เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่นBUNBOOKISH
คำนำ
  • คำนำสำนักพิมพ์


    ตอนแรกหนังสือเล่มนี้ชื่อ ‘บ้านอี๊มีรัก’

    1.
    ตอนทำเล่ม เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว ของ jirabell จำได้ว่าเราก็เป็นอีกคนที่เอ่ยปากถามเบลล์ว่า “อี๊เป็นใครเหรอ” จำได้ไม่ละเอียดว่าตอนนั้นเบลล์ตอบว่ายังไง แต่หลังจากนั้นเราก็รับรู้ว่า ‘อี๊’ ในความหมายของเบลล์ นอกจากจะหมายถึงพี่สาว (หรือน้องสาว) ของแม่แล้ว ยังหมายถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่สำคัญกับชีวิตของเบลล์เอามากๆ 

    สังเกตได้จากการส่งข้อความมากำชับขอพื้นที่หนึ่งหน้าในหนังสือ “พี่ ผมขอหน้านึงไว้เขียนว่า แด่ อี๊ ด้วยนะ” (แน่นอน เล่มนี้ก็ด้วย) หรืออย่างตอนที่เบลล์ต้องไปสัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์ตอนดึก น้องที่ตามไปดูแลก็เล่าว่าเบลล์สยบความตื่นเต้นที่จะต้องออกรายการสดด้วยการขอตัวไปโทร.หาอี๊ก่อนเข้ารายการ

    2.
    เราเองเติบโตมาในครอบครัวแบบเดี่ยว คือไม่ได้อยู่รวมกับญาติผู้ใหญ่อย่างปู่ย่าตายายมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นถ้าจะมีโอกาสได้เจอญาติพร้อมหน้าพร้อมตาก็น่าจะเป็นช่วงปิดเทอมที่ครอบครัวลุงป้าน้าอาพาลูกหลานมาเจอ มาเที่ยวด้วยกัน แต่ก็จำแทบไม่ได้แล้วว่าปิดเทอมครั้งสุดท้ายที่ได้ไปเที่ยวกับขบวนเครือญาติแบบนั้นคือเมื่อไหร่

    อาจเพราะแบบนี้ เราถึงรู้สึกสนุกทุกครั้งเวลาที่มีคนเล่าเรื่องตลกของญาติผู้สูงอายุในบ้านให้ฟัง และบางทีเราว่า สิ่งที่หล่อหลอมตัวตนคนคนนั้นขึ้นมา ก็คือคนที่มีเรื่องเปิ่นๆ ให้เขาเอามาเล่าด้วยความเอ็นดูเนี่ยแหละ

    3.
    ส่วนตัว, ในเล่ม เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว เราชอบทุกบทที่มีการพูดถึงอี๊มากเป็นพิเศษ—เป็นพิเศษขนาดที่ต้องคอยเอามาถามเบลล์ว่า เมื่อไหร่จะเขียนเรื่องอี๊ยาวๆ สักที...

    แล้วเบลล์ก็จัดให้...

    เขียนเรื่องอี๊ยาวๆ—อืม ยาวเกือบปี :D


  • ในงานสัปดาห์หนังสือบางปี
    บางวัน ผมเดินเบียดเสียดฝูงชนครึ่งค่อนวัน
    แต่หยิบหนังสือติดมือมาได้ไม่กี่เล่ม

    วันหนึ่ง ในบางปีที่ว่า
    พบหนังสือชื่อชวนงง เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว
    หน้าปกหนังสือสะอาดตา จนสะดุดตา

    ท่ามกลางห้วงมหาสมุทรแห่งมหกรรมหนังสือ
    บางทีอาจเป็นเพราะความเรียบง่ายของมัน 
    ที่เตะตาได้ในท่ามกลางฝูงหนังสือหลากสีสัน
    ซึ่งพยายามเรียงตัวอวดปกสีสวยๆ

    อาจเพราะสำนวนอันพอเหมาะพอดี 
    ผสมกับประเด็นของเรื่องซึ่งหยิบยกมาเขียนช่างง่ายงาม
    ละเอียดลออโปร่งเบา และไม่มีอาการอวดโอ่

    หนังสือเล่มน้อยนั้น กลายเป็นหนังสือโดนใจแห่งปี
    เป็นหนังสือที่โดดเด่น และนับว่าดีที่สุดเท่าที่ได้ซื้อมาวันนั้น
    เนื่องจากวันนั้นผมซื้อมาเล่มเดียว

    อ่านไม่นานก็จบด้วยความลื่นไหล 
    พอติดใจในรสชาติ ก็เฝ้ารอ...ผลงานชิ้นต่อๆ ไป
    แอบพลิกดูลีลาการเขียนในนิตยสารที่เขาทำคอลัมน์บ้าง
    อ่านทวิตเตอร์แก้ขัดไปพลางๆ
    ถ้าว่างมาก ก็หัดเขียนเลียนแบบมันเสียเลย
    แต่กลัวว่าจะชืดจนเชย
    ของแบบนี้ใช่ว่าจะเลียนแบบกันได้ง่ายๆ

