เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง ZHOUMI & RYEOWOOK - Starry Night
  • การสื่อสารผ่านดนตรีที่มากกว่าแค่ความไพเราะ..


    ซิงเกิ้ลจากตึกชมพูที่ถูกปล่อยออกมา 2 ภาษา คือจีนและเกาหลี โดยที่ผู้เขียนไม่ได้คาดคิดเลยว่าจะมีการสลับท่อนร้องระหว่าง 2 เวอร์ชั่นนี้ด้วย แต่ละภาษาถูกเริ่มต้นนำเสนอโดยนักร้องเจ้าของภาษานั้น ๆ และมีความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจนมาก แต่อย่างไรก็ดี ทางผู้เขียนได้ตัดสินใจเลือกเวอร์ชั่นภาษาจีนมาเขียนถึงเพื่อเป็นเกียรติให้แก่เจ้าของบทเพลงคนหลัก โจวมี่




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)

    Composed by Jisoo Park (153/Joombas)
    Arranged by MRey (153/Joombas) and Jisoo Park (153/Joombas)
    Lyric by ZHOUMI

    Bb Minor - 64 BPM


    • Intro เริ่มต้นมาด้วยเสียงกีตาร์ไฟฟ้าที่ถูกปรับให้เสียงมีความเป็น Acoustic หรือกีตาร์โปร่ง ดีดและเกาคอร์ดเบา ๆ สลับกับการตบสายไล่ไปตามคอร์ดหลักคือ Bbm7-Ebm7-Db-Fm7-Db โดยที่โน้ตตัวต่ำสุดของแต่ละคอร์ดในห้องสุดท้ายจะเป็นการไล่เสียงลงเป็นสเกลเป็นตัวโน้ต Db-C-Bb

    • โดยที่เพลงนี้อยู่ใน *Time Signature 6/8 ซึ่งเป็นจังหวะ Compound Time ที่แตกต่างจากเพลงเคป๊อปส่วนใหญ่ที่มักจะเป็นจังหวะ 4/4 หรือ Simple Time นั่นทำให้เพลงนี้สามารถสร้างอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ฟังสบาย หรือแม้กระทั่งความรู้สึกที่เหมือนผู้ฟังกำลังถูกโยกไปมาเป็นจังหวะกล่อมเข้านอน

    *Time Signature - เครื่องหมายกำหนดจังหวะ โดยจะมีหลายแบบแตกต่างกันไป จากตัวอย่างภาพจะเป็นลักษณะการใช้ตัวเลข เลขตัวบนจะบอกจำนวนของตัวโน้ตในแต่ละห้อง (Bar) ส่วนเลขตัวล่างจะบอกว่าเป็นโน้ตประเภทไหนตามการเรียกชื่อแบบอังกฤษ เช่น เลข 4 = โน้ตตัวดำ (Quarter Note), เลข 2 = โน้ตตัวขาว (Half Note) หรือเลข 8 = โน้ตตัวเขบ็ต 1 ชั้น (Eighth Note) เป็นต้น


    จากภาพจะเห็นว่า Time Signature เป็นเลข 4/4 ซึ่งมีความหมายว่า มีโน้ตตัวดำทั้งหมด 4 ตัวต่อห้องเพลง เป็นจังหวะประเภท Simple Time สังเกตได้จากเลขตัวล่างที่มักเป็นเลข 2, 4, 8 นี่คือจังหวะที่เพลงป๊อปส่วนใหญ่มักใช้ มีความมาตรฐาน เข้าใจง่าย ค่อนข้างกระฉับกระเฉง




    ในขณะที่เพลงนี้จะอยู่ในจังหวะ 6/8 หรือก็คือมีโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น (เลข 8) จำนวน 6 ตัวต่อห้อง ซึ่งเป็นอัตราจังหวะแบบผสม Compound Time จะสังเกตได้จากการที่เลขตัวบนสามารถหาร 3 ได้ลงตัวพอดี เช่น 3, 6, 9, 12 ส่วนเลขตัวล่างโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นเลข 8

    ซึ่ง Compound Time มักจะแบ่งชุดจังหวะออกเป็นทุก ๆ 3 ตัวโน้ต จังหวะหนักส่วนใหญ่จึงจะตกอยู่ที่โน้ตตัวแรกของแต่ละชุด จากภาพตัวอย่าง Time Singnature 6/8 จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 จังหวะต่อห้อง โดยจะตกอยู่ที่โน้ตตัวที่ 1 และ 4 ของแต่ละห้อง

