นี่คือความเป็นมาก่อนที่เราจะใช้ Samsung Chromebook Plus V2 หลังจากที่แมคบุครุ่นปี 2012 ที่เป็นเพื่อนรักเพื่อนตายกันมาตั้งแต่สมัยเรียนปีหนึ่งนั้นได้จากไปด้วยอาการเสื่อมสภาพของอะไหล่ต่าง ๆ แบทบวม ฮาร์ดดิสก์เสีย แรมพัง สายชาร์จขาด ก็คงมีเพียงแต่คนที่มองว่านำมันไปเปลี่ยนเป็นอะไหล่ให้กับเครื่องอื่นนั้นน่าจะดีกว่า เหมือนกับการเปลี่ยนถ่ายอวัยะอะไรอย่างนั้น
เราก็คงไม่ต่างจากคนขายไต หรือชิ้นส่วนไหนในร่างกายที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้...
หลังเรียนจบเราเริ่มทำงาน ความบันเทิงส่วนใหญ่นั้นถูกกระทำผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแบบง่าย ๆ จะมีแวะเวียนไปร้านเกมบ้างในวันหยุดตามประสา เพื่อเล่นเกมบนสตีมที่เล่นมาตั้งแต่สมัยเรียน
แต่นานวันเข้าการงานก็เพิ่มมากขึ้นไปตามความรับผิดชอบ คืนวันศุกร์ อาหารตามสั่งเมนูเดิม กับซีรี่ย์ฝรั่งที่ดูผ่านโทรศัพท์มือถือก็ดูจะไม่ใช่เรื่องแย่อะไรนัก
บริษัทที่เราทำงานเขามีแล็ปท็อปให้พนักงานทุกคนใช้ เป็นเครื่องของ DELL ขนาดจอ 14 นิ้วตามแนวทแยง เราแบกมันไปกลับอยู่บ่อย ๆ เสมอเพื่อทำงานที่อาจจะเกินหน้าที่ไปบ้างในบางเวลา ปัญหาของเรากับมันก็คงมีเรื่องของความหนักจากรูปร่างอันเทอะทะของมันและความจุของแบทเตอร์รี่ที่นับว่าน้อย ต้องให้เราคอยใช้มันอย่างระแวดระวังในเวลาที่เราลืมดึงสายชาร์จมันกลับมาด้วย
ตั้งแต่นั้นมาเราเริ่มมองหาแล็ปท็อปน้ำหนักเบาสักเครื่องของเราเอง ตอนแรกเราคิดว่าคงจะเอามันมาทำงานอย่างเดียว งานส่วนใหญ่เป็นงานเอกสาร โต้ตอบกับมนุษย์เงินเดือนเฉกเช่นเดียวกันผ่านอีเมลล์ ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านั้น เราเคยคิดอยากได้แมคบุคแอร์ แต่ก็เหอะ ราคามันสูงเกินกว่าความจำเป็นของเราด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่เคยใช้โอเอสของแมคมาก่อนก็ทำให้เราแทบตัดใจไม่ลง เราตั้งงบให้กับตัวเอง งานประมาณเราไม่ควรจะหาเครื่องเกินราคาหมื่นห้า เราไม่ได้เป็นนักตัดต่อภาพ เราไม่ได้เป็นยูทูปเบอร์ ถ้านอกเหนือจากการทำงาน เราก็คงเอามันมาดูซีรี่ย์ที่เราชอบก็เท่านั้นเอง
ให้ตายเถอะ แลปท็อปวินโดวส์ราคาหมื่นห้า รูปร่างมันเทอะทะไม่ต่างจากของบริษัท ถ้าเป็นเครื่องขนาดบางลงก็จะมากับรูปร่างพิมพ์นิยมกับสเป็คที่ลดหลั่นลงมาในแบบพอรับได้ แต่วินโดวส์ก็คือวินโดวส์ หวังว่าเราคงได้เจอกันตอนเราหาคอมประกอบเองสักเครื่องเอาไว้เพื่อเล่นเกม
ตัวเลือกสุดท้ายคือ Chromebook เรารู้จักมันมาหลายปีผ่านเว็บไซท์ที่มักตามข่าวอยู่ประจำ มันโด่งดังมากในฝั่งอเมริกา หลาย ๆ โรงเรียนถึงกับซื้อให้นักเรียนทุกคนใช้ เพราะราคาแสนถูกที่มาพร้อมกับระบบปฏิการณ์ที่เรียกว่า ChromeOS และผูกกับเซอร์วิสต่าง ๆ ของ Google
เราเคยคาดหวังให้กูเกิ้ลนำเจ้าโครมบุคเข้ามาขายในไทย แต่ความหวังก็ยังเป็นแค่ความหวัง ในเมื่อความต้องการนั้นยังห่างไกลความเป็นจริงนัก แทบไม่มีนักรีวิวคนไหนเอ่ยถึงมันในภาษาไทย กลุ่มในเฟสบุ๊คที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของการสนทนาหรือการเอ่ยถึงสถานที่ที่เราจะได้ไปลองใช้งานเพื่อซื้อมัน
Chromebook คืออะไร?
