เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
วัตถุ WI-FISALMONBOOKS
ตื่อ ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ดดดด ตะแน่วๆๆๆ ตื๊ดดดดดด ซ่าาาาาาา

  • ตื่อ ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ดดดด ตะแน่วๆๆๆ ตื๊ดดดดดด ซ่าาาาาาา…

    คุณผู้อ่านพอจะคุ้นเสียงข้างต้นบ้างมั้ยครับ?

    ถ้าคุณคุ้น ขอให้รู้ตัวนะครับว่าคุณได้ใช้ชีวิตบนโลกนี้มานานพอสมควรแล้ว

    ...ฮะ อะไรนะ นึกไม่ออกเหรอ?!

    มันคือเสียงเวลาต่ออินเทอร์เน็ตสมัยโมเด็ม 56k (56 kilobits per second) ไงครับ!

    นั่นไง ร้องอ๋อกันแล้วใช่มั้ย (ผู้อ่าน: ...อะไรของมึง) 


  • ในยุคสมัยนั้น เสียงนี้เป็นดั่งเสียงสวรรค์ เป็นสัญญาณพาเราข้ามไปสู่อีกดินแดนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘โลกไซเบอร์’ ยิ่งตอนเวลามัน ตื๊ดดดดดด แล้ว ซ่าาาาาาา ยาวๆ นี่ประชาชนจะฟินกันมากเลยนะครับ

    ส่วนน้องที่ไม่ทัน ไม่คุ้นกับเสียงที่ว่านี้เลย อาจจะงงว่าพี่มาคร่ำครวญอะไร แค่ต่อเน็ตได้ทำไมต้องดีใจขนาดนั้น อ่านไปเรื่อยๆ ก่อนนะ เดี๋ยวน้องจะเก็ตเอง แต่พี่ขอเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก่อนว่าไอ้การลุ้นเสียง ตื๊ดๆ ซ่าๆ มันก็เหมือนการสังเกตโมเด็มที่บ้านว่าสัญญาณ ADSL มันติดมั้ย หรือการเช็กหน้าจอโทรศัพท์ว่ามีสัญญาณ 3G, Wi-Fi หรือเปล่าในสมัยปัจจุบันนั่นเอง

    เคยคิดกันมั้ยครับว่า ตั้งแต่เมื่อไรกันที่อินเทอร์เน็ตกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต? วันวันหนึ่งบางทีเราอยู่กับเน็ตมากกว่าพ่อแม่ แฟน หรือหมาแมวเสียอีก และที่สำคัญ เราแทบจะขาดมันไม่ได้แล้ว อย่างที่คนชอบพูดกันว่าอินเทอร์เน็ตคือปัจจัยที่ห้าของมนุษย์ยุคนี้  

    ลองคิดถึงเวลาไม่มีเน็ตเล่นสิครับว่ามันน่าหงุดหงิดใจแค่ไหน เวลาเน็ตล่มทีเราแทบจะโทร.ไปด่าพ่อคอลล์เซ็นเตอร์ ไฟดับทีก็นับว่าเข้าขั้นโลกาวินาศ (จะเล่นจาก 3G มันก็ช่างเร็วเหลือเกิน—ประชด) หรือเดี๋ยวนี้เวลาเราจองโรงแรม คำถามแรกก็คือ “เฮ้ย มี Free Wi-Fi หรือเปล่า”

    มีคนเคยบอกผมว่า คนเจเนเรชั่นวายยุคต้นอย่างผม (คนที่เกิดในช่วง1980-1985) ถือว่าโชคดีที่ได้อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากโลกยุคไม่มีอินเทอร์เน็ตมาเป็นยุคมีอินเทอร์เน็ต มีโอกาสได้สัมผัสยุคสมัยที่คนยังใช้โทรศัพท์บ้านคุยกับเพื่อน หรือยังต้องรอจดหมายจากเพื่อนต่างจังหวัดอย่างน้อยสามวัน

