เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ลอง ลอง เวย์SALMONBOOKS
INTRO: Departure Lounge








  •        
             When was the last time you did something for the first time?
             ครั้งล่าสุดที่คุณได้ลองทำอะไรใหม่ๆ คือเมื่อไหร่
             จริงอยู่ว่าคำถามนี้ใช้ถามใครก็ได้ แต่ผมคิดว่ามันมีแรงสั่นสะเทือนมากขึ้นกับคนที่อายุประมาณยี่สิบกลางๆ ขึ้นไป
             ด้วยวัยที่หลายๆ ด้านในชีวิตดู ‘เข้ารูปเข้ารอย’ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเริ่มฉายแววโดดเด่น ทำให้เราอาจมีรูปแบบการทำงานที่เป็นระบบ ชีวิตประจำวันที่เป็นแบบแผนจนบางทีก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนไป สิ่งต่างๆ มีความตายตัวของมัน การตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเป็นครั้งคราวเลยให้โอกาสผมได้สำรวจตัวเองว่าห่างไกลจากการทำอะไรใหม่ๆ มานานแค่ไหน
              การทำอะไรใหม่ๆ อาจฟังดูเหมือนเป็นคำสวยๆ ที่ใช้ในการโฆษณา แต่ผมคิดว่าการที่เราได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเป็นอะไรที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเรา ไม่เพียงแต่การเติบโตส่วนบุคคล หาสำคัญต่อการเติบโตในระดับสังคมของเราด้วยเพราะถ้าไม่มีคนคิด พูด หรือทำอะไรใหม่ๆ สังคมของเราคงขาดการพัฒนาและหยุดอยู่กับที่
              แต่สิ่งใหม่ๆ ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และกรอบอ้างอิงของแต่ละบุคคล
              สิ่งที่ใหม่สำหรับคนหนึ่งอาจจะไม่ได้ใหม่สำหรับอีกคน
              ผมเชื่อว่าการทำอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ผุดขึ้นมาโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ มันเกิดจากบริบทแวดล้อม โลกทางกายภาพ โลกทางความคิด รวมถึงการพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แปลกไป
              การพบเจอสถานที่แปลกใหม่ส่งผลต่อมุมมองของเราได้โดยตรง สิ่งที่ไม่คุ้นเคยจะปรากฏชัดในการรับรู้ของเรา และเมื่อเรากลับมายังจุดตั้งต้น ก็อาจเห็นสิ่งที่เราเคยคุ้นชินในมุมที่ต่างไปจากเดิม
             ผมคิดว่านี่คือความหมายของสำนวนไทย
             ‘เปิดหูเปิดตา’

             สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกับมุมมองและการรับรู้ในปัจจุบันของผมคือการศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
             ผมเชื่อว่าแต่ละสาขาวิชาทำให้เราเห็นโลกไปคนละแบบโลกของคนที่เรียนสถาปัตยกรรมอย่างผม คือโลกทางกายภาพที่รับรู้ผ่านทางสายตาเป็นหลัก และความที่สถาปัตยกรรมไม่ได้ตัดขาดระหว่างตัวสถาปัตยกรรมที่มนุษย์สร้างกับธรรมชาติที่อยู่แวดล้อม การรับรู้ของผู้เรียนสถาปัตยกรรมจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่อาคาร แต่รวมไปถึง ‘ความเป็นจริง’ ทางกายภาพ เช่น เรื่องของระยะ พื้นที่ ปริมาตร ที่ว่าง วัสดุ หรือปฏิกิริยาต่อแสง และที่สำคัญคือการรับรู้ว่ามันมีผลกับเรายังไง เช่น ห้องพักบางที่อาจทำให้เราอึดอัด แต่บางที่กลับทำให้เราสบายใจ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในธรรมชาติอย่างถ้ำที่เราอาจสัมผัสได้ถึงความโอ่โถง และทางเดินในป่าที่อาจทำให้เรารู้สึกร่มรื่นหรือวังเวง

