แต่ว่าเมื่อช่วงปลายธันวาที่แล้ว ผมดึงขุมพลังความทรงจำที่ฟังเพลงร็อกยุค 90s (ซึ่งเป็นยุคที่เพลงไทยผลิบานสุด ๆ มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า คนแน่นหนาทั้งลานเพลินเจ็ดสีและลานโลกดนตรี) อย่างเต็มที่ และก็นึกได้ว่า มีอัลบั้มเพลงร็อกไทยในเหมืองเพชรที่อยู่ลึกมาก แต่ก็ขุดเจอและเอามาฟ้ังจนได้
กิตติ (กีตาร์ปืน) กาญจนสถิตย์ ชื่อนี้คอร็อกรุ่นเก๋าต้องรู้จักทุกคน กับมือกีตาร์ทรงปืนหนึ่งเดียวในไทย ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก กับครั้งหนึ่งของงานเดี่ยวชายคารถไฟดนตรี (ที่ทุกสำเนียงคือคุณภาพ) เมื่อปี 2533 กับอัลบั้มชุด “สายธารใต้ขุนเขา” กับแทรคแรกของชุดที่ชื่อเดียวกันกับอัลบั้มให้สัมผัสของธรรมชาติกลางป่าไม้ (มีสัตว์ป่า…..)
แต่ของจริงมันเริ่มตั้งแต่ “เฮฟวี่รำพัน” เพลงมัน ๆ จากปลายปากกาพี่บ๊อบ ฤทธิพร อินสว่าง ภาษาของพี่บ๊อบนี่ได้ใจชาวจิ๊กโก๋อย่าง ๆ จริงและได้ใจชาวร็อกมาก เห็นภาพตั้งแต่คำแรกของเพลง (แถมเอ็มวีก็สุดมัน ปืนใหญ่ขบวนการมนุษย์ไฟฟ้าต้องยอมสยบ) ตามมาด้วยเพลง “สูบเข้าไป” จากปลายปากกาของ “อ.กวาง-กันตภพ พรหมสุนทรสกุล (ที่กำลังหุงขึ้นหม้อจากการแต่งเพลง “รักเธอประเทศไทย” และ “รักเธอจริง ๆ”)” ที่กล่าวถึงพิษภัยของบุหรี่ได้เห็นภาพชัดเจน 4K เรียกพี่ “ถ้าอยากจะตายไว ๆ ก็สูบบุหรี่เข้าไปสิ” ตามต่อด้วย “ย้อนเวลา” คนแต่งคนเดียวกันกับสูบเข้าไปนั่นแหละ มีความโจ๊ะ ๆ มัน ๆ เหมือนเล่นรถบั้มพ์ในงานกาชาด ดิ้นกันในเธคงานวัดล้อมรั้วสังกะสี “กลัว” เพลงสไตล์โยกและคลึงปลายปากกากวีเพื่อชีวิต วิสา คัญทัพ ร่วมกับผู้ประสงค์ออกนามว่า “นฤณ” มันจริงไม่ติงนัง
เพลงช้าบาดลึกก็มีให้ฟังอย่าง “บาดเจ็บ” ปลายปากกาของ อ.วิเชษฐ์ ห่อกาญจนา (คนแต่งเพลงช้าในตำนาน “ยังจำไว้” ให้อิทธิ พลางกูรร้องจนวาระสุดท้ายของชีวิต) และคุณเต็มพร บุนนาค เสียงโซโล่มันบาดใจซะเหลือเกิน “จริงจัง” เพลงรักสไตล์เพื่อชีวิต แค่คำแรกของเพลงก็อ๋อได้เลย เพราะเป็นงานปลายปากกาพี่ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ของเรา (ซึ่งกำลังจะกลายเป็นตำนานเพื่อชีวิตรุ่นที่สามในปลายปีนั้น) นอกจากนี้ พี่ปูก็แต่งเพลงปิดอัลบั้ม “เลวเลยดีไหม” ที่เนื้อหาเข้มข้นมาก ทำดีไม่เคยได้ดี ทำตัวเลวจะดีไหม เพราะเห็นผลไวกว่า
