"เราไม่ควรยัดเยียดเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการเหตุผลให้คนที่ไม่ต้องการ ยิ่งถ้าอีกฝ่ายอยากมีสถานะเท่าเทียมกับคุณหรือมีสถานะสูงกว่าคุณ การกระทำของคุณอาจทำให้อีกฝ่ายเสียศักด์ศรีและอับอายได้ ผลที่ตามมาคือพลังในการสื่อสารของคุณจะลดลง พูดง่ายๆว่าอีกฝ่ายจะไม่เปิดใจรับฟังคำพูดของคุณถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลก็ตาม" ส่วนหนึ่งของเรื่องราวในบทที่ 3 ที่ส่วนตัวแล้วถูกใจที่สุดในหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียน: Yamada Zuni
ผู้แปล: ทินภาส พาหะนิชย์
แปลจากเรื่อง: Anata no Hanashi wa Naze "Tsuujinai" noka
สำนักพิมพ์: WE Learn
ราคา 240 บาท
Yamada เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมือหนึ่งของญี่ปุ่น ภารกิจของเธอคือ การพัฒนาพลังในการสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจด้วยการเปลี่ยนความคิดให้เป็นคำพูด หลายคนอาจประสบปัญหาว่าคิดแบบหนึ่งแต่สื่อสารออกไปแล้วคนฟังเข้าใจไปในอีกแบบหนึ่ง หนังสือเล่มนี้จะประมวลเทคนิคเพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณได้
Yamada ได้เปิดฉากด้วยพื้นฐาน 5 ข้อที่เธอได้สังเคราะห์ออกมาจากประสบการณ์ด้านการสื่อสาร อันประกอบด้วย (1) เพิ่มพลังในการสื่อสารให้ตัวเอง (2) พิจารณาว่าคำพูดของตัวเองมีความหมายอย่างไรสำหรับอีกฝ่าย (3) กำหนดเรื่องที่ตัวเองอยากสื่อสารให้ชัดเจน (4) ให้เหตุผลประกอบความคิดเห็น (5) ซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง
หนังสือมุ่งสอนเทคนิคของการสื่อสารที่ยึดหลักว่าต้อง "ซื่อตรงต่อความรู้สึกตัวเอง" ตลอดทั้ง 5 บท จะมีหลักยึดอันเดียวกัน โดยแบ่งเป็นหัวข้อได้ดังนี้
บทที่ 1 เป้าหมายของการสื่อสาร : เราควรรู้ว่าเป้าหมายที่เราต้องการสื่อสารคืออะไร จะเพิ่มพลังการสื่อสารของเราได้อย่างไร ตลอดจนการสร้างความไว้วางใจกัน
บทที่ 2 เทคนิคการโน้มน้าวใจ : ประกอบด้วยหลักสำคัญของการสื่อสารด้วยเหตุผล การหาเครื่องมือช่วยคิด วิธีการตั้งคำถามและขยายมุมมองของคำถามเพื่อสร้างพลังในการสื่อสาร เทคนิคการสื่อสารและโน้มน้าวใจด้วยเหตุผล
บทที่ 3 เมื่อพูดเรื่องจริงทำไมจึงโดดเดี่ยว : ความหมายของคำพูดนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามความสัมพันธ์ คนเรามักถูกตัดสินด้วยข้อมูลไม่ใช่คุณค่าภายใน ทำไมเรื่องที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลจึงใช้โน้มน้าวจิตใจไม่ได้ และวิธีสร้างพลังในการสื่อสารให้ตัวเอง
บทที่ 4 วิธีสร้างความรู้สึกร่วม : หัวใจสำคัญของข้อมูลคือการจัดเรียงข้อมูล หลุมพรางของคำว่า อ่านให้ดีก่อนสิ มุมมองในการพูดสำคัญกว่าเนื้อหาที่พูด
บทที่ 5 เงื่อนไขของการได้รับความไว้วางใจ : เมื่อคำพูดของคุณไม่มีพลังในการสื่อสาร การเล่าเรื่องตัวเองให้คนที่เจอกันครั้งแรกฟัง เงื่อนไขการได้รับความไว้วางใจ และการรับมือกับวิกฤติความไว้วางใจ
ตลอดทั้ง 5 บท Yamada ได้สอดแทรกเรื่องเล่าในสถานการณ์ต่างๆ แล้วอธิบายให้เห็นมุมมอง เทคนิค และข้อผิดพลาดในการสื่อสาร ผ่านการตัดประโยคออกมาวิเคราะห์เป็นข้อๆอย่างละเอียด แม้จะเป็นเรื่องเล่าในบริบทของสังคมญี่ปุ่นซึ่งดูจะแตกต่างจากสังคมไทยไปบ้าง แต่ด้วยการอธิบายแบบง่ายๆ ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะสื่อสารในชาติใดและด้วยภาษาใดได้ไม่ยาก
ไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นคนที่พูดรู้เรื่องอยู่แล้วหรือไม่ สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้คุณเห็นมุมมองในการสื่อสารที่บางครั้งเราอาจจะหลงลืมไปในรายละเอียด จากนี้ เราอาจต้องใส่ใจกับความหมายและพลังของถ้อยคำในการสื่อสารแต่ละครั้งให้มากยิ่งขึ้น
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in