              ก่อนหน้านี้ ผมทำงานในสำนักงานสถาปนิกที่มุ่งเน้นด้านการออกแบบบ้านเป็นเวลาประมาณ
    หนึ่งปี จากนั้นลาออกมาตั้งต้นออกแบบนิทรรศการศิลปะ และมีโอกาสไป sit in ในฐานะของผู้ช่วยสอนวิชาศิลปะร่วมสมัย จนค้นพบความสนุกและอยากนำมุมมองที่สะสมมาไปประกอบเข้ากับรูปแบบการสื่อสารที่ไม่จำกัดของศิลปะ ผมจึงลองทำงานศิลปะในแบบของตัวเองขึ้นมา แต่สิ่งที่ผมคิดจะทำยังต้องผ่านการทดลองอีกมาก ทั้งการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาวิธีสร้างผลงานที่ต้องการ และการทดลองทางความคิดที่อยู่ในเนื้อหาของผลงานศิลปะ
              การทดลองทั้งสองแบบนี้อยู่บนรากฐานของการสำรวจที่อาจนำไปสู่การค้นพบหรือการสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ได้ทำตามสูตรสำเร็จนั้น มีความเป็นผลงานเชิงทดลอง (experimental)อยู่เสมอ และผมเชื่อว่าคำจำกัดความของศิลปะนั้นกว้างขวางพอที่จะโอบรับสิ่งที่ยังไม่มีนิยามที่ผมต้องการจะสร้างไว้ได้

            เทียน คือผู้ร่วมทางในทุกๆ เส้นทางของผม เธอจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เหมือนกัน แต่เป็นสาขาเกี่ยวกับการออกแบบการสื่อสาร ซึ่งมีความกว้างขวางและเฉพาะเจาะจงไปอีกแบบ สิ่งที่เทียนเรียน ครอบคลุมสื่อตั้งแต่สองมิติ (สื่อสิ่ง-พิมพ์ ออกแบบกราฟิก ภาพถ่าย) สามมิติ (ประติมากรรม การจัดดิสเพลย์) สี่มิติที่มีเวลามาเกี่ยวข้อง (ภาพยนตร์) ลูกผสมระหว่างสื่อหลายๆ ชนิด (งานติดตั้งผสมภาพยนตร์ การฉายกราฟิกบนประติมากรรม) ไปจนถึงอะไรก็ตามที่มีการสื่อสาร สามารถนับเป็นสื่อได้หมด เด็กที่เรียนสาขานี้จึงผลิตผลงานได้หลากหลายและดูจะไม่มีข้อจำกัด อย่างเทียนเองก็ทำงานสำหรับจบการศึกษาเป็นงานศิลปะในลักษณะของประติมากรรมและศิลปะจัดวางเกี่ยวกับความทรงจำ
            สายตาของเทียนพร้อมจะเห็นสิ่งต่างๆ ในฐานะของภาพส่วนหนึ่งก็เพราะการถ่ายภาพเป็นสิ่งที่เธอคลุกคลีมาตลอดชีวิตการได้รับสืบทอดกล้องฟิล์มจากพ่อ ตลอดจนถึงการบ่มเพาะมุมมองด้วยการศึกษาและการทำงาน เทียนจึงนำการถ่ายภาพเข้ามาหลอมรวมกับชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ภาพท้องฟ้า


  • บรรจบกับทะเล ในฐานะของภาพ พอจะอธิบายคร่าวๆ ได้เป็นสี่เหลี่ยมสีฟ้าสองผืนอยู่ติดกัน แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ปรากฏมีมากกว่านั้น เช่น แสงที่ระยับบนผิวน้ำ ไอเมฆอ่อนๆ บนท้องฟ้า ทุกๆอย่างในตอนนั้นคือปรากฏการณ์ และเทียนก็บันทึกภาพเพื่อจัดเก็บชั่วขณะนั้นเอาไว้ ย่นย่อเหตุการณ์หนึ่งๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ลงเป็นภาพสองมิติ
              เทียนและครอบครัวเคยเดินทางไปหลายที่บนโลก และการ ย่อเก็บเหตุการณ์ต่างๆ นั้นไว้ในรูปแบบของภาพถ่ายก็เป็นสิ่งที่เธอทำด้วยใจรัก
              
