เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatfilmbehoramiji
Talk: Spider-Man: Homecoming
  • เช่นเดียวกับการเวิ่นทุกเรื่องที่ผ่านมา...

    สปอยล์เต็มขั้น ยังไม่ดูห้ามอ่าน! 



    Part I: Why Teenage Spidey?

    เลือกโปสเตอร์ข้างบนมาประกอบเพราะมันมีความเป็นไฮสคูลดี (อิเสื้อแจ็กเก็ตทีมแข่งตอบปัญหาวิชาการเหลืองๆ นั่นน่ะ) และนั่นคือสิ่งที่หนังเรื่องนี้เป็น และเล่าถึง

    เรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่ที่ยังเรียนไฮสคูล

    เราอาจเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า "สไปดี้เป็นฮีโร่ขวัญใจมหาชนก็เพราะคนทุกคนเข้าถึงได้ เพราะทุกคนเคยเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น" แต่เราว่าประโยคนี้มันเพิ่งเป็นจริงอย่างยิ่งยวดขึ้นไปอีกระดับก็เพราะหนังสไปเดอร์แมนเรื่องล่าสุดนี่แหละ

    ก็พีเทอร์ พาร์คเกอร์ ใน Spider-Man เวอร์ชั่นนี้ยังเป็นแค่เด็กหนุ่มวัยนมแตกพาน ที่ยังต้องไปโรงเรียน ต้องทำการบ้าน ไปงานพรอม มีสอบ ไปแข่งวิชาการ แต่ดันมีพลังวิเศษรวมกับจิตใจใฝ่ดีที่ผลักดันให้เขาเลือกจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ผู้ปกป้องชุมชน

    พีเทอร์ต้องช่วยเหลือผู้คนหลังเลิกเรียน

    ต้องแบ่งเวลาทำการบ้านไปปกป้องคนตาดำๆ บนท้องถนนย่านควีนส์ ช่วยบอกทางหญิงแก่ข้ามถนน จับโจรปล้นเอทีเอ็ม แบ่งเวลาที่จะได้เล่นสนุกหรือปาร์ตี้กับเพื่อนไปทุ่มเทให้กับการปกป้องชุมชนของเขา ต้องบาลานซ์ชีวิตวัยเรียนของพีทกับชีวิตซูเปอร์ฮีโร่ของสไปดี้ ซึ่งหลายครั้งมันก็ลำบากใจที่จะเลือก

    จะมีฮีโร่คนไหนต้องถูกบีบให้เลือกระหว่างต้องไปติดตามผู้ร้ายกับสอบภาษาสเปน หรือต้องตัดสินใจออกไปหยุดยั้งผู้ร้ายซึ่งปรากฏว่าเป็นพ่อแฟนแทนที่จะได้เต้นรำกับแฟนในงานพรอม

    นั่นแหละเดิมพันที่พีทหรือสไปดี้ต้องเผชิญ

    และใครจะเข้าใจหัวอกเราได้อย่างฮีโร่คนนี้
    ใครจะเข้าใจหัวอกสไปดี้ได้ดีกว่าเรา

    ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นมหาเศรษฐีแบบไอร์ออนแมน
    ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นทหารแบบกัปตันอเมริกา
    หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์แบบบรูซ แบนเนอร์
    หรือเทพเจ้า...แบบธอร์ (ใครจะเป็นได้วะปัดโธ่)

    แต่ทุกคนเคยเป็นเด็กวัยรุ่น

    เราเคยต้องไปโรงเรียน(บางคนอาจยังไปอยู่) ต้องทำการบ้าน มีสอบ มีคนที่แอบชอบที่โรงเรียน ถ้าเป็นหัวกะทิหน่อยก็เคยต้องไปแข่งวิชาการ และในวัยนั้นมันไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสิ่งเหล่านี้ให้ต้องจัดการในชีวิตแล้ว จริงไหม ดังนั้น ใครเล่าจะเข้าใจหัวอกพีทได้ดีกว่าปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา (ซึ่งก็เท่ากับทุกคน) 

    Spider-Man เวอร์ชั่นเด็กวัยรุ่นนี้จึงเป็นหนังที่ตอบคำถามว่าทำไมคนทั่วโลกถึงรักตัวละครคอมิคอย่างสไปดี้ได้ดีที่สุด


    __________

    Part II: Best Villain Choice

    ในเมื่อสไปดี้ของเราเป็นแค่เด็กนักเรียนธรรมดา คู่ปรับที่เป็นมวยถูกคู่ที่สุดก็คงจะเป็นคนธรรมดานี่แหละ และตัวร้ายใน Spider-Man: Homecoming ก็เป็นตัวร้ายที่ดีที่สุดคนหนึ่งในจักรวาล MCU (ในระดับใกล้เคียงกับโลกิ จาก Thor, Avengers และ Baron Zemo จาก Captain America: Civil War ได้อย่างสบายๆ)



