มาจะกล่าวบทไป เกี่ยวเนื่องกับกระแสการโต้เถียงในสังคมช่วงนี้ นั่นคือ ความมั่นคงของไทย เราในฐานะผู้มีความสนใจด้านความมั่นคง ก็อยากจะร่วมขบวนโต้เถียงครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อันที่จริงขอสารภาพ ว่าเราเคยเขียนดราฟเรื่องนโยบายความมั่นคงเป็นภาษาอังกฤษไปบ้างแล้ว แต่บทความนั้นยังไม่สามารถแสดงออกถึงความนึกคิดของเราได้ดีเท่าภาษาไทย จึงอยากแก้ตัวใหม่ในบทความนี้
ขอเริ่มต้นด้วยกระแสร้อนแรงในช่วงกลางปีนี้ (2568) เรื่องข้อพิพาทดินแดน (territorial dispute) และการปักปันเขตแดน (boundary demarcation) ระหว่างไทย - กัมพูชา มีกรณีที่รุนแรงขึ้นจากการที่รัฐบาลกัมพูชาพยายามสร้างกระแสชาตินิยมให้กับประชาชนของตัวเอง โดยการสื่อสาร หรืออันที่จริงอาจเรียกเป็น propaganda เลยก็ว่าได้ ผ่านโพสต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ซึ่งการสร้างกระแสผ่านวัฒนธรรมนั้น ส่งผลกระทบถึงไทย ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมร่วมกับกัมพูชาอยู่มาก จึงเกิดการ "เคลมวัฒนธรรม" ระอุขึ้นบนกระแสออนไลน์ของทั้งไทยและกัมพูชาเอง ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายกัมพูชาได้ระดมกำลังทางทหารตามแนวชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทย และพยายามขยายอาณาเขตของตนเองลุกล้ำเข้ามายังพื้นที่ของไทย ผ่านการเข้ามาสร้างสิ่งก่อสร้าง หรือขุดเลาะโคกโคลน เพื่อสร้างเขตกั้นระหว่างทั้งสองประเทศ โดยที่ไม่ได้ปรึกษาทางทีมงานของไทย หรือเป็นไปตามข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันไว้แต่อย่างใด จีึงเกิดการปะทะกันระหว่างทหารทั้งสองประเทศ และเป็นข่าวครึกโครมมาเกือบหนึ่งสัปดาห์
ในมุมมองเรา คิดว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างวาทกรรมเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาลกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว ประกอบกับความพยายามเรียกกระแสความนิยมของทหารไทย ทำให้ความขัดแย้งที่เคยจำกัดวงแค่ระดับหน่วยงานรัฐบาล (state levels) ขยายกว้างไปสู่ความขัดแย้งระดับประชาชน (individual levels) นั่นหมายความว่าระดับความรุนแรงจึงเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฝ่ายไทยเริ่มที่การส่งหนังสือประท้วงท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาลกัมพูชา ต่อมาจึงดำเนินการย่นระยะเวลาปิดจุดผ่านแดน ซึ่งแม้จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์การค้าชายแดนของไทย แต่ก็พบว่าปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ อย่างแก๊งคอลเซนเตอร์ รวมถึงปัญหาขนส่งผิดกฎหมาย ก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ภาครัฐของไทยสามารถจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้น และนำไปวิเคราะห์หาทางแก้ไขปัญหาต่อไปได้
ที่เกริ่นซะยืดยาว เพราะอยากให้เห็นตัวอย่างปัญหาความมั่นคงของไทยเพื่อที่จะเข้าใจหลักการและแนวทางการแก้ปัญหาของไทยได้มากขึ้น เหตุการณ์ที่ได้กล่าวไปนั้นเป็นเพียงหนึ่งในเหตุปัจจัยของความมั่นคงไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่หน่วยงานความมั่นคงของไทยได้กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ เราสามารถค้นหาได้จาก "นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคง" ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ของไทยเพื่อกำหนด ควบคุม และประเมินสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศ ระยะ 5 ปี จัดทำโดย สมช. โดยในแผนฯ ดังกล่าว มีธีมหลัก คือ การวางรากฐานความมั่นคงของประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิด
การบูรณาการร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) โดยเฉพาะภาคประชาชน
สาระสำคัญง่ายๆ ของแผนความมั่นคงนี้ คือการระบุประเด็นต่างๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงได้ให้ความสำคัญไว้อย่างกว้างๆ แบ่งออกเป็นทั้งหมดสองหัวข้อใหญ่ คือ ความมั่นคงแบบรายประเด็น มีทั้งหมด 13 ประเด็น และการส่งเสริมศักยภาพความมั่นคงของไทย มี 4 ประเด็น ประกอบกับได้อธิบายเป้าหมาย ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ไว้อย่างชัดเจน แล้วยังแถมด้วยแผนบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงเพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ได้อย่างเสรี นอกจากนี้ แต่ละประเด็นภายใต้นโยบายและแผนฯ ก็ใช้ methodology ที่หลากหลาย ตั้งแต่การทบทวนแผนความมั่นคงเดิม (มีการใช้แผนความมั่นคงอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2541 หรือ 1998) ไปจนถึงการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นความมั่นคง โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น High Risk, High Impact, SWOT Analysis, และ PESTEL+M ซึ่งในรายละเอียดของแผน ได้กำหนดผลประโยชน์แห่งชาติ และการขับเคลื่อนแผนไว้อย่างครอบคลุม
ในความเห็นของเรา แผนความมั่นคงสมควรแล้วที่จะวางกรอบไว้กว้าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์และบริบทของความมั่นคงมักจะค่อนข้างซับซ้อน คาดการณ์ได้ยาก และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่อุปสรรคของการบังคับใช้แผนดังกล่าว คือ ไม่ได้ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ระบุเพียงแค่หน่วยงานเจ้าภาพที่ทำหน้าที่บูรณาการขับเคลื่อน ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ยากที่จะรู้หน้าที่ของตัวเอง และยังพบปัญหา "เกี่ยง" กันทำงาน และขาดความต่อเนื่องในการจัดการกับปัญหาความมั่นคง เช่น ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง ที่นับเป็หนึ่งในประเด็นความมั่นคงของนโยบายและแผนระดับชาติฯ ซึ่ง ณ ตอนนี้ กอ.รมน. รับผิดชอบบูรณาการ หากแต่เดิมกลับเป็น สมช. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก สิ่งเหล่านี้ทำให้งานด้านการบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมืองไม่เกิดความต่อเนื่อง หน่วยงานระดับปฏิบัติการ (operation) แต่ละพื้นที่จึงเกิดความสับสนในการรับคำสั่ง และเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปพลางก่อน
นอกจากนี้ การกำหนดตัวชี้วัดก็เป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้ภารกิจขับเคลื่อนความมั่นคงของไทยยังคงคลุมเครือ กล่าวคือ หน่วยงานผู้รับหน้าที่ปฏิบัติรับไปเพียงตัวชี้วัดและกลยุทธ์อย่างกว้าง ๆ แล้วจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการของตนเอง ซึ่งแม้นับว่าเป็นการบริหารจัดกาที่ค่อนข้างยืดหยุ่น แต่สิิ่งที่เป็นปัญหาคือ หน่วยงานนโยบายยังคงขาดการโน้มน้าวองค์กรให้ทำตามแผน เช่น การขาดความชอบธรรมในการบังคับใช้แผน นั่นหมายความว่า เมื่อนโยบายนั้นประกาศออกไปแล้ว ไม่ได้มีการบังคับให้หน่วยงานผู้ดำเนินการต้องปฏิบัติตามแผนนี้ ในทางกลับกัน หน่วยงานเจ้าของโครงการพยายามให้ความสำคัญกับนโยบายความมั่นคงนี้อยู่บ้าง แต่กลับให้ความสำคัญไปกับภารกิจตามที่สำนักงบประมาณกำหนดเกือบทั้งหมด พูดให้ชัดเจนเลยคือ หน่วยงานนโยบายความมั่นคงไม่ได้มีขอบเขตในการกำหนดงบประมาณในการปฏิบัติตามแผนนี้ ส่งผลให้ตัวชี้วัดบางตัวไม่บรรลุผล หรือแม้จะได้ผลผลิต (output) แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม (outcome) ง่าย ๆ ก็คือ แม้จะมีผลลัพธ์ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่กลับไม่ได้ทำให้สังคมรู้สึกถึงผลลัพธ์นั้น เช่น ยาเสพติด ที่มีตัวเลขการจับกุมระบุชัดเจน แต่ก็ยังเกิดข่าวลักลอบยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง และยังคงสร้างความหวาดระแวง รวมถึงสูญเสียประชาชนผู้มีศักยภาพไปกับปัญหาดังกล่าว
ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ การจัดทำนโยบายความมั่นคงที่เป็นรูปธรรมยังคงเป็นความท้าทายของหน่วยงานความมั่นคงของไทย เพราะต้องแสดงรายละเอียดประเด็นความมั่นคงที่จัดลำดับความสำคัญที่ชัด หน่วยงานผู้รับผิดชอบที่เฉพาะเจาะจงและสม่ำเสมอ ตัวชี้วัดที่วัดผลได้จริง การติดตามผลที่มีประสิทธิภาพ และการขับเคลื่อนนโยบายในรูปแบบ Top-Down ผ่านนโยบาย และ Buttom-Up ผ่านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม คือ มุ่งเป้า และทบทวนอยู่เสมอ การรายงานผลจำเป็นต้องครอบคลุมปัญหาการทำงานทั้งหมด ไม่ใช่เพีียงแค่การรายงานปัญหาเดิม ๆ หรือก็อบปี้ข้อความเดิมๆ มาร้อยเรียงกัน ซึ่งในส่วนนี้ เมื่อการรายงานส่งมาถึงหน่วยงานระดับนโยบายแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานผู้ดำเนินการพบเจอในรอบต่อ ๆ ไปด้วย
สิ่งสำคัญที่อยากนำเสนอในบทความนี้ คือ โอกาสการบริหารจัดการความมั่นคงของไทย โดยส่งเสริมให้หน่วยงานความมั่นคงต้องมีอำนาจและบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการความมั่่นคงของประเทศ "ด้วยตัวเอง" ควบคู่ไปพร้อมกับฝ่ายบริหารของประเทศ จึงขอนำเสนอหลักการ Civilian control of the Military นิยามให้เข้ากับบริบทของไทยก็คือ การบริหารจัดการความมั่นคงผ่านกลไกของ สมช. นั่นเอง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราขาดกลไกการจัดการ แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่การบริหารจัดการความมั่นคงของไทยจำกัดอยู่หน่วยงานทางการทหารเพียงอย่างเดียว ขอยกตัวอย่างข้างต้น คือ เมื่อเกิดปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ฝ่ายความมั่นคงพลเรือนตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึง สมช. กลับมอบอำนาจให้ฝ่ายทหารเป็นผู้จัดการดูแล ส่งผลให้ความร้อนระอุในสถานการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ (ถึงแม้ความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามระหว่างประเทศจะน้อยมาก เพราะแต่ละฝ่ายมีต้นทุนการก่อสงครามที่จำกัด ประกอบกับธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศไม่ได้เอื้อให้เกิดสงครามมากเท่ากับในอดีต) ดังนั้น หน่วยงานความมั่นคงพลเรือนสมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิรูประเบียบวิธีปฏิบัติให้ครอบคลุมกับบริบทของประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ความเป็นไปได้ในการนำหลักการ "พลเรือนนำทหาร" ให้เป็นจริง คือการปรับปรุง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของ สมช. โดยกำหนดให้ สมช. มีอำนาจในการออกกฎ หรือกำหนดแนวปฏิบัติเฉพาะหน้า รวมถึงกำหนดนโยบายฉุกเฉิน เพราะเชื่อว่าบุคลากรของหน่วยงานมีความรู้ พร้อมกับข้อมูลความมั่นคงของประเทศอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีอคติ (bias) ว่าด้วยเรื่องยุทธวิธีการสงครามน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับองค์ความรู้ทางสายทหาร ส่งผลให้การกำหนดท่าทีและแนวปฏิบัติในการจัดการความขัดแย้งด้านความั่นคงของไทยเป็นไปในแนวทางสันติวิธี ซึ่งสามารถลดความเสียหายทางสังคมได้อย่างมหาศาล พร้อมกับเผยแพร่ผลการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการใดๆ ให้ประชาชนพิจารณา เพื่อส่งเสริมความชอบธรรมในการดำเนินการนั้นอย่างสุจริต และรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน (accountability) อย่างแท้จริง