    เขาส่งเรื่อง ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น มาให้อ่าน
    ผมเบิกบาน และอยากเขียนคำนิยมให้
    อยากนิยมให้สมใจกับวิธีการเล่าเรื่องที่โปร่งเบา
    ไม่เน้นน้ำหนักมือของเขา

    เรื่องราวที่เรียงราย เรียบง่ายราวเป็นเพียงเสียงรำพึงรำพัน 
    มิได้โวยวายโหวกเหวก
    จะว่าเราหลงใหลในความจืดชืดก็กระไร
    อุปมาเหมือนตัวอักษรของเขา เป็นเสมือนน้ำมะลิหอมๆ
    หรือน้ำใบเตยอวลๆ ไม่หวานเอียน 
    ไม่อวดฟองฟู่เหมือนน้ำอัดลมซึ่งผู้คนนิยมกัน
    ยิ่งไม่ใช่ชาเขียวที่ปรุงแต่งรสผสมคาเฟอีน 

    ขอเพียงให้ผู้อ่านมีเวลา ทำความเข้าใจกับวิธีการเล่าของเขา
    บางครั้งการพูดเบาๆ ก็ทำให้คนสนใจได้ไม่แพ้การตะโกนเสียงดัง
    (ไม่เชื่อลองสังเกตสิ หลวงตาคนไหนพูดเบาๆ 
    บางทีลูกศิษย์ลูกหาก็ล้อมวงฟังอย่างตั้งใจ)

    ผมไม่เคยมีอี๊เป็นของตัวเอง
    นึกในใจว่า
    ถึงเราไม่มี ‘อี๊’ แต่บางที
    เราก็ยังมีสิทธิ์ เป็น ‘กู๋’

    ขอให้หลานจงเบิกบานกับการเขียน และการขายตัวอักษร
    ขอผู้อ่านสดับรับชม อย่างตั้งใจ ไม่ร้อนรน


    กู๋ จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง



  • น่าแปลก, หากนับจากวันแรกที่พบหน้ากัน ผมอยู่กับ ‘อี๊’ หรือที่แปลว่า ‘ป้า’ ในคำไทยมากว่า 28 ปี แต่เมื่อต้องมานั่งเขียนถึงเรื่องราวที่มีร่วมกัน ผมกลับไปไม่เป็น คิดไม่ออก เขียนไม่ได้ ทักษะการเขียนที่พอมีติดตัวอยู่บ้างคล้ายเป็นอัมพาต

    ไม่แปลก, เมื่อเราอยู่ใกล้สิ่งใดมากเกินไป เรามักมองไม่เห็นความพิเศษของสิ่งนั้น

    ครั้งหนึ่ง ลูกพี่ลูกน้องของผมซึ่งเป็นชาวฮ่องกงได้หยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่เปิดรูปร้านอาหารไทยร้านหนึ่งให้ผมดู พร้อมคำถามว่า “ที่นี่ ที่ไหน”

    ทั้งบรรยากาศในร้าน และตัวอักษรที่ติดอยู่ที่ผนัง ผมมองปราดเดียวก็รู้ว่ามันอยู่แถวประตูน้ำ เมื่อเห็นว่าผมตอบได้พี่ชายก็ไล่เปิดให้ดูอีกหลายรูป ซึ่งทุกรูปมีตัวอักษรจีนยาวเหยียดอธิบาย แน่นอน แม้ผมอ่านไม่ออก แต่ผมรู้จักทุกสถานที่ในรูป 

    ในขณะที่กำลังภูมิใจในความรอบรู้ของตัวเอง พี่ชายก็เอ่ยบางประโยคที่ทำให้ผมรู้สึกผิด
    เขาถามผมว่า ทำไมไม่เคยพาเขาไปสถานที่เหล่านั้นเลย

    ภาพต่างๆ ที่พี่ชายเปิดนั้นมาจากบล็อกของชาวฮ่องกงคนหนึ่งที่รวบรวมสิ่งน่าสนใจในประเทศไทย มีไว้ให้คนฮ่องกงที่กำลังจะมาเที่ยวประเทศไทยได้มีแสงไฟนำทาง

    แต่สำหรับผม สิ่งที่เว็บไซต์นั้นรวบรวมไว้ไม่ได้มีความพิเศษเลยสักนิดในความรู้สึก ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ผมไม่เคยพาพี่ชายไปเยี่ยมเยือนสถานที่เหล่านั้นให้เสียเวลา

