เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movies & TV Series in my viewVaSiMo
Stranger ss 2 : ว่าด้วยอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและ การคอรัปชั่น
  • *ไม่ใช่รีวิวแต่สปอยล์เนื้อหาสำคัญ 100%* 
    *เต็มไปด้วยมุมมองและการตีความส่วนตัว หากตรงไหนผิดพลาด ชี้แนะได้เลยนะคะ*

    ถึงแม้ว่าซีซั่น 2 ของ Stranger จะไม่เน้นการเปิดโปงการทุจริตที่หยั่งรากลึกลงไปในระบบราชการ
    แต่กลับมาโฟกัสในเรื่องเล็กๆน้อยๆของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
    ที่เป็นต้นตอของการคอรัปชั่นต่อไปได้

    ธีมของซีซั่นนี้เลือกเสนอผ่านความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจนของความเป็นไปเป็นมาในแต่ละคดี
    เช่น คดีนักศึกษาจมน้ำ ผ่านซีนหมอกลงจัดจากอุบัติเหตุ สู่ฆาตกรรมคดีสายตรวจ
    ที่ไม่รู้เป็นการฆ่าตัวตายเองหรือการฆาตกรรมเพื่อปิดปาก หรือคดีหลักที่สร้างไดนามิกให้กับซีซั่นนี้
    อย่างการหายไปของซอดงแจ ผู้เกี่ยวข้องกับคนนั้นคนนี้มากมายจนหาสาเหตุการหายตัวไปได้ยาก
    ไปสู่ธีมหลักของเรื่อง  คนที่เลือกจะนิ่งเงียบล้วนแต่เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด”  เบื้องหลังของคดีเหล่านี้
    ล้วนมาจากคนที่รู้ว่ามีปัญหาแต่ไม่ได้ช่วยแก้ คดีนักศึกษาจมน้ำแย่ลง 
    เพราะครูไม่คิดช่วยแก้
    แต่กลับทำให้ปัญหาบานปลาย หรือคดีสายตรวจรับสินบน หัวหน้าเป็นคนเริ่มต้นออกความคิด
    แต่แล้วเพียงครั้งเดียวที่อ้างความจำเป็น กลับกลายเป็นการเสพติด และคดีซอดงแจหายตัว
    การสร้างหลักฐานเท็จเพื่อให้รูปคดีไขว้เขวและหาตัวซอดงแจไม่เจอ(ปล่อยให้ตาย)
    แบบนี้อาจเรียกได้ว่ามีเจตนาเดียวกับอาชญากรที่เป็นคนลงมือด้วยหรือเปล่า?

    อีกนัยหนึ่ง คนที่เลือกจะเงียบล้วนแต่เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดตามเซตติ้งของตัวละครในเรื่อง
    ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายโดยตรง การเลือกที่จะนิ่งเฉยหรือเล่นตามน้ำสามารถเชื่อมโยงไปสู่การประพฤติมิชอบในหน้าที่หรือการคอรัปชั่นได้ด้วย ทั้งคดีทนายหัวใจวาย หรือคดีลูกชายส.ส.พัวพัน
    ยาเสพติดทั้งเชวบิทและฮันยอจินได้รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ทำตามหน้าที่ของตำรวจที่ควรจะทำคือการดำเนินคดีตามกระบวนการ ด้วยเหตุผลว่าทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา 

    ในกรณีนี้มันน่าสนใจตรงที่หลายๆปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบราชการ รวมไปถึงการคอรัปชั่น
    เกิดจากการใช้อำนาจและดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เอง
    (รวมทั้งการรับรู้แต่เลือกที่จะอยู่เฉยๆด้วยเช่นกัน) ซึ่งอาจเป็นอย่างที่ฮวังชีมกได้แสดงความคิดเห็น
    ในที่ประชุมว่าปัญหาการแบ่งขอบเขตอำนาจมันอาจจะไม่ได้สำคัญ
    การที่ระบบจะดีขึ้นได้ มันขึ้นอยู่กับการประสานงานซึ่งจำเป็นต้องต่อเนื่องกันเป็นระบบเดียว
    ถ้าการใช้อำนาจและดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในระบบกระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างถูกต้อง
    คงไม่มีปัญหาให้แต่ละหน่วยงานเอามาอ้างเพื่อแย่งชิงสิทธิ์การใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย
    ในที่นี้อาจฟังดูเป็นมุมมองแบบอุดมคติมากไป ซึ่งการมีคนกลางหรือการตรวจสอบการใช้อำนาจเหล่านี้อาจมีความสำคัญมากกว่าหรือเปล่า?

