เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WEIRD MATE คู่สัตว์คู่สมSALMONBOOKS
01: การกำหนดเพศ
  • “เด็กเกิดมาได้อย่างไร?”

    คำถามยอดฮิตที่หลายๆ คนอาจจะเคยถามพ่อแม่มาก่อน หรือบางคนก็อาจโดนลูกตัวเองถาม ทำเอาคนเป็นพ่อเป็นแม่เขินอาย ไปต่อไม่ถูก ก่อนที่จะตอบไปอย่างอ้ำๆ อึ้งๆ ว่าเกิดจากความรักระหว่างพ่อกับแม่ เป็นเรื่องแต่งทำนองผึ้ง และดอกไม้ มนุษย์ระเบิดออกในทุ่งข้าวสาลี นกกระสาคาบเด็กมา ฯลฯ

    ไม่ว่ารายละเอียดของเรื่องราวที่เราเล่าจะเป็นอย่างไร คำตอบก็หนีไม่พ้นว่า ‘เด็ก’ เกิดมาจากเพศชายและเพศหญิง เพราะมนุษย์เคยชินกับความคิดที่ว่า เด็กจะต้องเกิดจากการรวมตัวกันระหว่างชายกับหญิง อดัมกับอีฟ หยินกับหยาง การต่อเติมสิ่งที่ขาดหายไประหว่างกัน การเข้าเกลียวกันระหว่างน็อตตัวผู้และน็อตตัวเมีย การเสียบและการถูกเสียบ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเหมือนกฎเหล็กของธรรมชาติที่ถูกเล่าถึงการ ‘ให้กำเนิด’ มนุษย์สักคน

    แต่—ในธรรมชาติ จำเป็นไหมที่เด็กต้องเกิดมาจากเพศชายและหญิงเท่านั้น?

    ทุกวันนี้ เราอาจจะคุ้นกับ ‘การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ’ จนเราไม่รู้ว่าในประวัติศาสตร์สี่พันล้านปขี องสิ่งมีชีวิตบนโลก การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งพันล้านปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งเวลานี้ ก็ยังมีสิ่งมีชีวิตจำนวนไม่น้อยที่สามารถ ‘สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ’ อยู่ นั่นหมายความว่า บรรดาลูกๆ ของสิ่งมีชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องเกิดมาจากการเสียบ และถูกเสียบอย่างที่เราเข้าใจเสมอไป!

    บางคนอาจแปลกใจว่าการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้นเป็นไปได้หรือ?
  • ได้สิครับ และเป็นไปได้มากๆ ด้วย อย่างกล้วยหอมที่เรากินกันทุกวันนี้ก็มาจากต้นกล้วยที่ไม่สามารถสืบพันธ์ุแบบอาศัยเพศได้อีกต่อไป มันถึงไม่มีเมล็ดยังไงล่ะครับ แม้กระทั่งสัตว์จำพวกแมลงหลายชนิดก็สามารถสืบพันธุ์ได้โดยไม่อาศัยเพศ เช่น เพลี้ยอ่อน ที่สามารถคลอดลูกตัวเป็นๆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนตัวต้นฉบับทุกประการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้ หรือแม้แต่สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน กิ้งก่า งู กระทั่งมังกรโคโมโดก็ยังเคยมีการค้นพบว่าพวกมันสามารถวางไข่ได้แม้ไม่เคยได้รับการผสมพันธุ์มาก่อน

    แน่นอนว่า ความสามารถในการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศมีข้อได้เปรียบในแง่ของการดำรงเผ่าพันธุ์ พวกมันเพิ่มจำนวนต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องง้อใคร หรือออกหาคู่ให้ลำบากใจ (แถมไม่ต้องกังวลว่าจะขึ้นคานด้วย)