    หากยังนึกภาพไม่ออกว่าจังหวะเป็นอย่างไร ให้ลองพูดคำว่า 'บานาน่า' แล้วปรบมือทุกคำว่า 'บา'

    Compound Time มักถูกใช้มากในเพลงประเภทเพลงเต้นรำ โดยจะพบได้ในเพลง Waltz ที่มีจังหวะหนักและจังหวะผ่อนชัดเจน เป็นลักษณะจังหวะที่ให้ความรู้สึกหน่วง ไม่เร่งรีบ ฟังสบาย



    อีกสิ่งนึงที่น่าสนใจในเพลงนี้.. Bb Minor ซึ่งเป็นบันไดเสียงหลักนั้นถือว่าเป็นคีย์ที่ค่อนข้างแปลกและแอบหายากในหมู่เพลงป๊อป เนื่องจากเป็นคีย์ที่มีความยาก มีโน้ตที่ต้องติด b (แฟลต) ถึง 5 ตัวจากสเกล 7 ตัว หากเมื่อเทียบกับบนคีย์เปียโนแล้วนั้น โน้ตเหล่านี้จะอยู่บนคีย์สีดำที่ทำให้ไม่สะดวกมากต่อการเล่น คนส่วนใหญ่จังมักหลีกเลี่ยง แต่เมื่อเพลงนี้ถูกดำเนินด้วยกีตาร์เป็นหลัก นั่นทำให้สามารถจูนสายกีตาร์ให้ต่ำลงครึ่งเสียงจากปกติ E-A-D-G-B-E กลายเป็น Eb-Ab-Db-Gb-Bb-Eb และเล่นคอร์ดที่สูงขึ้นไปครึ่งเสียง กลายเป็น Bm7-Em7-D-F#m7-D ซึ่งสามารถเล่นได้ง่ายกว่าค่อนข้างมาก





    • เข้าสู่ Verse 1 ของเพลงที่ยังคงใช้กีตาร์เพียงเครื่องเดียวเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก โดยใช้วิธีการเกาโน้ตไล่จากจ่ำไปสูง แต่ละโน้ตมีความห่างของช่วงเสียงที่กว้างกว่าการเกาคอร์ดปกติทั่วไป และมีการเว้นว่างไม่เกาโน้ต 3 หรือโน้ตตัวกลางของคอร์ด นั่นทำให้เพลงจากที่ค่อนข้างโล่งโปร่งจากเสียงเครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียวยิ่งเกิดช่องว่างมากขึ้น สร้างบรรยากาศที่วังเวง เปล่าเปลี่ยว การเริ่มด้วยตัวโน้ตที่เสียงค่อนข้างต่ำ เสียงร้องเองก็ไม่แพ้กัน และประกอบกับคอร์ดของเพลงซึ่งเป็น Minor ซะส่วนใหญ่นั้นก็ให้ความรู้สึกที่ทุ้มลึก มืดหม่น เหมือนดั่งยามค่ำคืนที่แสนเงียบเหงา เต็มไปด้วยความเศร้าและโหยหา

    • การเดินโน้ตในช่วงท้ายของห้องที่ 4 ที่ได้กล่าวไว้ว่าเป็นการไล่โน้ตลง Db-C-Bb นั้นเองก็เป็นเหมือนกับการก้าวถอยหลังกลับมาสู่จุดเดิม วนเวียนไปแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจเปรียบได้เหมือนกับความรู้สึกที่ยังคงคิดถึงเธอเสมอ ไม่ว่าจะพยายามลืมแค่ไหนก็ไม่สามารถทำได้

    • 0:24 Verse 2 เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในแนวกีตาร์ โดยโน้ตสูงซึ่งเป็นตัวสุดท้ายของแต่ละคอร์ดจะมีการเล่นในลักษณะที่เป็นเสียง Harmony มีความก้องและกังวาลมากกว่าเสียงปกติ ซึ่งในความคิดจินตนาการของผู้เขียนนั้น เสียงฮาร์โมนีนั้นเป็นเสียงที่มีความเปล่งประกาย ผู้แต่งอาจต้องการสื่อถึงดวงดาวตามชื่อเพลง ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นเหมือนกับความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ดี ๆ ก็ถูกจุด ปลุกให้ตื่นขึ้นด้วยเช่นกัน