             หลังจากลองทำอะไรด้วยกันหลายอย่าง ผมกับเทียนก็คิดว่าเราควรเรียนรู้มากกว่านี้เพื่อจะได้มีแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งโดยการศึกษาและการออกจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย
             พวกเราอยากไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เทียนสนใจศึกษาด้านศิลปะ ส่วนผมสนใจศึกษาบางอย่างระหว่างศิลปะและสถาปัตยกรรม
             จากการศึกษาข้อมูลและตัวเลือกต่างๆ เราก็มีข้อสรุปคร่าวๆว่าจะไปเยอรมนี
             เราลงเรียนภาษาเยอรมันพอประมาณ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนต่อที่ไหน อาจารย์ของพวกเราเลยแนะนำให้ลองไปเซอร์เวย์ดูก่อน เพราะการเรียนด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม สถานที่เรียนมีความสำคัญมาก นอกจากการถ่ายทอด สืบค้น และทดสอบความคิดทางทฤษฎี การเรียนทั้งสองศาสตร์นี้ต้องมีส่วนที่ลงมือปฏิบัติการพิจารณาว่าโรงเรียนที่สนใจมีพื้นที่ปฏิบัติการ เครื่องมือ และปัจจัยต่างๆ ที่เหมาะสมกับเราหรือไม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
             การไปเซอร์เวย์ครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการลองหาพื้นที่ทดลองที่เราจะใช้ในอนาคต
             เราเริ่มวางแผนการเดินทางด้วยความตั้งใจจะไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่สนใจ ประกอบกับทวีปยุโรปถือเป็นที่ที่ผมและเทียนไม่มีโอกาสไปเยือนบ่อยๆ เราจึงวางแผนใช้ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าทำวีซ่าเชงเก้นให้คุ้มค่าที่สุด เราจองตั๋วเครื่องบินที่ถูกที่สุดในตอนนั้น (ประมาณสองหมื่นบาทต่อคน) ไปลงที่ปารีส
    บินกลับไทยจากซูริก แล้วจากนั้นค่อยๆ วางแผนต่อจุด จากจุดหมายหนึ่งยังจุดหมายหนึ่งไปเรื่อยๆ
             เราวางเส้นทางไปเมืองต่างๆ ร่วมกันโดยใช้การวางหมุดหมายของสถานที่ที่ไม่อยากพลาดใน
    ทริปก่อน แล้วค่อยดูความเป็นไปได้ของสิ่งที่สามารถจะสอดคล้องไปกับเส้นทาง รวมเวลาตลอดทริปหนึ่งเดือนพอดี การเดินทางครั้งนี้เลยถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอควรสำหรับเรา และผมก็พยายามวางแผนให้รัดกุมที่สุดเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย
              
              ทุกวันนี้ เรามักเห็นสื่อและโฆษณาประเภทที่ชักชวนให้‘ออกไปใช้ชีวิต’ อยู่บ่อยๆ จนทำให้หลายคนอยากออกเดินทางไปเปิดหูเปิดตา ออกไปสำรวจ นำพาตนเองไปอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยกนั สักครั้งในชีวิต ด้วยความที่ยุคนี้ การเดินทางเป็นไปโดยง่าย ราคาตั๋วเครื่องบินถูกลง ความต้องการออกเดินทางจึงเป็นหนึ่งในจิตวิญญาณของยุคสมัยที่คนรุ่นๆ เดียวกับเราจะมีกัน
              สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเร่าร้อนอยากท่องเที่ยวพเนจรนี้มีคำเรียกง่ายๆ ในภาษาอังกฤษว่า wanderlust และจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยก็แปลสั้นๆ ได้ว่า zeitgeist
             สองคำนี้เป็นคำที่ใช้ในภาษาอังกฤษ แต่ก็ยืมมาจากภาษาเยอรมันเต็มๆ โดยไม่มีการลดรูปใดๆ
             ขณะที่ภาษาอื่นต้องใช้คำมากมายเพื่ออธิบาย ภาษาเยอรมันกลับขึ้นชื่อด้านการมีคำอธิบายความรู้สึกหรือสิ่งที่เฉพาะเจาะจงเหล่านี้ ซึ่งหากเรามองมันในฐานะของคำย่อยแล้วก็จะพบว่าเป็นคำที่เรียบง่ายและสวยงาม เช่น treppenwitz (สิ่งที่ควรจะพูดแต่วาระล่วงเลยไปแล้ว) kopfkino (ภาพจินตนาการที่เกิดขึ้นโดย


