อ.บัวพันธ์ :
หลักสูตรพัฒนศาสตร์เป็นหลักสูตรบูรณาการ ภายหลังคำว่า “บูรณาการ” อาจจะเป็นคำที่ใช้ทั่วไปแล้ว ณ ปัจจุบัน จึงเพิ่มคำว่า “ข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary Science)” เข้ามาด้วย หลักสูตรนี้จึงมีความหลากหลายของสาขาอาชีพ
ในหัวข้อการสัมมนาครั้งนี้ ก็ถือว่าอยู่ในขอบเขตของการพัฒนาเช่นเดียวกัน
อ.พรอัมรินทร์ :
ท่านวิทยากรเป็นนักวิจัยที่มีผลงานการเขียนหนังสือจำนวนมาก และเป็นผู้บัญญัติคำว่า “ประชาสังคม” อีกทั้งยังเป็นผู้นำแนวคิด อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) เข้ามาในเมืองไทย
วิทยากร :
สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานปรัชญาการเมือง หรือ ลัทธิมาร์กซิสต์ อาจจะเข้าใจประเด็นการพูดคุยครั้งนี้ยากนิดนึง แต่จะพยายามอธิบายให้เข้าใจโดยง่าย
การเป็นนักศึกษา ต้องเข้าใจความหมายของการเป็น กบฏทางความคิด กล่าวคือ คุณต้องพูดความจริงและแสวงหาความจริง ไม่ได้เชื่อหรือยอมรับตามที่ใครบอกในตอนแรก แต่ต้องค้นหาความจริงให้ได้ นอกจากนี้คุณต้องสามารถแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือ “ข้อเท็จจริง” และ “ความจริง” จะรู้ความจริงได้จะต้องตั้งคำถามต่อข้อเท็จจริง เช่น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมความสามัคคีในชาติ เหล่านี้คือข้อเท็จจริง แต่ไม่อาจเรียกสิ่งนี้ได้ว่าเป็นความจริงได้
เมื่อกล่าวถึงเรื่องการปกครอง การปกครองโดยกฎหมายต้องยึดหลักนิติธรรมด้วย (Rule of Law) กล่าวคือ คนทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมด
ที่มาภาพ: https://www.ruleoflaw.org.au/principles/
ขบวนการซ้ายใหม่ เกิดขึ้นในช่วง ปี พ.ศ. 2503 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2511 ในประเทศฝรั่งเศส โดยต่างเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา
เมื่อพูดถึงโลกในช่วงสงครามเย็น
โลกที่ 1 คือ กลุ่มประเทศฝั่งตะวันตกและฝั่งยุโรปตะวันตก (ลิทธิมาร์กซิสต์)
โลกที่ 2 คือ กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ (สังคมนิยม ที่อิงกับนายทุน)
โลกที่ 3 คือ กลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา
มาร์ก กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุนนิยมเกิดขึ้นในขั้นสูงสุดแล้ว เพราะเมื่อถึงขั้นนั้นคนจะทำงานเพียงวันละ 4-5 ชั่วโมง ด้วยความสมัครใจ อนาคตอยู่กับโลกที่ 1 ในด้านเทคโนโลยี ส่วนโลกที่ 2 ไม่มีอะไร เพราะใจไม่ถึงเรื่องของผลประโยชน์ต่อทุนนิยม แต่การขับเคลื่อนที่แท้จริงจะถูกฝากไว้กับโลกที่ 3
ดังนั้น ขบวนการซ้ายใหม่เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและนักศึกษาในฝั่งยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วงแรก ขบวนการนักศึกษา ไม่มีแนวคิดมาร์กเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นการต่อต้านกระบวนการศึกษา โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ณ เวลาขณะนั้น
กระบวนการซ้ายใหม่ เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน การเมือง สังคม วัฒนธรรม ในขณะนั้น (Anti-Social) เช่น ปรากฎการณ์ที่นักศึกษาไม่ยึดติดกับการแต่งตัวเรียน ผมยาว สูบกัญชาได้ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงกบฏทั้งทางความคิดและพฤตินัย เพราะเห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้น เป็นการตีกรอบพฤติกรรมที่ล้าหลัง
กระบวนการซ้ายใหม่ดุเดือดมาก และเป็นรูปธรรมมากขึ้นขึ้น ในช่วงปรากฎการณ์ของสงครามเวียดนาม ที่เกิดการแยกดินแดนเหนือ-ใต้ คนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาในสหรัฐ ต่อต้านการส่งทหารสหรัฐเข้าไปในสงครามเวียดนาม ที่ถือเป็นการส่งทหารไปตายที่เวียดนาม สหรัฐแพ้สงครามเวียดนามไม่ได้มาจากกระบวนทางทหารแต่อย่างใด แต่มาจากกระบวนการทางการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มนักศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมา เป้าประสงค์ของกระบวนการซ้ายใหม่ของนักศึกษา คือ การต่อต้านทุนนิยม ต้องการโค่นล้มทุนนิยม ขบวนการนักศึกษาไม่สนับสนุนการมีนักการเมือง
