เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movie(s)Red Suanmali
Drive My Car |ドライブ・マイ・カー (2021) จริงหรือหลอกทำไมไม่บอกกัน
  • Drive My Car |ドライブ・マイ・カー (2021)


    จริงหรือหลอก เห็นจะเป็นหนึ่งในใจความหลักสำคัญของหนังที่เด่นชัดอย่างโจ่งแจ้งตั้งแต่องก์ 1 ตลอดไปจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายอันเงียบสงัดบนเวที และยิ่งแล้วใหญ่เมื่อเรื่องราวนี้ถูกดำเนินโดย 'คนละคร' ผู้ใช้ชีวิตอยู่กับการแสดงมานักต่อนัก จึงเป็นการยากแบบทวีคูณของเหล่าคนดูที่จะมองออกว่า ความรู้สึกที่ตัวละครเผยออกมานั้นเป็นความจริงจากใจหรือเป็นเพียงบทละครที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อประคองชีวิตอันแสนสุขเศร้าให้ดำเนินต่อไปอย่างจำยอม ทว่าในขณะเดียวกัน หนังก็ดูจะมีเป้าประสงค์อย่างการพาคนดูซึ่งกำลังนั่งพิงเบาะโรงหนังก้าวผ่านความเจ็บปวด (ที่ไม่จำเป็นต้องใหญ่หลวง) ในอดีตไปพร้อม ๆ กับ 2 ตัวละครผู้กำลังพิงเบาะรถ Saab 900 สีแดง ที่อายุการใช้งานไม่น่าจะใช่น้อย ๆ แต่จากสภาพรถก็พอจะรู้ได้ว่า รถคันนี้ได้รับการดูแลเอาใจใส่ไม่แพ้ไปกว่าความทรงจำของผู้ขับ


    กล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะคนดูหรือแม้กระทั่งตัวละครต่างก็ไม่แน่ชัดว่า สิ่งที่ตนเองรับรู้และเข้าใจมาตลอด (3 ชั่วโมง) นั้นจริงแท้มากน้อยแค่ไหน เอาเข้าจริงแล้ว กลวิธีในการนำเสนอที่ค่อย ๆ ประวิงเวลาขยับฝีเท้าของหนังเพื่อให้คนดูได้เข้าใจในบทละครที่ซ่อนงำอารมณ์ของเรื่องราว-แลดูจะได้ผลอย่างทันทีทันใดเมื่อการไม่พูดทั้งที่รู้อยู่แก่ใจของตัวละครถูกบอกเล่าออกมา นอกจากนี้ การเลือกที่จะเชื่อตามที่ตนเข้าใจมาตลอดเพื่อความสบายใจถือเป็นหนึ่งในวิธีรักษาที่ตัวละครทั้งสองเลือกใช้สำหรับเยียวยาหัวใจอันผุกร่อนของตน เป็นการบอกตัวเองอย่างกลาย ๆ ว่า เราไม่จำเป็นจะต้องรู้ความจริงไปเสียหมดทุกเรื่องเพื่อใช้ชีวิตต่อไป เพราะฉะนั้นแล้ว ความจุกอกที่ถาโถมไม่เพียงแต่จะทำให้ช่วงเวลาสำคัญของหนังดูหนักแน่นและกินใจ ทว่ายังคงตลบอบอวลไปด้วยบรรยากาศของอารมณ์ความรู้สึกที่เหล่าตัวละครพยายามทนุถนอมเอาไว้ด้วยความทรมานเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขอมทุกข์


    "คนที่มีชีวิตอยู่ทำได้แค่เพียงนึกถึงผู้คนที่จากไปแล้ว” ความทรมานต่อการนึกถึงอดีตซึ่งเปรียบเสมือนตราปราบของทั้งสองตัวละครบนรถสีแดงต่างถูกประโยคข้างต้นสรุปแนวทางการใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าได้อย่างกระชับเข้าใจ ความทรมานในอดีตอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน รอยแตกที่เคยเกิดขึ้นอาจยังคงร้าวอยู่แม้จะเชื่อมสนิท แต่ในท้ายที่สุด บทละคร 'ลุงวานยา' ของ แอนทอน เชคอฟ ที่ดำเนินคู่ขนานอย่างตั้งใจก็ได้ 'ทำการแสดง' ให้เรารับรู้ผ่านความเงียบสงัดอันสมบูรณ์แบบว่า ท่ามกลางบรรดาเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นอาจยังมีเรื่องราวดี ๆ ปนเปอยู่อย่างเจือจาง จนกลายเป็นความมั่นใจและรู้สึกคุ้มค่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อร่วมกับความทรมานและรอยร้าวในจิตใจเฉกเช่นคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ในท้ายที่สุด ประโยคที่ว่า “ไม่ต้องเป็นห่วงนะ” แลดูจะสามารถปิดจบบทละครเรื่องนี้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์


    เขียนโดย: พัทธนันท์ สวนมะลิ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in