เมื่อพูดถึงคำว่า ‘พิการ’ คุณนึกถึงอะไรบ้าง
อันดับแรกง่ายหน่อยคุณอาจจะนึกถึงผู้พิการประเภทต่าง ๆ เช่น ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ทางการได้ยิน ทางการมองเห็น หรือประเภทอื่น ๆ บางคนก็อาจจะนึกถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น รถเข็นวีลแชร์ ไม้เท้านำทาง หรือเครื่องช่วยฟัง บ้างก็อาจจะนึกถึงโครงการช่วยเหลือ กิจกรรมการกุศลจากองค์กรและมูลนิธิต่าง ๆ หรือบางคนนึกไปถึงข่าวสารหรือเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้พิการ เช่น การเรียกร้องสิทธิ์เรื่องของลิฟต์โดยสารสำหรับผู้พิการในสถานีรถไฟฟ้า ข้อถกเถียงเกี่ยวกับที่จอดรถผู้พิการ หรือแม้แต่การเชิญชวนกันไปอุดหนุนร้านกาแฟที่บริหารจัดการโดยผู้พิการ
มั่นใจว่าเหล่านี้คือสิ่งที่แทบจะทุกคนต้องเคยผ่านหูผ่านตา แม้กระนั้น คำว่า ‘พิการ’ ก็ยังดูจะไกลตัวหรือกระทั่งเป็นคำหรือเรื่องราวที่หลายคนเลี่ยงจะพูดถึง เราเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อมาชวนผู้อ่านพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นและเรื่องราวของความพิการและผู้พิการ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายมากมายในสังคมที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก
ก่อนอื่น คงต้องเริ่มจากนิยามความหมายกันเสียก่อน
พัฒนาการของความหมายความเข้าใจต่อคำว่าพิการและตัวผู้พิการนั้นดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ย้อนไปตั้งแต่สมัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยังไม่เฟื่องฟู ความพิการถูกมองว่าเป็นบาป ต้องคำสาป หรือเป็นอสูรร้าย นี่เองที่ทำให้เกิด Freak Show ธุรกิจโชว์ซึ่งเคยเป็นที่นิยมในสังคมตะวันตก Freak Show หรือโชว์คนประหลาด เป็นการนำคนที่มีรูปลักษณ์หรือสภาพร่างกายที่ถือว่าผิดแปลกไปจากธรรมชาติของสังคมกระแสหลักมาเป็นวัตถุให้ผู้ชมได้ดูได้มอง (Exotic Gaze) เรียกเงินจากบรรดาชนชั้นกลางสมัยก่อนได้เป็นกอบเป็นกำ (ถ้านึกภาพไม่ออก แฝดสยามอินจันก็เคยอยู่ในโชว์คนประหลาดเช่นกัน) ตรงนี้ ผู้พิการหรือผู้ที่มีลักษณะทางกายภาพอันต่างไปจากผู้อื่น ถูกผลักให้ออกไปไกลเกินกว่าบรรทัดฐานของความ ‘ปกติ’ ในสังคมจนถึงขั้นเป็น ‘วัตถุที่มีไว้เสพความประหลาดเพื่อความบันเทิง’
ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชาติต้องการแรงงานจำนวนมาก การผลิตจำเป็นต้องใช้แรงงานคนที่มีประสิทธิภาพ ในช่วงนี้คนพิการยังคงถูกผลักออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทว่าในความหมายที่เปลี่ยนไป ความพิการกลายเป็นอุปสรรคต่อความมั่งคั่งในโลกของเศรษฐกิจ ผู้พิการคือแรงงานที่ไร้ประสิทธิภาพ (หรือมิอาจเป็นแรงงานได้ด้วยซ้ำ) หนำซ้ำยังเป็นภาระของสังคมที่ต้องให้การสนับสนุนดูแลในด้านต่าง ๆ ไม่เพียงแต่เป็นแรงงานที่ไร้ประสิทธิภาพและเป็นภาระ คนพิการยังถูกมองถึงขนาดว่าเป็นมนุษย์โลกที่ไร้ประโยชน์ ดังนั้นจึงไม่สมควรมีชีวิตอยู่ จากเหตุการณ์ Holocaust คาดว่ามีผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้พิการประมาณ 275,000 คน นี่คือการพยายามกีดกันคนพิการจากสังคมในช่วงก่อนที่ความรู้ทางการแพทย์จะถูกนำมาใช้อธิบายเรื่องของความพิการ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีผลอย่างมากต่อการให้นิยามความหมายคำว่าพิการ อาจกล่าวได้ว่านิยามความหมายกระแสหลักของคำว่าพิการในปัจจุบันนั้นอิงจากคำอธิบายทางการแพทย์นี่เอง คืออธิบายถึงลักษณะทางกายภาพ ทางสติปัญญา หรือจิตใจที่ถือว่าผิดปกติ ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ นอกเหนือจากนิยามความหมาย ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพยายามแทรกแซง ปรับเปลี่ยน แก้ไข กล่อมเกลา ภายใต้กรอบความคิดเรื่องของ ‘การรักษา’ โดยเชื่อว่าหนทางที่จะทำให้ผู้พิการจะใช้ชีวิตอยู่ได้คือการรักษาความพิการให้หายเป็นปกติ ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่หนึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยังจัดวางผู้พิการให้อยู่ในฐานะวัตถุเพื่อดูเพื่อศึกษา คล้ายกับแนวคิดเรื่องของ Exotic Gaze เพียงแต่บริบทแปรเปลี่ยนไปสู่ Medical Gaze
