เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Hand me that please.Pployjuly
"Reborn baby doll" ในสังคมไทย ที่เคยเป็นมากกว่าตุ๊กตาฝึกคุณแม่อุ้มลูก
  • การกอดตุ๊กตาในที่สาธารณะหรือการอุ้มตุ๊กตาเดินออกจากบ้าน หรือแม้กระทั่งการพูดคุยกับตุ๊กตาของเหล่าวัยทำงานจนถึงวัยกลางคน ตามที่เราคิด มันคือกิจกรรมผ่อนคลายที่คนส่วนใหญ่ทำอยู่ที่บ้าน ที่ห้องนอน หรือในที่ๆเป็นส่วนตัวซะมากกว่า ....แต่ความคิดนี้เปลี่ยนไปเมื่อตุ๊กตาเหล่านั้นถูกนิยามตามความศรัทธาของผู้เป็นเจ้าของว่าคือ "กุมารทอง"

                        หากย้อนกลับไปช่วงสองปีที่แล้ว กระแสการเลี้ยงกุมารทอง ที่อาจถูกเรียกว่ากุมารทองสายแบ๊ว (เข้าใจได้ง่ายเลยว่าต้องหน้าตาน่ารัก บ้องแบ๊ว) ทำให้เราชินตากับการเห็นผู้คนอุ้มตุ๊กตาน่ารักเหล่านี้ออกจากบ้านกันอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งตุ๊กตาที่เราเห็นกันนั้นคือตุ๊กตาในตระกูล "Reborn baby doll" เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณปลายปี ค.ศ.1990 และเริ่มมีการจำหน่ายทางเว็บไซต์ออนไลน์ครั้งแรกในปี ค.ศ.2002 ในเว็บไซต์อีเบย์(eBay) โดยเริ่มแรกเป็นที่นิยมในกลุ่มของนักสะสมตุ๊กตาเท่านั้น ซึ่งตุ๊กตาทารกเสมือนจริงนี้อันที่จริงได้พัฒนามาจาก ตุ๊กตาทารกที่ใช้สำหรับให้คุณแม่ฝึกอุ้มลูกในโรงพยาบาล  

    (www.pinterest.com/pin/562246334719028921/)
                     ถามถึงราคา....เว็บไซต์ที่จำหน่ายตุ๊กตา Reborn baby doll ในประเทศไทยนั้น ระบุราคาตุ๊กตาต่ำที่สุดอยู่ที่ 8,000บาท และมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 38,000บาท ซึ่งตุ๊กตาที่ขายในเว็บไซต์ของไทยทั้งหมดนั้นเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ  แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายย่อมเป็นชนชั้นกลางถึงสูง (จำกลุ่มเป้าหมายนี้ไว้นะคะ)


     ทีนี้ตุ๊กตาแสนน่ารักเหล่านี้ มาเกี่ยวข้องกับการทำกุมารทองได้อย่างไร? 

              (http://www.maesod.com)                   
                      เราทราบกันดีว่าในสังคมไทยมีความเชื่อเรื่องกุมารทองมาอย่างยาวนาน แต่สภาพสังคมเองเปลี่ยนแปลงทุกวัน สำนักปลุกเสกต่างๆ ก็หาการตลาดใหม่ๆ จุดขายใหม่ๆ เพื่อให้ตอบรับกับความต้องการในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปได้ดีกับกุมารทองรูปแบบใหม่นี้ การใช้ตุ๊กตาหน้าตาน่ารักที่สามารถอุ้มไปไหนมาไหนได้โดยอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการอุ้มตุ๊กตาเรซิ่นเด็กนั่งยิ้มถือถุงเงินถุงทองแบบแมสๆของสังคมไทยแต่เดิมที่นิยมกันมา  มากไปกว่านั้นตัวตุ๊กตาเองมันบอกราคาของมันอยู่แล้ว นอกจากน่ารักแล้วคนอุ้มดูมีเงินเหลือพอจะซื้ออีกต่างหาก 

                      แล้วแบบนี้จะมีแต่คนมีเงินหรอที่จะซื้อตุ๊กตาเหล่านี้ (ในที่นี่คือเมื่อผ่านกระบวนการทำให้เป็นกุมารทองแล้ว) สรุปคือกลุ่มคนทำมาหากิน แม่ค้า ก็ถือว่าเรื่องนี้เป็นการลงทุนด้วยเหมือนกัน คือใช้เงินทุนซื้อตุ๊กตา หรือเรียกว่าบูชากุมารทองสายแบ๊วนี้ โดยมีความเชื่อว่ากุมารทองดังกล่าวจะได้กำไรเป็นการทำให้ขายของได้ดีขึ้น  มีโชคลาภ เป็นต้น

    ......เห็นได้ชัดว่าราคาที่สูงของตุ๊กตาไม่มีผลให้ความต้องการครอบครองลดน้อยลง เมื่อการตัดสินใจอยู่ภายใต้ความเชื่อของผู้ซื้อ..... 