    แต่ตอนนี้ผมก็แทบจะเลิกคุยโทรศัพท์ยาวๆ ไปแล้ว  เวลาจะคุยกับเพื่อนก็ใช้ LINE หรือ Facebook แทน ส่วนเพื่อนที่อยู่ไกลกัน ไม่ว่าต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ถ้ามันเล่นเน็ตอยู่ รอคำตอบจากมันไม่เกินสามวินาทีแน่นอน (ยกเว้นว่ามันไม่อยากตอบหรือเกลียดเรา)

    พอเปรียบเทียบอดีต/ปัจจุบันแบบนี้ก็ทำให้ย้อนคิดนะครับว่า 'เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร' แต่บางทีคำถามแรกสุดอาจจะเป็น “…ทำไมเราต้องเล่นเน็ตวะ!?”

    นั่นสิ ทำไม...

  • จำได้ว่าสมัย ม.ต้น ผมก็มีความสุขดีกับการไปนั่งเมาท์มอยกับเพื่อนที่โรงเรียน ตกเย็นก็ไปเล่มเกมตู้ที่มาบุญครอง กลับบ้านก็นั่งเก็บเลเวลเกม Final Fantasy 7 ชีวิตกูไม่เห็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์นง อินเทอร์เน็ตอะไรเลยนี่หว่า

    แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อผมพบว่าตัวเองเริ่มหลุดจากวงสนทนาของเพื่อนๆ

    ตัวอย่าง #1

    เพื่อน 1: “ไอ้สาสสสส เมื่อคืนที่เล่น Warcraft อะ เน็ตมึงแม่งช้า เกมแม่งอืดเลย”

    เพื่อน 2: “เออๆ กูขอโทษ”

    เพื่อน 1:  “เฮ้ย ไอ้ต่อ มึงไม่เล่น Warcraft กับพวกกูเหรอ”

    ผม: “บ้านกูยังไม่ได้ติดเน็ตอะ ...จริงๆ คือกูยังไม่มีคอมพ์เลยว่ะ“

    ทุกคน : “………………………..”


    ตัวอย่าง #2

    เพื่อน 1: “กูกับฝ้าย (นามสมมติ) เป็นแฟนกันแล้วนะเว้ย”

    เพื่อน 2: “เฮ้ย เจ๋งสัสสสสส มึงทำอีท่าไหนเนี่ย”

    เพื่อน 1: “ก็ขอเค้าเมื่อคืนทาง ICQ”

    ผม: “เหรอๆ เออๆ ดีว่ะ (ในใจ: สัส ICQ นี่แม่งคืออะไรวะ คล้ายๆ ไอซียูเปล่าเนี่ย)”


  • นั่นแหละครับ ในที่สุดผมก็ต้านกระแสสังคมในห้องเรียนไม่ไหว วิ่งกลับบ้านไปบอกพ่อว่าช่วยซื้อคอมพ์พร้อมติดเน็ตให้หนูหน่อย ตอนแรกพ่อก็บอกว่า เฮ้ย เอ็งจะเอาไปดูเว็บโป๊หรือเปล่า จึงต้องชักแม่น้ำทั้งห้าว่า โห พ่อสมัยนี้ทำรายงานเขาก็ต้องหาข้อมูลทางเน็ต แถมไม่มีใครเขาเขียนรายงานส่งอาจารย์แล้ว พิมพ์กันทั้งนั้น เออ พ่องั้นเอาปริ๊นเตอร์ด้วยนะ (แน่ะ ได้คืบเอาศอก)

    พอได้คอมพ์มาตั้งในห้องตัวเองแล้ว แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ผมทำคือศึกษาการเล่นอินเทอร์เน็ต ตอนนั้นแค่ได้ฟังเสียงโมเด็มดัง ตื่อ ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ดดดด ตะแน่วๆๆๆ ตื๊ดดดดดด ซ่าาาาาา ก็รู้สึกยินดีเป็นล้นพ้น นึกดีใจว่าต่อไปนี้กูจะคุยกับเพื่อนรู้เรื่องแล้วโว้ยยย ต่อเน็ตได้ผมเลยรีบเข้าไปดูทันทีว่า Warcraft คืออะไร ICQ คืออะไร จากนั้นก็ลามไปเรื่องอื่น ได้รู้จักเว็บ Sanook, Pantip, Dek-D, ซูฉี, วิเวียน ชู (เอ๊ะ...ไหนมึงบอกพ่อว่าใช้ทำรายงานไง)