แม้เสียงร้องของอากิตติจะติดอิทธิพลยานคางพี่น้องเมืองเลย แต่เพลงในบั้มชุดนี้คุณภาพคับแก้วมาก สุ้มเสียงออกมาดีจากการมิกซ์ดาวน์ของตำนานมือมิกซ์เมืองไทย แกรี่ เอ็ดเวิร์ด ทำกันที่ห้องอัดวอยซ์ สตูดิโอ ของคุณนุภาพ สวันตรัจฉ์ อัลบั้มนี้คู่ควรต่อการเปิดบทความภาคต่อร็อกไทยในเหมืองลับแลด้วยประการนี้
“เป็นปืนแสงที่ไม่เคยขัดลำกล้อง และไม่ลั่นใครใส่เลยแม้แต่ครั้งเดียว เท่สะใจไม่พอ เป็นมิตรกับทุกคนอีกต่างหาก โดนลำแสงนี้ปุ๊บเป็นชาวร็อกทันใดปั้บครับพ้ม”
-
2. Bad Guys - สวรรค์ไม่แฟร์ (2534)
ถ้าผมพูดว่า “โปรเกรสซีฟร็อก” คุณอาจจะนึกถึงซาวด์ซินธ์คีย์บอร์ด ริฟฟ์กีตาร์ตั้งแต่ง่ายสำหรับคุณยันตีลังกา Perfect 10 แม้กระทั่งเนื้อหาแฟนตาซีเหนือจริงที่สมเหตุสมผล (อันเป็นศัตรูตัวฉกาจของนักเขียนนิยายและบทหนัง)...วงร็อกสายแฟนตาซียุค 90s อย่าง Bad Guys เข้าล็อกกับคุณสมบัตินี้ทุกประการ ใต้ชายคาเอสพี ศุภมิตร (ของช่อง 3) วางแผงเมื่อปี 2534
วงนี้มีคุณ Keith King และ Alex Soto เป็นสมาชิกวง และเพลงส่วนใหญ่เป็นงานปลายปากกาแกนหลักของวง “Guy L.A. (มสาร สีหวงศ์)” โดยคุณ Guy และ Keith เคยเล่นหนุนหลังให้ตำนานกีตาร์คิง แหลม มอร์ริสัน (และทั้งสามคนมีประสบการณ์ทางดนตรีที่อเมริกามาก่อน) ทำดนตรีโดยคุณเรวัต จันตะแสง อัดหลายห้องเลย มีทั้ง เอ็มเอ็ม สตูดิโอ และห้องมังกรแดง (Red Dragon)
อัลบั้มนี้เปิดตัวด้วยอารัมภบท “คัมภีร์ปีศาจ” ใจความ(บนปกแผ่นเสียง)ว่า “สหายเอย สาวกปีศาจทั้งหลาย จงฟัง! จงฟังข้าอ่านโองการจากนรก ท่ามกลางพายุกิเลสอันบ้าคลั่ง หื่นกระหาย คนโฉดชั่วมิเห็นโลงศพ มิหลั่งน้ำตา คัมภีร์ปีศาจนี้คือ…คำพิพากษา…จากข้า” (เขียนโดยตำนานคอลัมนิสต์ฝีปากกาสุดกล้าท้าทายวงการเพลง ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา)
แล้วเริ่มต้วยเพลง “นรก O.K.” ที่พูดถึงความดีความชั่วของมนุษย์ได้ดุดันมาก “เลือดร็อก” ที่กล่าวถึงความเจ็บแล้วทนเพื่อคนรัก “ดีนผี” ที่เดือนสติสายรถชิ่งรถแว้น “ไม่กลัวฟ้า (จริง ๆ นะเนี่ย)” เพลงรักสบาย ๆ ประจำชุดในแนวคิดเธอคนนั้นมากับฝน “ดั้ม มัทสุโมโต้” นี่ก็มันจริงกับสตอรี่นักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่น “สุดท้ายคือหาดทราย” เป็นโปรเกรสชีฟร็อกแท้ ๆ ที่ฟังแล้วเข้าถึงอารมณ์เหงา ๆ จริง ๆ
เพลงขายของชุดนี้ได้แก่… “สวรรค์ไม่แฟร์” ซึ่งตอนได้ยินชื่อเพลงนี้ครั้งแรกต้องคิดว่าต้องเล่าถึงชีวิตบัดซบไม่ยุติธรรม แต่พอฟังจริง ๆ มันคือเพลงเศร้าของการพลัดพรากจากคนรักโดยไม่หวนคืนมา ทำไมสวรรค์ไม่ยุติกรรม เรียกเธอที่รักส่งฟ้าไกล เศร้าแบบมีความเหมือจินตนาการจริง