มันคือแล็ปท็อปที่ใช้ระบบปฏิบัติการณ์ที่เรียกว่า ChromeOS ไม่ใช่ MacOS หรือ Windows จะให้พูดง่ายกว่านั้น มันก็คือแล็ปท็อปที่เปิดขึ้นมาแล้วเป็นเบราส์เซอร์โครมที่หลายคนคุ้นเคย โครมโอเอส เป็นระบบที่กูเกิ้ลพัฒนาขึ้นมาลีนุกซ์ แต่หน้าตาของมันไม่เหมือนกับลีนุกซ์ที่หลายคนอาจจะเคยรู้จัก เราก็เช่นกัน
หลังจากเลื่อนดูรีวิวตามคลิปต่าง ๆ ในยูทูป เราก็เริ่มตงลงปลงใจกับเจ้า Samsung Chromebook Plus V2 ซึ่งตอนนั้นเราก็แอบถูกใจกับ Asus Chromebook Flip C302 สองตัวนนี้ราคาใกล้เคียงกัน สเป็คเหมือนกัน พับได้ 180 องศาให้ใช้เป็นแท็ปเล็ทโหมดได้เหมือนกัน ซัมซุงแพงกว่าหน่อย แต่ก็แลกมาด้วยปากกาที่เอาไว้เขียนได้เหมือนพวกโทรศัพท์ตระกูลโน้ทของเขาและขอบจอที่บางกว่า
อย่างไรก็ตาม เหมือนอย่างที่เราบอกว่า Chromebook มันแทบไม่มีขายในไทย มันก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่โลกาภิวัฒน์ที่ทุกอย่างเชื่อมกันด้วยอินเทอร์เน็ท การซื้อขายออนไลน์ และโลจิสติกส์ที่ข้ามไปมาอีกซีกโลก เราจึงได้ Samsung Chromebook Plus V2 มาจากร้านออฟฟิเชียลของซัมซุงบน Amazon US ในราคาเพียง $499 (ประมาณหมื่นห้าตามที่เราต้องการ) แต่ด้วยความอยากได้ในระยะเวลาอันสั้น มันแลกกับราคาในการจัดส่งแบบด่วนข้ามมหาสมุทรแสนแพง และภาษีต่าง ๆ แล้ว ทำให้ราคารวมแตะประมาณหมื่นเก้าพันบาทไทย
สัญลักษณ์ Google Chrome สกรีนอยู่บนฝา บ่งบอกว่ามันคือ Chromebook
Samsung Chromebook Plus V2
บอกตามตรงว่าเราไม่เคยคิดจะรีวิวมันตั้งแต่แรก เอาจริงเราก็ไม่รู้ว่าประสบการณ์การใช้งานมันจะเป็นอย่างไรในเวลานั้น มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ คาดเดาไม่ได้ ดังนั้นเราเลยไม่ได้ถ่ายรูปมันตอนยังอยู่ในกล่องบุบ ๆ จากการขนย้ายจากสหรัฐอเมริกา มาแวะนอนเล่นที่กรุงโซลเกาหลีใต้ และมือของขนส่งเจ้าดังที่มาส่งถึงหน้าประตู
สเป็คคร่าว ๆ
OS: ChromeOS
Processor: Intel® Core™ m3 Processor 7Y30 (Gen7)
Memory: 4GB LPDDR3
Storage: 64GB e.MMC
Display: 12.2" FHD WUXGA LED Display (1920 x 1080 | Ratio 16:10 ) with Touchscreen
x2 USB-C
X1 USC-A
X1 Headphone jacks (3.5mm)
Bluetooth
และบลา บลา บลา
ราคา: $599 แต่เราซื้อตอนมันลดราคาบน Amazon ที่ราคา $499
ด้านขวา: USB-A x1 | Power / Sleep / Wake-up | ไฟแสดงสถานะ | เพิ่มเสียง-ลดเสียง | ปากก่า S-Pen
ด้านซ้าย: ช่องเสียงหูฟัง | USB-C x 2 | ช่องเสียบ MicroSD