ในการทำความเข้าใจกระบวนการซ้ายใหม่ ให้มองภาพรวมในระดับโลก ที่เกี่ยวเนื่องถึงเศรษฐกิจ สังคม ในระดับโลก เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงในต่างประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่อาจนิ่งเฉยได้ เพราะไม่ใช่เพียงเรารักประเทศเพื่อนบ้าน แต่เรารักประเทศเรามากกว่า และตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศตนเอง
บุคคลที่เป็นผู้นำทางแนวคิดซ้ายใหม่ส่วนมาก จะไม่ใช่คนจากฝั่งสหรัฐและยุโรปตะวันตกเลย เช่น เหมาเจ๋อตุง, โฮจิมิน และ เช เกบารา เป็นต้น เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของแนวคิดซ้ายใหม่ ในขณะเดียวกัน ปรากฎการณ์ที่ซ้ายใหม่มีความล้มเหลว เป็นเพราะไม่มีองค์การกลาง และไม่เห็นคุณประโยชน์ ไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
เมื่อพูดถึงการไม่มีชนชั้นทางสังคม จำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไม่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดระบบชนชั้นอีกต่อไปได้ โดยใช้อำนาจรัฐทำลายรัฐเอง เพื่อมุ่งหวังการทำลายระบบทุนนิยมไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้ ซึ่งมีบริบทและผลประโยชน์เป็นตัวกำหนด เช่น การเกิดสงครามโลกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มาจากประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์จากทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ
การเกิดความสมดุลจำเป็นต้องมีหลายขั้วถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ถ้าเหลือขั้วเดียว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่ามีความยุติธรรม เพราะขาดการถ่วงดุลอำนาจ หรือ ดุลยภาพ เช่นตัวอย่างเหตุการณ์ง่ายๆ คือ การไม่สบายของคนหนึ่งคน มีความจำเป็นต้องรักษาให้หายเหมือนเดิม (ในความคิดส่วนตัวผู้เขียน ดุลยภาพ อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีการทำให้เกิดการดุลยภาพอีกครั้ง)
สันติภาพ คือ ภาวะที่ปลอดสงคราม แต่ไม่ปลอดความขัดแย้ง ดังนั้น สงคราม คือ ความขัดแย้งที่ไม่สามารถได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี การเกิด “ความร่วมมือ” หรือ “ความขัดแย้ง” จะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเรื่องผลประโยชน์
บริบท 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
ปัจจัยภายในที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้ คือ การเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ของกลุ่มนักศึกษา ในช่วงที่ จอมพลประภาส จอมพลถนอม เป็นเผด็จการ ส่งผลให้เกิดการสั่นคลอนทางการปกครอง แต่สิ่งที่ทำให้เผด็จการล่มสลายจริงๆ คือ ปัจจัยภายนอก ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2516 สหรัฐลงนามยุติสงครามกับเวียดนามเหนือ (สหรัฐแพ้สงคราม)
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องชี้แจงว่าภายในระยะเวลาแรก จะต้องแก้ตรงไหนในรายละเอียด และต่อไปจะแก้ไขอย่างไร การลุกขึ้นของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้อีกเรื่อยๆ เนื่องจากทุกวันนี้ คนไทย เข้าใจว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” เพียงแค่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่เพียงเท่านั้น ในอนาคตเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยว “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” คือ การคุยกัน (Dialog) การต่อรอง (Negotiation) การประนีประนอม (Compromise) การยินยอมสละบางส่วนให้ยอมรับกันได้ บางคนอาศัยประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ หรือบางคนใช้ประชาธิปไตยเพื่อทำลายประชาธิปไตยเสียเอง
การพัฒนาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเป็นระดับใด ไม่ใช่การอยู่อย่างเป็นสุข และมีความเห็นเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนา เนื่องมาจากการมีความขัดแย้งเกิดขึ้น การเกิดความขัดแย้งจึงไม่ใช่เพียงสิ่งที่เป็นด้านลบ แต่มันสามารถเป็นสิ่งที่ผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้
__________
เปิดเวทีพูดคุย
นิยามความเป็นฝ่ายซ้าย
ฝ่ายซ้าย ถูกให้ความหมายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นี่คือความคิดของฝ่ายอนุรักษย์นิยม (ขวาจัด)
ฝ่ายซ้าย จึงเป็นแนวคิดของการปฏิเสธ ปฏิเสธสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ไม่ทันสมัย ต้องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้หมายถึงการทำลาย (ซึ่งฝ่ายขวาจะคิดว่าฝ้ายซ้ายต้องการทำลาย) เพียงแต่ต้องการปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดีของของเก่า แต่ยังยอมรับสิ่งที่ดีของของเก่าอยู่
โลกาภิวัตน์
คนที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ เป็นคนที่เล็งเห็นว่า โลกาภิวัตน์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้สร้างสรรค์ต่อผู้คนอย่างทั่วถึง เพราะการเข้าถึงโลกาภิวัตน์ เข้าถึงได้เพียงคนบางกลุ่ม ความเท่าเทียมไม่มีอยู่จริง โลกาภิวัตน์จะเป็นการเอาเปรียบสังคมด้วยซ้ำ
คำจำกัดความนักการเมือง
นักการเมือง คือ นักโกหกมืออาชีพ เช่น การกล่าวถึงประชาธิปไตยของนักการเมือง ที่พูดถึง
ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน Yes
ประชาธิปไตยของประชาชน Yes
ประชาธิปไตยโดยประชาชน No
ประชาธิปไตยจะเป็นโดยประชาชนได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนเห็นความสำคัญของสิทธิในประชาธิปไตย ให้ความสนใจ และไม่เพิกเฉย
นักศึกษาปัจจุบัน
นักศึกษาปัจจุบัน ถือเป็นฝ่ายซ้าย เพราะ ปฏิเสธสิ่งเลวร้ายในปัจจุบัน ฝ่ายซ้าย ไม่ควรถูกจำกัดความว่าเป็นสิ่งไม่ดี ในขณะเดียวกันคนฝ่ายซ้าย ก็ไม่ควรไปมองฝ่ายขวาว่าไม่ดีเช่นเดียวกัน เพราะกระบวนการสำคัญ คือ การพูดคุย การต่อรอง การอยู่กับความเป็นจริง สิ่งสำคัญที่ฝ่ายซ้ายจะต้องตระหนัก คือ ความชัดเจนที่จะต้องแสดงต่ออำนาจรัฐ และประชาชนคนรุ่นก่อนหรือคนฝ่ายขวาให้ได้เห็น สิ่งนี้เรียกว่า สงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare)
Balance of Power
การทำความสมดุลระหว่างขั้วอำนาจ เป้าประสงค์ของแต่ละประเทศ คือ นอกเหนือจากผลประโยชน์ทางการเมืองแล้ว ปัจจัยด้านความอยู่รอดของแต่ละประเทศเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า เช่น การเข้ากับจีนของไทย เพื่อสร้างความสมดุลในทางภูมิศาสตร์การเมือง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และ เวียดนาม มีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อประเทศไทยไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ไทยจึงเลือกเข้ากับประเทศจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ใหญ่ ใหญ่กว่ากัมพูชาและเวียดนาม นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ความขัดแย้ง หรือ อำนาจของประเทศไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนไทยเท่านั้น แต่ขึ้นกับอำนาจของจีนและสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ดังกล่าวจะบีบให้ประเทศไทยต้องเลือกข้าง เราจำเป็นต้องเลือกข้าง และไม่ทำเฉยเพื่อถ่วงดุลอำนาจ หากเราวางตัวไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง อาจไม่เป็นผลดี นอกจากนี้ควรจะผูกมิตรกับประเทศอาเซียน เพื่อสร้างความเป็นมหาอำนาจ
“นักปราชญ์ เป็นเพียงผู้อธิบายโลก แต่สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงโลก”
อดีตเอกอัครราชทูต สุรพงษ์ ชัยนาม
14 ตุลาคม 2563
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in