    • อีกสิ่งที่เพิ่มมาในช่วงนี้ก็คือ Percussion หรือเครื่องกระทบ ซึ่งน่าจะเป็นเสียงของการเคาะบริเวณขอบของกลองสแนร์ (Rim Shot) นั่นทำให้ดนตรีเริ่มมีจังหวะที่เดินไปข้างหน้ามากขึ้นเล็กน้อย ความทรงจำที่ถูกซ่อนไว้อยู่ลึกภายในใจกำลังค่อย ๆ กลับมาชัดเจนมากยิ่งขึ้น


    ตัวอย่างเสียง Rim Shot หรือการตีบริเวณขอบของ Snare Drum



    • แม้ว่าเพลงนี้จะไม่มีท่อน Pre-Chorus แยกออกมาอย่างชัดเจน แต่ตอนช่วงท้ายของ Verse ก็มีการใส่ Sound Effect คล้ายกับเสียงลมพัดรวมไปถึงแนวร้องที่มีความแตกต่างออกไปเพื่อส่งเข้าไปสู่ท่อนฮุค

    • ท่อน Chorus ในที่สุดก็มีเสียงเปียโนกดคอร์ดในช่วงเสียงต่ำเพิ่มเข้ามา รวมไปถึงแนวเบสเบา ๆ จนแทบไม่ได้ยิน แต่ก็เติมเต็มให้ฐานของเพลงนั้นสมบูรณ์ขึ้น แนวกีตาร์กลับไปเล่นแบบเดียวกับตอน Intro ส่วนจังหวะจาก Rim Shot ยังคงอยู่เช่นเดิม เสียงร้องมีการเพิ่ม Reverb ให้เกิดเสียงสะท้อน.. แม้ว่าจะไม่ได้รู้สึกว่ามันแตกต่างมากจากท่อนก่อนหน้าจนแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่านี่คือท่อนฮุค แต่ในอีกมุมมองนึง นี่อาจเป็นการสื่อสารของผู้แต่งที่มีเจตนาจะยั้งอารมณ์คนฟังให้สงบ ไม่รีบเตลิดไปก่อน เนื่องจากนี่ยังเพิ่งเริ่มเพลงมาได้ไม่นาน ค่ำคืนนี้ยังอีกยาวไกลนัก

    • มีจุดที่น่าสังเกตมากของท่อนฮุคนี้ ในนาทีที่ 0:46 และ 0:54 โดยปกติคอร์ดนั้นมักจะเป็นคอร์ด Fm7 นั่นคือมีโน้ต F Ab C Eb แต่ในช่วงนี้มันกลับกลายไปเป็นคอร์ด F7 แทน!! ซึ่งมีโน้ต F A C Eb จะเห็นว่าโน้ตตัวที่เปลี่ยนไปคือตัว Ab กลายไปเป็นตัว A แทน แม้ว่าจะเบามากจนแทบไม่ได้ยิน เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยมาก แต่มันกลับสร้างความรู้สึกที่แตกต่างให้กับผู้ฟังได้ โน้ตตัว A ที่เป็นดั่งความขมขื่นที่ถูกซุกซ่อนไว้ค่อย ๆ ถูกแสดง สื่อสารออกมาสู่ผู้ฟังมากขึ้น

    • ท่อนฮุคยังคงลากยาวต่อไปในช่วงที่ร้อง Starry Night ตามชื่อเพลง และจุดนี้แหละที่เปียโนกลายเป็นเหมือนพระเอกดาวเด่นที่โหนขึ้นไปเล่นโน้ตสูงซึ่งเป็นเหมือนกับตัวแทนของดวงดาวดวงน้อย ๆ ที่ส่องสว่างระยิบระยับ ในค่ำคืนอันแสนมืดหม่น ความว้าวุ่นในจิตใจที่เกิดจากเสียงกีตาร์ซึ่งถูกปรับให้ความเป็น Acoustic ลดลง เพิ่มเสียงที่เป็น Electronic มากขึ้น รวมไปถึงเสียงเบสที่ดังโดดออกมามากขึ้น.. จนกระทั่งช่วงท้ายที่มีการรัวฉาบ *Crescendo ขึ้นเพื่อเป็นการบ่งบอกว่าถึงเวลาไปต่อยังท่อนถัดไป