    ถึงแม้การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะฟังดูเหมือนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่ในประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการแล้ว เรากลับพบว่าสิ่งมีชีวิตที่เคยสามารถสืบพันธุ์ได้แบบไม่อาศัยเพศ นี่แหละเป็นพวกวิวัฒนาการการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศขึ้นมาเอง ส่วนสิ่งมีชีวิตที่เคยสูญเสียการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศไปเป็นแบบไม่ต้องอาศัยเพศกลับสูญพันธุ์ หรือไม่ก็วิวัฒนาการกลับมาสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเหมือนเดิม

    ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะการโคลนตัวเองขึ้นมานั้น แม้จะได้เปรียบในเรื่องของจำนวน แต่นั่นหมายความว่าทายาททั้งหมดจะมีพันธุกรรมเหมือนกันหมด เมื่อไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมก็เท่ากับขาดความยืดหยุ่นในเชิงวิวัฒนาการ ซึ่งการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมก็จะทำให้สิ่งมีชีวิตทุกตัวมีข้อดีเช่นเดียวกันทุกประการ และมีข้อเสียเช่นเดียวกันทุกประการด้วย
  • นั่นหมายความว่า หากเกิดโรคระบาดหรือสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นต้านทานไม่ได้ เผ่าพันธ์ุของพวกมันก็อาจถูกทำลายล้างในพริบตา ต่อให้มีจุดได้เปรียบสักแค่ไหน แต่การมีจุดอ่อนเหมือนๆ กัน ก็ทำให้ถูกทำลายได้ง่ายดายเช่นกัน 

    ด้วยเหตุนี้ โลกเราจึงเหลือแต่สิ่งมีชีวิตที่สามารถคงความหลากหลายทางพันธุกรรม และความยืดหยุ่นต่อสภาพแวดล้อมเอาไว้

    บางทีธรรมชาติอาจกำหนดมาแล้วว่าให้เราเกิดมามี ‘เพศ’ และออกแบบให้เราต้อง ‘ฟีเจอริง’ กัน เพื่อให้เผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว

    นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงคุ้นกับคำตอบที่ว่า “เด็กเกิดมาจากพ่อและแม่” ผ่านการ ‘ฟีเจอริง’ กัน ก็เพราะว่าการฟีเจอริงนั้นมีการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรม ทำให้สามารถคงความหลากหลายทางพันธุกรรมและความยืดหยุ่นต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเอาไว้ได้

    ในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรมทุกกรณีจะสิ้นสุดลงที่การรวมสารพันธุกรรมเอาไว้ระหว่างไข่และสเปิร์ม สารพันธุกรรมในสเปิร์ม์ จะผลิตโดยเพศผู้ ในขณะที่ไข่ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะพัฒนาต่อไปเป็นตัวอ่อนจะผลิตโดยเพศเมีย

    คำถามก็คือ อะไรเป็นตัวกำหนดว่าตัวไหนเกิดมาเป็นเพศผู้ และตัวไหนเป็นเพศเมีย?

    บางคนอาจจะพูดติดตลกว่าให้ดูที่ ‘หาง’ ว่าเห็น ‘หางลำๆ’ หรือ ‘หางรีๆ’ แต่สัตว์หลายชนิดก็ไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอกหรอกครับ
  • เราอาจจะใช้นิยาม ‘ไข่ = เมีย’ ‘สเปิร์ม = ผู้’ ซึ่งก็อาจจะง่ายและสะดวก แต่เราก็ยังไม่ได้คำตอบของคำถามที่ว่า “อะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งที่กำหนดว่า ‘ใครจะสร้างไข่ ใครจะสร้างสเปิร์ม’?” ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่จะตอบได้ง่ายๆ เลยนะครับ เพราะรายละเอียดของการกำหนดเพศนั้นลึกลับและซับซ้อนยิ่งนัก

    มนุษย์เราอาจจะเคยชินกับการแบ่งภาระหน้าที่ที่ชัดเจนระหว่าง ‘เพศผู้’ และ ‘เพศเมีย’ ซึ่งกำหนดโดยโครโมโซม X และ Y เราถูกกำหนดบทบาทชัดเจนว่าใครจะมีรังไข่ และใครจะมีอัณฑะโดยโครโมโซมเพศของเรา