จริง ๆ แล้วหลังจากงานชุดนี้ต่อมาทางวงก็ได้ออกอัลบั้ม Dream & Fantasy No.2 ในค่าย Brothers ของพี่บี แทนกาย (โชติศักดิ์ วิชิตวัฒนวงศ์) ที่มีเพลงเด่นอย่าง “ทะเลลวง” ตามมาด้วยอัลบั้มรวมฮิต Fantasy & Memories กับรถไฟดนตรี ที่มีเพลงสุดมันอย่าง “มนต์ดำ” วง Bad Guys จึงเป็นวงโปรเกรสชีฟ แฟนตาซี ร็อก ที่น่าสนใจไม่แพ้วงอื่น ๆ เลยแหละ
“Progresive Rock คือนวนิยายสุดมันที่เราฟังได้อ่านดี แถมมีสะใจอีกต่างหาก Change My Mind”-
3. Young Blood - กองทัพใหม่ (2535)
วง Young Blood (ยังบลัด) เป็นวงร็อกที่เคยเล่นประจำที่ The Rock Pub วิหารชาวร็อกของสยามประเทศที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องเข้าไปกินข้าวมื้อเย็นและฟังเพลงร็อกที่นั่น ซึ่งสมัยนั้นอยู่พญาไท จนได้ทาบทามจากค่ายคีตามาออกเทปเมื่อปี 2535 และแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพลงแฮร์แบนด์แข่งกับพี่เป้ คนพันธุ์ร็อก และพี่กบ เอี่ยมอ่องอรทัย ภายใต้การหนุนหลังทำเพลงของทีมผีเสื้อขยับปีกในตำนาน “บัตเตอร์ฟลาย” ซึ่งพี่ฝิ่น-คณิต พฤกษ์พระกานต์ ผู้อยู่เบื้องหลังทำนองเพลงฮิตอย่าง “กว่าจะรู้สึก” และ “เติมน้ำมัน” เป็นผู้ควบคุมการผลิต
เพลงน่าฟังชุดนี้มีตั้งแต่ “ให้สักหมื่นฟ้า…จะฝ่า (คำร้อง : ธีระชัย แหล่งสนาม ทำนอง/เรียบเรียง : พงษ์ศักดิ์ ภูววีรานนท์)” “ขอเพียงสักคืน (คำร้อง : อนันต์ ปันโอสถ ทำนอง/เรียบเรียง : เทียรี่ ตาเปียรัวโน)” “ระเบิดเถิดเทิง (คำร้อง : รสสุคนธ์ ผลวิชา ทำนอง/เรียบเรียง : ศิริศักดิ์ ศิริโชตินันท์)” สามเพลงมัน ๆ ที่บ่งบอกความเป็นแฮร์แบนด์ได้ดี แถมบุคลากรคนแต่งเพลงนี้ก็มีโปรไฟล์ระดับตำนานทั้งนั้น ตั้งแต่มือเบสหนุนหลังร็อกเกอร์มาดเข้ม ตำนานมือกีตาร์ร็อกหญิงและชาย และนักแต่งเพลงที่ไม่จำนนใจไม่ง้อถามดาว
แม้แต่ก่อนจะมาเป็นเจ้าพ่อเพลงละครของวันนี้ พี่หนึ่ง ณรงค์วิทย์ ก็แต่งเพลงอย่าง "ขอโทษที" สุดมันอีกเพลงเลย (ทำนองและดนตรีโดยพี่เพชร มาร์ ตำนานคอมเมนต์เตเตอร์เวทีเดอะดาว)
รวมถึงเพลงนี้ “เลือดร้อน (คำร้อง : ศุภวิช จาตุรจินดา/ศุภโชค รังสิยวัฒน์ ทำนอง :ศุภวิช จาตุรจินดา เรียบเรียง : จิตรเทพ จาตุรจินดา)” และ “คิขุ (คำร้อง : สมาคม ทำนอง/เรียบเรียง : คณิต พฤกษ์พระกานต์) ส่วนเพลงช้าบาดลึกก็มีให้ฟังอย่าง “หัวใจหลงทาง คำร้อง : อนันต์ ปันโอสถ ทำนอง : เทียรี่ ตาเปียรัวโน)” ก็กรีดหัวใจแบบไม่ง้อป๋อเต็กตึ๊งเลย
