เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เธอ เขา เรา ผม 2 ฉบับ Urbanus CollectionSALMONBOOKS
บท 2 - เหตุผลของหมา



  • ว่ากันว่า ศัตรูของนักปั่นจักรยานที่ร้ายกาจที่สุดก็คือหมา

    ผมเคยเจอหมาวิ่งไล่ขณะขี่จักรยานอยู่หลายครั้ง ครั้งหนึ่งเจอติดกันสามตัวในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ตัวแรกเป็นหมาไทยตัวใหญ่ท่าทางดุมาก ฟันขาวเขี้ยวโง้ง โชคดีที่เจ้าของหมาอยู่แถวนั้น เมื่อเห็นมันคำรามแยกเขี้ยววิ่งเข้าใส่ เจ้าของหมาแค่ตวาดคำเดียวมันก็หางจุกตูดวิ่งกลับเข้าที่ไปในบัดดล

    ตัวที่สองเป็นหมาขนาดย่อมลงมาหน่อย เจ้าตัวนี้ไม่เห่า แต่เดินรี่เข้ามาเงียบๆ ชนิดที่พูดได้ว่า ‘กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา’ให้รู้กันเลยทีเดียว สิ่งที่ผมทำจึงคือการลงจากจักรยาน เอาจักรยานขวางตัวเองกับหมาเอาไว้ แล้วทำท่าเขวี้ยงก้อนหินใส่มันจึงหยุดชะงัก ทำให้เกิดช่องว่างที่สามารถกระโดดขึ้นจักรยานแล้วปั่นหนีไปอย่างรวดเร็วได้

    ตัวสุดท้ายเป็นหมาจิ๋ว เข้าใจว่าเป็นพุดเดิ้ลพันธุ์เล็ก แม้วิ่งสู้ฟัด แต่ความที่มันขาสั้น ผมจึงปั่นจักรยานหนีได้สบายๆ ปล่อยให้มันยืนหอบแฮ่กๆ อยู่บนถนนเห็นอยู่แต่ไกล

     

  • ด้วยความเป็นมนุษย์นักปั่น ผมจึงเอา ‘ตัวตน’ ของตัวเองไป ‘ตัดสิน’ หมา และคิดว่าหมาช่างเป็นสัตว์ที่ไร้เหตุผลเสียจริง

    ทำไมหมาต้องเอาแต่วิ่งไล่กัดสิ่งที่เคลื่อนไหวได้เร็วพอประมาณอย่างจักรยานด้วย (ฟะ) ทีมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ไม่เห็นมันวิ่งไล่ฟัดบ่อยครั้งเหมือนจักรยานเลย

    เพราะฉะนั้นผมจึงคิด (เล่นๆ) อยู่บ่อยๆ ว่าถ้าเป็นไปได้ เวลาหมาวิ่งไล่จักรยานนั้น อยาก ‘หยุด’ การปั่น ‘หยุด’ การเดินทาง ‘หยุด’ การเคลื่อนไหว แล้วลงไป ‘คุย’ กับหมา เพื่อถามพวกมันว่าพวกมันมี ‘เหตุผล’ อะไรในการที่ต้องวิ่งไล่จักรยานอยู่อย่างนี้

    ซึ่งหากทำจริงๆ—คนก็คงหาว่าบ้า!

    ที่จริงแล้วการใช้เหตุผลของมนุษย์เป็นเรื่องค่อนข้างสลับซับซ้อน คำว่า Reason หรือ Rationality นั้น มีผู้บอกว่ามาจากภาษาละติน หมายถึง Ratio หรือแท้จริงแล้วคือ ‘สัดส่วน’ ของความสัมพันธ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเราใช้ ‘เหตุผล’ จึงหมายถึงการที่เรา ‘ตระหนัก’ ถึงอัตราส่วนหรือสัดส่วนของความสัมพันธ์ต่างๆ โดยภาพรวม พูดอย่างหยาบๆ การให้เหตุผลมักจะมีอยู่สองแบบ ถ้าใช้ภาษาวิชาการ (ที่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไรนัก) ก็จะมีแบบอุปนัยกับแบบนิรนัย ซึ่งถ้าพูดแบบชาวบ้านๆ ธรรมดาๆ หน่อยก็คือแบบที่เอาเรื่องเล็กไปสรุปเรื่องใหญ่ กับแบบที่เอาเรื่องใหญ่ไปสรุปเรื่องเล็ก

    บางคนบอกว่า โอ๊ย! หมาน่ะ ยังไงมันก็เป็นหมา หมามันมี ‘เหตุผล’ ของมัน และเหตุผลของหมาก็คือการที่มันจะต้องวิ่งไล่สิ่งที่เคลื่อนไหวทั้งหลายทั้ง ปวงตามสัญชาตญาณของมันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนักปั่นจักรยานก็ต้องทำใจเอาไว้ก่อนเวลาจะเจอหมา เพราะหมาทุกตัวก็อยากวิ่งไล่จักรยานกันทั้งนั้น ดังนั้น หมาที่เห็นอยู่ลิบๆ ข้างหน้านั่น—มันต้องกัดคุณแน่ๆ ถ้าจะให้ดีก็เตรียมขนมไว้โยนให้มัน หรือไม่ก็เปลี่ยนเส้นทางเสียเถอะ!