    *Crescendo - เสียงดังขึ้น
    ตัวอย่างเสียงรัวฉาบ นาทีที่ 0:10



    • Verse 3 องค์ประกอบเกือบทั้งหมดที่เคยถูกใช้มาก่อนหน้านี้กลับมาอีกครั้ง ทั้งกีตาร์ที่เนื้อเสียงถูกปรับให้กลับมามีความเป็น Acoustic เหมือนเดิม มีการปรับเปลี่ยนโน้ตในการเกาเล็กน้อย โดยไม่ได้มีระยะห่างระหว่างโน้ตที่มากเท่าก่อนหน้า, เปียโนลงเพียงคอร์ดในช่วงเสียงต่ำ, เบสยังคงอยู่แบบเดิม, กลองชุดที่มาเต็มครบชุดซักที และแนวร้องที่จะสังเกตได้ว่าช่วงต้นเพลงจะร้องสบาย ๆ ก่อนที่จะมาหนักแน่นขึ้นในท่อนฮุค พอมาถึง Verse นี้ก็กลับไปอยู่ในช่วงเสียงต่ำและมีความ airy เสียงลมเยอะอีกครั้ง คล้ายกับการทอดถอนหายใจ

    • พอเข้าสู่ Verse ที่ 4 ก็เป้นอีกครั้งที่มีการปรับคอร์ด เปียโนจากที่เคยกดคอร์ด Db ซึ่งประกอบไปด้วยโน้ต Db F Ab มาตลอด แต่ในนาทีที่ 1:31เปียโนกลับเพิ่มโน้ตตัว C มาอีกตัวจนกลายเป็นคอร์ด Dbmaj7 (ไม่ใช่ Db7 นะ ไม่เหมือนกัน) หรืออาจจะสามารถมองได้ว่ามันคือโน้ตตัว C ที่มาจากการไล่โน้ตลงในทุกห้องที่ 4 อยู่แล้ว แต่เพียงแค่มาก่อนเวลาไปนิดนึงจนมันก่อให้เกิด sound แบบใหม่.. แต่ไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีไหน ยังไงจุดนี้ก็สามารถสร้างอารมณ์ที่แตกต่าง ความรู้สึกที่ค่อย ๆ ถูก build ขึ้นให้พิเศษกว่าช่วงที่ผ่านมาได้

    • ก่อนที่จะเข้าสู่ท่อนฮุครอบที่ 2 ในที่สุดก็มีการดรอปเสียงดนตรีทั้งหมดให้เกิดเป็นความเงียบเป็นครั้งแรกของเพลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ถูกใช้ในทุกเพลงป๊อป การฉุดรั้งอารมณ์ จุดหักเลี้ยว สร้างความแตกต่าง และที่สำคัญคือการเพิ่มแนวร้องประสานเสียงสูงกว่าเสียงหลัก ซึ่งมันทำให้เกิด Harmony ที่ไพเราะ และเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด





    • เสียงประสานยังคงอยู่ตลอดในช่วงท่อนฮุค รวมไปถึงการเพิ่มมาของกลองชุด นั่นทำให้ Chorus รอบนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ที่ถูกเปิดเผยออกมาอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้น.. นาทีที่ 1:51 คำว่า 曾 (Céng) นั้นมีความพิเศษอีกแล้ว โดยจากท่อนฮุครอบแรกซึ่งตรงกับนาทีที่ 0:50 นั้น คำนี้จะถูกร้องอยู่บนโน้ตตัว Gb3 แต่รอบถัดมากลับลงไปร้องต่ำถึงตัว C3 คล้ายกับการดำดิ่งลงสู่ก้นเบื้องลึกของจิตใจ ความทรงจำในวันวานที่ถูกซ่อนเอาไว้ลึกที่สุดที่ครั้งหนึ่งเคยมีเธอ ก่อนที่จะกระโดดกลับขึ้นมาโน้ตสูง สู่ปัจจุบัน ความเป็นจริงที่ไม่มีเธอ