                      ประเด็นนี้มองได้ลึกไปอีกถึง ความไม่มั่นคงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ในแง่ที่เศรษฐกิจและสังคมไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคมได้ทุกเรื่อง คนบางกลุ่มจึงใช้ความเชื่อบางอย่างทำหน้าที่เป็นที่พึ่งให้กับตนเอง เรียกได้ว่าเป็นที่พึ่งทางจิตใจเพื่อต่อต้านความไม่มั่นคงในชีวิต ในที่นี้ก็คือความเชื่อในเรื่องกุมารทอง ที่เกี่ยวเนื่องกับการคาดหวังให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การงาน ความรัก เป็นต้น...


     คำถามต่อไป...ทำไมถึงเป็นกุมารทองรูปแบบใหม่นี้ถึงได้ดังจนกลายเป็นกระแสสังคมไทยได้มากมายขนาดที่ ล้างสมองคนส่วนใหญ่ไปเลยว่าถ้าเห็นตุ๊กตาหน้าตาแบบนี้คือกุมารทองแน่นอน (ทั้งที่มันเป็นของสะสมก็ได้นะ) 
                        ช่วงปีถึงสองปีที่แล้ว Social media มีอิทธิพลต่อสังคมมาก (รวมมาถึงตอนปัจจุบันนี้ด้วย) เราจะเห็นดาราหลายๆคน ย้ำว่าหลายๆคน อุ้มตุ๊กตา "กุมารทองรูปแบบใหม่" ไปไหนมาไหน หรือโพสลงพื้นที่สาธารณะต่างๆ พร้อมนัยยะสื่อถึง"ผล" ที่ได้จากการ "เลี้ยง" กุมารทองเหล่านั้น ว่ารวยขึ้นบ้าง ของานก็ได้งานบ้าง หรือได้สิ่งที่ต้องการตามที่ขอ ฯลฯ ซึ่งเพียงเท่านี้ก็มากพอให้กุมารทองหน้าตาบ้องแบ๊ว ติดเทรนต้นๆของการพูดถึงได้แล้ว

    (http://www.siamdara.com/hot-news/thai-news/1065412)

                     ประเด็นนี้ก็แสดงให้เห็น "ระบบตลาดความเชื่อ" ในสังคมไทย คือในยุคสมัยปัจจุบันสิ่งที่มีอิทธิพลกับคนในสังคม ก็คือสื่อ และข่าวสารต่างๆ เพราะฉะนั้นการที่มีผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นผู้เลี้ยงกุมารทองสายแบ๊ว หรือมีข่าวสารเรื่องดังกล่าว จึงทำให้กุมารทองสายแบ๊วสามารถเข้าถึงคนในสังคมได้ง่ายจากช่องทางนี้นั่นเอง
                        มากไปกว่านั้นยังเห็นถึงกระแสบริโภคนิยม คือการที่คนในสังคม ความคิดที่ว่าเห็นคนอื่นมีแล้ว มีความรู้สึกว่าอยากมีเหมือนคนอื่นบ้าง ถึงแม้กำลังทรัพย์จะไม่อำนวยต่อการมีของสิ่งนั้น แต่เมื่อได้มีของสิ่งนั้นแล้วจะรู้สึกถึง "ความพอใจ" มีความสุข ในกรณีกุมารทองสายแบ๊วนั้นความสุขจากการที่ได้เลี้ยงกุมารทองนี้ ไม่ได้อยู่ที่กุมารทองให้ในสิ่งที่ต้องการเท่านั้น แต่เป็นเพราะทำให้ผู้เลี้ยงมีความรู้สึกว่าตนเองทันสมัย ดูเป็นคนมีฐานะ มีรสนิยม เข้าสังคมได้ง่าย ทำให้ตนเองรู้สึกว่าได้อะไรบางอย่างที่พึงปรารถนา ถือเป็นการตอบสนองความต้องการของตนเองภายในจิตใจนั่นเอง