  • ไม่จงใจ) หรืออย่าง wanderlust ก็มาจากคำว่า wander ที่แปลว่าการพเนจร และ lust ที่แปลว่าความอยาก (ในภาษาเยอรมัน lust ไม่ได้มีความหมายรุนแรงในระดับของตัณหาราคะเหมือนภาษาอังกฤษ
    แค่อยากกินน้ำหรืออยากอยู่บ้านเฉยๆ ก็ใช้คำนี้) รวมกันเป็นความอยากพเนจรหรือความอยากเที่ยวนั่นเอง ส่วน zeitgeistมาจากคำว่า zeit (time) กับคำว่า geist (ghost) รวมกันเป็นบรรยากาศทางภูมิปัญญาหรือจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย จึงอาจกล่าวได้ว่า wanderlust เป็นหนึ่งใน zeitgeist ของช่วงทศวรรษ 2010
            zeitgeist อีกอย่างหนึ่งของทศวรรษนี้ซึ่งนำมาโดยสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดีย คือช่องทางในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารผมกับเทียนจึงนำเรื่องราวที่พบเจอจากการเดินทางหลายๆ ครั้งมาเล่าสู่กันฟัง กับผู้คน โดยเริ่มจากวงสังคมใกล้ตัวแล้วพอรู้สึกว่ามีคนชื่นชอบพอสมควรจึงได้ก่อตั้งเพจบนเฟซบุ๊กชื่อว่า ‘decided to live full time in a hotel’
            เทียนเป็นคนคิดชื่อนี้ขึ้นมา โดยเราเลือกที่จะละภาคประธานของประโยคเอาไว้ เพราะรู้สึกว่ามันลงตัวที่เท่านี้
            แต่ระหว่างที่ผมกำลังพิมพ์ข้อความเหล่านี้อยู่ ผมกลับรู้สึกว่าประธานของประโยคนี้จะเป็นใครก็ได้ จะเป็นผมกับเทียน หรือเป็นใครที่กำลังอ่านอยู่ก็ได้ และก็เป็นเรื่องน่าดีใจที่ตั้งแต่เราก่อตั้งเพจมา สิ่งที่เราทำได้นำพาให้เราไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพบกับผู้คนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน และเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นการร้อยเรียงเหตุการณ์ของทริปที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของสังคมเล็กๆ ที่เราได้มีส่วนร่วมในการสร้างขึ้น
         
            ในทางวิทยาศาสตร์ เราเป็นสิ่งมีชีวิตระดับสามมิติ อยู่ในโลกที่มีความกว้าง ยาว สูง โดยมีเวลาเป็นมิติที่สี่ในวิชาจิตวิทยาสถาปัตยกรรม อาจารย์สอนผมว่า สถาปัตย-กรรมเปรียบเป็นสื่อหรือประติมากรรมสี่มิติสำหรับมนุษย์เหมือนกัน เพราะมันมีเรื่องของลำดับการเข้าถึง ภายนอก ภายใน ที่เราไม่สามารถเห็นได้พร้อมๆ กัน แต่ต้องใช้เวลาเพื่อที่จะเคลื่อนผ่านแต่ละส่วนของมัน
             ผมคิดว่าลักษณะดังกล่าวของสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับหนังสืออย่างยิ่ง เราไม่สามารถเห็นรายละเอียดและภาพรวมทั้งหมดในชั่วปราดเดียวที่มองมัน หากแต่เราต้องใช้เวลาไล่สายตาไปทีละบรรทัด ทีละหน้า เพื่อที่จะเข้าถึง และอย่างที่ได้กล่าวไปว่าการถ่ายรูปของเทียนคือการย่นย่อเหตุการณ์และชั่วขณะไว้ในภาพสองมิติ การเขียนหนังสือเล่มนี้ของผมจึงเป็นเหมือนการคลี่คลายเรื่องราวในภาพสองมิติเหล่านั้นให้ออกมาเป็นสื่อสี่มิติอีกครั้ง
            นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดผ่านภาพถ่ายและตัวอักษร หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนการทดลองและบันทึกการสำรวจบนเส้นทางยาวไกล ไม่เพียงแต่เส้นทางในการเดินทางหนึ่งเดือนนี้เท่านั้น
            แต่รวมไปถึงเส้นทางในอนาคตที่เราจะคงไว้ซึ่งการทดลองเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา



    ศรภัทร ภัทราคร


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in