    • ท่อน Starry Night ในรอบนี้มีการเพิ่มเสียงร้องประสานเข้ามาทำให้เกิดอารมณ์ที่แปลกใหม่มากขึ้น มีสีสันของความเป็น Major ความสุข ความสดใสแทรกเข้ามาเพิ่ม แถมยังทำให้รู้สึกว่าไม่วังเวงเงียบเหงาเท่า ไม่ได้มีเพียงดาวไม่กี่ดวง แต่กลับกลายเป็นหมู่ดาวนับล้านที่ส่องแสงประกายสวยงามในคืนที่มืดหม่น

    • ประโยคสุดท้ายมีการใส่เสียงสะท้อนกลับ คล้ายกับความทรงจำที่ถูกย้ำเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าค่ำคืนนี้ ค่ำคืนที่ฉันเฝ้าร่ำร้องก็ยังคงไม่มีเธอ ก่อนที่เสียงรัวฉาบจะกลับมาอีกครั้ง ไม่มีการดรอปดนตรีลงเลยเพื่อส่งต่อเข้าสู่ท่อนถัดไปที่จะมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่ยิ่งรุนแรงขึ้นไปกว่าเดิม




    ..没你的夜晚..



    • มาถึง Bridge ตั้งแต่นาทีที่ 2:10 เป็นท่อนที่เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจ ตั้งแต่คอร์ดแรก Gb ซึ่งเป็นคอร์ดที่เพิ่งเคยถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในเพลงนี้เลย Chord Progression หรือแนวทางเดินของคอร์ดมีความสวยงามและน่าแปลกใจมากเช่นกัน

    Gb-Ab-F-Bbm-Ab
    Gb-Ab-F7

    • จะสังเกตได้ว่าคอร์ดส่วนใหญ่จะเป็นคอร์ด Major (ไม่มีตัว m ต่อท้าย) ซึ่งคอร์ดประเภทนี้จะนำเสนอสีสันที่สว่าง สดใส เป็นตัวแทนของความสุข แต่แนวทำนองของช่วงนี้นั้นกลับเป็นการเดินโน้ตในสเกลหรือบันไดเสียง Minor โดยเน้นการไล่อยู่บนสเกล Bb Minor ตามคีย์หลักของเพลง มีเสียงร้องประสานที่ดำเนินไปตลอดช่วง ซึ่งเสียงประสานเป็นโน้ตที่มีเสียงสูงขึ้นไป 3 เสียงซะส่วนใหญ่ ซึ่งเสียงประสานคู่นี้เองก็สร้างให้เกิดความเป็น Minor เกือบตลอดท่อน Bridge ด้วยเช่นกัน กลายเปนการผสมสผสานที่สวยงามมาก

    • แน่นอนว่าอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือการเล่นกับจังหวะ ตั้งแต่ประโยคแรกที่มีการเร่งจังหวะร้องให้เร็วกว่าจังหวะเพลงเล็กน้อย แม้จะไม่มากแต่ก็สามารถรู้สึกได้ จนประโยคถัดมานาทีที่ 2:13 และนาทีที่ 2:17 เป็นการร้องแบบจังหวะ Against กับจังหวะของดนตรี หรือที่เรียกว่า *Polyrhythm จังหวะที่ขัดกันไปมาก่อให้เกิดความรู้สึกที่น่าอึดอัด ไม่สบายใจ โหยหาคำตอบ เรียกร้อง และการแสดงออกถึงความเจ็บปวดรวดร้าว


    *Polyrhythm - หรือการทับซ้อนของจังหวะหลายแบบไปพร้อมกัน เป็นรูปแบบจังหวะที่นิยมใช้กันในดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะในนักเล่นกลองที่ในหลายครั้งจะต้องแยกประสาทระหว่างมือและเท้าที่เล่นจังหวะคนละรูปแบบกัน

    แนวดนตรีบรรเลงยังคงยึดตาม Time Signature หลักซึ่งก็คือ 6/8 ที่ปกติ 1 จังหวะจะมีโน้ต 3 ตัว
    ฟังได้จากแนวเบสที่ไล่ลงตอนนาทีที่ 2:13 (จากภาพ บรรทัดล่าง)
    แต่แนวร้องกลับร้องถึง 4 โน้ตต่อ 1 จังหวะ! (จากภาพ บรรทัดบน)


