดนี้เป็นปัญหามีร่วมกันทำให้การเคลื่อนไหวมันส่งต่อข้ามประเทศได้ (ไว้ว่างๆ จะมาแบเนื้อเพลงนะคะว่าพออยู่ต่างที่แล้วมันมีการอ้างอิงหรือมีบริบทต่างกันตรงไหนบ้าง)
ในกรณีของการเคลื่อนไหวทำแท้งที่อาร์เจนติน่า นอกจากจะได้เห็นทั้งภูมิภาคแล้วยังเห็นจากฝั่งยุโรปด้วย ยกตัวอย่าง มีการส่งกำลังใจจากไอร์แลนด์ ซึ่งเขาถือว่าเขาเป็นประเทศที่มีความเคร่งคาธอลิกสูงในยุโรป คล้ายๆ กับที่อาร์เจนติน่ามีความคาธอลิกสูงในลาตินอเมริกานั่นเองค่ะ
นอกจากนั้นก็ที่อื่นๆ ทั่วโลกก็ให้ความสนใจด้วยเหมือนกัน
สุดท้ายนี้ก็อยากจะออกตัวอีกรอบว่าเป็นการเล่าเรื่องภาพรวมโดยย่อๆ เท่านั้นนะคะ ถ้าหากมีผิดพลาดใดๆ ก็ขออภัยไว้เลยล่วงหน้า ทักมาบอกได้เลยนะคะ รวมถึงใครสงสัยหรือสนใจจุดไหน หรืออยากให้เขียนเรื่องไหนเป็นพิเศษ หรืออยากแบ่งปันเรื่องไหนด้วยกัน ก็ทิ้งคอมเม้นหรือทักมาได้เช่นกันค่า
เราใช้แอคทวิตที่อัพเดทนอนฟิกชั่นแยกกับงานเขียนอื่นๆ ค่ะ ใครที่อยากติดตามอัพเดทสัพเพเหระเฉพาะนอนฟิกชั่น (จะไม่โพสคอนเท้นอื่นใด) ฟอลได้ที่ @rainbowpick_ ค่า
ขอบคุณค่า
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in