คุณอาจจะร้องเห้ยว่าสเป็คแบบนี้ในราคาหมื่นห้าถึงสองหมื่น ทำไมถึงไม่เลือกแล็ปท็อปทั่วไปที่ได้ Core i3 หรือ i5 หรืออาจจะใช้ SurfaceGo เลยก็ได้ในราคานี้ เราเองคงตอบว่าการใช้งานของเราไม่ข้องเกี่ยวอะไรกับวินโดวส์มากนัก เราไม่ได้แตะโปรแกรมพื้นฐานของมันเลย แม้กระทั่งงานของเราที่องค์กรใช้ทุกอย่างผ่าน Google Suite หมด เราเองก็ถนัดพวก Google Docs, Slides, Sheet มากกว่าด้วย ให้พูดง่าย ๆ คือเราเองก็ไม่ได้ยี่หระกับความเป็นแล็ปท็อปของวินโดวส์อยู่แล้ว เปิดมาก็แจ้นเข้ากูเกิ้ลโครมก่อนเพื่อน
ChromeOS เป็นระบบปฏิบัติการที่มีน้ำหนักเบา ที่ว่ากูเกิ้ลโครมบนวินโดวนั้นเมื่อเปิดหลาย ๆ แท็บยังค้าง แต่บนนี้เราเองมักจะเปิด 7 - 10 ในสเป็คแบบนี้ก็ไม่มีอาการงอแงของเครื่องแต่อย่างใด แถมข้อดีของมันคือมี PlayStore มาให้ ใช่แล้ว มันสามารถลงแอพของโทรศัพท์แอนดรอยด์ได้นั่งเอง
ประสบการณ์กับ Chromebook: Samsung Chromebook Plus V2
เปิดเครื่องมาก็จะเจอหน้าตาแบบนี้ วงกลมซ้ายคือปุ่ม Launcher (ปุ่ม Start ของวินโดวส์) ตรงกลางคือแอพและชอร์ทคัทต่าง ๆ รูปปากคือฟีเจอร์ของปากกา S-Pen ช่องขวาสุดคือ Notification bar
หน้าจอ
ซัมซุงก็คือซัมซุง เขาถนัดเรื่องจอภาพมากทั้งโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และพออื่น ๆ มันจึงเป็นเรื่องดีที่จอของ Samsung Chromebook Plus V2 มันถูกทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ภาพคม สีสดไม่แพ้จอ Retina ของแล็ปท็อปตระกูลผลไม้ในราคาที่เอื้อมถึง เอามาดูซีรี่ย์ก่อนนอน หรือแต่งรูปได้ไม่เบื่อจริง ๆ
บูทอัพและความเร็ว
การเปิดเครื่องนั้นใช้เวลาสั้นมาก ใช้เวลาเพียง 5 - 7 วินาที พับหน้าจอขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องกดปุ่มใด ๆ หลังเปิดเสร็จแล้วสามารถใช้ได้เลย ไม่มีอาการหน่วงเพื่อรอแบ็คกราวร์แอพต่าง ๆ ให้ทำงานก่อน
พิพม์งานไปพร้อมกับเพลงโปรดบน Spotify
Google Chrome บนนี้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกับ desktop มันไม่ใช่ mobile version เพราะฉะนั้นประสบการณ์การท่องเน็ทของคุณจึงไม่ต่างอะไรจากการใช้บนวินโดวส์หรือแมค การใช้งานในส่วนอื่น ๆ ก็สามารถใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม เรียกได้ว่าแรมสี่กิก กับซีพียูคอร์เอ็มสามนั้นสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในสภาพแวดล้อมของ ChromeOS
Battery
10 ชั่วโมง เขาเคลมมาอย่างนั้น แต่เอาจริงแล้วเราใช้งานจริง ๆ อยู่ที่ประมาณ 8 - 9 ชั่วโมง เราเคยดูซีรี่ย์เรื่อย ๆ ติดกันได้ประมาณ 7 ชั่วโมงแบบไม่ต้องชาร์จ ถือว่านานพอสมควร การชาร์จให้เต็มหนึ่งครั้งจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงหน่อย ๆ ก็ไม่เลวร้าย อ้อ... สายชาร์จรุ่นนี้เป็นหัวแบบ USB-C ดังนั้นมันสามารถใช้ร่วมกับหัวชาร์จโทรศัพท์แอนดรอยด์หลาย ๆ รุ่นได้ (ถ้าให้ไฟที่แรงพอ)