เสียงร้องนำของ “เอ็กซ์” กีตาร์ของ “ติ (ต่อมาไปทำวง I-Scream)” แสบก้นจนนั่งไม่ได้ ต้องลุกมาโยกหัวจริง ๆ และซาวด์กลองนี้ไปทางกลองสดมากกว่ากลองสังเคราะห์ (ตีโดยพี่หรั่ง The Kids) งานเลยออกมาดี แม้จะออกเพียงชุดเดียวก็ตามเถ้อะ
เหมือนโรงอาหารประจำค่าย Cobra Gold ที่เหล่าคนครัวมีแต่หล่อเข้มคมสวย กับเมนูทั่วไปและถูกใจได้ดี อารมณ์ประมาณชีสกะเพราโปะละลายลงสเต็กเนื้อเข้ม ๆ มัน ๆ เลย หรือไม่ก็ผักสวนครัวรั้วกินได้สด ๆ ตามฤดูกาล แล้วเอามาปรุงเป็นเมนูเผ็ดร้อนกำลังดีไม่แพ้กัน เอาเป็นว่าเหมือนร้านอาหารซอยลับแต่อร่อยเหาะ
“กองทัพใหม่ในวันนั้น เป็นตำนานร็อกให้เรารุ่นหลังในวันนี้”
-
4. ร็อกเกอร์ Rocker (2536)
หลังจากที่หวูดรถไฟดนตรีขอแชร์ก้อนเค้กเพลงร็อกกับพี่หนุ่ย พี่เป้ พี่อ๊อฟ กับหนุ่มไฟแรงชื่อโดม มาร์ติน คราวนี้ขอมาเป็นสามหน่อที่เล่นกีตาร์ เบส คีย์บอร์ด กลองได้ “ระ (วชิระ บริบูรณ์) - ลีโอ/เล็ก (ลีโอ อีริคสัน) - วุธ (สารวุธ สามะสุทธิ์)” ในนามของพวกเขา “ร็อกเกอร์ (Rocker)”
ทั้งสามคนทำงานกันเอง โปรดิวซ์กันเอง และมีคุณเกี้ยจัง พุเตยร่วมควบคุมการผลิต ผสมเสียงโดยมือมิกซ์คู่บุญรถไฟขบวนนี้อย่างกฤษณะ วงศ์สุข พร้อมกับเพลงมัน ๆ ในชุดอย่าง “คนใจแตก (คำร้อง/ทำนอง : ระ ร็อกเกอร์)” “ลมเพลมพัด (คำร้อง : เบ ทำนอง : ระ ร็อกเกอร์)” “ไม่ง้อหรอกเธอ (คำร้อง : วุธ ร็อกเกอร์ ทำนอง : เล็ก ร็อกเกอร์)” “เก็บไว้ในใจ (คำร้อง/ทำนอง : ระ ร็อกเกอร์)” ก็เรียกความสนุกของชาวร็อกได้ดี ยิ่งเพลงช้าสุดบาดใจอย่าง “ฆ่าเสียดีกว่า (คำร้อง : กวาง-กันตภพ พรหมสุนทรสกุล ทำนอง : วุธ ร็อกเกอร์) ก็ทำได้ออกมาไม่เลวเลย
ถึงแม้กลองชุดนี้ตีโดยโมดูลกลองในตำนาน “Alesis D4” ตามเทคโนโลยีห้องอัดในตอนนั้น (ที่อัดห้อง เอ็มเอ็ม พี่เหมาชาตรี และห้องมังกรแดง Red Dragon)ที่ยังไม่เอื้อกับการตีกลองสดเท่าไหร่ (จนนักอบขนมคนหนึ่งแอบเคืองแล้วบ่นให้ป๋าคนนั้นฟัง / นานาจิตตัง) และออกมาเพียงชุดเดียว แต่งานนี้บ่งบอกได้ว่า เป็นงานที่สุดมัน เผลอ ๆ ฟังต่อจากอัลบั้มหนุ่มไฟแรงนั่นได้เลยเชียว
ส่วนอาร์ตเวิร์คชุดนี้ ใช้ฟอนต์ตัวผอมในตำนานอันเป็นจิ๊กโก๋แห่งตัวพิมพ์ดิจิทัลอย่าง DB Patpong และ DB Private ที่เก๋าทุกยุคทุกสมัย และเข้ากับปกอัลบั้มชุดนี้ได้ดีเลย
“เอาน่า ร็อกก็คือร็อกอยู่วันยันค่ำ ผ่านไป 32 ปีก็ยังมันในอารมณ์เสมอ”
-
5. ALANKARN อลังการ (2537)
