เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความลับของนางฟ้าSALMONBOOKS
02: (London) ผีแห่งจัตุรัส


  • ในลอนดอน ผู้คนให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวกันมาก เพราะฉะนั้นชาวลอนดอนเนอร์จึงสร้างที่อยู่อาศัยเป็นอาคารล้อมพื้นที่ตรงกลางซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว และเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า Square หรือ จัตุรัส แต่อย่าคิดว่าจัตุรัสนี้จะเหมือนจัตุรัสใจกลางเมืองใหญ่ที่มีลักษณะเป็นลานกว้าง เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาได้ หรือมีลักษณะเป็น ‘ตลาด’ ใจกลางเมืองใหญ่ เพราะจัตุรัสหลายแห่งของลอนดอนนั้นมีลักษณะเป็นพื้นที่ ‘กึ่งสาธารณะ’ คือสร้างขึ้นสำหรับคนที่อยู่อาศัยในเขตนั้นโดยเฉพาะ แม้จะไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เปิดให้ ‘คนนอก’ เข้าใช้พื้นที่ได้เสมอไป

    บางจัตุรัสจึงถึงขั้นมีรั้วล้อม ปิดล็อค และจำกัดให้เฉพาะคนที่อยู่ในบ้านรายรอบจัตุรัสเท่านั้นที่จะมี ‘กุญแจ’ ไขเข้าไปหย่อนใจในพื้นที่เหล่านั้นได้ โดยมักจะมีป้ายติดข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งหลายแหล่เอาไว้ว่าห้ามทำอะไรบ้าง

    ผมชอบจัตุรัสพวกนี้มาก

    มันอาจเป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ซึ่งบางแห่งเล็กมากจนเหมือนสวนสาธารณะในหมู่บ้านจัดสรรของเรา แต่ด้วยความที่อยู่ใจกลางเมือง รถราและผู้คนที่เดินผ่านขวักไขว่ก็พลอยได้ใช้ประโยชน์ในการหย่อนตาหย่อนใจกับสีเขียวในจัตุรัสพวกนี้ด้วย หลายแห่งจึง ‘ใจกว้าง’ เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะไปเลย ให้คนสามารถเข้าไปนั่งเล่นพักผ่อนหรือเดินผ่านเข้าไปในสวนเขียวๆ ที่มีต้นไม้ใหญ่ได้

    ในบรรดาจัตุรัสเล็กๆ ทั้งหลายของลอนดอน จัตุรัสที่ผมรักที่สุดคือ Berkeley Square (อ่านว่า บาร์คลีย์สแควร์) ซึ่งอยู่ในย่านเมย์แฟร์ของลอนดอน เป็นจัตุรัสที่ปรากฏตัวอยู่ในเพลง
  • น่ารักอ่อนหวานอย่าง A Nightingale Sang in Berkeley Square เพลงโรแมนติกเก่าแก่ของอังกฤษแท้ๆ พูดถึงคู่รักที่พบเจอกันในแถบเมย์แฟร์ ซึ่งเป็นย่านหรูที่มีถนนเล็กๆ เหมือนปู คดเคี้ยวไปมา มีผู้คนแต่งกายหรูหราไปดินเนอร์กันที่โรงแรมริตซ์ และเมื่อเธอหันมายิ้มให้ฉันก็มีเสียงนกไนติงเกลร้องดังอยู่ที่บาร์คลีย์สแควร์

    ร็อด สจ๊วร์ต นำเพลงนี้มาร้องใหม่ได้เพราะมาก ฟังแล้วนึกถึงจัตุรัสเขียวสดที่มีต้นไม้ใหญ่อายุมากกว่าสองร้อยปีอย่าง London Plane Tree (ใช่แล้วครับ คุณอ่านไม่ผิดหรอก เพราะต้นไม้ในจัตุรัสบาร์คลีย์ปลูกในปี 1789) ให้ความร่มรื่นเย็นฉ่ำ เป็นจัตุรัสที่ออกแบบโดย วิลเลียม เคนต์ สถาปนิกชาวอังกฤษที่เป็นต้นตำรับคนหนึ่งของสวนแบบที่เรียกว่า English Landscape Garden

    เพราะฉะนั้น การถือถ้วยชาร้อนๆ นั่งอยู่ที่จัตุรัสบาร์คลีย์ในเช้าวันหมอกลง จึงสุดแสนจะอังกฤษ!

    แต่ถ้าคุณมีโอกาสไปนั่งที่นั่น ไม่ว่าจะตอนออกไปมอร์นิ่งวอล์กยามเช้า หลังจิบชายามบ่ายที่ฟอร์ตนัมแอนด์เมสัน หรือหลังดินเนอร์ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นโนบุที่อยู่ใกล้ๆ อยากให้คุณลองมองหาบ้านเลขที่ 50 ที่จัตุรัสบาร์คลีย์ดูเสียหน่อย

    เพราะบ้านหลังนั้นร่ำลือกันว่าเป็น ‘บ้านผีสิง’ ที่อาจลือชื่อที่สุดของลอนดอน!

