เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
/me Now.geekjuggler
“วิถีแบบไทยๆ”: ทำไมความคิดใหม่ๆ ถึงเกิดขึ้นได้ยากบนแผ่นดินนี้
  • (เขียนเมื่อ 03/10/2014 - เห็นว่าเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างสูง เลยขอนำมารีรันอีกครั้ง) 

    ข้อความข้างต้นฟังดูแล้วอาจแทงใจดำ แต่นี่คือความจริงที่คนไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ (และไม่มีใครกล้าที่จะออกมาบอก)

    หัวข้อนี้ผมได้มาจากการไปฟังเสวนา “Very Thai: Cultural Filter” โดย Philip Cornwel-Smith ผู้เขียน “Very Thai” หนังสือที่ว่าด้วยวัฒนธรรม “แบบไทยๆ” ที่เราเองก็ไม่เคยสงสัย หาความหมาย หรือ ตั้งคำถามกับพวกมันมาก่อน เช่น การเอาทิชชู่สีชมพูมาห่อช้อนส้อม หรือ ทำไมไฮโซต้องตีกระบัง

    จากความรู้ที่ได้รับตลอดเกือบสองชั่วโมงจากหนึ่งในคนที่มองสังคมไทยแบบถึงกึ๋นที่สุด
    ประโยคที่ผมฟังแล้วถึงกับต้องหยิบสมุดมาจดในทันที (และเป็นที่มาของ blog นี้) คือ

    Foreign Designers of ‘Thai Style’ were more Freedom
    นักออกแบบชาวต่างชาติมีอิสระมากกว่า (คนไทย) ในการเล่นกับ ‘ความเป็นไทย’


    และ ตัวอย่างที่เขายกมาก็ล้วนแต่คนที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยทั้งสิ้น เช่น
    จิม ทอมป์สัน เจ้าพ่อแห่งไหมไทย หรือ จิโร เอนโดะ ศิลปินเลือดปลาดิบที่กำลังมาแรง เป็นต้น

    หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้
    เพราะเขาเป็นคนต่างชาติ? เพราะเขารู้จักคนมากกว่า? เพราะเขาดังอยู่แล้ว? ฯลฯ
    จริงๆ แล้ว คำตอบที่เราค้นหาอยู่ในสไลด์แผ่นที่อยู่ก่อนหน้านี้

     



    Deconstruct = Discrete? 
    การล้มแนวคิดเดิมแล้วสร้างใหม่ = การลบหลู่?


    และตัวอย่างที่เขายกมาก็ล้วนแต่เป็น “ความเป็นไทยแท้” ที่ทำให้ไอเดีย แนวคิด หรือผลงานบางอย่างในไทยไม่อาจเกิดได้ (หรือตายไปด้วยความน่าเสียดาย)
    ทีนี้เราลองมาดูกันทีละหัวข้อกัน

    1. ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ – ไม่เชื่อไม่ว่าแต่อย่ามายุ่ง
    ผี / ขอหวย / ไสยศาสตร์ / น้ำมนต์ / เกจิ / GT200 / ฯลฯ
    คนที่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ ต่างก็เชื่ออย่างสุดใจ และพร้อมเป็นกำแพงที่คอยกั้นคนที่อยากจะเข้าไปพิสูจน์อย่างสุดชีวิต
    ทั้งๆ ที่ทำในความเป็นจริง (และที่ทำกันอยู่ทั่วโลก)​ คือการ “ไม่เชื่อต้องลบหลู่”
    เพื่อที่จะได้เห็นกันชัดๆ ว่า แนวคิดที่มีอยู่แต่เดิมนี้มีข้อบกพร่องตรงไหน หรือ สามารถนำมาต่อยอด ตีความใหม่ หรือ แตกย่อยออกมาเพิ่มเติมตรงไหนได้บ้าง

    2. ไม่มีการกระตุ้นให้ตั้งคำถาม (โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในขั้นเหนือกว่า)
    ลองนึกภาพว่า ถ้ามีเด็กไทยคนหนึ่งยกมือถามครูในวิชาสังคมว่า
    “ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แล้วที่ไทยแพ้พม่านี่นับไหมครับ?”
    แล้วห้องเรียนจะเป็นอย่างไร (และ ชะตากรรมของเด็กคนนี้จะเป็นแบบไหน)

    ผมคิดว่าคำถามที่สร้างสรรค์มีคุณค่ามากกว่าคำตอบตามตำราอยู่หลายเท่านัก
    เพราะการตั้งคำถามที่ดีจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ถาม และ ผู้ถูกถาม อย่างเอนกอนันต์
    แต่บรรยากาศเหล่านี้กลับถูกปิดกั้นด้วยแนวคิดแปลกๆ ทำนองว่า จะรู้ไปทำไม / น่ารำคาญ / เด็กอวดฉลาด / ปีนเกลียว และอื่นๆ อีกมากมายจากคนที่อยู่ในระดับสูงกว่า
    ระบบแบบนี้ทำให้เด็กไทยเริ่มขี้เกียจที่จะถาม ขี้เกียจที่จะกล้าคิดแหวกแนว
    เพราะไม่อยากแส่หาเรื่องให้เป็นที่เหม็นขี้หน้าของอาจารย์ (และผู้รู้ในแขนงอื่นๆ ) เสียเปล่าๆ
    และแน่นอนว่า ไอเดียดีๆ ก็อาจจะตายไปพร้อมกับใจอันห่อเหี่ยวของคนๆ นั้น