    หรือไม่อีกที บางคนก็มองดู ‘น้องหมา’ แสนน่ารักที่นั่งอยู่ใกล้ๆ แล้วบอกว่า ไม่จริงหรอก น้องหมาออกจะน่ารัก ถึงมันจะวิ่งไล่จักรยาน มันก็วิ่งไล่เพราะเอ็นดู เพราะอยากเล่น หรือเพราะเหตุผลบางอย่างที่น่ารักๆ ประมาณนั้น ไม่ใช่เพราะมันมุ่งร้ายหมายขวัญอยากจะไล่อยากจะกัดอยากจะฆ่าอยากจะแกงใครหรอก เพราะฉะนั้น น้องหมาที่เห็นวิ่งเล่นอยู่ลิบๆ ข้างหน้าโน่นน่ะมันไม่กัดคุณหรอก มันอาจจะวิ่งไล่คุณบ้าง แต่ก็แค่เพื่อความสนุกเท่านั้นเอง จงสนุกไปกับหมา แล้วชีวิตของคุณก็จะดีเอง หัดมอง ‘หมา’ ในแง่ดีบ้างได้ไหม!

    ทั้งสองแบบนี้พูดได้ว่าเป็นการให้เหตุผลที่เอา ‘ภาพใหญ่’ มาสรุป ‘ภาพเล็ก’ ที่เกิดขึ้นนั่นเอง

    ที่ จริงแล้ว การให้เหตุผลแบบเอาภาพใหญ่มาสรุปภาพเล็กนั้น มักจะเกิดขึ้นเมื่อคนเราเอา ‘ความรู้พื้นฐาน’ ซึ่งเป็นทั้ง ‘ความเชื่อ’ หรือ ‘กฎ’ ซึ่งก็คือสิ่งที่ยอมรับว่าเป็น ‘ความจริง’ เอามาเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยอ้างอิงกลับไปหาข้อสรุปว่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้

  • ดังนั้นวิธีการแบบนี้จึงมักเกิดขึ้นตาม ‘ต้นทุน’ (Preconceptions) บางอย่าง ที่ฝังแฝงอยู่ในความคิดความเชื่อของคนคนนั้น (เช่น การเชื่อแบบ ‘สุดขั้ว’ สองข้างว่าหมามีสัญชาตญาณดุร้ายอยู่แล้วโดยธรรมชาติ หรือน้องหมาเป็นสัตว์น่ารักไม่ทำร้ายใคร)

    แต่ถ้าคิดวนกลับไปอีกรอบหนึ่ง เราก็จะพบว่า ‘ต้นทุน’ แม้ส่วนหนึ่งมาจาก ‘คำบอกเล่า’ จากสังคม วัฒนธรรม การเรียนรู้การเพาะบ่มในเชิงหลักการ (เช่น เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุดในโลก) แต่หากจะทำให้ ‘ความจริง’ นี้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถลุกขึ้นมาอ้างได้ว่าหมาเป็นอย่างไร ส่วนมากคนคนนั้นจะต้องมี ‘ประสบการณ์ย่อย’ ในเรื่องนั้นๆ มามากพอสมควร สั่งสมกระทั่งสามารถนำ ‘เรื่องเล็ก’ มารวบรวมปะติดปะต่อให้เป็น ‘เรื่องใหญ่’ ขึ้นมาได้ ยิ่งมีเรื่องเล็กที่สอดรับกับความคิดความเชื่อในเรื่องใหญ่เกิดขึ้นมากแค่ ไหน ก็ยิ่งทำให้เรื่องใหญ่กล้าแข็งมากขึ้นเพียงนั้น ดังนั้นการให้เหตุผลสองแบบนี้จึงมักจะวนเวียนเป็นวงจรอยู่เสมอ

    หมาที่เห็นลิบๆ อยู่ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้นไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าเรามีอาการ ‘ทึกทัก’ ไปล่วงหน้าเสียแล้ว ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งถ้ามองในแง่ของวิวัฒนาการแล้ว กลุ่มคนที่มองว่าน้องหมาน่ารักน่าจะเกิดทีหลังกลุ่มคนที่มองว่าหมาดุร้าย ชอบวิ่งไล่จักรยาน เพราะกลุ่มคนที่มองว่าหมาดุน่าจะ ‘เอาตัวรอด’ จากหมาที่ดุจริงๆ ได้มากกว่าเพราะมีการเตรียมตัวไว้พร้อมแล้ว ในขณะที่กลุ่มที่มองว่าน้องหมาน่ารักนั้น เป็นผลผลิตของสังคมที่กล่อมเกลาทั้งคนและหมาให้ ‘เชื่อง’ ได้พอๆ กัน จึงจะสามารถทึกทักล่วงหน้าถึงความน่ารักของหมาและรับรู้ถึง ‘ความปลอดภัย’ ของสังคมน้องหมาได้โดยบริสุทธิ์ใจ

