เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
From time to timeBUNBOOKISH
คำนำสำนักพิมพ์







  • Every Now and Then

             ชีวิตคนทำงานสำนักพิมพ์ในเมืองไทยอย่างเราจะมีช่วงเวลาสำคัญและหนักหน่วงแน่ๆ อย่างน้อยปีละสองครั้ง—ครั้งแรกคือช่วงก่อนงานสัปดาห์หนังสือฯ ปลายเดือนมีนาคม และอีกครั้งคือก่อนงานมหกรรมหนังสือฯ ปลายเดือนตุลาคม        

             ทำงานในสายงานนี้มานับสิบปี ชีวิตก็เป็นอย่างนี้มาอย่างสม่ำเสมอ, สม่ำเสมอเสียจนคิดว่าถ้าปีไหน งานหนังสือถูกเลื่อนหรือเปลี่ยนช่วงเวลาจัดงานออกไป ชีวิตเราในปีนั้นคงปั่นป่วนไม่ใช่น้อย

            เรารู้จัก พี่ตุ๊ก—วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ในฐานะบรรณาธิการบริหารรุ่นบุกเบิกของนิตยสารรายสัปดาห์ a day BULLETIN ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงแล้ว การเป็นคนทำนิตยสารรายสัปดาห์มายาวนานนับสิบปี น่าจะเข้าอกเข้าใจคำว่าสม่ำเสมอดีกว่าเรามากถ้าหนึ่งปีของคนทำหนังสืออย่างเรามีช่วงเวลาหนักหนาสองครั้ง หนึ่งปีของคนทำงานรายสัปดาห์ก็มีช่วงเวลาอย่างนั้นตั้ง... 52 ครั้ง!   

            พอหนักหนาอย่างสม่ำเสมอ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา...


            ถ้าให้เลือกระหว่างความแน่นอน สม่ำเสมอ กับความไม่แน่นอน เป็นครั้งคราว เราก็คงจะเลือกอย่างแรก โดยไม่ต้องสงสัย เป็นใครก็ต้องการความแน่นอนไม่ใช่เหรอ...       แต่กลับกัน ถ้าความสม่ำเสมอนั้นจะนำมาซึ่งความน่าเบื่อหน่ายในชีวิต ถ้าในความแน่นอนนั้นพ่วงความเหน็ดเหนื่อยที่คุ้นเคยจนไม่รู้จะบ่นว่าเหนื่อยออกมาทำไมบางที ความไม่สม่ำเสมอ มีบ้าง ไม่มีบ้าง ทำบ้าง ไม่ทำบ้างเหนื่อยบ้าง ไม่เหนื่อยบ้าง ก็น่าสนใจพอที่จะเอาความแน่นอนในชีวิตไปแลกมา


    BUNBOOKS


    คำนำสำนักพิมพ์




  • From Time to Time

                อยู่มาวันหนึ่ง ชีวิตผู้เขียนก็ไม่เหมือนเดิม ไม่แน่ใจว่าอะไรเกิดขึ้นก่อน ระหว่างรู้สึกไม่เหมือนเดิม เพราะชีวิตเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือว่าความเปลี่ยนแปลงมากมายที่ถาโถมเข้ามาทำให้ชีวิตเริ่มไม่
    เหมือนเดิม 
                อาจไม่ถึงกับแตกสลาย แต่ถ้าแตกร้าว…ก็น่าจะใกล้เคียการตัดสินใจลาออกจากงานบรรณาธิการบริหารประจำนิตยสารเล่มหนึ่ง คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง, ตอนแรกผู้เขียนก็คิดเช่นนั้น อาจจะเหน็ดเหนื่อย อาจจะไร้แรงบันดาลใจหรืออาจจะแค่รู้สึกต้องการความเปลี่ยนแปลง หรืออยากให้สิ่งแวดล้อมของชีวิตเปลี่ยนไปบ้าง ฯลฯ แต่เอาเข้าจริง ไม่มีจุดเริ่มต้นใดชัดเจนและซัดเข้าที่หัวใจมากไปกว่าความสูญเสียและการกระจัดพลัดพรายของความสัมพันธ์ สัจธรรมอันเป็นนิรันดร์ แต่ไม่เคยมีใครต้านทานได้ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือหัวใจจะขาดรอน 
             ผู้เขียนสูญเสียคุณพ่อไปเมื่อตอนต้นปี โดยไม่แม้แต่จะได้กล่าวคำร่ำลาแม้จะมีฐานะเป็นลูกคนโต แต่ก็เป็นลูกที่อยู่ไกลอกพ่อมากที่สุดถ้าเทียบกับลูกคนอื่นๆที่เกิดจากคนละแม่ เหตุเพราะปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวเราเมื่อหลายสิบปีก่อน ไม่อาจทำให้พ่อกับแม่หวนกลับมาใช้ชีวิตด้วยกันอีก      