    มารู้เอาตอนนั้นว่าในสายตาคนนอก สถานที่แสนธรรมดาในสายตาผมมีอะไรน่าสนใจมากมาย
    รถเข็นขายข้าวเหนียวมะม่วงคันเดียวเขาเขียนบรรยายเป็นตัวอักษรจีนได้เป็นหน้า

    เช่นเดียวกัน ตอนที่พี่ชายคนนั้นพาผมไปเดินเล่นที่ถนนเลียบทะเลเส้นหนึ่งในประเทศฮ่องกง ผมบอกเขาว่า “ผมชอบที่แห่งนี้มาก มาฮ่องกงตั้งหลายครั้งแล้ว ทำไมเพิ่งพาผมมา”
    เขาทำหน้าตกใจแล้วให้เหตุผลว่า ไม่คิดว่าผมจะชอบ เพราะที่นี่มันไม่มีอะไรเลย

    ในสายตาคนที่เติบโตมาในบ้านเมืองที่ห้อมล้อมด้วยทะเล ขับรถไม่กี่นาทีก็ได้ยินเสียงคลื่น ได้กลิ่นน้ำเค็ม ไม่แปลกที่เขาจะมองไม่เห็นความพิเศษของทางเดินเลียบทะเลที่สามารถทิ้งสายตาไปจนถึงเส้นขอบฟ้า

    แต่กับคนที่ต้องนั่งรถจากเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่เป็นชั่วโมงเพื่อไปสัมผัสชายหาด ถ้าที่แห่งนี้ไม่ใช้คำว่า ‘พิเศษ’ ผมก็ไม่รู้ว่าที่แห่งไหนจะเข้าข่ายคำนี้อีกแล้ว

    คงคล้ายกันกับเรื่องราวของอี๊

    ตลอดเวลาที่เราอยู่บ้านเดียวกัน อาศัย กิน นอน ยิ้ม หัวเราะ เสียน้ำตา หายใจ และใช้ชีวิตร่วมกัน ผมแทบนึกไม่ออกว่าช่วงเวลาไหนพิเศษยังไง หรือมีอะไรน่าจดจำ

    ที่แน่ๆ ผมไม่เคยคิดว่าจะสามารถเอามาเขียนเล่าเป็นหนังสือสักเล่มได้หรอก แค่ให้เล่าปากเปล่าผมยังจนปัญญา นึกเรื่องเล่าไม่ออก

    จนมาค้นพบว่ามันพอจะมีความน่าสนใจอยู่บ้างก็เมื่อคนรอบข้างได้ฟังบางเรื่องราวแล้วบอกว่าน่ารักดี ในขณะที่บางเสียงถึงขั้นยุยงตามมาว่า “เขียนเรื่องอี๊สิ”
    และตามประสาคนบ้ายุ ผมเอ่ยปากตอบรับทันทีเมื่อได้รับการเอ่ยปากชักชวน

    บางเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ผมใช้เวลานั่งคิดนั่งเขียนไม่นานนัก เนื่องจากผมพอรู้ว่าจะเล่าอะไรให้คนอ่านได้อมยิ้มไปด้วยกัน ในขณะที่บางเรื่องราวก็ทำให้ผมต้องละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ข้ามวัน เพราะคิดไม่ออกว่าจะเอาอะไรมาเล่าให้พอมีแง่มุมน่าสนใจ สมกับที่ผู้อ่านยอมสละเวลาไล่สายตาทีละบรรทัด

    สิ่งที่ผมยืนยันได้ คือเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวที่ผมรู้สึกว่ามันพิเศษในชีวิตของผมกับอี๊ 
    เป็นเรื่องราวที่เคยทำให้มีรอยยิ้ม และเสียน้ำตา เมื่อนึกถึงอีกคราก็เกิดความรู้สึกทั้งสุขและเศร้า 

    จากการเขียนหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมค้นพบว่า การมองให้เห็นความพิเศษของเรื่องใกล้ตัวเป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความพยายาม แต่อย่างที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
    และ ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น คือผลของความพยายามนั้น

    แต่แม้พยายามเพียงใด เรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ก็ยังถือว่าน้อยนิดเหลือเกินหากเทียบกับระยะเวลา 28 ปีที่อยู่ด้วยกันมา เพราะเมื่อย้อนมอง ผมพบว่าเรื่องราวระหว่างเรานั้นเต็มไปด้วยเรื่องแสนธรรมดา วันพ้นวันไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีอะไรหวือหวา ถึงอย่างนั้น การได้ใช้วันเวลาแสนธรรมดาร่วมกันมาเนิ่นนาน และคงได้อยู่กันอย่างนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตใครคนใดคนหนึ่ง 

    ช่างเป็นเรื่องพิเศษเหลือเกินสำหรับผม


    จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์
    3 กุมภาพันธ์ 2558


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in