เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHY ร้ายSALMON X VANAT
17: WITCHES ร้ายที่สุดในปฐพี
  • PROFILE
    NAME:
    The Queen / The Evil Queen / The Wicked Queen / Queen Grimhilde และ Maleficent / The Wicked Fairy
    FIRST APPEARANCE: Schneewittchen und die sieben Zwerge (สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ปี 1812) และ La Belle au bois dormant (โฉมงามผู้หลับใหลในป่า ปี 1697)
    GOAL: ราชินีต้องการเป็นผู้ที่งดงามที่สุดในปฐพี ส่วนแม่มดมาเลฟิเซนต์ต้องการฆ่าเจ้าหญิงนิทราเพื่อล้างความโกรธที่ไม่ได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยง

    * แม้เรื่องเล่าจะโด่งดังเป็นที่รู้จักในยุโรปมานาน แต่ราชินีผู้เป็นแม่เลี้ยงของสโนว์ไวท์ มาเลฟิเซนต์และนางฟ้าใจร้ายในเรื่อง เจ้าหญิงนิทรา เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็หลังจากที่เนื้อเรื่องของพวกเธอถูกนำมาดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่น Snow White and Seven Dwarf (1937) และ Sleeping Beauty (1959) โดย Walt Disney ซึ่งเรื่องราวของราชินีและนางฟ้าใจร้ายต่อไปนี้อิงข้อมูลมาจากฉบับแอนิเมชั่นของ Walt Disney เช่นกัน

    สูตรสำเร็จในโลกของเทพนิยายที่มีเจ้าหญิง เจ้าชาย และนางฟ้าแสนดีมักจะต้องมีตัวร้ายที่ใช้เวทมนตร์ได้โผล่ขึ้นมาร่วมวงด้วยเสมอ โดยตัวร้ายที่ใช้เวทมนตร์เหล่านี้ เราเรียกรวมกันได้ว่า ‘แม่มด’ โผล่ออกมาเมื่อไรก็จะเปล่งประกายความร้ายกาจได้อย่างโจ่งแจ้ง เพราะมีอำนาจเหนือปุถุชนคนธรรมดา และมักมีความสามารถหยิบเรื่องเล็กน้อยระดับไร้สาระมาเป็นมูลเหตุปั่นให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนเหตุการณ์น่าสะพรึงขึ้นมาได้อยู่เสมอ ซึ่งนอกจากวันๆ จะคอยเอาแต่ทำเรื่องร้ายกาจแล้ว เราก็ไม่เคยเห็นพวกเธอทำอะไรอีกเลย

    อย่าง ‘ราชินี’ แม่เลี้ยงของสโนว์ไวท์ ไม่มีใครเคยเห็นนางทำหน้าที่ปกครองอาณาจักร ดูแลประชาราษฎร์ในฐานะราชินี มีแต่หมกมุ่นอยู่กับกระจกวิเศษ คอยถาม คอยเช็กเรตติ้งว่าตัวเองยังเป็นผู้ที่งดงามที่สุดในดินแดนหรือเปล่า แล้วพอวันหนึ่งที่คำตอบของกระจกวิเศษเปลี่ยนไป ว่าผู้ที่สวยเลิศในปฐพีคือ ‘สโนว์ไวท์’ นางก็โกรธกริ้วขนาดต้องคิดฆ่าแกงสโนว์ไวท์เพื่อที่จะได้รักษาตำแหน่งผู้หญิงที่สวยสุดเบอร์หนึ่งไว้ให้ได้

    ส่วน ‘แม่มดมาเลฟิเซนต์’ เพียงเพราะไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานเลี้ยงฉลองวันประสูติเจ้าหญิงออโรร่า นางก็เคียดแค้นพระราชากับพระราชินีมาก คับอกคับใจจนต้องสาปแช่งเจ้าหญิงออโรร่าให้ตายด้วยการถูกเข็มปั่นด้ายทิ่มในวันเกิดอายุครบ 16 ปี (อันเป็นจุดกำเนิดของตำนานเจ้าหญิงนิทรา) แล้วตัวเองก็จรลีจากงานเลี้ยง ทิ้งไว้แต่ความวุ่นวาย มาคุ ทำบรรยากาศงานมงคลให้ต้องแกร่วและกร่อยอย่างนั้นไปนานถึง 16 ปี!
  • BAD LIST