    (ภาพปลากรอบตั้งใจเลือกฉากที่ Vulture "น่ากลัว" ที่สุด และมันไม่ใช่ทางกายภาพ แต่ในทางจิตวิทยา)

    สิ่งที่ทำให้เราชอบ Vulture ของไมเคิล คีตัน คงเป็นเพราะความธรรมดาที่เทียบเคียงได้กับพีทนั่นแหละ คนคนนี้เป็นกระจกสะท้อนจิตใจมนุษย์ในด้านตรงข้ามกับพีทได้ดีเหลือเกิน หากโจทย์คือ ถ้ามนุษย์มีความสามารถที่เหนือกว่าคนเดินดินทั่วไป เราจะทำอะไรให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม? ในขณะที่สไปดี้เป็นคำตอบด้านสว่าง วัลเจอร์เป็นคำตอบด้านมืด

    พีทใช้พลังของตัวเองทำให้สังคมดีขึ้น
    วัลเจอร์ใช้ความสามารถของตนเอาคืนสังคม

    เอเดรียน ทูมส์ไม่ใช่คนที่วิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยในสังคมไปพล่อยๆ แต่เขาต้องประสบกับมันโดยตรง (อย่างแรง กระแทกแสกหน้าเหมือนหมัดที่เขาปล่อยใส่จนท.คนนั้นเลยด้วย) และมันเกือบพรากทุกอย่างไปจากเขา คนธรรมดาที่ต้องเลี้ยงไม่ใช่แค่ปากท้องลูกเมีย แต่ปากท้องของลูกน้องและลูกเมียของลูกน้องด้วย เมื่อถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เขาจึงโต้กลับ

    บางทีอาจเป็นสังคมเองที่สร้างคนเลวขึ้นมา

    ปัญหาทางโครงสร้างอย่างความเหลื่อมล้ำทางฐานะไม่ใช่แค่รากฐานของปัญหาเรื่องปากท้อง แต่มันเป็นเรื่องของอำนาจ อภิสิทธิ์ การกดขี่ และมันนำไปสู่อาชญากรรมเสมอ ประเทศเราก็พบเห็นกันอยู่ทุกวัน คนจนทำผิดต้องติดคุก คนรวยทำผิด มีเงินประกัน สู้คดี (บัดซบหน่อยก็ซื้อศาลจนรอดคดี) ความจนมันเป็นโซ่ล่าม ฉุดรั้งคนทำมาหากินซึ่งถูกสังคมเอาเปรียบเบียดเบียนให้ก่ออาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ไปกระทั่งบุกรุกถางป่า ฯลฯ 

    วัลเจอร์เองก็ถือกำเนิดจากความพ่ายแพ้ของเอเดรียน ทูมส์ ต่อการกดขี่เอารัดเอาเปรียบจนตกที่นั่งลำบาก มันจึงเป็นตัวร้ายที่แสนน่ากลัว เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าใครๆ ก็สามารถเลือกทางผิดและก้าวไปในหนทางเลวร้ายแบบนี้ได้ เราว่าเราเห็นได้จากข่าวในบ้านเมืองและทั่วโลกอยู่ทุกวัน ความสมจริงและมีมิติจึงเป็นจุดแข็งของตัวร้ายตัวนี้ด้วยส่วนหนึ่ง

    และแน่นอน ประกอบกับการแสดงของไมเคิล คีตัน การถ่ายทอดตัวละครที่เหมือนจะเรียบง่ายแต่กลับซับซ้อนในทางจิตใจนี้ต้องปรบมือให้ ฉากใช้จิตวิทยาข่มขวัญพีทในรถนั่นคือสะพรึงสุดๆ หยุดหายใจกันไปเลย (เจ้านี่เป็นรอง King Pin ใน Daredevil ของมาร์เวล-เน็ตฟลิกซ์นิดเดียวตรงที่เห็นมิติตอนอยู่กับครอบครัว/คนรักน้อยกว่าหน่อยเพราะเก็บไว้เป็น Plot Twist แต่เท่าที่เห็นนิดเดียวผ่านฉากขู่บนรถนั่นก็ถือว่าทำได้เยี่ยมแล้ว)