เป็นวงลับแลจากค่ายเพลงที่หายไปกับสายลมไปนานแล้วอย่าง Sky Tracks ที่มีศิลปินในสังกัดอย่างวงไหมไทย (ของ อ.ดนู ฮันตระกูล) วง The Quartet Happiness (วงบรรเลงเครื่องสาย) แม้แต่ร็อกเกอร์หญิงป๊อปร็อกผู้ล่วงลับอย่างกุ้งนาง ปัทมสูต (ชุด คนมันแรง) เท่าที่ทราบมาเป็นค่ายในเครือนิธิทัศน์ เน้นตลาดเพลงสบาย ๆ แต่ก็ขอเจาะตลาดสตริงมัน ๆ เพื่อไม่ให้ทับไลน์เพลงหวานซูเปอร์หยิบสิบฮิตเป็นตันของบ้านชินเขตเขา
และหนึ่งในศิลปินนั้น มีวงอย่าง “อลังการ” ที่มีแกนหลักอย่างพี่รัน-สุรัยันต์ ชื่อสัตย์ มือคีย์บอร์ดวงมิติและซูซู กับอัลบั้มชุดเดียวของวงนี้ เพลงที่น่าฟังมี “ขอทีอย่าสำออย
(คำร้อง : ทนงศักดิ์ สกุลดิษฐ์ ทำนอง/เรียบเรียง : สุริยันต์ ชื่อสัตย์, พรชัย ศรีขจร คนหลังสุดคือมือกีตาร์วงนี้ และเป็นอดีตโปรดิวเซอร์คู่บุญของสุกัญญา มิเกล เจ้าของเพลงฮิตอย่าง “ดีดีกันไว้” และ “รักเธอจริง ๆ”)” บัลลาร์ดบาดใจก็มีให้ฟังอย่าง “เจ็บขึ้นใจ
(คำร้อง : ธานี วงศ์นิวัติขจร พี่ก๊อป โปสการ์ดของชาว T-POP วันนี้ ทำนอง/เรียบเรียง : สุริยันต์ ชื่อสัตย์)” และ “หยุดเสียที
(คำร้อง : ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ ทำนอง/เรียบเรียง : สุริยันต์ ชื่อสัตย์, พรชัย ศรีขจร)” เป็นสามเพลงจากทั้งอัลบั้มที่ผมแนะนำให้ฟังกับวงที่ถูกลืม กับเสียงร้องนำอย่าง “จักรวาล อยู่หน้า”
เป็นฮาร์ดร็อกที่ร็อกสุดของค่ายตระกูลอาเสี่ยนี้แล้ว (เป็นรองแค่วงไฮดร้า) พอตัดเลี่ยนเพลงหวานสราญกรุงได้ดีเชียวแหละ (เพราะโดนนิตยสารดนตรีเข้ม ๆ หัวสองหัวแซวว่า “เมื่อไหร่จะมีงานออริจินัลที่ไม่ใช่เพลงเก่าทำใหม่”)
“เหมือนเด็กเรียนต้องเข้าฝึกอบรมมารยาทไทยทั้งวันจนเมื่อยขา พองานเลิกก็แสบซ่าตามคาเฟ่ชาไข่มุก ร้องเกะ เที่ยวเมืองอะไรก็ว่าไป อยู่แต่ในกรอบความซูเปอร์คลาสสิกมันเลี่ยน ต้องหาอะไรหวานมันเข้ม ๆ ถ่วงสมดุลเอา”-
6. สามโลกธาตุ (2537)
ค่ายเสียงสยามคือค่ายเพลงเก่าแก่ที่เป็นต้นสังกัดของตำนานไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกรผู้ล่วงลับ พรศักดิ์ ส่องแสง ง่าย ๆ ครับ เป็นค่ายเพลงลูกทุ่งดี ๆ นี่เอง เคยทำสตริงชิมลางในยุค 80s กับวง “เดอะ พลาสติก (เทปสองชุดของวงนี้หายากสุด ๆ เปิดประมูลราคาเกือบครึ่งพัน)” พอถึง 90s ก็มาทำสตริงจริงจังในนาม Sound of Siam และมี JKC เป็นผู้จัดจำหน่าย มีศิลปินในสังกัตอย่างอ๊อด คีรีบูนชุด 361 องศา (เป็นชุดที่เท่สุด และฉีกความสตริงโคลิเชียมไปกว่าครึ่งตัวเลย) นัยน่า ใจเกินพิกัด วีระชัย หัตถโกวิท ชุดหายอยาก ยกตัวอย่างเท่านี้ก่อน
