ระหว่างการตัดสินใจโดยใช้เหตุผลกับการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ คุณใช้ข้อไหนมากกว่ากัน
โดยปกติคุณอาจจะใช้เหตุผลในการตัดสินใจ แต่บางครั้งคุณอาจจะใช้อารมณ์ซึ่งก็ไม่ผิด
บางครั้งเราเลือกซื้อของก็เพราะเห็นแล้วชอบ เห็นแล้วก็ซื้อเลย ไม่ได้ดูว่าควรเองเงินไปใช้จ่ายสิ่งอื่นที่สำคัญมากกว่า แต่บางครั้งคุณอาจจะดูเงินในกระเป๋าก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งที่จำเป็นก่อน
เราไม่ค่อยเห็นปัญหาเกิดขึ้นเมื่อทำการตัดสินใจโดยใช้เหตุผล แต่ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดจากการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ สถานการณ์ไหนบ้างที่เรามักจะตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นเวลาที่เรารู้สึกโกรธ เศร้า หรือช่วงอารมณ์แง่ลบ
สมมติคุณกำลังขับรถในช่วงรถติดและกำลังหงุดหงิดได้ที่ เมื่อรถออกตัว ทุกคันก็วิ่งกันไปตามเลน แต่อยู่ๆคุณโดนรถคันหนึ่งขับปาดหน้า อารมณ์โกรธของคุณพุ่งปรี้ดขึ้นมา ถ้าควบคุมตัวเองไม่ได้ คุณก็อาจจะปาดหน้าเอาคืนบ้าง ถ้าแรงหน่อยก็ขับชนท้ายซะ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คุณก็อาจจะต้องรับผลกรรมจากการที่เราตัดสินใจไปตามอารมณ์และมาสำนึกผิดทีหลัง
การตัดสินใจทางอารมณ์มักจะเกิดขึ้นและหายไปในช่วงสั้นๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ผลของมันส่งผลต่อพฤติกรรมระยะยาวของเรา
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
Dan Ariely ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยดุ๊ก
ให้เหตุผลว่าเพราะเรามักจะนึกย้อนมองตัวเองในอดีตอยู่เสมอ ถ้าเราเห็นว่าตัวเราเคยตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไป เราก็จะสรุปว่าการกระทำนั้นน่าจะสมเหตุสมผล (แน่นอนล่ะ ก็เราเป็นคนมีเหตุผลนี่) เราจึงตัดสินในทำเหมือนเดิมอีกครั้ง กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า การทำตามพฤติกรรมของตัวเอง (Self-Herding)
เมื่อเราโดนขับรถปาดหน้า เราก็ขับปาดคืนเพราะเชื่อว่าเป็นการยุติธรรมแล้ว ตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเมื่อเราโดนขับปาดอีกครั้ง เราก็มักจะทำพฤติกรรมแบบเดิมอีกครั้ง ทั้งๆที่ครั้งหลังเราอาจจะไม่ได้รู้สึกโกรธอะไรมากมาย แต่เราทำแบบเดิมเพราะเราเคยทำมาก่อน
ฟังดูแปลกใช่มั้ยครับ ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้รู้สึกแบบเดิม แต่เราดันทำเหมือนเดิม มันเป็นเพราะว่ามนุษย์อย่างเราจำ "อารมณ์ในอดีต" ไม่ค่อยได้ครับ แต่เราจำ "การกระทำในอดีต" ได้ ดังนั้นเราจึงตัดสินใจแบบเดิมอยู่ตลอด
สรุปก็คือ เมื่อเราเลือกที่จะทำตามอารมณ์ เท่ากับว่าเราได้ทำการตัดสินใจในระยะสั้นที่จะกำหนดทิศทางของการตัดสินใจในระยะยาว และนอกจากนี้เรายังมีแนวโน้มที่จะทำตามพฤติกรรมของตัวเองไม่ใช่แค่ตอนที่ตัดสินใจเรื่องเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตัดสินใจเรื่องที่ใกล้เคียงด้วย
แล้วเราจะรู้เรื่องนี้ไปทำไม?
การที่เรารู้เรื่องนี้ทำให้เราสามารถยับยั้งเหตุการณ์แย่ๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ครับ ถ้าเราตัดสินใจทำอะไรบางอย่างโดยใช้อารมณ์ เราอาจจะเผลอทำสิ่งแย่ๆไป ดังนั้นทางแก้คือ เมื่อคุณมีอารมณ์ขึ้นมา คุณก็อยู่เฉยๆซะ เท่านี้ปัญหาก็ไม่เกิด
วิธีนี้ใช้ได้ ยกตัวอย่างจากตัวผมแล้วกัน
เมื่อผมกับแฟนมีเรื่องทะเลาะกัน แล้วแฟนผมเป็นฝ่ายวีนใส่ผม ผมควรทำไง ถ้าผมตะคอกกลับล่ะก็ ผมอาจจะสบายใจแปปนึงที่ได้ระบายอารมณ์ แต่การทะเลาะก็ยังไม่จบลงน่ะสิ ต่างฝ่ายต่างตะคอกมีแต่แรงขึ้น เมื่อถึงจุดที่ปรับความเข้าใจกันได้ก็หยุดทะเลาะ แต่ถึงแม้คราวนี้จะหายทะเลาะกันแล้ว แต่คราวหน้าก็คงตะคอกกันแบบเดิมอีก
ดังนั้นผมจึงต้องเป็นฝ่ายหยุด แล้วปล่อยให้เธอกระหน่ำใส่
เอ่อ แรงไป เอาเป็น บ่นจนหูชาแล้วกัน
แต่แน่นอนว่าผมก็ไม่ใช่ก้อนหินที่จะรองรับอารมณ์ได้ตลอด ผมก็ต้องหาตัวช่วย นั่นคือน้ำซักขวด
เมื่อโดนบ่น ผมก็ดื่มน้ำ โดนอีก ก็ดื่มอีก ผมมีความเชื่อว่า (ที่ฟังมาจากที่ไหนซักแห่ง) การดื่มน้ำทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ทำให้ใจเย็นลง เมื่อใจเย็นลงก็ค่อยๆคุยดีๆกับเธอ แต่วิธีนี้ห้ามโดนบ่นนานเกินเพราะถ้าน้ำหมดก็ _ิบหาย
ความจริงคำสอนที่เราเคยได้ยินมายังใช้ได้เสมอนะครับ
"กลับไปนอนคิดดีๆ"
"หายใจลึกๆ"
"นับหนึ่งถึงสิบ"
"รอให้ใจเย็นก่อน"
คำพูดเหล่านี้ระลึกไว้เสมอเมื่อเรามีอารมณ์ สำหรับคุณผู้ชายเวลาจะห้ามแฟนซื้อเสื้อผ้ามาใส่ให้เต็มตู้ ก็นำไปใช้ได้นะครับ บอกไปเลยว่า "กลับไปลองคิดให้ดีๆก่อน"
.
.
.
.
.
.
.
.
ถ้าเธอฟังอะนะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in