    เรื่องเล่าเกี่ยวกับบ้านเลขที่ 50 นั้นมีมากมาย ร่ำลือกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ว่ากันว่าเป็นบ้านร้าง ไม่มีคนอยู่อาศัย นักข่าวเคยตีพิมพ์เรื่องราวตั้งคำถามว่าบ้านหลังนี้มีผีสิงไหม ปรากฏว่า ลอร์ดลิตเทลตันซึ่งอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นถึงกับเขียน มาตอบว่า มี แต่เมื่อนักข่าวพยายามติดต่อกลับไป เขากลับไม่ตอบ และหลังจากนั้นไม่นานนัก ลอร์ดลิตเทลตันก็ฆ่าตัวตาย


  • นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบจดหมายของผู้อยู่อาศัยที่เขียนไปถึงบิช็อปองค์หนึ่ง (ซึ่งก็เสียชีวิตไปแล้วอีกเช่นกัน) เล่าถึงเหตุการณ์สยองขวัญที่เกิดในบ้านหลังนี้ บอกว่ามีผู้เช่าบ้านที่เพิ่งมาอยู่ใหม่หมาด เชิญแขกหนุ่มคนหนึ่งมาพักด้วย และในคืนก่อนที่แขกจะมาถึง สาวใช้เข้าไปทำความสะอาดห้องเตรียมรับแขกตอนกลางคืน พอถึงเที่ยงคืนก็มีเสียงกรีดร้อง พอเจ้าของบ้านรีบเข้าไปดูก็พบสาวใช้นอนอยู่ที่พื้น ทำหน้าหวาดกลัว ดวงตาจับจ้องไปที่จุดหนึ่งของห้อง และบอกว่าน่ากลัวจนพูดอะไรไม่ได้ ไม่อยากเล่าว่าเห็นอะไร เธอกลัวมากจนเจ้าของบ้านต้องพาไปส่งโรงพยาบาล แต่พอรุ่งเช้าเธอก็ตายเพราะความกลัว

    เมื่อแขกหนุ่มมาถึง เขาบอกว่าไร้สาระ เขาไม่กลัวอะไร และอาสาจะนอนในห้องนั้น เจ้าของบ้านยืนยันให้เขานำระฆังติดตัวไปด้วย หากเกิดเหตุร้ายขึ้นขอให้เขาสั่นระฆัง แขกบอกว่าถ้าได้ยินระฆังแรก อย่าเพิ่งเข้ามา เพราะเขาอาจจะเผลอสั่นก็ได้ ถ้าเกิดเหตุร้ายขึ้น เขาจะสั่นระฆังเป็นครั้งที่สอง แล้วค่อยเข้ามาดู

    พอถึงเที่ยงคืน มีเสียงระฆังสั่นเบาๆ เจ้าของบ้านจึงยังไม่ขึ้นไปดู ผ่านไปอีกพักหนึ่งจึงมีเสียงระฆังดังลั่น ทุกคนจึงวิ่งเข้าไปหาเขาและพบว่าแขกนอนอยู่ตรงจุดเดียวกับสาวใช้ ดวงตาจับจ้องไปที่จุดเดียวกัน หวาดกลัว และบอกว่าไม่สามารถเล่าได้ว่าเจออะไร เพราะมันน่ากลัวมากเกินไป

    โชคดีที่แขกหนุ่มไม่ตาย แต่ทั้งครอบครัวก็เผ่นออกจากบ้านหลังนั้น
  • ยังมีเรื่องเล่าอีกหลายเรื่อง เรื่องล่าสุดเท่าที่รู้คือในปี 1956 มีผู้เขียนไว้ว่า ได้พาพระมาทำพิธีไล่ผีที่บ้านหลังนี้ ปรากฏว่าพอทำพิธีเสร็จ ทุกคนออกไปแล้ว เจ้าของบ้านกลับมาพบว่าเครื่องพิมพ์ดีดที่เคยวางไว้ที่หนึ่งถูกยกมาวางไว้อีกที่ และมีตัวอักษรพิมพ์เอาไว้บนกระดาษว่า

    “อึดอัดที่สุด ไปดีกว่า จะไม่กลับมาอีกแล้ว”

    หลังจากนั้น เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีของบ้านหลังนี้ก็ยุติลง พร้อมกับความ ‘ทันสมัย’ ที่เข้ามาเยือนลอนดอน

    ลอนดอนที่เคยเต็มไปด้วยเรื่องเล่าเก่าแก่ เกร็ดปรัมปรา ได้เปลี่ยนไปเป็นลอนดอนโมเดิร์นเก๋ไก๋

    แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เรื่องเล่าลี้ลับชวนขนลุกทั้งหลายจะหมดไปจากลอนดอน

    ไม่เลย...

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in