    • แผนการฆ่าสโนว์ไวท์ของราชินีเริ่มด้วยการยืมมือคนอื่น ราชินีสั่งคนล่าสัตว์ให้หลอกสโนว์ไวท์ไปฆ่าในป่า และเพื่อให้แน่ใจว่าสโนว์ไวท์ตายชัวร์ ราชินีจึงสั่งให้คนฆ่าสัตว์ควักหัวใจของสโนว์ไวท์กลับมาแสดงให้ดูเป็นหลักฐานด้วย ซึ่งคนล่าสัตว์ไม่สามารถทำใจฆ่าสโนว์ไวท์ได้ จึงนำหัวใจหมูกลับไปให้ราชินีแทนหัวใจของสโนว์ไวท์

    • หลังจากที่สโนว์ไวท์รอดพ้นจากการถูกควักหัวใจ เธอก็หนีเข้าไปในป่าลึกกระทั่งเจอคนแคระทั้งเจ็ด แล้วเธอก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ทำงานปัดกวาดเช็ดถูให้เหล่าคนแคระโดยไม่คิดกลับไปพระราชวัง แต่ราชินีไม่ยอมเลิกลา เพราะตราบใดที่สโนว์ไวท์ยังมีชีวิตอยู่ ความสวยของนางก็ยังตกเป็นรอง ราชินีจึงออกไปตามฆ่าด้วยตัวเอง ปลอมตัวเป็นหญิงชราเข้าไปพูดคุย มอบแอปเปิ้ลสีสวยสด แต่อาบไปด้วยยาพิษให้

    • ด้วยความโกรธที่ไม่ได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยง มาเลฟิเซนต์จึงบุกไปอาละวาดที่งานโดยไม่ได้รับเชิญ แต่แค่ทำลายบรรยากาศยังไม่พอ เพื่อเป็นการลงโทษพระราชากับพระราชินีผู้จัดงาน มาเลฟิเซนต์จึงสาปแช่งให้เจ้าหญิงออโรร่า พระธิดาของทั้งสองพระองค์ต้องตายเมื่ออายุครบ 16 ปี โดยไม่สนว่าเจ้าหญิงไม่มีความผิดหรือเคยมีเรื่องบาดหมางอะไรกันมาด้วยซ้ำ

  • IN-DEPTH
    โดย วณัฐย์ พุฒนาค

    ‘แม่มด’ เป็นตัวร้ายที่ขาดไม่ได้ในฐานะ ‘ต้นเหตุ’ ของนิทานเจ้าชายเจ้าหญิงหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแม่มดหลงตัวเองที่มาพร้อมกระจกวิเศษและลูกแอปเปิ้ลอาบยาพิษ หรือแม่มดชราที่เป็นต้นเหตุของคำสาปให้เจ้าหญิงนิทราหลับใหลด้วยเครื่องปั่นด้าย

    ภาพของแม่มดมักเป็นหญิงสูงอายุที่ทรงอำนาจและชั่วร้าย เปี่ยมไปด้วยความริษยาอาฆาตพยาบาทแบบ ‘ผู้ยิ้ง ผู้หญิง’ (ริษยากันเรื่องความงาม ไม่ยอมให้ใครงามเกินหน้าตัวเอง หรือโกรธแค้นอย่างหนักที่ไม่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยง) และเมื่อพูดถึงแอปเปิ้ล ความงาม และหญิงผู้ถูกลืมซึ่งมาป่วนงานรื่นเริง ผมก็จะนึกถึงปกรณัมกรีกโบราณอันเป็นต้นเรื่องของ ‘สงครามกรุงทรอย’ อันโด่งดังอย่างกรณี ‘แอปเปิ้ลสีทองกับการตัดสินของปารีส’ (Judgement of Paris)

    เหตุการณ์ในข้างต้นเกี่ยวกับ ‘ซูส’ ที่ไม่ได้เชิญ ‘เทวีแห่งความบาดหมาง’ ไปร่วมงานเลี้ยงแต่งงาน นางเลยไปก่อความวุ่นวายด้วยการโยนแอปเปิ้ลทองคำที่สลักว่า ‘แด่ผู้ที่งามที่สุด’ (To the Fairest) ไปกลางวง ซึ่งแน่นอนว่าเทวีสามองค์ผู้ต่างก็คิดว่าตนเองสวยอย่าง ‘เฮร่า’ ‘อาเธน่า’ และ ‘อะโฟรไดต์’ ต่างตรงเข้าแย่งแอปเปิ้ลกัน ร้อนถึงซูสที่แม้จะเป็นประมุขแห่งโอลิมปัสแต่ก็ไม่อยากตัดสินศึกนี้ เพราะมันต้องเกิดปัญหาแน่ (ตัดสินยังไงก็โดนตบ) ซูสจึงโยนให้ ‘ปารีส’ มนุษย์ชาวโทรจันเป็นผู้ชี้ชะตา โดยอ้างว่าปารีสเคยเป็นกรรมการที่เที่ยงธรรมมาแล้วจากการ ‘ตัดสินวัว’ ที่มีเทพองค์หนึ่งแปลงกายเป็นวัวลงไปประกวดด้วย (แน่นอนว่าวัวในร่างเทพประกวดชนะ เป็นอันว่าปารีสช่างตาถึง)