ใช้นิ้ว
นอกจากจอทัชสกรีนได้แล้ว เราชอบ finger gestures ที่ลื่นไหล (กว่าแล็ปท็อปบนวินโดวส์หลาย ๆ ตัว) จริง ๆ แล้วเราเคยชอบ gestures บนแมคบุคแทร็คแพดมาก เราว่าเขาทำออกมาได้ดี แต่ gesture บนโครมบุคเครื่องนี้ลื่นไหลไม่แพ้กัน ทำได้ทุกอย่างทั้งซูม สลับแท็บบนโครม สลับไปมาระหว่างแอพ เราว่ามันลื่นพอ ๆ กับการวิ่งในลานไอซ์สเก็ตท์นั่นแหละ
หน้า multitasking ของ ChromeOS
ปากกา
เนื่องจากมันสามารถพับจอให้เป็น 180 องศาเพื่อใช้เป็นแท็บเล็ทได้ ซัมซุงก็เลยใส่ปากก่า S-Pen ให้ด้วย เพื่อที่เราสามารถใช้มันจด เขียน หรือวาดรูป เอาจริงมันก็สะดวกไปอีกไม่น้อย (สำหรับเรา) การเขียนก็ให้ประสบการณ์ที่ดี แต่ก็นะปากกา S-Pen มันอันเล็กผิดแปลกไปจากปากจริง ๆ ถ้าเขียนนาน ๆ ก็คงจะปวดมือได้อยู่เหมือนกัน
Play Store
ยอมรับความจริงว่าตอนแรกเราตัดสินใจซื้อ เพราะมันสามารถลงแอพพลิเคชันของแอนดอรยด์ได้นี่แหละ แต่เอาเข้าจริงแล้วตอนใช้เราแทบไม่ได้ใช้แอพบน Play Store เลย เพราะสมัยนี้อะไรก็ตามถูกเปลี่ยนเป็น web version ไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็น Skype, Spotify, หรือแม้แต่โปรแกรมตัดต่อวีดีโอที่เราใช้ก็มีเว็บเวอร์ชัน แต่มีไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะเราก็ใช้แอพแต่งรูปอย่าง Snapseed หรือ VSCO บนนี้ก็สะดวกไม่แพ้กัน
All About Google
แน่นอนว่า ChromeOS มันถูกพัฒนาโดยกูเกิ้ล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันสามารถใช้ฟังชั่นบางอย่างที่มีบนโทรศัพท์แอนดรอยด์ได้ อย่าง Google Assistant ที่เราแค่เอ่ยปากคำว่า โอเคกูเกิ้ล, ChromeCast หรือแม้แต่เชื่อมต่อไร้สายกับโทรศัพท์เพื่อรับสายหรือรับโนติฟิเคชันต่าง ๆ แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้ใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์ นั่นเลยทำให้ไม่ได้ใช้ความสามารถนี้ของมัน รอก่อนนะกูเกิ้ล แต่ที่เราชอบก็คือเราลงแอพ Google Photo ในโทรศัพท์ของเราไว้ เมื่อเราถ่ายรูปและทำการแบ็คอัพเสร็จ เราสามารถเปิดดูรูปได้จากในโครมบุคได้เลยทันที นี่ก็รวมถึงพวกแอพอย่าง Google Keep, Task, Calendar, Drive ที่จริง ๆ เครื่องเดสก์ท็อปทั่วไปก็ทำได้นะ
ชีวิตประจำวัน
