เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sakura DramaChaMaNoW
04: พัฒนาการของละครสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่น
  • ละครสืบสวนสอบสวนเป็นแนวละครที่อยู่คู่กับวงการละครญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน และถ้าพูดถึงแนวละครญี่ปุ่นที่คนไทยหลายคนรู้จัก ก็คงหนีไม่พ้นละครแนวนี้เพราะเป็นแนวละครที่เราพบเห็นได้บ่อย มีพล็อตที่สนุก น่าติดตาม หักมุมคนดูได้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งญี่ปุ่นเองก็มีวัตถุดิบในการสร้างละครแนวนี้เยอะแยะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นบทละคร นวนิยาย การ์ตูนมังงะ หรือแม้แต่จากเรื่องจริงก็มี เลยไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมญี่ปุ่นถึงมีละครสืบสวนสอบสวนออกมามากมายขนาดนี้ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป จะหยุดอยู่แค่พล็อตเดิมๆ ไม่ได้แล้ว ละครสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่นก็มีพัฒนาการเพิ่มความน่าสนใจขึ้น วันนี้มาดูกันค่ะว่า แนวละครอันเลื่องชื่อของญี่ปุ่น มีพัฒนาการ การประยุกต์ เพิ่มความน่าสนุกให้กับละครอย่างไรบ้าง มาสืบเรื่องราวไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

    ละครสืบสวนสอบสวนกับแนวนักสืบ

    ละครแนวสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่นในยุคแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพวกละครนักสืบ เนื้อหาก็จะเน้นอยู่กับเรื่องราวคดีฆาตกรรม ตัวละครเด่นๆ ก็จะเป็นเหล่านักสืบ หรือตำรวจยอดอัจฉริยะ มาไขคดียากๆ ให้กระจ่างขึ้น พล็อตก็จะออกแนวหักมุม สับขาหลอกคนดูนอกจากนี้ยังลักษณะเด่นอีกอย่างก็คือ จะประกอบไปด้วยคดีย่อยๆ ที่จบในตอนค่ะ แต่ยังมีโครงเรื่องใหญ่ที่ยังคงดำเนินคู่ขนานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบเรื่อง ละครแนวนักสืบญี่ปุ่นที่โด่งดัง ก็เช่น เรื่อง Mr. Brain, BOSS, Unfair, Strawberry Night เป็นต้นค่ะ

    ถือกำเนิดฮีโร่หน้าใหม่ที่ไม่ใช่แค่นักสืบเท่านั้น

    ต่อมาละครสืบสวนญี่ปุ่น ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่ว่า ผู้ไขคดีจะต้องเป็นตำรวจเท่านั้น แต่สามารถเป็นยอดอัจฉริยะในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ได้อีก เช่น นักวิทยาศาสตร์นักคณิตศาสตร์ พ่อบ้าน หรือเจ้าหน้าที่รักษาระบบความปลอดภัยก็ยังมีค่ะ ซึ่งละครแนวนี้ จะมีตำรวจฝีมือธรรมดาๆ มาขอความช่วยเหลือจากคนเหล่านี้ให้มาช่วยสืบคดีอีกทีนึงค่ะ เช่นเรื่อง Galileo ละครสืบสวนที่มีตัวละครเอกเป็นนักฟิสิกส์ ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาช่วยตำรวจไขคดี เรื่อง Hard Nut นักศึกษาสาวคณะคณิตศาสตร์ ที่มาช่วยตำรวจหนุ่มคลี่คลายคดี เรื่อง Nazotokiwa Dinner no Ato de ตำรวจสาวไฮโซที่ไขคดีได้จากการช่วยเหลือของหนุ่มพ่อบ้านอัจฉริยะ หรือจะเป็นเรื่อง Heya no kakattaHeya คดีห้องปิดตายที่ได้เจ้าหน้าที่รักษาระบบความปลอดภัยมาช่วยปิดคดีปริศนา
  • ละครสืบสวนสอบสวนกับเรื่องเหนือธรรมชาติ

    เรื่องเหนือธรรมชาติกับเรื่องสืบสวนที่มี “ข้อเท็จจริง” เป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายปมละคร ดูไม่น่าจะเข้ากันได้ใช่ไหมคะ แต่ละครญี่ปุ่นกลับนำ 2 เรื่องนี้มาเจอกันได้อย่างน่าสนใจอย่างเรื่อง Keizoku SPEC เปิดเรื่องขึ้นมาด้วยคำพูดชวนให้สงสัยว่า “สมองคนเราใช้งานเพียงแค่ 10% ที่เหลือ 90% ยังไม่ได้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ...ถ้าเกิดคนที่มีพลังพิเศษ ก่ออาชญากรรมขึ้นมา โดยกฏหมายไม่สามารถจัดการได้ จะเกิดอะไรขึ้น” ทุกคดีที่เกิดขึ้น จะเกิดจากฝีมือคนที่มีพลังพิเศษ เช่น หูทิพย์ อ่านใจคนออก พลังหยุดเวลา พลังเข้าสิง เป็นต้น เนื่องจากกฎหมายทั่วไป ไม่สามารถเอาผิดกับคนกลุ่มนี้ได้ เลยทำให้เกิดการก่อตั้งหน่วยสืบสวนพิเศษขึ้นมาจัดการคดีอาชญากรรมนี้ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือ ได้นำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ เช่น ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทฤษฎี Twin Paradox มาเชื่อมโยงกับเรื่องเหนือธรรมชาติด้วยค่ะ!