    งานนี้เทวีทั้งสามต่างติดสินบนกรรมการกันคนละอย่าง โดยปารีสตัดสินให้อะโฟรไดต์ เทวีแห่งความรักเป็นผู้ชนะ เพราะเธอเสนอว่าจะมอบหญิงงามที่สุดในโลกให้เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งหญิงงามคนนั้นก็คือ ‘เฮเลนแห่งกรุงทรอย’ และเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์สงครามกรุงทรอยที่ใหญ่โตมโหฬาร 

    ...สังเกตได้ว่าต้นเหตุของปัญหาล้วนเกิดจากผู้หญิงตั้งแต่ต้นจนจบ
  • นักสตรีนิยมยุคบุกเบิกอย่าง Simone de Beauvoir ได้กล่าวถึงการสร้างภาพจำผู้หญิงทำนองนี้ไว้ในหนังสือ The Second Sex (1949) ว่าผู้หญิงถูกนำเสนอให้เป็นสีขาวกับดำ คือถ้าไม่ชั่วร้ายอย่างแม่มด ก็จะเป็นผู้หญิงแสนดีเป็นนางเอกผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องไปเลย เป็นภาพที่สังคมชายเป็นใหญ่สร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมผู้หญิงไว้กับบ้านและห้องครัว ซึ่งถ้าพิจารณากันดีๆ จะเห็นว่าตัวละครหญิงโดยเฉพาะนางเอกทั้งหลายมักไร้อำนาจ ง่อยเปลี้ย ต้องพึ่งพาพระเอกขี่ม้าขาวอยู่เสมอ และถ้าตัวละครหญิงนั้นมีอำนาจก็มักกลายเป็นตัวร้าย ถูก ‘ความเป็นหญิง’ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องไม่มีเหตุผลคอยชักนำให้ก่อเรื่อง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องถูกลงโทษและควบคุมในที่สุด

    กล่าวโดยสรุปคือ การวาดภาพผู้หญิงให้ไม่มีมิติ แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่ดีจะต้องไม่มีอำนาจเป็นของตัวเอง (ต้องพึ่งพาอำนาจจากผู้ชายคือสามีหรือพ่อ และชีวิตจะจบลงอย่างสุขสมบูรณ์ได้ด้วยการแต่งงาน) เพราะนิสัยไร้เหตุผลของผู้หญิงจะชักนำให้พวกเธอออกนอกลู่นอกทางและจบไม่สวยอยู่ร่ำไป (ซึ่งอันที่จริง ความไร้เหตุผลนี้ก็ถูกวาดด้วยอำนาจของผู้ชายนั่นแหละ—คุณผู้อ่านคุ้นกับประโยคที่ว่า ผู้หญิงใช้อารมณ์ ส่วนผู้ชายใช้เหตุผลมั้ยครับ? ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ควบคุมผู้หญิงตั้งแต่บุพกาลจนทุกวันนี้เลย)

    ทั้งหมดนี้เป็นการสั่งสอนตำแหน่งแห่งที่เอาไว้ให้เด็กน้อยดูและเข้าใจว่าผู้หญิงแบบไหนถึงจะเป็นที่ปรารถนา แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้นด้วยกระแสความคิดสารพัด (โดยเฉพาะแนวคิดสตรีนิยมและการเรียกร้องความเสมอภาค) แต่ถ้าลองมองการนำเสนอภาพของผู้หญิงและจุดหมายของผู้หญิงตามสื่อต่างๆ (เช่น ละครไทย) นางเอกและนางร้ายก็ยังคงราบเรียบเป็นเหมือนแสงสว่างและความมืดของกันและกันอยู่ดี

    และแน่นอนว่า ความสุขสมหวังของผู้หญิงยังคงจบลงที่การแต่งงาน ซึ่งนำไปสู่การดำรงตำแหน่ง ‘แม่’ และ ‘เมีย’ เหมือนๆ กันในท้ายที่สุดอยู่ดี
  • “Magic Mirror, who is the fairest one of all?”
    “กระจกวิเศษจงบอกข้าเถิด... ใครงามเลิศในปฐพี?”
    —The Queen

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in