    ว่าด้วยเรื่องการคอรัปชั่นและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ

    บนพื้นฐานของเหตุและผล การใช้อำนาจในการตัดสินใจ หรือ การอำนาจในการใช้ดุลยพินิจ (Discretionary power) เกี่ยวข้องกับการคิดถึงผลที่จะเกิดจากการตัดสินใจ
    มากกว่าทางเลือก 1, 2 หรือ 3 สำหรับการตัดสินใจ ซึ่งแม้ว่าในความเป็นจริงการใช้อำนาจนี้ 
    ควรต้องมีเหตุผลที่ดีรองรับและเป็นไปตามหน้าที่โดยสุจริต (Galligan,1990,p.7)
    แต่ในทางตรงกันข้าม การตัดสินใจใช้อำนาจเหล่านี้อาจมีจุดประสงค์ที่คาดหวัง
    หรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ผลประโยชน์สาธารณะตามหน้าที่โดยสุจริตก็ได้ 

    โดยปกติแล้วการกระทำผิด ถ้าไม่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบแบบไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน
    การตัดสินใจกระทำผิดก็เป็นกระบวนการตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผล
    โดยคิดถึงค่าของการกระทำและผลที่จะได้รับก่อนตัดสินใจลงมือทำ 
    (Bunn et al., 1992)
    ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า การคอรัปชั่นจะเกิด เมื่อผู้กระทำตัดสินใจแล้วว่าผลที่ได้นั้นจะคุ้มค่ากับความเสี่ยง

    ในกรณีของ Stranger ss 2 ก็ยังคงเน้นไปที่การคอรัปชั่นในระบบราชการ (Bureaucratic corruption)
    ผู้สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญ รวมทั้งมีอำนาจในการตัดสินใจและใช้ดุลยพินิจ

    Bureaucratic corruption เกิดจาก เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในการตัดสินใจและใช้ดุลยพินิจบนทรัพยากร (เช่น เงิน ข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ หรืออำนาจในการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งรวมถึงการบริการประชาชน)
    เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว (Marquette and Peiffer, 2018)

    สำหรับตัวอย่างในเรื่อง หน่วยข่าวกรองช่วยปิดคดีลูกชาย ส.ส.เพื่อหวังผลประโยชน์อื่น
    ทั้งที่ในความเป็นจริงควรจัดการดำเนินคดีทันทีโดยไม่สนใจว่าเป็นลูกใคร
    ในกรณีนี้ ทรัพยากรของหน่วยข่าวกรองที่มีคือหลักฐานและข้อมูลด้านอาชญากรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น
    ทั้งที่มีหลักฐานสามารถเอาผิดและดำเนินคดีได้ทันที กลับใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการต่อรอง
    เพื่อผลประโยชน์อื่นซึ่งไม่ใช่ผลประโยชน์สาธารณะ
    ในกรณีนี้สามารถเชื่อมโยงไปถึงทฤษฎีที่เกี่ยวกับการคอรัปชั่นได้ด้วย

    Principal-Agent Theory

    Principal-Agent Theory เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในองค์กรระหว่าง
    Principal คือ ผู้มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งในกรณีนี้ถือว่า
    หน้าที่สำคัญของตำแหน่งผู้บริหารในองค์กรของรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อผลประโยชน์สาธารณะด้วย
    และ Agent คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ซึ่งมีแนวโน้มที่จะถือและได้รับข้อมูลมากกว่า Principal
    ซึ่งหากข้อมูลที่มีของ Principal และ Agent ไม่เท่ากัน โดย Principal ไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วน
    หรือตรวจสอบความบกพร่องในการปฏิบัติงานของ Agent ไม่พบ 
    Agent อาจใช้ข้อมูลที่ตนมีในการหาผลประโยชน์ส่วนตัวก็ได้ (Persson et al., 2012, p.452)
    ซึ่งก็ถือเป็นการคอรัปชั่นนั่นเอง
    ตัวอย่างเช่น ไปทำบัตรประชาชนแล้วเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินราคาปกติ
    โดยไม่ออกใบเสร็จ ทำให้หัวหน้างานไม่สามารถตรวจสอบกลับได้
    (หากไม่มีคนร้องเรียนแบบระบุตัว) เป็นต้น