    ถึงเวลาที่ละครสืบสวนสอบสวนหันมาล้อกันเอง!

    พอมีละครแนวสืบสวนสอบสวนมาเยอะแยะหลายเรื่อง จนบางเรื่องคนดูก็เริ่มจับไต๋ได้ก่อนที่จะถูกคนดูล้อ ก็เลยต้องหันมาล้อตัวเองก่อน! และนั่นทำให้เกิดละครญี่ปุ่นสืบสวนแนว Parody เรื่อง Watashi no KirainaTantei เป็นเรื่องราวของนักศึกษาสาวผู้ร่ำรวย ที่คลั่งไคล้เรื่องราวลึกลับและสืบสวนมาก วันหนึ่งเธอเลยปล่อยสำนักงานให้นักสืบเอกชนคนหนึ่งเช่าในราคาถูก เพื่อตัวเองจะได้เข้ามาทำเนียน เข้าไปเสพเรื่องราวสืบสวนที่เธอชื่นชอบ ละครเรื่องนี้ก็จะมีการแซว ล้อเลียนละครสืบสวนญี่ปุ่น เช่น นักสืบชอบทำท่าเก๊กหล่อตอนไขคดี ฉากสารภาพบาป ระบายความใจของคนร้าย หรือจะเป็นเรื่องนาทีที่ 33 ของละครสืบสวน ช่วงเวลาในการไขคดีลับ ถ้าคดีถูกคลี่คลายก่อนนาทีนี้ แสดงว่ายังไม่ใช่การคลี่คลายที่แท้จริงค่ะ ต้องมีการสับขาหลอกแน่นอน ก็ถือว่าเป็นละครที่สร้างสีสันให้กับวงการละครสืบสวนญี่ปุ่น แต่เห็นล้อเลียนเล่นๆ แบบนี้ แต่คดีในเรื่องนี่ไม่ใช่เล่นๆ เลยค่ะ 
  • ปัจจุบันกับละครสืบสวนสอบสวนแบบไม่นองเลือด!

    ใครว่าละครสืบสวนสอบสวนต้องมาคู่กับเหตุฆาตกรรม หรือต้องมีใครสักคนนอนตายจมในกองเลือดเสมอ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาพล็อตเพิ่มขึ้น ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นละครแนวนักสืบเสมอไป แต่ได้เอาความเป็นละครสืบสวนสอบสวนมาผสมกับละครแนวอื่นๆ อย่างเช่น ละครชื่อดังอย่างเรื่อง Hanzawa Naoki เรื่องราวของนายธนาคารที่ต้องหาทางเอาคืน สะสางความอยุติธรรมในองค์กรให้ได้ เรื่องนี้เป็นการผสมผสานพล็อตระหว่างอาชีพนายธนาคารและการสืบสวนไว้ด้วยกันค่ะ ในสมัยที่คนแต่งเรื่องนี้เรียนมหาวิทยาลัย เขาเคยอยู่ชมรมวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน ชื่นชอบนวนิยายแนวนี้มาก และยังเคยทำอาชีพนายธนาคารมา 7 ปี เลยเกิดไอเดียเอาทั้งสองสิ่งนี้มาผสมรวมกันกลายเป็นนวนิยายและละครชื่อดังของญี่ปุ่น

    หรือจะเป็นเรื่อง BibliaKoshodou no JikenTechou เรื่องราวของชิโนคาว่า ชิโอริโกะหญิงสาวเจ้าของร้านหนังสือมือสองแห่งหนึ่ง ผู้มีความรู้เรื่องหนังสือเก่าอย่างแตกฉาน และได้ใช้ความรู้นี้ในการไขคดีปริศนาที่เกี่ยวกับข้องกับหนังสือ พร้อมกับแขกผู้มาเยือน

    แต่ก็ใช่ว่าละครแนวสืบสวนสอบสวนแบบนักสืบ ไขคดีฆาตกรรมจะหมดไปนะคะ ละครแนวนี้ก็ยังอยู่คู่กับวงการละครญี่ปุ่นมาโดยตลอดค่ะ เพียงแค่เริ่มมีจำนวนลดน้อยลง และเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจ ก็จะมีการปรับพล็อตของคดีแต่ละคดีให้มีความยากมากขึ้น หรือไม่ก็นำไปผสมกับละครแนวอื่นอย่างที่เล่าไปข้างต้นค่ะ

    ตรงจุดนี้ทำให้เราเห็นว่า ในวงการละครญี่ปุ่นเอง ก็พยายามพัฒนาพล็อตละครต่อไปเรื่อยๆ ให้มีความแปลกใหม่ ไม่ใช่ว่าเคยสืบสวนยังไงก็คงสืบสวนยังงั้นจนคนเดาพล็อตได้ แต่ต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้คนดูเกิดความรู้สึกคาดไม่ถึง เดาอะไรไม่ได้ นอกจากจะติดตามไปตลอดจนถึงตอนจบและนี่อาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของละครสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่นก็ได้ค่ะ ที่ไม่ว่าจะดูเรื่องไหน ในยุคไหน ก็ไม่รู้เบื่อเลยจริงๆ 



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in