วงร็อกเด็ด ๆ อย่าง “สามโลกธาตุ (อ่านว่า “สาม-โล-กะ-ทาด”)” ก็เป็นหนึ่งในนั้น นักร้องนำวงนี้คือคุณคอนแสตนติน แอนนัส มือกีตาร์ก็พี่เล็ก ลีโอ จากวงร็อกเกอร์เก่า กับอัลบั้มชุดเดียวของพวกเขา ภายใต้การควบคุมการผลิตของพี่เก่ง-สมศักดิ์ พัลลภารักษ์ มือคีย์บอร์ดที่เล่นหนุนหลังพี่หรั่ง ร็อกเคสตร้า
เพลงเด่นของวงนี้มีให้ฟังตั้งแต่สปีดเมทัลอย่าง “หลอก (คำร้อง : ชัยวัธน์ รัตนธรรม ทำนอง : สมศักดิ์ พัลลภารักษ์)” และ “ธาตุไฟแตก (คำร้อง : ชัยวัธน์ รัตนธรรม ทำนอง : ก.เก่ง)” ท่อนฮุคของสองเพลงนี้นี่สุดติ่งจริงอะไรจริง แม้กระทั่งเพลงช้าบาดใจอย่าง “ขาดสะบั้น” เป็นเพลงที่น่าฟังอีกเพลงนึงเลย
“เป็นอัลบั้มลับแลแต่เดือดดาลมาก ๆ กับธาตุแท้ของคนพันธุ์ร็อกวงนี้”-
7. Human Rock (2538)
วงดีกับสมาชิกที่เราคุ้นเคย พี่ตุ้ม-วีระ โชติวิเชียร (มือกีตาร์) และน้าเอกมันต์ (มือกลอง) บุญลือ อบแก้ว (มือเบส) พร้อมกับสมาชิกใหม่อีก 2 จักรพันธ์ ตั้งณรงค์ศิริ (มือกีตาร์) และลัดสปัญ สมสุวรรณ (ร้อง) กับอัลบั้มชุดแรกและชุดเดียวของวงในค่าย AV Studio (ค่ายเดียวกันกับอิสซึ่น เพลงอยากบอกให้รู้ในตำนาน)
เปิดหัวด้วยความดุดันกับ “ฟ้าลองใจ (คำร้อง : จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, ธีระชัย แหล่งสนาม ทำนอง : จักรพันธ์ ตั้งณรงค์ศิริ)” พร้อมด้วยเพลงช้าที่เข้าถึงอารมณ์ได้ดีอย่าง “เพื่อนแท้ (คำร้อง : สุธาสินี จันทร์เอม ทำนอง : วีระ โชติวิเชียร)” “ลึกเกินไป (คำร้อง : จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, ธีระชัย แหล่งสนาม ทำนอง : วีระ โชติวิเชียร)” แล้วก็มันกันต่อกับ “ปีศาจกัดหาง (คำร้อง : จาตุรนต์ เอมซ์บุตร ทำนอง : จักรพันธ์ ตั้งณรงค์ศิริ)” ทุกเพลงในบั้มนี้พี่ตุ้มดูแลภาคดนตรีหมดเลย
“เป็นร็อกที่สื่อสารพลังความเป็นมนุษย์ได้สะใจดี”-
8. The Rockfather (2538)
ค่ายคีตากับสนามเพลงร็อก นอกเหนือจากบิลลี่บันลือโลก และพงษ์พัฒน์ปกเหล็กแล้ว ยังมีอีกวงที่ไม่พูดไม่ได้ The Rockfather (เดอะ ร็อกฟาเธอร์) จากสี่หนุ่ม “บอมบ์ (คีย์บอร์ด, ร้องนำ)” ต็อก (เบส)” “แย้ (กีตาร์)” “หรั่ง (กลอง)” ที่ทำวง The Kid เล่นหนุนหลังบิลลี่ โอแกน จับมือร่วมกับ “น้อย (มือกีตาร์)” และนักร้องนำอย่าง กบ-วรดิษฐ์ กิจจาทร (นักร้องนำคนสุดท้ายของวงพลอย) บรรจงมาเป็นอัลบั้มร็อกดุเดือดชุดแรกและชุดเดียวของวง ภายใต้สโลแกน “No Ego No Gun But Relax And Fun”
