เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Dancing on the roofhalsey
Sherlock BBC : The Abominable Bride
  • Sherlock ตอนนี้อาเฮียเกติสและอาเฮียมอฟแฟตพาเราย้อนไปอดีตเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในสมัยยุควิคตอเรียนนู่นเลย เราเลยได้เห็นในอีกมิติหนึ่งของลอนดอนในรูปของความเป็นอดีต  

    บทความนี้เราหยิบยกประเด็นบางประเด็นจากตอนนี้มาเล่า ซึ่งมันก็ชัดจากที่เรื่องนำเสนอเอาไว้อยู่มาก

    [มี Spoil สำหรับคนไม่ได้ดูนะคะ / ในนี้มีความเห็นส่วนตัวเราค่อนข้างเยอะ / หากมีอะไรผิดเพี้ยนท้วงติงได้เน้อ]

    Emelia Ricoletti

    พูดถึงการวางลักษณะตัวละครในหนังหลายๆ เรื่องสมัยนี้เริ่มนำเรื่องของ feminist  เข้ามาชักนำ หรือเป็นตัวดำเนินเรื่องที่จะพูดถึงก็คือสมัยนี้ สิทธิความเป็นหญิงมีเท่าเทียมกับผู้ชายถ้าเทียบกับในสมัยก่อน ซึ่งผู้หญิงแทบไม่ได้มีสิทธิอะไรในสังคมเลย

    ถ้าเราจะย้อนไปสมัยที่ประเด็นมนุษยธรรมยังไม่ค่อยมี อย่างเรื่อง การล่าแม่มด ในสมัยยุคกลาง 'แม่มด' คำนี้เราเห็นถึงการชี้เป้าไปที่เพศหญิง อาจมองว่าเป็นเพราะเพศหญิงปนเปื้อนง่าย(?) ขาดความบริสุทธิ์ง่าย(?) อีกทั้งสมัยนั้นเพศหญิงอยู่ภายใต้อำนาจผู้ชายซึ่งให้ความรู้สึกกำยำ มีอำนาจ เราจัดการผู้ที่(อาจถูกกล่าวหา)เป็น แม่มด ด้วยการ เผาทั้งเป็นหรือทรมานอย่างสาหัส  ในยุคที่เครื่องทรมานยังมีให้เห็นเป็นปกติตามท้องถนน หรือในบ้าน ภรรยาที่ปากคอเราะร้าย ชอบพูดนินทาชาวบ้าน สามีจะจับตระกร้อเหล็กครอบปาก มีเหล็กปลายแหลมแทงเข้าไป กดลิ้นให้พูดไม่ได้  ซึ่งภรรยาจะไม่มีทางได้ขัดขืนหรือจะขัดขืนแต่ก็ต้องทำ ฯลฯ ในปัจจุบัน จึงเห็นว่าอดีตนั้นช่างไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงซะเหลือเกิน

    (กลับจากการออกทะเลไปไกล) การปลุกระดมของความเป็นหญิงให้มีบทบาททางสังคมมากขึ้นจึงมีมาเรื่อย หนึ่งในนั้นคือนำเสนอผ่านสื่อ ตัวอย่างการตีความตัวละครในลักษณะนี้เช่น  Mrs Banks ในเรื่อง MaryPoppins ให้มีความเป็นตัวแทนพลังของความเป็นผู้หญิง ที่มีสิทธิมีเสียงทางสังคมผู้สร้างหนังก็ต้องการที่จะสื่อให้เห็นการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมให้กับผู้หญิงในสังคม แต่ละเรื่องและนำเสนอแตกต่างกันออกไป

    คุณนายแบงค์สและสายสะพาย Vote for Women (c) ohmy.disney.com

    อย่างในซีรี่ย์ยอดฮิตจาก BBC เรื่อง Sherlock ตอนพิเศษ  The Abominable bride ที่เรื่องหลักๆเป็นการที่เชอร์ล็อกได้นำตัวเองกลับไปตอนที่อังกฤษกำลังอยู่ในยุควิคตอเรียนเป็นยุคที่อาชญากรรม ความเสิ่อมโทรม ช่องโหว่ทางสังคม ฯลฯ ปรากฎให้เห็นเด่นชัดโดยผ่าน Mind palace ของตัวเอง เพื่อนำมาอธิบายความวุ่นวายเกี่ยวกับมอริอาร์ตี้ที่รบกวนสมองอยู่ในขณะนี้เพราะ แม้จะตกอยู่ภายในภวังค์ที่ฉากหลังเป็นยุควิคตอเรียนแต่มอริอาร์ตี้ก็ยังตามไปหลอกหลอนแล้วก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เสมอๆโดยคดีที่เป็นหัวใจหลักของตอนคือคดีเจ้าสาวที่มีใจอาฆาต การนำเสนอคือเจ้าสาวลุกขึ้นมาจากความตาย แล้วกลับมาล้างแค้นทั้งสามีและคนที่เกี่ยวข้อง