    แต่สัตว์หลายชนิดกลับมีวิธีที่ต่างกันออกไป

    แถมบางชนิด ยังเลือกใช้วิธีหิ้วทั้งไข่และอัณฑะติดตัวไปด้วยตลอดเวลา

    กะเทยแท้

    เวลาได้ยินคำว่า ‘กะเทย’ เราคงจะนึกถึงบุรุษเพศชายที่มีใจเป็นสาว คือเกิดมาพร้อมกับจู๋ แต่อาจเลือกที่จะทำให้ไม่มี หรือพยายามไม่สนใจว่ามี ซึ่งเราคงคิดว่ากะเทยมีเฉพาะในมนุษย์ แต่จริงๆ แล้วในทางชีววิทยา สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็มี ‘กะเทย’ เหมือนกัน แถมแอดวานซ์กว่าของมนุษย์ด้วย

    เพราะสัตว์ที่เป็นกะเทยไม่ได้หมายถึงเพียงสัตว์เพศผู้ที่อยากจะเป็นเพศเมีย แต่หมายถึงสัตว์ที่เกิดมาแล้วมีทั้งอวัยวะเพศผู้และเพศเมียในตัวเดียวกัน!

    ถึงแม้ว่าในการสืบพันธุ์จะต้องมีเพศพ่อและเพศแม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งสองเพศต้องแยกกันเสมอไป ดูได้จากสัตว์จำพวกกะเทย (Hermaphrodite) อย่างไส้เดือนดิน ทาก หนอนตัวกลม ปลาการ์ตูน ปลานกแก้ว ปลาไหลมอร์เรย์ ฯลฯ ที่เลือกจะแบกทั้งไข่และสเปิร์มไปพร้อมๆ กัน
  • การที่สัตว์มีเพศสภาพแบบ 2 in 1 อาจฟังดูยุ่งยาก ลำบากและแปลกประหลาด แต่สำหรับพวกสัตว์แล้ว การเป็นกระเทยถือว่าได้เปรียบ เพราะนั่นหมายความว่าพวกมันทั้งหลายสามารถอึ๊บ (และถูกอึ๊บ) กับอีกตัวที่เจอได้อย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับสัตว์ที่เคลื่อนที่ได้ช้ามากๆ จนไม่รู้ว่าจะเจอตัวอื่นอีกเมื่อไรอย่าง ‘ทาก’

    ทากเป็นสัตว์จำพวกหอยที่สูญเสียเปลือกแข็งไปทั้งหมด ลำตัวเต็มไปด้วยเมือก มีก้านสี่ก้านอยู่ที่หัว สองก้านบนเป็นตา สองก้านล่างเอาไว้ดมกลิ่น ทากเคลื่อนที่ได้โดยการคลานไปบนพื้นอย่างช้าๆ ทิ้งคราบเป็นเมือกเอาไว้ตามทาง และทากทุกชนิดเป็นกะเทย มักจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ (จู๋ จิ๋ม และอื่นๆ) อยู่บนหัวหลังก้านตาข้างใดข้างหนึ่ง

    ในกรณีของ ‘ทากเสือดาว’ (Leopard Slug) หลังจากทากกะเทยทั้งสองตัวเกี้ยวพาราสี เลียและเล้าโลมกันไปมาหลายชั่วโมงแล้ว พวกมันทั้งสองจะปีนหาต้นไม้หรือพื้นที่สูง ห้อยตัวลงมาตามสายเมือกที่ผลิตขึ้นมาเองจากใบไม้เบื้องบน ขณะที่กำลังพันกันเป็นเกลียวอยู่กลางอากาศ มันก็จะยืดจู๋ออกมาพันกันนอกลำตัว ซึ่งเมื่อจู๋ที่พันกันอยู่นี้แลกเปลี่ยนสเปิร์มกันเป็นที่เรียบร้อย ทากทั้งสองก็จะพากันแยกย้ายกลับไปหาที่วางไข่นับร้อยๆ ฟองที่อยู่ในตัวพวกมันเป็นลำดับต่อไป

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in