ถ้าคุณมีชีวิตแบบเรา ตื่นเช้าเพื่อเบียดขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานงก ๆ ในใจกลางเมืองที่ค่าครองชีพแสนแพง ยิ้มให้กับเพื่อนร่วมงานในลิฟท์ที่คุณยังนึกชื่อเขาไม่ออก กินกาแฟห่วยห่วยเพื่อกระตุ้นให้สมองสดชื่นได้บ้าง ตอบอีเมลล์ พิมพ์งาน ทำสไลด์ ทำรีพอร์ท เลิกงานก็เบียดเสียดกับผู้คนที่แย่งกันกลับบ้าน กินข้าวเมนูซ้ำ ๆ ระหว่างนั้นก็กดไลก์รูปเพื่อน ๆ ที่กำลังพักร้อนในต่างประเทศที่ไหนซักที่เพื่อเป็นมารยาท คุณต้องการแค่เพียงการนอนดูหนังในจอที่ใหญ่กว่าโทรศัพท์มาหน่อยกับเรื่องเดิมที่คืนก่อนคุณเผลอหลับไป และในคืนนี้ก็อาจจะเป็นแบบนั้นอีก ถ้าคุณมีชีวิตแบบนี้ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย คุณคงเหมาะกับ Chromebook แล้วหละ
Okay Google! What's the weather linke in Bangkok?
Notification + Status Bar ที่เอาไว้แสดงสถานะต่าง ๆ
คุณจะไม่ซื้อมันเพราะอะไร?
อันที่จริงแล้วเราไม่อยากเรียกมันว่าข้อเสีย ทุกอย่างบนโลกล้วนมีสิ่งที่เราถูกจริตและไม่ถูกจริตกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราอยากให้เห็นบางข้อว่าถ้าคุณกำลังอ่านอยู่ แล้วมันจะมีสักเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจไม่ซื้อมัน ก็ลองดู ...
เป็นเกมเมอร์
ใช่สิ! เจ้าเครื่องนี้ ไม่ ทุกเครื่องที่เป็น ChromeOS เลยแหละ มันไม่เหมาะกับเกมเมอร์เป็นอย่างมาก เพราะมันไม่สามารถลงสตีมเพื่อเข้าไปเล่นเกมภาพสวยได้ อันที่จริงแล้วมันสามารถบูทเข้าลีนุกซ์ได้เพื่อลงสตีมลีนุกซ์เวอร์ชัน แต่กับสเป็คแบบนี้ใครเขาทำกัน ว่าไหม?
เล่น Crossy Road จากเพลย์สโตร์ก็ก่อนแล้วกันนะ
คุณยังต้องใช้โปรแกรมเฉพาะทาง
เช่นโปรแกรมตระกูล Adobe ต่าง ๆ หรือโปรแกรมอะไรก็ได้ที่คุณจะเป็นต้องใช้งานเป็นประจำ แต่มันไม่มีบนโครมบุค สำหรับเราแล้วไม่มีอะไรพิเศษอย่างที่บอกไป แต่ถ้าคุณอยากได้มันจริง ๆ ก็ลองเสิร์ชหาแอพอื่นที่อาจจะทดแทนกันได้
สายพรีเซ็นต์
ถ้าคุณต้องการนั่งดืมกาแฟในร้านโปรดเพื่อโอดโฉมแกดเจ็ดมาใหม่ให้ชาวโลกเห็น คุณอาจจะไม่เหมาะกับเครื่องนี้ ไม่ใช่สิ คนละพรีเซ็นต์กัน เราหมายถึง Samsung Chromebook Plus V2 ไม่มีช่องเสีย HDMI มาให้ การพรีเซ็นต์งานของคุณอาจจะลำบากเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ คุณต้องเพิ่มเงินในกระเป๋าอีกเล็กน้อยเพื่อซื้อสาย USB-C to HDMI แค่นี้ก็หมดปัญหา
ชอบ Call LINE ผ่านคอม
สำหรับคนไทยเลย โดยเฉพาะคนไทยที่มักเสียบหูฟังกับคอมตัวเองละโทรหาคนอื่นผ่านไลน์จากคอม ตอนนี้ LINE บนโครมบุคเป็นเพียงแค่ extension ของ Google Chrome เท่านั้น มันสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของการแชทโดยทั่วไป แต่ก็ไม่วายโดนตัดความสามารถในการโทรออกไป เราก็ยังคงคาดหวังว่าวันหนึ่งไลน์จะอัพเดทให้ดีขึ้นและโทรออกได้!
