เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Don't Let the Penguin Do a ThesisTonliew Suparat
Brace Yourself Thesis is Coming...

  • มันคงจริงที่ว่าเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ฉันรู้สึกว่าตนเองเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยมาเมื่อไม่นานนี้เองแต่รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นเด็กปี 4 ไปเสียแล้ว และสิ่งน่าหวาดหวั่นที่รู้ตัวว่ารอเราอยู่ทุกขณะจิตก็คือ 'การทำธีสิส' แน่นอนว่ามันไม่ง่ายนักเนื่องจากเป็นการนำความรู้ตลอด 4 ปีที่เรียนมาทำให้เกิดเป็นผลงานที่จับต้องได้ นอกจากนี้ชิ้นงานยังต้องโดดเด่น น่าสนใจอีกด้วย แต่มันก็คงไม่ยากเกินจนเราทำไม่ไหวหรอก (มั้ง)

    เรื่องมีอยู่ว่าหลาย ๆ คนคงมีไอเดียตั้งต้นกันมาบ้างแล้วตลอดการเรียนหลายปี ฉันเองก็เหมือนกันแต่มันไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างสักเท่าไร เพิ่งมาชัดเจนจริง ๆ ตอนปี 3 นี่เองว่าฉันอยากทำอะไรบ้าง และจากการปรึกษารุ่นพี่ปีก่อน ๆ ฉันก็ได้คำแนะนำว่า คิดอันไหนออกให้จดเอาไว้แล้วเราค่อยมาดูว่าไอเดียไหนที่น่าสนใจและไปกับเราได้มากที่สุด ซึ่งฉันก็มีไอเดียที่จดเอาไว้มากมายน่าดูทีเดียว ในบทนี้ฉันเลยอยากเล่าถึงไอเดียต่าง ๆ ที่ฉันคิดก่อนจะมาเป็นงานปัจุุบันที่กำลังอยู่ให้ทุกคนได้อ่านกัน

    ไอเดียแรก วรรณกรรมสำหรับเด็ก 9-12 ปี ที่ฉันตั้งชื่อว่า เจ้าหญิงดอกหญ้า เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่อง ในสวนลับ (Secret Garden) โดย  Frances Hodgson Burnett ซึ่งฉันได้อ่านครั้งแรกตอนปี 1 แล้วก็ตกหลุมรักมันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และอลิซในแดนมหัศจรรย์ โดย  ลูอิส แคร์รอล 
    ฉันตั้งใจให้เป็นวรรณกรรมแฟนตาซี ที่เด็กหญิงคนหนึ่งที่บังเอิญไปเจอดินแดนนางฟ้าโดยบังเอิญและกลายเป็นผู้ปกครองดินแดนแห่งนั้น แม้ว่าเธอจะมีความสุขเหลือเกินในดินแดนนางฟ้าแต่ท้ายที่สุดเด็กหญิงก็ต้องเติบโตและเผชิญหน้ากับโลกแห่งความจริงนอกแดนนางฟ้าให้ได้ ส่วนตัวฉันชอบไอเดียนี้มาก ๆ รู้สึกว่ามันคงน่ารักแล้วก็สนุกไม่หยอก แต่ฉันเป็นคนเขียนและเลือกใช้คำสละสลวยไม่เก่ง การทำงานที่ไม่ถนัดให้ออกมาดีภายใต้แรงกดดันและระยะเวลา 4 เดือนจึงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก ไอเดียนี้จึงถูกปัดตกไปเป็นอันดับแรก ๆ (แต่ฉันก็ยังรักไอเดียนี้นะ ถ้ามีโอกาสก็ยังอยากจะลองเขียนดูสักครั้ง)