    จากที่ได้พูดไปเราจะเห็นถึงพลังของผู้หญิงที่ตัวผู้สร้างเองต้องการจะสื่อไม่ใช่แค่อมิเลีย ริคอลเลททิ ที่เป็นตัวเจ้าสาว แต่ยังมีเพื่อนสตรีอีกหลายคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการวางแผนฆาตกรรมนี้อีกยิ่งชัดเจนถึงการปลุกระดมของความเป็นหญิง ซึ่งหัวข้อนี้ แมรี่ก็มีพูดอยู่ในตอนนี้ด้วยพูดถึงแคมเปญ Vote for women ผู้สร้างแค่เหมือนร่างเส้นบางๆ เอาไว้ให้เราได้คิด แต่เรื่องของ feminist ก็คุกรุ่นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง

                      "I'm part of a campaign, you know. Votes For Women."
                      "Are you for or against?"
                      "...Get out."


    [ฉากนี้แอบสังเกตตรงที่ ในขณะที่เจ้าสาวสร้างความวุ่นวายและยิงกราดไปยังผู้คนข้างล่างนั้นพอพอร์สที่ตรงนี้ เราจะเห็นแค่ผู้ชายที่ต่างวิ่งกรูกันมาเป็นแถวในขณะที่ผู้หญิงนั่งหลบอยู่ตรงนั้น //เกิดภาพผู้หญิงกำลังท้าทายและต่อกรผู้ชาย]



    มันมีอยู่อีกว่า  ถ้าเรามาดูที่ตัวของเจ้าสาว การแต่งกายชุดสีเนื้อผิวหนังขาวซีดไปทางขาวจัดทำให้นึกย้อนไปถึงกลุ่มที่ชื่อว่า   Ku Klux Klan (KKK) เป็นกลุ่มเหยียดสีผิวที่ลุกฮือขึ้นมาช่วงทศวรรษ1880 1920 และ 1960 (ก่อตั้งปี 1865) ในดินแดนลุงแซม ก็คือกลุ่มที่ยกคนผิวขาวให้อยู่เหนือสิทธิคนผิวสี ต้องการสร้างความยิ่งใหญ่ ต่อต้านและเบียดเบียนคนผิวสีซึ่งเรามักเคยได้ยินมาอยู่บ่อยๆ เรื่องเหยียดสีผิวในอเมริกาต่อชนแอฟริกันหรือจะแอฟริกันครึ่งอเมริกันเองก็ด้วย ในส่วนนี้เราอาจจะไม่เห็นความเกี่ยวเนื่องเพราะนู่นมันฝั่งอเมริกา ส่วนนี่ฝั่งอังกฤษ อยู่คนละฟากสมุทร ซึ่งฝั่งอังกฤษไม่ได้มีข่าวคราวเกี่ยวกับกลุ่มนี้ 

    แต่อังกฤษกับอเมริกามักมีความเชื่อมโยงเข้าหากันในนวนิยายต้นฉบับของโคนัน ดอยล์ ตัวอย่างก็เช่น เซอร์ เฮนรี่ บาสเกอร์วิลในตอนหมาผลาญตระกูล (The Hound of the Baskervilles)ที่ต้องเดินทางกลับจากอเมริกาเหนือมาบ้านเกิดเพราะการตายของลุง หรือหลายๆตัวละครที่มาจากอเมริกาบ้าง หรือเป็นเชื้อสายอเมริกันบ้าง

    การจะเชื่อมโยงกันในตอนนี้ก็คือผู้เขียนเองก็มักจะหยิบเอาต้นฉบับเข้ามาใส่อยู่เสมอ ซึ่งอันนี้ด้วยก็เช่นกันพาร์ทที่ เซอร์ยูสตัส คาร์ไมเคิล ได้รับซองจดหมายบรรจุเมล็ดส้ม 5 เมล็ดก็ได้อ้างอิงมาจากตอน Five Orange Pips หรือ เมล็ดส้ม 5 เมล็ดนั่นเอง การปฏิบัติคือฆาตกรจะส่งเมล็ดส้มมาให้เหยื่อเพื่อให้รู้ว่าจงเตรียมตัวตาย พวกเขาที่กระหายวิญญาณจะตะครุบคุณจนดิ้นไม่หลุด ซึ่งเขาก็ได้รับสัญญาณนี้จากฝั่งเจ้าสาวผู้อาฆาต โดยในต้นฉบับคนได้รับคือ John Openshaw ลูกความของเชอร็ล็อก ก่อนหน้านี้พ่อเขา กับลุงของเขาก็เคยถูกส่งมาแบบนี้แล้วก็ตาย ซึ่งผู้ที่ส่งก็คือ กลุ่ม Ku Klux Klan จากอเมริกานั่นเอง คดีนี้เกิดเมื่อปี 1887 (ในหนังสือ) ซึ่งก็อยู่ในช่วงเติบโตของกลุ่ม KKK ด้วย