    แต่การระเริงร่าในโลกอินเทอร์เน็ตของเด็กชายคันฉัตรก็จบในเวลาอันรวดเร็ว เพราะไอ้คอมพ์ที่ซื้อมาเนี่ยมันแถมเน็ตให้แค่สิบชั่วโมง ซึ่งผมใช้หมดภายในสองวัน และสมัยนั้นราคาค่าเน็ตก็ไม่ใช่ถูกๆ ตกชั่วโมงละ 20-40 บาท เพื่อนบางคนก็แนะนำว่าไปเล่นที่เน็ตคาเฟ่สิ แต่เนื่องจากเป็นพวกฮิคิโคโมริชอบหมกตัวอยู่แต่ในห้องมาแต่ไหนแต่ไร ช้อยส์นี้จึงตกไปทันที (หลังจากนั้นก็เคยไปใช้บริการบ้างเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น คอมพ์พัง ก็พบว่าโหดมาก มีแต่เด็กเล่นเกมกันทั้งร้าน นั่งเล่นไปก็มีแต่ “สัส มึงยิงกูเหรอออ” “เดี๋ยวกูจะไปถล่มมึง” “แน่จริงอย่ารุมดิสัส” ฯลฯ)

    โชคดีว่าแม่ของผมทำงานสังกัดมหา'ลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง แล้วเขามีอินเทอร์เน็ตฟรีให้ใช้ ดังนั้นชีวิตในโลกไซเบอร์ของผมจึงดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ของฟรีและดีไม่ค่อยจะมีในโลก เน็ตมหา'ลัยมีให้ใช้แค่เดือนละ 40 ชั่วโมงเท่านั้น แถมยังเล่นแล้วตัดทุกสองชั่วโมง แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือมันต่อยากมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังเป็นระบบ Dial-up อยู่ เวลาจะใช้เราต้องหมุนโทรศัพท์ต่อสายไปที่เบอร์ของผู้ใช้บริการเน็ตก่อน พอต่อติดก็เสียค่าโทรศัพท์อีก! ค่าเน็ตก็ต้องเสีย ค่าโทร.ก็ต้องเสีย! ต่างจากสมัยนี้ที่เราแค่เปิดโมเด็มปุ๊บก็เล่นเน็ตได้ทันที เห็นมั้ยครับว่ามันลำบากขนาดไหน
  • ทีนี้ ความแย่ของเน็ตมหา’ลัยอยู่ตรงที่มีคนใช้เยอะ สายของมหา'ลัยเลยมักจะไม่ว่าง อยากเล่นก็ต้องต่อใหม่ไปเรื่อยๆ ราวห้าสิบครั้ง ต่อจนกว่าจะได้ยินเสียง ตื๊ดดดดด ซ่าาาาาาา แล้วตอนนั้นผมเองก็โง่ ตั้งค่าให้มันต่อใหม่แบบอัตโนมัติไม่เป็น ก็เลยใช้วิธีเอาสก็อตช์เทปไปแปะที่ปุ่ม Enter บนคียบอร์ดค้างไว้ให้มันต่อไปเรื่อยๆ (อืมม...)

    การต่อเน็ตยังนำมาซึ่งดราม่ากับที่บ้าน เพราะยุคนั้นเวลาเราต่อเน็ตเล่นอยู่ โทรศัพท์ที่บ้านจะสายไม่ว่าง คนจะโทร.มาคุยธุระกับพ่อแม่เราก็โทร.ไม่ติด (ตอนนั้นมือถือโคตรแพง ยังไม่นิยมใช้กัน) แถมเวลาคนโทร.เข้ามาก็จะทำเน็ตหลุดอีก ทำให้ต้องมานั่งแปะสก็อตช์เทปต่อเน็ตใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ช่างน่าเศร้าจริงๆ

    แต่การมีอินเทอร์เน็ตเป็นของตัวเองก็ทำให้ชีวิตของผมดูมีเพื่อนเยอะขึ้นทันที ไม่ใช่เพราะใช้เน็ตในการเข้าสังคมนะ แต่เพราะเพื่อนมันมารุมขอเน็ตฟรีจากเราต่างหาก!