    __________

    Part III: Father Figure

    อันนี้เป็น Story Arc เล็กๆ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย


    ไม่ว่าหน้าหนังจะตีหัวคนดูเข้าโรงด้วยการโปรโมท ไอร์ออนแมนติดมากับสไปดี้มันซะท่วมท้นจนคนบ่นว่าเป็น Iron Man 4 ยังไง แต่การมีอยู่ของโทนี่ สตาร์คใน Spider-Man: Homecoming ก็จำเป็นอยู่ดี ถึงจะมีน้อยแต่สำคัญ และถูกที่ถูกทาง (แต่ไม่ได้ทำให้พ้นข้อหาหลอกขายหนังด้วยไอร์ออนแมนนะ ฮา)

    การที่สไปเดอร์แมนเวอร์ชั่นนี้ไม่มีลุงเบน(ที่ตายซ้ำตายซากจนคนดูเหนื่อยแทน) แต่มีโทนี่ สตาร์คเข้ามา ถือเป็นทางเลือกที่ดีมาก และเหมาะสมกับการเชื่อมสไปดี้เข้ากับจักรวาลหนังมาร์เวล เพราะแรงผลักดันให้พีทในหนังเวอร์ชั่นอื่นๆ ทุ่มเทกับการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ คือความรู้สึกผิดและความรับผิดชอบ(อันใหญ่ยิ่ง--)ในการตายของลุงเบน แต่เท่าที่เรารู้ตอนนี้ (อย่างที่พีทตอบโทนี่ใน Captain America: Civil War) พีทเป็นสไปดี้เพราะ "เมื่อคุณมีพลัง แล้วคุณไม่ทำ เมื่อมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะคุณ"

    และคนที่ผลักดันให้สไปดี้จริงจังกับการเป็นสไปเดอร์แมนมากขึ้นในเวอร์ชั่นนี้ ก็คือ โทนี่ สตาร์ค

    มันค่อนข้างสำคัญนะที่เด็กคนหนึ่งจะมีบุคคลตัวอย่างแบบพ่อ ซึ่งพีทไม่มี จนกระทั่งมารู้จักโทนี่ ความสัมพันธ์ระหว่างพีทกับโทนี่จึงเป็นแกนกลางของชีวิตการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของพีท การมองเห็นไอร์ออนแมนเป็นไอดอลขับเคลื่อนให้พีทพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถรับผิดชอบอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นฮีโร่ของชุมชน และเหมาะสมจะเข้าร่วมทีมอเวนเจอร์ส 

    ยิ่งโทนี่พยายามผลักไส พีทยิ่งกระตือรือร้นที่จะพุ่งเข้าใส่ทุกโอกาสในการพิสูจน์

    ฉากที่ทั้งคู่เถียงกันหลังจากกอบกู้เรือเรียกน้ำตาให้รื้นขึ้นมาจริงๆ

    เราเห็นโทนี่ตั้งแต่ Iron Man 1 ผ่านการฟอร์มทีมใน Avengers ลากมาถึงจุดแตกหักใน Civil War นอกจากมหาเศรษฐีอัจฉริยะเพลย์บอยผู้ใจบุญแล้ว เราเห็นชายที่ลองผิดลองถูกกับการเป็นซูเปอร์ฮีโร่และบ่อยครั้งที่ลองไปมันผิด (เช่นก่อหายนะเพราะบังเอิญสร้าง Ultron ใน Avengers 2 หรือเลือกให้ทีมถูกกฎหมายแต่ไม่คิดว่าจะทำให้อเวนเจอร์สฝ่ายแคปถูกขังคุกโหด) เขาไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ตามขนบที่ตัดสินใจถูกต้องตลอดเวลา 

    นั่นเป็นที่มาของประโยค "I want you to be better"

    โทนี่ไม่อยากรับผิดชอบหากพีทเป็นอะไรไป มันคือการปกป้องความรู้สึกตัวเอง แต่การอยากให้พีททำดีกว่าเขา มันคือการสอนและชี้นำจากซูเปอร์ฮีโร่คนหนึ่งถึงซูเปอร์ฮีโร่อีกคนที่ยังไม่ประสา ไอร์ออนแมนไม่อยากให้สไปดี้เดินตามรอยเขาทุกอย่างเพราะรู้ว่าตัวเองก็ยังบกพร่องต้องแก้ไขอยู่ในทุกวัน

    นัยหนึ่งมันเหมือนกับว่าโทนี่อยากเป็นพ่อที่ดีกว่าพ่อของตัวเอง

    และบทเรียนสำคัญที่พ่อซูเปอร์ฮีโร่ได้สอนลูกซูเปอร์ฮีโร่ก็คือ การเป็นซูเปอร์ฮีโร่ มันไม่ใช่เพียงแค่มีชุดเจ๋งๆ พร้อมลุยปราบเหล่าร้าย