    ทำนองร้องที่ถูกเปลี่ยนจาก Compound Time กลายเป็น Simple Time (เพราะหาร 3 ไม่ลงตัว) เมื่อนำมาร้องพร้อมกับดนตรีอื่น ๆ นั่นทำให้เกิดการทับซ้อนของจังหวะที่แตกต่างกัน แต่หากเมื่อคำนวณแล้วทั้งสองแนวจะได้ผลลัพธ์ออกมาเท่ากันพอดี.. เหมือนกับเค้ก 1 ก้อน ไม่ว่าคุณจะตัดแบ่งเป็น 3 หรือ 4 ชิ้น สุดท้ายเมื่อนำมารวมกันก็จะได้เค้ก 1 ก้อนในปริมาณเท่าเดิม


    • นอกจากนี้เครื่องดนตรีในท่อนนี้เองก็มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงมีการกดลงคอร์ดเหมือนเดิมหากแต่ไม่ใช่เสียงเปียโนที่กดแล้วก็หายไป กลับกลายไปเป็นการใช้ Synthesizer ที่ทำให้เสียงมีลักษณะคล้ายกับออร์แกนที่ลากโน้ตยาวได้อยากไม่มีการ resolve เสียงลงเลย รวมไปถึงการเพิ่มโน้ตลากแนวบนโดยมีลักษณะคล้ายกับเสียงของกลุ่มเครื่องสาย ส่วนพระเอกหลักของเพลงอย่างเสียงกีตาร์นั้นก็เหมือนจะจมหายไปเลย แม้จะยังแอบมีเสียงแลบออกมาให้ได้ยินบ้างเล็กน้อยในช่วงที่ดีดโน้ตตัวสูงหรือเสียงรูดสาย แต่ก็เล็กน้อยมากจนเหมือนกับไม่ได้ถูกเล่นอยู่

    • คำร้องสุดท้ายของท่อน Bridge มีการไล่เสียงประสานขึ้นไปจนถึงตัว C5 ในขณะที่ดนตรีลากโน้ตในช่วงเสียงที่ต่ำมาก เบสตัว F2 ทำให้เกิดมิติของเสียงที่กว้างขึ้น ความห่างของช่วงเสียงที่ค่อย ๆ ห่างกันออกไปเหมือนกับความรู้สึกที่ถูกดึงทึ้ง ฉุดกระชาก การแยกทางกันระหว่างความฝันกับความเป็นจริง เสียงสูงที่กรีดร้อง ขอให้เธอบอกว่ารักกันแม้จะต้องโกหกฉันก็ยอม แนวร้องถูกลากยาวออกไปอีกถึง 2 ห้องที่ในท้ายที่สุดเสียงดนตรีก็ดรอปหายไป เหลือเพียงความเงียบและเสียงร้อง เหมือนกับตัวฉันผู้ถูกทิ้งไว้กลางทางให้ต้องยอมรับกับโลกอันแสนโดดเดี่ยวและเหน็บหนาว





    • ในที่สุด กีตาร์ พระเอกของเพลงก็กลับมาปรากฎตัวอีกครั้งในท่อน Instru แนวโซโล่ที่ถูกชูให้โดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีกีตาร์อีกแนวนึงที่ยังคงเล่นดีดคอร์ดเป็น Background ประกอบร่วมกับเปียโน เบส และกลองชุดในรูปแบบที่คล้ายกับช่วงที่ผ่าน ๆ มา โดยที่เสียงกีตาร์ในช่วงท่อนนี้ทั้งสองแนวมีการปรับเสียงให้มีความ Electronic ให้ได้ยินอย่างชัดเจน เป็นช่วง Instru ที่ไม่ได้มีความยาวมาก เหมือนเป็นเพียงการพักเพียงช่วงสั้น ๆ ให้ได้กลับไปคิดทบทวนตัวเอง ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในเวอร์ชั่นที่ความรู้สึกเต็มล้นกว่าเดิม

    • กลับมาสู่ท่อนฮุคอีกครั้ง แนวดนตรีของเดิมยังคงอยู่ แต่ในรอบนี้มีความพิเศษในแนวดนตรีประกอบอีกเช่นเคย นั่นคือการเพิ่มมาของเสียงเครื่องสาย *Pizzicato ไล่เป็น **Arpeggio ที่สร้างให้เกิดบรรยากาศความรู้สึกแปลกใหม่กับเพลงอย่างชัดเจน แม้จะมีการใส่ Reverb เพื่อให้เสียงมีความนวลแล้วก้องเข้าไปเยอะ แต่ก็ยังพอได้ยินหัวเสียงอยู่ มันทำให้เพลงมีความพิศวงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเนื่องจากโน้ต Pizzicato ไม่ได้ถูกใช้บ่อยนักในเพลง K-pop