    ช่วงแรก เน็ตฟรีมหา'ลัยสามารถแชร์ ยูสเซอร์เนม/พาสเวิร์ดให้หลายคนเล่นพร้อมกันได้ พอเห็นเพื่อนสนิทโอดครวญว่า “เหี้ย เดือนนี้เน็ตกูหมดแล้วว่ะ” เราก็เห็นใจจึงบอก ยูสเซอร์เนม/พาสเวิร์ด มันไป พร้อมกำชับว่า “มึงอย่าไปบอกต่อคนอื่นนะเว้ย”

    แน่นอน ความลับไม่มีในโลก ในที่สุดเพื่อนก็แอบบอกรหัสต่อๆ กันไป จนวันดีคืนดีเดินสวนกับเพื่อนที่แทบไม่เคยคุยกับเราเลยในโรงเรียน มันก็บอกว่า “เฮ้ย ขอบใจเรื่องเน็ตแม่มึงนะเว้ย แต่ต่อยากฉิบเลยว่ะ”

    ...เดี๋ยว! มึงเป็นใคร! แล้วมึงเอาเน็ตแม่กูไปใช้ได้ยังไง! นี่พวกมึงบอกต่อพาสเวิร์ดกันทั้งโรงเรียนแล้วใช่มั้ย มิน่า ชั่วโมงเน็ตกูเลยลดฮวบ เย็นวันนั้นผมเลยรีบกลับบ้านไปเปลี่ยนพาสเวิร์ดทันที หลังจากนั้นเพื่อนหลายคนก็ทำเป็นตีมึนคุยกับผมไปตามปกติ (ถ้าออกอาการจะรู้ทันทีว่ามึงคือหนึ่งในแก๊งลักลอบใช้เน็ตกู) แม้ว่าใจจริงมันอาจจะอยากด่าผมและขอพาสเวิร์ดใหม่ก็ตาม
  • นอกจากเรื่องเน็ตฟรีที่ต่อติดยากมาก สมัยนั้นความเร็วเน็ตก็อยู่ที่เพียง 56k เท่านั้นครับ จะดูรูปเน็ตไอดอลในเว็บ Dek-D แต่ละคนใช้เวลาราวสองนาที หรือต่อมาพอเริ่มดาวน์โหลดเป็นแล้ว โหลดเพลงแทร็กเดียวไฟล์ขนาด 4MB ยังใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง กว่าจะโหลดครบอัลบั้มได้นี่ยากลำบากยิ่งกว่ารวบรวมดราก้อนบอลให้ครบเจ็ดลูก หรือถ้าหาญกล้าโหลดไฟล์ใหญ่สัก 80 MB ก็ต้องโหลดกันข้ามวันข้ามคืน จนกลัวว่าคอมพ์จะระเบิดไปเสียก่อน 

    แต่เรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุดในการเล่นเน็ตยุคนั้นคือไอ้เสียงโมเด็ม ตื๊ดๆๆๆๆ ซ่าาาาาาา นี่แหละครับ ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเสียงต่อเน็ตถึงต้องฮาร์ดคอร์ขนาดนั้น เวลาต่อทีนี่รู้กันทั้งบ้าน ซึ่งปัญหามักจะเกิดเวลาแอบเล่นเน็ตตอนดึกๆ นี่แหละ

    ก...ก็ไม่อยากให้พ่อแม่รู้ไง ปิดเสียงโมเด็มก็ทำไม่เป็น คันฉัตรก็เลยแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ฉลาดมาก นั่นคือเอาผ้าห่มผ้านวมไปคลุมโมเด็มให้เสียงมันเบาลง

    การเล่นเน็ตยุคแรกๆ จึงไม่ใช่แค่มีจอ ซีพียู คีย์บอร์ด เมาส์ โมเด็มแล้วจะพอ

    แต่ต้องมีสก็อตช์เทปและผ้านวมด้วย (มันใช่เรอะ!)
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in