    ตัวอย่างความโหดร้ายของกลุ่ม KKK ที่นำเสนอผ่านรูปวาด เป็นภาพสมาชิกกลุ่มเข้ามาทำร้ายครอบครัวชาวผิวสีในบ้านของพวกเขาเอง (วาดโดย Frank Bellew ภาพในนิตยสาร Harper's Weekly) (c) law.jrank.org


    พอแบบนี้แล้วเราก็เลยเห็นการนำเสนอของผู้เขียนที่หยิบเอาคาแรกเตอร์ของเอมีเลีย ที่ใส่เสื้อสีซีดเอย ผิวหนังซีดๆ ขาวๆ เอย ที่อาจมาเป็นตัวแทนของกลุ่ม KKK ซึ่งเป็นกลุ่มคนผิวขาวต่อต้านคนผิวสีการตีความ คนดูเองก็มองไปได้หลายแบบ ถึงในเรื่องจะไม่ได้นำเสนอเรื่องคนผิวสีแต่ในเรื่องได้เอาสัญลักษณ์ของความผิวขาว(เจ้าสาว)ที่เรืองอำนาจ(ในสมัยนั้น) บวกพลังหญิงนั่นล่ะซึ่งโดยรวมก็คือเจ้าสาวผู้อาฆาตพยาบาท ที่ทำเหมือนตายไปแล้วฟื้นขึ้นมาไล่ฆ่าคนในสภาพซีดแบบศพล่ะเนอะ

    [ชื่อของ Ricoletti มีปรากฎในต้นฉบับด้วย อยู่ในตอน The Musgrave Ritual (ปริศนาลายแทง) อยู่ในประโยคที่พูดถึงคดีหนึงว่า “Ricoletti of the club foot and his abominable wife.” (.....ริคอลเลททิคนขาเป๋และเมียที่น่าเกลียดของเขา)]

    โอเคเรามาคุยกันต่อ 555555 เรื่องของกลุ่ม KKK แน่นอนว่าผู้เขียนได้ใส่ลงไปด้วย และค่อนข้างชัดเจนโจ่งแจ้งทีเดียว  ซึ่งถ้าทุกคนได้ดูรูปกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มนี้จะร้องอ๋อและสมองจะประสานงานกันแทบไม่ทันเลยทีเดียว 5555555

    การชุมนุมของกลุ่ม Ku Klux Klan ชูธง KKK เป็นสมาชิกรัฐฟลอริด้า,สหรัฐอเมริกา 
    (c) floridamemory.com

    การชุมนุมของผู้อยู่เบื้องหลังคดีเจ้าสาวอาฆาต

    การแต่งกายในลักษณะเดียวกัน ซึ่งก็(น่าจะ)สื่อถึงกลุ่ม KKK ที่ว่า

    เสน่ห์ของตัวละครเจ้าสาวที่นอกจากชัดเจนในเรื่องอารมณ์โกรธแค้นแล้วยังแสดงถึงความไปถึงที่สุดของอำนาจจิตใจผู้หญิงด้วย เอมีเลีย ริคอลเลททิ หลังจบการสวมบทหน้าฉากยิงตัวตายต่อหน้าผู้คนระแวกนั้นแล้ว ชำระล้างแค้นเสร็จสิ้น แล้วก็ขอตายไปพร้อมกับแผนการเปื้อนเลือดที่ทำการสละชีวิต

    เรื่องพยายามสร้างความแตกต่างของจิตใจตัวละครตัวนี้ให้เราได้รับรู้อย่างไม่ปกปิด อย่างจะเห็นในฉากหลังจากยิงหัวตัวเองแล้วก็หันมาสวมเสื้อสีแดงคลุมไว้ ซึ่งไม่ใช่สีแดงสด แต่เป็นสีแดงเข้มออกไปทางเลือดหมูในขณะเดียวกันผู้คนที่สัญจรไปมา ต่างใส่เสื้อออกไปทางสีดำ น้ำตาลซะมาก  โดยความหมายของสีนี้ก็คือ

    (c) oknation.nationtv.tv
    สวมเสื้อแดงคลุมด้านนอก ในขณะที่คนโดยรอบอยู่ในโหมดดำ

    เอาแบบไม่เปิดเผยเลยว่า ตัวละครนี้ออกมาพร้อมกับความเคียดแค้นจริงๆ

    ยังมีประเด็นอีกมากมายเลยที่ซ่อนอยู่ภายในเรื่อง แต่ก็พอหอมปากหอมคอกับประเด็นนี้พอสมควร55555  ถึงแม้ผู้เขียนต้องการจะวางเรื่องราวไปในทางไหนจะตีความตัวละครยังไง หรือผูกปมให้น่าปวดหัวแค่ไหนสิ่งที่มันเด่นออกมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือการสื่อถึงจิตใจของมนุษย์มันลึกลับซับซ้อนเกินกว่าเราจะหยั่งถึง :)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
เคบดูแต่ดูไม่จบ
สนุกดีค่ะ