    3. ความอาวุโสเป็นใหญ่เหนือกว่าความสวยงามและวิธีการ
    รู้จัก พิเชษฐ กลั่นชื่น ไหมครับ?
    ในสายตาชาวโลก เขาคือศิลปิน นักเต้นโขนที่คนทั่วโลกปรบมือชื่นชม
    ในสายตาของกรมศิลปากรและคนโขนของไทย เขาคือคนทำลายศิลปะโขน และ ไม่มีใครยอมรับเป็นพวก
    เพราะ พิเชษฐนำโขนที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยมาแยกส่วนและตีความใหม่
    เช่น การแสดงโขนขาวดำ หรือ การแสดงโขนที่ตัดทอนความสวยงามของชุดเพื่อเน้นที่ท่วงท่าการรำโดยการสวมแค่หัวโขน และ กางเกงใน!

    พิเชษฐ เป็นหนึ่งในคนที่ Philips ยกตัวอย่างในการเสวนาครั้งนี้
    สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในแวดวงศิลปะ (และอีกหลากหลายวงการ)​ ของบ้านเรา คือ
    ‘ความงดงามหรือคุณค่าในชิ้นงาน คือ สิ่งที่ศิลปินอาวุโสเห็นชอบแล้วว่าดี’
    แทนที่เราจะอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยการนำลงมาต่อยอดและให้ทุกคนเข้าถึง
    แต่เรากลับเลือกการนำมันไปเก็บไว้บนหิ้ง เพราะแปะป้ายว่า “ห้ามจับโดยเด็ดขาด”

    ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่หลายๆ คนจึงเลือกช่องทางเผยแพร่ผลงานของตัวเองโดย “การส่งไปเมืองนอก”​ เป็นตัวเลือกแรก เพราะมั่นใจว่า ถ้าโลกยอมรับ คนในประเทศไทยถึงจะยอมรับ (แม้ว่าตอนแรกจะด่าซะสาดเสียเทเสียก็ตาม)

    4. ‘เรื่องบางเรื่อง’ คนธรรมดาห้ามแตะ
    เคยเห็นภาพนี้ไหมครับ



    “ภิกษุสันดานกา” ภาพนี้เคยเป็นข่าวโด่งดัง มีพระสงฆ์หลายรูปออกมาต่อต้านให้นำภาพนี้ออกจากการแสดงโชว์ เพราะ ทำให้หมิ่นศาสนาพุทธ ดูหมิ่นสถาบันสงฆ์ เป็นการบอกว่าพระสงฆ์มีพฤติกรรมลุ่มหลงในไสยศาสตร์ดั่งพฤติกรรมของพระในภาพ

    ทั้งๆ ที่ภาพนี้ชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญทองประเภทจิตรกรรม จากการประกวดผลงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ประจำปี 2550 และ ที่มาของภาพนี้ก็ยกมาจากในพระไตรปิฎกเองด้วยซ้ำ!

    บ้านเรายกเรื่องศาสนาพุทธเป็นเรื่องที่ห้ามแตะต้อง
    ถ้าใครเข้าไปวิพากย์วิจารณ์(แม้ว่าจะเป็นเจตนาดี) ก็จะโดนตราหน้าว่าเป็นคนชั่ว คนบาป คนไร้ศาสนาโดยทันที
    ทั้งๆ ที่เราต่างก็เห็นกันอยู่ตำตาว่าตอนนี้หนึ่งในสถาบันของประเทศเรานั้นเละตุ้มเป๊ะกันมากขนาดไหน
    ‘ข้อห้าม’ ประมาณนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ในประเทศนี้เช่นกัน

    (ตัวอย่างที่น่าสนใจในหัวข้อนี้ที่ Philips ยกมา คือ
    การเปรียบเทียบระหว่าง พระพุทธรูปบนชุดว่ายน้ำของฝรั่ง กับ หุ่นฮิตเลอร์ในร้านขายเสื้อยืดของไทย – เรื่องบางอย่างที่เราเห็นว่าธรรมดา อาจจะเป็นเรื่องที่เซ็นสิทีฟกับอีกคนหนึ่ง)

    พอฟังสไลด์หน้านี้จบ ผมก็ได้แต่ขำแห้งๆ ในใจ
    เพราะผมเอง เป็นคนไทยที่มานั่งฟังฝรั่งมาอธิบายเรื่องวัฒนธรรมไทยๆ
    โดยไม่โดนคนรอบข้างถากถางว่า “จะอยากรู้ไปทำไม” หรือ “มึงบ้าหรือเปล่า” หรือ “ลบหลู่ความเชื่อทำไม”

    เพราะว่าเขาไม่ได้ติดอยู่ในบ่วงสี่ข้อที่กล่าวมาข้างต้น
    เพราะว่าเขาเป็น นักออกแบบชาวต่างชาติที่มีอิสระมากกว่า (คนไทย) ในการเล่นกับ ‘ความเป็นไทย’

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in