กับเพลงเก่ง One Hit Wonder “หัวใจซาตาน (เคำร้อง: นิรันดร์ แต้มมาลา ทำนอง/เรียบเรียง: วีรพงศ์ ศุภรประเสริฐ )” ที่เป็นเพลงเครื่องหมายการค้าของวง เพลงช้าสุดบาดใจ (เอ็มวีก็เช่นกัน เหมือนดูเอ็มวีคั่นรอหนังฉายตามโรงสมัยก่อน แต่การถ่ายภาพ มุมกล้องสวยจริง ฟอนต์ที่ Superimposed ก็ Thonburi ของ Apple นั่นแหละฮะ) “ยอมตายแทน (คำร้อง/ทำนอง: อรรถพล ประเสริฐยิ่ง
เรียบเรียง: ศิริพงษ์ หรเวชกุล) และเพลงสุดมันอย่าง ”หนักหัว (คำร้อง: บรรเจิด สินธุ ทำนอง/เรียบเรียง: จักรี อรรถเกษม)”
การที่พวกเขาได้ออกบั้มชุดเดียวแต่สุดมันทั้งอัลบั้มได้ก็สุดยอดแล้ว นั่งในใจชาวร็อกไปเลยเชียว
“เหมือนหนังบู๊ที่เข้มข้นทั้งฉากต่อสู้ บทสนทนาระหว่างตัวละคร และเส้นเรื่องที่สร้างแค่ภาคเดียวก็คุ้มแล้ว แถมดูซ้ำแบบโฮมเธียเตอร์ส่วนตัวได้ไม่เบื่อ เพราะถ้าดันทุรังสร้างภาคสองอาจจะเป็นหนังปังแบบมะเขือเน่าแน่ ๆ (เห็นมานักต่อนักทั้งไทยและเทศ)”
ป๊อปคอร์นน้ำโค้ก พร้อม !-
9. หนุ่ม คงกระพัน (2538)
หนุ่ม คงกระพัน ที่เราจะคุ้นเคยกับเจ้าของคอนเทนต์เล่าเรื่องแปลกในบ้านแดง เริ่มต้นจากการเป็นนายแบบนิตยสารวัยรุ่นก่อน แล้วได้รับทาบทามออกอัลบั้มสังกัด Stone Entertainment (ซึ่งในเวลาต่อมาจะมี XL Step เจนนิเฟอร์ คิ้ม Boxเชอร์ ฟอร์ด สบชัย เป็นอาทิ เป็นศิลปินเพลงตัวขายในเวลาต่อมาจนสิ้นสุดทางค่าย) ภายใต้การควบคุมงานโดยพี่เต้ย อินคา-รณภพ อัครราช (Executive Producer ชุดนี้คืออาอุกฤษณ์ พลางกูร ณ ห้องอัดแจม สตูดิโอ)
การที่พี่เต้ยคุยกับพี่หนุ่มว่าอยากได้เพลงแนวไหน จึงได้คำตอบว่า “อยากได้กลิ่นอาย Bryan Adams” กลายเป็นเพลงขายถึง 2 เพลงอย่าง “บาทเดียว (คำร้อง : จิรพรรณ แก้วนิ้ว ทำนอง/เรียบเรียง : จิรายุส วรรถธนะสิน) เพลงหัวอัลบั้มสุดมัน ที่ความรักมีค่าแค่เงินฟ่อนใหญ่ และเพลงช้า ๆ ซึ้ง ๆ ที่พี่เต้ยได้รับคำสั่งจากค่ายว่าขอเพลงขายอีกเพลง เพลงนั้นคือ “จากนี้…และตลอดไป” ปลายปากกาพี่เบียร์-อารียา พีรพงษ์เดชา (คนแต่งเพลง “อยากให้รู้ใจ” ให้วงเรนโบว์จนดังทั้งประเทศ) ฟังแล้วกินใจจริง ๆ กับลุคเข้ม ๆ แบบไทย ๆ
แม้อัลบั้มชุดนี้จะหาสะสมยากเต็มทีในตลาดแผ่นเสียง-เทปมือสอง แต่ก็ถือว่าเป็นเสาเข็มต้นแรกของนักเล่าเรื่องลี้ลับคนนี้มีเส้นทางบันเทิงที่มั่นคง ในบทบาทพิธีกรและนักแสดง และยังโลดแล่นในวงการจนถึงวันนี้