    ไอเดียที่สอง กราฟฟิกโนเวลหรือหนังสือภาพสำหรับเด็กอายุ 9-12 ปี เรื่อง เป็ด หรือ เกิดเป็นเป็ด ฉันได้ไอเดียนี้มาจากการลองพยายามหาความถนัดของตัวเองสำหรับทำชิ้นงานธีสิส แล้วก็พบว่าตัวเองไปไม่สุดสักทาง พอเขียนได้ พอวาดรูปเป็น ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่โดดเด่นสักอย่างเหมือนเป็ด แล้วฉันก็คิดว่า 'ขนาดเราโตตั้งขนาดนี้ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร ไม่แปลกเลยนะถ้าเด็กบางคนจะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร' ฉันเลยอยากจะทำผลงานชิ้นนี้เพื่อบอกกับเด็ก ๆ ว่า ไม่เป็นอะไรเลยถ้าพวกเขาจะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไรที่สุด และบางทีการถนัดหลายอย่างก็ดีไม่น้อยเพราะมันแปลว่าเราจะต่อยอดความรู้ความสามารถได้หลายทาง จนถึงตอนนี้ฉันก็ยังสงสัยว่าฉันปัดตกไอเดียนี้ไปได้ยังไงนะ

    ไอเดียที่สาม หนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี เรื่อง เพนกวินสามสหายผจญภัย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากชิ้นงานที่เคยทำและหนังสือที่เคยดูในวิชา CL312 EDUCATIONAL MATERIALS FOR CHILDREN ของครูกิ๊บ และก็เป็นความสงสัยส่วนตัวของฉันเองว่าทำไมในประเทศไทยไม่ค่อยมีหนังสือกิจกรรมสำหรับเด็กที่น่าสนุกเลยสักเล่ม (หรืออาจจะมีแต่ฉันว่าน้อยมากนะ) ฉันเลยตั้งใจว่า เอาละมาทำหนังสือกิจกรรมที่สนุกสำหรับเด็กดีกว่า ถ้าใาเนื้อเรื่องเข้าไปด้วยเพื่อให้เชื่อมกับกิจกรรมต่าง ๆ ก็คงดี 

    และไอเดียสุดท้าย คือหนังสือภาพสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี เรื่อง ยุกยิกย๊อกแย๊ก ซึ่งเป็นไอเดียที่แวบเข้ามาตอนฉันกำลังนอนดูการ์ตูนตอนหัวค่ำ เนื้อหาเป็นการพูดถึงทฤษฎี Children's Needs โดยเล่าผ่านตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นลูกแมวสีส้มชื่อ ส้มจุก (ซึ่งฉันตั้งใจให้ให้ตัวละครทุกตัวในเรื่องเป็นแมว แต่ใช้ชีวิตทำอะไรเหมือนมนุษย์) เรื่องราวที่คิดไว้จะเกี่ยวกับลูกแมวจอมซนที่ออกไปวิ่งเล่นตากฝนจนตัวสั่นยุกยิก พอกลับมาถึงบ้านคนในครอบครัวของมันก็พยายามช่วยทุกทางให้มันหายหนาวสั่น แต่ทำอย่างไรก็ไม่หาย จนได้กอดอุ่น ๆ จากทุกคนในครอบครัว

    จากทั้งหมด 4 ไอเดีย ฉันเลือกไอเดียที่ 3 และ 4เป็นหัวข้อหลักที่อยากจะทำมากที่สุดไปนำเสนออาจารย์ ด้วยมั่นใจว่าตนคงทำได้ดีและออกมาสนุกถูกใจเด็ก ๆ แต่ในท้ายที่สุดหลังจากนำเสนอหัวข้อไป ฉันก็ตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้ออีกครั้งด้วยรู้สึกว่าในหัวข้อที่อยากทำยังขาดสีสันอะไรบางอย่างไป ซึ่งฉันจะเล่าในบทถัดไปว่าฉันเปลี่ยนหัวข้อเป็นอะไร เปลี่ยนทำไม พร้อมเล่าขั้นตอนการทำงานในช่วง 30% แรกไปด้วย ทั้งนี้ก็หวังว่าบันทึกของฉันจะมีประโยชน์ต่อทุกคนที่เข้ามาอ่านบ้างไม่มากก็น้อย เป็นกำลังใจให้เพนกวินตัวนี้ทำธีสิสสำเร็จไปได้ด้วยดีด้วยนะคะ 
    ด้วยรัก
    ต้นหลิว






Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in