             ในฐานะสามี-ภรรยาการหย่าร้างคือการพลัดพรากครั้งแรกของครอบครัวเราจากนั้นเราก็ห่างไกลกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้วยระยะทาง และความสนิทสนมระหว่างพ่อลูก ทุกคนแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตลอดเวลาที่ห่างหายไป พวกเราคิดถึงกันบ้างไหม หรือคิด…แต่พยายามจะไม่                       ความห่างไกลระหว่างเรานั้นกลืนกินความสัมพันธ์ ไม่ถึงกับสะบั้น…แต่คล้ายมันไม่มีอยู่จริง มันเป็นแบบนี้เอง เรามีความคิดถึงอยู่ในโมงยามของชีวิต แต่เราอาจคิดถึงใครสักคนแค่เพียงไกลๆ ไกลจนคล้ายเขาไม่ได้อยู่ในชีวิต     วันที่ญาติฝ่ายพ่อแจ้งข่าวว่าอาการในช่วงโมงยามสุดท้ายของพ่อไม่สู้ดีและพ่อรอคอยให้ผู้เขียนกลับไปพบก่อนที่เราจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว นาทีนั้น บอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร ยังไม่มีน้ำตายังไม่เศร้าแต่หัวใจหวิวหวั่น      
            ระหว่างเดินทางไปหาพ่อ ยังคิดเข้าข้างตัวเองว่าเราคงไปทันเจอหน้าพ่อ พ่อต้องรอไหว…แต่มันก็แค่เรื่องเข้าข้างตัวเองโทรศัพท์จากญาติของพ่อดังขึ้น…และเสียงปลายสายก็บอกมาสั้นๆ ว่า“ไม่ทันแล้ว พ่อไปแล้ว”      
            การบอกว่าตาย อาจจะฟังดูโหดร้ายเกินไป เราทุกคนเลยใช้คำว่าไม่อยู่แล้ว ไปแล้ว     จากจุดนั้นเอง ชีวิตหนึ่งไม่อยู่ แต่อีกชีวิตหนึ่งยังต้องอยู่ เพียงแต่อยู่ในที่เดิมไม่ได้ และผู้เขียนต้องไปเช่นกัน…ไม่ได้ไป      เพื่อจะลืมแต่ไปเพื่อจะได้ยังจดจำทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาและมองกลับมาด้วยสายตาอีกแบบ 


    The UK  

             
    ประเทศที่ผู้เขียนตั้งใจเดินทางไปอยู่เป็นเวลาสามเดือน และถ้อยคำสำนวนที่ผู้เขียนรวมทั้งเพื่อนๆ ใช้กันบ่อยจนจำได้คือคำว่าfrom time to time ในความหมายว่าเป็นบางครั้งบางคราว ที่ตรงข้ามกับคำว่าสม่ำเสมอ          
             เพราะมันเป็นคำที่เหมาะเจาะเหลือเกินสำหรับช่วงชีวิตที่ปราศจากภาระหน้าที่การงานรัดตัว โดยเฉพาะงานที่ต้องรับผิดชอบให้นิตยสารสามารถตีพิมพ์ออกมาได้ทุกสัปดาห์        
             สามเดือนนั้น ไม่มีอะไรที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมออีกแล้ว ไม่มีแม้แต่ความรู้สึกอยากจะเขียนเรื่องราวอะไรออกมางานการหยุดเคลื่อนไหว คิดถึงเมืองไทยไหม      
         
             ... ก็คิดถึงเป็นบางครั้งบางคราว 


    From Now On 

           บาดแผลจากความพลัดพรากและความรู้สึกผิดหลายๆ อย่าง ยังคงส่งผลเสมอ แม้ในทุกวันนี้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ผู้เขียนพบว่าตัวเองยังระลึกถึงมันเป็นบางครั้ง น้ำตาอาจไหลบ้าง แต่ก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสเหมือนช่วงแรกๆ ที่เผชิญกับเรื่องราวที่รุนแรง เชื่อเถอะว่าเวลายังทำหน้าที่รักษาบาดแผลได้ดีเสมอ
       
        หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นหลังจากบรรณาธิการสำนักพิมพ์บันเปรยมาว่าอยากคัดสรรบทบรรณาธิการในรอบสิบกว่าปีมารวมเล่มอีกครั้ง แม้จะลังเลในตอนแรก แต่พอมาคิดดูอีกครั้ง ผู้เขียนก็คิดถึงความคิดของตัวเองในรอบสิบปีนั้นเช่นกัน       
           จากนั้น งานเขียนนับร้อยๆ ชิ้น ก็ถูกคัดออกมาจากหนังสือหลายเล่มที่เคยตีพิมพ์ และห่างหายไปจากชั้นหนังสือนานนับปี การคัดสรรมารวมใหม่ โดยการจัดระบบเรื่องราวใหม่ ล้วนแต่เป็นการจัดวางเพื่อให้เรามองอดีตด้วยสายตาใหม่ๆ
           และอย่างมากที่สุดก็คือ การตีความเรื่องเก่าในบริบทของชีวิตแบบใหม่ ที่ผู้เขียนเอง (และหวังว่าผู้อ่านด้วยเช่นกัน) ก็อาจจะได้คำตอบใหม่ในคราวนี้          
              ภาพต้นไม้ที่ไร้ใบบนปก คือต้นไม้ต้นใหญ่ใกล้กับบ้านที่ผู้เขียนพักตอนอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เวลานั้นเป็นฤดูหนาวและฟ้ายามเย็นกำลังเปลี่ยนสี ผู้เขียนยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพนั้นไว้ เพราะต้นไม้ไร้ใบดูแข็งแกร่งและเจิดจ้าผิดกว่าทุกวัน          
             ชีวิตยังต้องยืนหยัดต่อไป บาดแผลจะค่อยๆ เลือนรางอดีตจะค่อยๆ ห่างไกล          
              และมีไว้ให้เราคิดถึง... เป็นบางครั้งบางคราว 



    ด้วยความคิดถึงคนอ่านอย่างสม่ำเสมอ
    วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม


    คำนำนักเขียน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in