แม้นิยามความหมายของคำว่าพิการในหลาย ๆ แง่มุมยังคงผูกติดอยู่กับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ แต่สังคมสมัยใหม่ในปัจจุบันก็ได้เปิดทางให้กับมุมมองใหม่ ๆ นักวิชาการในแวดวงสังคมศาสตร์เสนอความเข้าใจและแนวคิดใหม่ต่อเรื่องของความพิการและผู้พิการไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเสนอมุมมองที่เรียกกันว่า Social Model ข้อเสนอดังกล่าวอธิบายว่า ความพิการมิใช่ลักษณะความผิดปกติทางกายภาพ สติปัญญา หรือจิตใจ หากแต่เป็นผลผลิตโดยกระบวนการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างสังคม ลักษณะบ้านเมือง ทัศนคติกระแสหลักต่อผู้พิการ และอื่น ๆ กล่าวคือ หากมองผ่านมุมมอง Social Model แล้ว สังคมนี่เองที่เป็นผู้หยิบยื่นความพิการให้แก่ผู้พิการ เมื่อเป็นเช่นนั้น การจัดการกับความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นต่อผู้พิการเป็นภาระรับผิดชอบของสังคม หาใช่การพยายามปรับเปลี่ยนแก้ไขความบกพร่อง ผิดปกติที่ตัวผู้พิการ
เวทีการถกเถียงในแวดวงวิชาการในการให้นิยามความหมายและมุมมองต่อความพิการและผู้พิการยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุด หากจะให้ยกทุกทฤษฎีมาสาธยายให้ฟังเห็นทีจะใช้เวลาและไม่มีความจำเป็นถึงขนาดนั้น จากมุมมองผ่านนิยามความหมายต่าง ๆ ที่ยกมาเล่าให้อ่าน ก็คงพอจะทำให้เห็นภาพได้ว่าหลายครั้ง (นับว่าเป็นส่วนมากก็ว่าได้) การให้นิยามความหมายที่เกี่ยวกับความพิการและผู้พิการ มักมาพร้อมกับการแปะป้ายตีตรา (Labelling)
การแปะป้ายตีตรามีผลอย่างยิ่งต่อการประกอบสร้างตัวตนของผู้พิการ
แม้พัฒนาการความรู้ความเข้าใจเรื่องความพิการและผู้พิการจะดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่ป้ายตีตราในกระแสหลักที่แปะให้ผู้พิการยังคงวนเวียนอยู่ที่ความไม่สมประกอบ ความไม่ปกติ ความแปลกประหลาด ความไม่สมบูรณ์ หรือความหมายอื่น ๆ ในทำนองนี้ ตรงนี้เองที่ประกอบสร้างความเป็นอื่น (Othering) ให้กับความพิการและผู้พิการอย่างชัดเจน ผู้พิการถูกผลักออกจากบรรทัดฐานของความเป็นปกติที่สังคมขีดเส้นแบ่งเอาไว้ ผู้พิการถูกผลักให้อยู่ในสถานะที่เป็นขั้วตรงข้ามของความสมบูรณ์ กล่าวคือ อยู่ในสถานะที่ขาดอะไรบางอย่างและควรที่จะได้รับการเติมเต็มในส่วนที่ขาด (ได้รับการรักษา) เพื่อขยับเข้าใกล้ความหมายของคำว่าปกติที่สังคมตีเส้นเอาไว้
ความเป็นอื่นทำให้อัตลักษณ์ของผู้พิการเต็มไปด้วยความด้อยค่า ความผิดปกติ หรือความขาดที่ต้องเติมเต็ม ผู้พิการถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่า ในขณะที่สังคมกระแสหลักมีบทบาทเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าและให้การช่วยเหลือ กล่าวคือ ผู้พิการถูกป้อนสถานะให้เป็นผู้รับอยู่เสมอภายใต้กรอบของความด้อยกว่า ซึ่งสังคมดำรงสถานะสูงกว่าในฐานะผู้ให้ ในบริบทของไทยยิ่งเห็นได้ชัดเจน ความสงสารถือเป็นคอนเซ็ปต์แรก ๆ ที่คนจะนึกถึงเมื่อพูดถึงคำว่าพิการ คนพิการถูกมองว่าน่าสงสารและจะต้องได้รับการช่วยเหลือดูแล อันที่จริงการช่วยเหลือผู้พิการไม่ใช่เรื่องที่ไม่สมควรอะไร หากแต่สิ่งที่ต้องการเสนอคือการช่วยเหลือดูแลภายใต้กรอบความคิดเรื่องของความสงสารนั้นเป็นการมองผู้พิการอย่างไม่เท่าเทียม
สถานะและอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้เองที่ไม่นำพาการพัฒนาทั้งในระบบโครงสร้างและความคิดอันจะนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมอย่างยั่งยืน ก่อนจะไปว่ากันถึงการพัฒนาเชิงประจักษ์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเพื่อผู้พิการ การศึกษาแบบพิเศษ หรือการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้ เรื่องของการปรับมุมมองตั้งต้นในประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากตั้งธงไว้แต่แรกอย่างไม่เท่าเทียม การพัฒนาที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีวันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมที่แท้จริงได้
ผู้พิการคือผู้พิการ ผู้พิการคือคน ๆ หนึ่งที่ควรได้รับสิทธิ์และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกคนในสังคมทุกประการ
ในการรื้อสร้างความหมายใหม่ที่สร้างสรรค์ให้กับความพิการและผู้พิการควรเริ่มจากตัวภาษา ภาษาที่ใช้ในวาทกรรมที่เกี่ยวกับความพิการและผู้พิการมีผลอย่างมากต่อการประกอบสร้างตัวตน ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ‘พิกลพิการ’ สังเกตได้ว่าคำว่าพิกลวางอยู่หน้าคำว่าพิการ ชี้ให้เห็นถึงการผลักผู้พิการออกจากบรรทัดฐานของความปกติ เป็นการหยิบยื่นความแปลก ความพิกลพิลึก ความเป็นอื่นให้กับผู้พิการ ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า ‘พิกลพิการ’ ยังถูกนำไปใช้ในบริบทอื่นเพื่ออธิบายถึงความไม่สมบูรณ์ ไม่สมประกอบ ไม่เหมาะไม่ควร เช่น นโยบายที่พิกลพิการ นอกจากนี้ วาทกรรมที่เกี่ยวกับผู้พิการยังคงอิงกับเรื่องราวของความสงสารอันเกิดขึ้นจากสภาพร่างกาย สติปัญญา หรือจิตใจที่ถือว่าผิดปกติอยู่มาก เช่น การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ มักมีการบรรยายลักษณะความพิการโดยละเอียด เน้นย้ำขึ้นมาเป็นใจความสำคัญที่ใช้เล่าเรื่อง และซ้ำข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกสงสาร บ้างก็มีการอธิบายถึงความลำบากยากแค้น วิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากรูปแบบซึ่งสังคมเรียกว่า’ปกติ’ เหล่านี้ล้วนผลิตซ้ำความเป็นอื่นให้กับผู้พิการ
หากจะเริ่มจากอะไรสักอย่าง เราอยากชวนทุกคนให้มองความพิการเป็นความหลากหลายหนึ่งที่มีสถานะเท่าเทียมกับความหลากหลายอื่น ๆ ในสังคม มองผู้พิการในฐานะมนุษย์อันเป็นฟันเฟืองหนึ่งของสังคม มองความไม่ปกติให้เป็นความปกติ
เราตัดสินใจเริ่มพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกเพราะเราคิดว่าไม่มีเรื่องไหนจะสำคัญไปกว่าทัศนคติ หนทางไปสู่ความเท่าเทียมจะไม่สามารถไปต่อได้หากรากฐานที่ปูทางนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่เหมาะที่ควร
และถ้าย้อนกลับไปสู่คำถามแรกของบทความนี้ ‘เมื่อพูดถึงคำว่าพิการ คุณนึกถึงอะไร’
คำตอบของเราคงไม่มีวันรู้จบ เราอาจจะตอบว่า ตัวเอง พนักงานขายของปากซอย เจ้าของธุรกิจ บาริสต้าร้านกาแฟ แม่ค้าส้มตำ ช่างแต่งหน้า ศิลปินชื่อดัง พนักงานออฟฟิศ เพื่อนสายเม้าท์ คนที่เดินสวนเราไปพร้อมถุงอาหารที่ส่งกลิ่นหอม คุณน้าคุณอาที่ไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะยามเช้า และอีกมากมาย เพราะผู้พิการก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ในสังคม ดังนั้นความพิการและผู้พิการคือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวทุกคนในสังคม ถึงเวลาเลิกผลักออกและสร้างความเป็นอื่นให้ผู้พิการกันเสียที
- Because disability is perfectly normal -
OaniiZ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in