    คนกลุ่มแรกจึงเป็นกลุ่มคนที่นำประสบการณ์ในเชิงวิวัฒนาการยุคแรกมาใช้ นั่นคือถ้าไม่ ‘หนี’ ก็ต้อง ‘สู้’ ในขณะที่คนกลุ่มหลังนั้นอาศัยอยู่ใน ‘โครงสร้าง’ ของสังคมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความปลอดภัยจากการคุกคามของหมาจนสามารถอยู่ ร่วมกับหมาที่ (เคย) ดุร้าย (ตามความเชื่อของคนที่เห็นว่าหมาเป็นสัตว์ผู้ล่า)

    เรามักชอบเผลอคิดแบบ ‘สุดขั้ว’ สองข้างว่าคนทุกคนแบ่งออกเป็นสองกลุ่มนี้ข้างใดข้างหนึ่งเสมอ แต่ในสภาวะปกตินั้นไม่มีหรอกครับ คนสองกลุ่มที่เชื่ออะไรอย่างสุดจิตสุดใจขาดดิ้น เช่น เชื่อว่าหมาดุอย่างเดียว หรือหมาเป็นน้องหมาน่ารักอย่างเดียว เพราะคนทั้งสองกลุ่ม ต่างก็เติบโตมาในสังคมมนุษย์ที่มี 'ต้นทุน' ไม่แตกต่างกันเท่าไร เพราะฉะนั้นแต่ละคนจึงต้องเคยเจอ (และให้ ‘ความหมาย’ กับหมา) มาแล้วทั้งหมาดีหมาดุ แต่ถ้าเมื่อไรเกิดสภาวะ ‘แปลกแยก’ ขึ้น คนสองกลุ่มนี้เกิด ‘ยึดมั่น’ ในหลักการให้เหตุผลของตัวเอง โดยคิดว่าเหตุผลของตนนั้นวางตัวอยู่บน ‘ความจริง’ อันยิ่งใหญ่แล้วละก็ จะเป็นไปได้อย่างมากทีเดียวที่คนรักหมากับคนเกลียดหมาจะ ‘เหยียด’ และทำให้อีกฝ่ายหมดความเป็นมนุษย์กันเองด้วยเรื่องหมาๆ แล้วลุกขึ้นมา ‘กัด’ กันด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอหมา

    ผมเคยไปงานแต่งงานงานหนึ่ง ผู้ใหญ่ในงานอวยพรคู่บ่าวสาวที่มีลักษณะเป็น ‘นักคิด’ ด้วยกันทั้งคู่ว่า เวลาอยู่ด้วยกันนั้น—อย่าใช้ ‘เหตุผล’ มากเกินไป ให้ใช้ทั้ง ‘ความเมตตา’ และ ‘ความเคารพ’ ซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องเลือกว่าจะเมตตาได้อย่างเดียว ห้ามเคารพ หรือเคารพได้อย่างเดียวห้ามเมตตา เพราะความเคารพและเมตตานั้นเมื่อใช้ผสมผสานกันโดยไม่ต้องเลือกแล้ว จะทำให้ เราข้ามพ้นการใช้เหตุผลไปมองเห็นความงามและคุณค่าของการอยู่ร่วมกันได้

  • แล้วเราก็จะ ‘ไม่เห็น’ หมาตัวจริงๆ ตัวเป็นๆ ที่ยืนรอเราอยู่ตรงโค้งข้างหน้าลิบๆ โน่น เพราะเราจะมี ‘ความสามารถ’ ในการเห็นได้แค่ ‘หมา’ ใน ‘จินตนาการ’ ของตัวเราเองที่เราทึกทักด้วย Preconceptions เอาไว้แล้วตั้งแต่ต้น

    ดังนั้น ก่อนที่จะไปถึงหมาจริงๆ คนแบบนี้ก็อาจจะเริ่มทะเลาะกับเพื่อนร่วมทางเสียก่อนแล้ว โดยใช้อคติและมายาคตเกี่ยวกับหมาที่มี โดยนำ ‘การให้เหตุผล’ มาใช้ต่อกันได้อย่างเก่งกาจสลับซับซ้อนเสียด้วย

    เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาพที่ปรากฏจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการเอาแต่กัดกันเหมือนต่างฝ่ายต่างแปลงร่างเป็นหมา—โดยไม่มีโอกาสเห็นความจริงของ ‘หมา’ หน้าไหนทั้งนั้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in