    *Pizzicato - การดีดสาย
    **Arpeggio - การแยกกระจายโน้ต โดยบรรเลงตัวที่ 1, 3, 5 ของคอร์ดไล่กันไป
    ตัวอย่างเสียง Pizzicato เพลง Red Velvet - Psycho ที่ถูกใช้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลัก


    • นอกจากนี้ยังมีเสียงกีตาร์ไฟฟ้าโซโล่ที่ถูกนำเสนอไปในช่วง Instru ก่อนหน้านี้ถูกสอดแทรกเข้ามาด้วย.. แนวร้องหลักและเสียงประสานเองก็ยังคงเหมือนเดิม แต่ในรอบนี้มีการเพิ่มแนวแอดลิบที่แทบจะมีความสำคัญใกล้เคียงกับไลน์หลัก จนแทบจะใกล้เคียงกับ *Countermelody โดยแนวร้องนี้มีการร้องที่ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงสูง Falsetto คล้ายกับการกรีดร้อง คร่ำครวญ เป็นท่อนที่เหมือนกับกำลังร้องไห้ที่ไม่ใช่แค่น้ำตาไหล แต่คือการร้องออกมาราวกับจะขาดใจเลย

    *Countermelody - ทำนองรอง
    • ท่อน Starry Night ที่เพิ่มประโยค You are my shining star เข้ามานั่นยิ่งทำให้การสื่อสารอารมณ์นั้นชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นเหมือนกับบทสนทนาของแนวหลักและแนวรอง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือบทสนทนาที่พูดกับตัวเอง ตอกย้ำว่าเธอคือดวงดาวที่ส่องประกายของฉัน แต่คำบอกเล่านี้กลับไปไม่ถึงเธอเลย มันช่างแสนเจ็บปวด เสียงร้องอันแสนรวดร้าว ดนตรีที่วุ่นวายจนแทบจะบดบังเสียงเปียโนที่เป็นดั่งดวงดาวบนฟ้าไปหมด

    • Chorus ถูกร้องซ้ำอีกครั้งนึง จากที่ก่อนหน้าว่าดนตรีจัดเต็ม แน่น จนความรู้สึกมันล้นทะลักจนไม่คิดว่ามันจะไปต่อได้มากกว่านี้ แต่ท่อนฮุครอบนี้กลับสามารถทำได้ ทั้งแนวดนตรีที่ถูกทำให้วุ่นวายมากขึ้น โดยเฉพาะเสียงกีตาร์ไฟฟ้า และด้วยการปรับเปลี่ยนทำนองร้องหลักให้โน้ตในหลาย ๆ จุดมีเสียงสูงขึ้น รวมไปถึงแนวแอดลิบที่เพิ่มเสียงลาก Falsetto เข้าไปมากขึ้น ยิ่งฟังหัวใจยิ่งบีบรัด ความรู้สึกอันมากมายนี้เมื่อไหร่จะได้รับการผ่อนคลายกัน อยากจะร้องบอกว่าได้โปรดพอทีเถอะกับความเจ็บปวดในครั้งนี้

    • ยังไม่จบแค่นั้น ท่อน Starry Night เองก็ยังไปได้มากกว่าเดิม แนวร้องที่ล้อกันเปลี่ยนไปร้องว่า My Love กรีดร้องถึงที่รักด้วยตัวโน้ตที่สูงขึ้น ประโยคร้องที่สั้นลงคล้ายกับช่วงจังหวะของการสะอื้น และมีการร้องไล่โน้ตขึ้นไปสูงถึงตัว Eb5 เป็นการส่งท้ายความพีคของท่อนนี้ การกรีดร้องคุกเข่าอ้อนวอนขอให้เธอกลับมาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะยอมรับกับตัวเองว่าคืนนี้ไม่มีเธอจริง ๆ ยอมแพ้ซะเถอะ