พิมพ์สัมผัสไม่เป็น
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ChromeOS นั้นรองรับภาษาไทย อย่างที่เรากำลังเขียนในคุณอ่านอยู่นี้ก็เขียนขึ้นบน ChromeOS เหมือนกัน แต่โครมบุคในตลาดไทยนั้นหายากมาก การสั่งซื้อเครื่องจากนอกมันหมายถึงการที่ไม่มีคีย์บอร์ดภาษาไทยมาให้ แต่ถ้าคุณอยากท้าทายตัวเอง เชื่อเถอะว่าวันนึงคุณจะสามารถพิพม์สัมผัสได้อย่างแม่นยำ หรือถ้าเกรงว่าจะไม่สะดวกซื้อสติกเกอร์คีย์บอร์ดไทยมาติดเอาก็ได้เหมือนกัน
อังกฤษล้วน ๆ ไม่มีไทยผสม lol (ถ่ายโดย IP8 กรุณาอย่าคาดหวัง)
สายออฟไลน์
อย่างที่รู้กันว่าเจ้าเครื่องนี้มันมีฮาร์ดดิสก์ความจุเพียง 64GB เท่านั้น ถึงแม้มันจะสามารถเพิ่มความจุด้วย microSD การ์ดได้ก็จริง แต่สายออฟไลน์ที่ชอบเก็บหนังเก็บเพลงคงไม่แฮปปี้ กูเกิ้ลผลักดันให้ใช้ Cloud ของเขาอย่าง Google Drive แต่ถ้าคุณเป็นสายสตรีมมิ่ง ดูเน็ทฟลิกซ์ ฟังเพลงออนไลน์ ใช้งานทั่วไปอันนี้ไม่มีปัญหา
ไม่มีแบล็คลิท (Blacklit)
ข้อสุดท้ายที่เราจะให้ มันชวนดูแปลกใจนิดนึง แต่ตอนที่เราหาข้อมูลก่อนซื้อ เชื่อไหมว่าฝรั่งหลายคนเอาข้อนี้เป็นดีลเบรคเกอร์ในการไม่ซื้อเจ้าเครื่องนี้กันเลยทีเดียว Blacklit Keyboard พูดง่าย ๆ ก็คือไฟที่อยู่ใต้คีย์บอร์ดที่เราสามารถเปิดให้ตัวอักษรบนคีย์บอร์ดเราสว่างได้ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องใช้งานในที่มืด (ทำไมไม่เปิดไฟเอา?) สำหรับเราแล้วไม่จำเป็น เพราะถ้าต้องทำงานในที่มืด เราจะเปิดไฟ...
สรุป
สุดท้ายแล้วการตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างมันเป็นเรื่องของจริต เม็ดเงินที่ครอบครอง อิทธิพลของสังคมรอบข้าง และการวางโพสิชั่นของตัวเราเองกับสังคมว่าเราให้คุณค่าอะไรมากกว่ากัน เราเพียงต้องการที่จะถ่ายถ่ายประสบการณ์ในการใช้ Samsung Chromebook Plus V2 (ชื่อมันยาวจริง ๆ) ในช่วงเวลาเกือบ ๆ หกเดือนที่เราใช้มันทุกวันในหน้าที่การงานและความบันเทิงส่วนตัว ตัวโครมบุคเองก็มีช่วงราคาที่ค่อนข้างกว้างตั้งแต่ 8,000 - 30,000 หากคุณมีกำลังมากกว่านี้และสนใจโครมบุคสักเครื่องแบบเรา อาจจะลองดู Google Pixel Slate หรือ Google Pixelbook ดูได้ ถ้าหากคุณอยากรู้อะไรเพิ่ม หรือเป็นเจ้าของโครมบุคอยู่แล้วอยากแลกความเห็น คอมเมนต์หรือทักดีเอ็มในทวิตเรามาได้ :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in