                 สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การได้ครอบครองกุมารทองที่หน้าตาน่ารักนี้ ทำให้เกิดความรู้สึก "อบอุ่นทางจิตใจ" เปรียบเสมือนการได้เลี้ยงลูกตามความเชื่อของผู้เลี้ยง ด้วยวิธีปฏิบัติต่อกุมารทองดังกล่าว เหมือนการเลี้ยงเด็ก เช่นเรียกกินข้าว พาเข้านอน อุ้มออกไปเที่ยว ทำให้เกิดความรู้สึกของ ความเป็นแม่ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของคู่หญิงรักหญิง(Lesbain)คู่หนึ่งที่มีความคิดเห็นต่อการเลี้ยงกุมารทองดังกล่าว 

    • "เอาตามความเป็นจริง พี่อยู่กันสองคนก็ไม่สามารถมีลูกได้อยู่แล้ว ถ้าจะมีลูกเป็นของตัวเองอ่ะนะ พอมีเขา (ตุ๊กตากุมารทอง) ถ้าเราให้ใจเขา อย่างน้อยๆเราก็มีที่พึ่ง แบบว่าที่พึ่งทางใจสำหรับเราทั้งคู่ ก็เหมือนพี่มีสิ่งเติมเต็ม ถึงแม้จะมองว่าเขาไม่ได้ช่วยอะไรสำหรับคนที่ไม่เชื่อ แต่สำหรับพี่ถึงเขาไม่ได้ช่วยอะไรแต่พี่คิดแค่ว่าพี่มีเขาแล้วมีความสุข มันไม่ได้เสียหายอะไรคือเรารักเขาแล้วเรามีความสุข เขาเข้ามาเติมเต็มในสิ่งที่คู่เราขาดหาย เขาทำให้ชีวิตของพี่กับแฟนสมบูรณ์แค่นี้ก็พอแล้ว" (รายการข่าวช่อง8ออกอากาศวันที่28 พฤษภาคม 2558)

    ดังที่กล่าวมานัยยะหนึ่งของการเลี้ยงกุมารทองในรูปแบบตุ๊กตาหน้าตาน่ารักดังกล่าว ยังสามารถตอบสนองความต้องการบางอย่างของผู้เลี้ยงที่บกพร่อง หรือขาดหายไปจากชีวิตนั่นเอง

                               ___________________________________________


                       สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อก็คือ "กุมารทองรูปแบบใหม่" นี้สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่คนในสังคมมีวิธีคิดเกี่ยวกับกุมารทองที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นผลมาจากสภาพสังคม และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การดำเนินชีวิตของคนในสังคม รวมไปถึงเป้าหมายของชีวิตเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน 

                      ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าการสร้างสินค้าในยุคปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นคือ มีการใช้จิตวิทยาที่มีผลกับความเชื่อ(ในแง่รูปแบบตุ๊กตาที่หน้าตาเป็นมิตร) และเปิดโอกาสให้สื่อสารมวลชนมาช่วยสร้างคุณค่าให้แก่สินค้า และบ่อยครั้งสินค้านั้นก็มักจะถูกสร้างให้มีคุณค่าที่พึงปรารถนาทับซ้อนกันอยู่ ในกรณีกุมารทองสายแบ๊วนั้นก็ถูกให้คุณค่า และปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยให้สามารถตอบสนองต่อความรู้สึกไม่มั่นคงของคนบางกลุ่มในสังคม เช่น ตอบสนองความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม การสร้างความอบอุ่นทางจิตใจต่อผู้เลี้ยง และยังเป็นไปเพื่อความปรารถนาของผู้เลี้ยงในด้านโชคลาภ การค้าขาย อีกด้วย ทั้งนี้เพราะความต้องการของคนในสังคมซึ่งอยู่ในฐานะ "ผู้บริโภค" เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดสินค้า ในกรณีนี้ก็คือความต้องการและความเชื่อของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดกุมารทองสายแบ๊วขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปดังกล่าวนั่นเอง 

         อย่างไรก็ตามบทความนี้เป็นเพียงการรายงานความเชื่อของคนบางกลุ่มในสังคมไทย แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นในหลายๆแง่ดังข้างต้น ถ้ามองจากตัววัตถุ Reborn baby doll คงเป็นเพียงกระแสสังคมในช่วงหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจาก Furby หรือ Blythe Doll ...แต่ก็นั่นแหละค่ะ ตุ๊กตาไปจากกระแสแล้ว แต่ความเชื่อเรื่องกุมารทองก็ยังคงฝังแน่นกับสังคมไทยแบบขุดหารากไม่เจอ ก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะมีอะไรใหม่มาผูกกับความเชื่อเหล่านี้ เหมือนครั้งที่กุมารทองในรูปแบบReborn baby doll เคยโด่งดังเป็นพลุแตกมาแล้วอีกบ้าง

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in