    • ท่อน Outro ทุกความวุ่นวายถูกดรอปหายไป เหลือไว้เพียงเสียงกีตาร์เกาคอร์ดที่เกือบจะคล้ายกับตอนต้นเพลง แต่แตกต่างเล็กน้อยที่เปลือเพียงโน้ตเดี่ยว ๆ ไร้ซึ่งคอร์ด นั่นทำให้ดนตรีค่อนข้างบางลงกว่าเดิม แนวเดินโน้ตแสดงออกถึงความโดดเดี่ยวอ้างว้าง แนวร้องเองก็มีการร้องที่ค้ลายกับการทอดถอนหายใจอย่างยอมแพ้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะปิดท้ายเพลงด้วยโน้ตตัว A ธรรมดาแบบไม่ใช่ Ab ตามปกติอีกแล้ว! แถมยังจบค้างไว้แค่นั้นโดยที่ไม่มีการลงคอร์ด Bbm ซึ่งเป็นคอร์ดหลักของเพลง นั่นทำให้คนฟังรู้สึกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ค้างคา คำถามที่ไร้ซึ่งคำตอบ ความเศร้าที่ไม่เคยจางหาย ที่ตรงนี้เหลือเพียงฉันที่ถูกทิ้งไว้เพียงลำพัง...




    - จบเพลง -




    โครงสร้างของเพลง Starry Night

    INTRO                          0:01-0:09

    VERSE 1                       0:10-0:24

    VERSE 2                       0:24-0:39

    CHORUS                      0:39-1:09

    VERSE 3                       1:10-1:24

    VERSE 4                      1:24-1:39

    CHORUS                      1:40-2:10

    BRIDGE                        2:10-2:29

    INSTRU                        2:29-2:24

    CHORUS                      2:24-3:14

    CHORUS                      3:14-3:44

    OUTRO                         3:45-3:56



    บทสรุป

    เชื่อว่าผู้ฟังส่วนใหญ่ที่ได้รับฟังบทเพลงนี้ต่างก็ชื่นชมในความไพเราะและฟังสบายของบทเพลง แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกันจากการฟังในครั้งแรก แต่เมื่อได้มีโอกาสตั้งใจฟังแล้วนั้น กลับพบว่ามีรายละเอียดยิบย่อยที่น่าสนใจกว่าที่คาดคิดไว้มาก ตัวโน้ตเพียงไม่กี่ตัวกลับสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยแต่ต่างก็ล้วนมีความสำคัญในตัวของมัน การเลือกใช้เครื่องดนตรีในแต่ละท่อนเองก็มีส่วนสำคัญมากที่ช่วยสื่อสารถึงอารมณ์ความรู้สึกควบคู่ไปกับเนื้อเพลง หรือแม้แต่การเลือกโทนเสียงของเครื่องที่ใช้เองก็เช่นกัน ต้องขอชื่นชมผู้แต่งในแง่ของความละเอียดอ่อน

    จุดที่น่าประทับใจที่สุดในความรู้สึกของผู้เขียนคือท่อน Bridge ที่มีการใช้จังหวะ Polyrhmthm ควบคู่ไปกับการร้องประสานเสียงของนักร้องทั้งสอง ครั้งแรกที่ได้ฟังนั้นรู้สึกประหลาดใจมาก เนื่องจากเป็นองค์ประกอบดนตรีที่ไม่ได้ถูกใช้เยอะโดยเฉพาะในเพลงประเภทบัลลาด หรือถ้าหากมีใช้ก็จะแค่เป็นช่วงสั้น ๆ และเป็นการร้องแค่เดี่ยว ๆ เนื่องจากเป็นจังหวะที่ยาก ต้องใช้ทักษะและการฝึกฝนเพื่อทำความเข้าใจจังหวะซึ่งมีความ complicate แบบนี้

    อีกสิ่งที่ทำให้เพลงนี้น่าจดจำคือการที่เพลงอยู่ในคีย์ Bb Minor ซึ่งหาได้ค่อนข้างยากไม่ว่าจะในสมัยนี้หรือย้อนกลับไปในยุคที่ดนตรีคลาสสิกเฟื่องฟู นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้เพลงนี้สามารถเตะหูคนฟังได้แทบจะในทันทีที่ขึ้นต้นมา และจะยังคงติดอยู่ในความทรงจำอีกเป็นเวลานาน



    อย่าลืมไปลองฟังเวอร์ชั่นภาษาเกาหลีด้วยนะ :)



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in