เหมือนต้มบะหมี่รสต้มยำกุ้งที่แซ่บสะใจคนไทยยิ่งนัก จะสับหมูใส่ก็ยังได้กลิ่นน้ำมันเจียวไปทั้งหอพัก พิมพ์แล้วหิวเลยแหละ-
10. Lava (2540)
วงร็อกยุค IMF จากสมาชิกที่ชาวร็อกคุ้นตาอย่าง “พี่รงค์-ณรงค์ ศิริสารสุนทร (เจ้าของเสียงตะโกนก่อน Encore คอนเสิร์ต Trilogy Rock Concertที่ว่า…ดังดัง ! อย่ายอมแพ้นะ ! โป่งร้องวันนี้ 25 เพลง เสียงหมด แต่เขาจะไม่ยอมถ้าคุณไม่ยอม)” และ “พี่โต-นำพล รักษาพงษ์” มือเบสและมือกีตาร์วง หิน เหล็ก ไฟ ตามลำดับ จับมือกับมือกีตาร์ผู้ล่วงลับอีกคนอย่าง “เอ็ม-ชานนท์ ชิตยานันท์” มือกลองอย่าง “เตย-ไพรศล บุญตา” และนักร้องนำประจำวง “บ็อบ-ธีระ คำภักดี” ที่เคยกรีดเสียงร้องในเพลง “ตำนาน (ตำไม่เสร็จ แต่ละเม็ดหยาดเหงื่อเพื่อแฟนเพลง)” ของ The Olarn Project อัลบั้ม “ไตรภาค” หลักกิโลของการทำค่ายเพลงของบุตรนายเฉลียวนางอำไพ
งานชุดแรกและชุดเดียวของวงลาวาทุกคนมีส่วมร่วมแต่งเพลงกันเกือบทั้งหมดเลย (โดยมือกลองร้องประสานเสียง) เปิดหัวอัลบั้มด้วย “ระวัง (คำร้อง/ทำนอง : ณรงค์ เรียบเรียง : ชานนท์,ณรงค์ ) ที่เรียกความมันได้อย่างสะใจดี เพลงช้าที่กรีดหัวใจอย่าง “ระหว่างเรา (คำร้อง/ทำนอง : นำพล, ณรงค์)”
มัน ๆ กันต่อที่ “พร้อมรักเธอ (คำร้อง/ทำนอง/เรียบเรียง : ชานนท์)” “คนเลว (คำร้อง/ทำนอง : ณรงค์ เรียบเรียง : ชานนท์,ณรงค์)” เพลงแช่งคนรักที่แสบยิ่งกว่าทิงเจอร์ “มันอยู่ที่ใจ (คำร้อง/ทำนอง : ณรงค์ เรียบเรียง : นำพล)” เพลงให้กำลังใจที่ตรงไปตรงมาและทรงพลังสุด ๆ ประจำชุดนี้ “อันตราย (คำร้อง/ทำนอง : ณรงค์ เรียบเรียง : ชานนท์)” สะท้อนสังคมได้เบิกเนตรเชียว ลงเอยก่อนหมดม้วนมัน ๆ กับเพลงอิมเมจ “ลาวา (คำร้อง/ทำนอง : ณรงค์, บ๊อบ เรียบเรียง : ชานนท์)” นี่ยกมาเกือบทั้งอัลบั้มดาลเดือดร้อนแรงสมชื่อลาวาเลย
“เหมือนกินชีสบอลแกล้มเหล้าผสมน้ำโค้ก แล้วโยกหัวหน้าเวทีผับเพลงร็อกเลย มันดี กลมกล่อม ในเสี้ยวอารมณ์ร็อกนี้ (พิชช่าขอบชีสทะลักก็เช่นกัน แกล้มน้ำซ่าสะใจ)”
-
และในที่สุดก็ครบ 10 อัลบั้มร็อกไทยคลาสสิกในเหมืองมหาขุมทรัพย์แดนลับแลจนได้ ฟังทั้งวันไม่เมื่อยประสาทหูเลย หวังว่าบทความนี้จะเติมเต็มภาคแรกได้สมบูรณ์แบบจริง ๆ
แค่จะโชคร้ายโดนกระถางดอกไม้ลอยหน้าบ้านหรือเปล่าเท่านั้นเอง (เพราะโดนคำสั่งพี่ร้านเทปมา “อย่าเปิดดังเชียวนะ”)
นายต๊กเองครับ
3-4 มกราคม 2568
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in