    หากแต่เป็น "หัวใจ"

    ชุดเกราะของโทนี่จะปฏิบัติการได้ คนใส่ก็ต้องมีหัวใจที่พร้อมมากพอ และถ้าโทนี่ไม่ยึดชุดสไปเดอร์แมนแสนไฮเทคคืน สไปดี้คงไม่ได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญในการเป็นซูเปอร์ฮีโร่คืออะไรกันแน่ นอกเหนือจากความกล้าเผชิญหน้าต่อสู้กับผู้ร้าย มันต้องอาศัยความกล้าหาญในการยอมรับผลที่ตามมาด้วย เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่ความปรารถนาจะปกป้องผู้อื่นจะให้ผลดี 

    แน่นอนว่าโทนี่รู้ซึ้งกว่าใคร เพราะความอยากปกป้องโลกเหลือเกินของเขา กลับให้ผลลัพธ์เป็นอัลตรอน และความพยายามปราบอัลตรอนก็ยังต้องแลกมาด้วยผู้เสียชีวิตในโซโคเวีย

    ทำนองเดียวกัน แม้ไม่ได้ตั้งใจ การอยากจับตัวคนร้ายเพื่อพิสูจน์ตัวเองของสไปดี้ นำมาซึ่งผลลัพธ์คือเรือแตกเพราะแกนระเบิดของชิทอรี่ และถ้าคนบนเรือตาย แม้แต่คนเดียว พีทต้องแบกความรับผิดทั้งหมดนั้นไว้เป็นตราบาปในใจตลอดชีวิต เด็กอายุสิบห้าจะรับไหวได้ยังไง? แน่นอนว่าโทนี่มองทะลุปรุโปร่งแต่แรก จึงได้กันพีทไว้ให้ช่วยเหลือแค่ในชุมชนมาตลอด

    แต่คนมันมีใจที่ยิ่งใหญ่ซะอย่าง อะไรก็ห้ามไม่อยู่

    ภายหลังถูกยึดชุดไฮเทค พีทก็ได้พิสูจน์แล้วว่า นอกจากใจที่พร้อมเสียสละความสุขส่วนตัว (ในการอยู่กับลิซที่งานพรอม) เขายังมีใจที่พร้อมจะต่อกรกับผู้ร้ายแม้ไม่มีตัวช่วยเป็นชุดเจ๋งๆ มีแค่ชุดกิ๊กก๊อกที่แว่นตาช่วยโฟกัสสมาธิได้ ตอนถูกวัลเจอร์ถล่มตึกใส่นี่ขนลุกมาก ทอม ฮอลแลนด์เล่นได้น่าสงสารสุดๆ ตอนพยายามลุกขึ้นมันเหมือนสไปเดอร์แมนได้เกิดใหม่ด้วยใจที่เข้มแข็งและพร้อมสำหรับการเป็นซูเปอร์ฮีโร่อย่างที่โทนี่อยากให้เขาเป็นจริงๆ 

    โทนี่ สตาร์คจึงเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้พีทเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ดี และรอบคอบ ไม่ใช่สักแต่จะต่อสู้และปราบเหล่าร้ายอย่างเด็กไฟแรงเฉยๆ 

    ซึ่งนำไปสู่อีกข้อแก้ตัวหนึ่งที่ดีของหนัง

    เนื่องจากฉากแอคชั่นต่อสู้กับตัวร้ายในเรื่องเป็นอะไรธรรมดามาก ไม่ได้ใช้เอกลักษณ์หรือสร้างสรรค์แปลกใหม่อะไรเท่าไร แต่พอคิดจากประเด็นทั้งหมดที่เล่ามาทั้งสามพาร์ทคือ ความเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาของพีท, ความเป็นคนธรรมดาของวัลเจอร์, บทเรียนจากพ่อสู่ลู-- จากโทนี่สู่พีท มันเลยสมเหตุสมผลว่าทำไมแอคชั่นจึงไม่ต้องหรูเลิศอลังการสร้างสรรค์ตระการตานักหนังก็ยังสนุกได้ และฉากช่วยเรือกับช่วยเพื่อนบนลิฟต์ถึงได้สำคัญกว่า

    เพราะหัวใจสำคัญของการเป็นซูเปอร์ฮีโร่คือการปกป้องช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เอาแต่จะวาดลวดลายฟาดฟันกับตัวร้ายให้วินาศสันตะโรเดือดร้อนผู้บริสุทธิ์นั่นเอง.


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in