    แต่ในกรณีคดีลลูกชายส.ส.พัวพันยาเสพติด เชวบิทในฐานะ Principal เองกลับเป็นคนที่ไม่ดำเนินการ
    แต่กลับนำข้อมูลนี้ไปให้ส.ส.เพื่อหวังว่าจะล็อบบี้ผลโหวตในสภาเพื่ออำนาจสืบสวน
    ถึงจะอ้างว่าทำเพื่อองค์กร แต่หากทำสำเร็จ ก็จะเป็นผลประโยชน์ต่อหน้าที่การงานในอนาคต
    ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ก็เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างแน่นอน
    ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าดูให้เป็น Principal-Agent Theory ตรงๆ
    อาจดูไม่สามารถอธิบายถึงการแก้ปัญหาการคอรัปชั่นในองค์กรของรัฐได้ 
    แต่หากมีภาคประชาชนมาเกี่ยวข้องเป็นปัญหา Double Principal–Agent อาจทำให้เห็นภาพชัดขึ้น

    Double Principal–Agent Problem

    Double Principal–Agent Problem เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    (ทั้งระดับสั่งการ/ควบคุมการปฏิบัติงาน และระดับปฏิบัติงาน) ใช้อำนาจในการตัดสินใจ
    และดำเนินการที่ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธาณะของประชาชน ไปหาประโยชน์ส่วนตัวแทน
    ดังนั้น ในกรณีนี้ การคอรัปชั่นจึงเกิดขึ้นเมื่อภาคประชาชน
    ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้ (Marquette and Peiffer, 2018)
    เปรียบเหมือนมี Principal (ประชาชน) ซึ่งต้องคอยตรวจสอบ Principal (เจ้าหน้าที่รัฐ) และ Agent อีกที
    เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธาณะของประชาชนจริงๆ

    ซึ่งหากย้อนกลับไปเรื่องที่ฮวังชีมกเสนอในที่ประชุมเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่นจากทั้งฝั่งอัยการและตำรวจ
    ที่ทำให้เกิดประเด็นในการแย่งชิงอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างกัน 
    ซึ่งต้นเหตุอาจมาจากทั้งระบบโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร หรือปัจเจกบุคคล
    ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ยาก และบางครั้งอาจฟังดูเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
    แต่การมีส่วนร่วมและการมีสิทธิในการตรวจสอบความโปร่งใสของการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
    อาจมีส่วนช่วยให้ปัญหาคอรัปชั่นลดลง ตามหลักของ Double Principal–Agent Problem ก็ได้

    ระบบ E-Government 

    ในตอนสุดท้ายที่จางกอนคุยกับหัวหน้าเชวฉากนี้ ช่วยสื่อได้ดีว่าระบบ E-Government 
    สามารถช่วยลดการคอรัปชั่นจากการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ได้ 

    E-Government เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการการคอรัปชั่น โดยเปลี่ยนระบบงานเอกสารที่จำเป็น
    ต้องมีการติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน (Basu, 2004)
    เมื่อดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ใดๆแทนการทำงานผ่านเจ้าหน้าที่ ก็จะช่วยลดโอกาสในการใช้อำนาจและดุลยพินิจต่างๆของเจ้าหน้าที่ลงไป ทำให้การใช้ระบบ E-Government ช่วยลดการติดสินบน หรือความจำเป็นต้องใช้คนกลางในการติดต่อดำเนินการต่างๆได้ รวมไปถึง
    การช่วยให้เกิดการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการภาครัฐได้มากขึ้นด้วย (Chêne, 2016)

    เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่เริ่มใช้ระบบ E-Government โดยเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้าง
    ตั้งแต่ประมาณ ปี 2000 นอกจากจะลดการติดต่อโดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่จัดซื้อกับภาคเอกชน 
    ซึ่งอาจเป็นโอกาสในการเรียกรับสินบนแล้ว ยังช่วยให้การแข่งขันประมูลจัดซื้อจัดจ้างเป็นธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบ GePS ซึ่งใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์นี้ ยังเปิดให้ประชาชนภายนอกเข้ามาสังเกตการณ์การประมูลและติดตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้แบบ real time (Iqbal and Seo, 2008)
    แสดงให้เห็นว่า การใช้ E-Government ในกรณีนี้ ได้เชื่อมโยงไปถึงภาคประชาชนในการช่วยตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการภาครัฐได้จริงๆ

    อย่างไรก็ดี ระบบ E-Government อาจใช้ไม่ได้ผลเสมอไป ในบางกรณีที่ถึงแม้จะมีการใช้
    ระบบ E-Government แต่ระบบไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบริการประชาชนได้สะดวก
    จนอาจจะต้องกลับไปพึ่งพาการติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่อีกเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการต่างๆ
    ก็ไม่สามารถช่วยลดการติดสินบนลงได้ (Sivastava et al., 2016) ซ้ำร้ายอาจจะเสียค่าใช้จ่ายจากภาษี
    ในการวางระบบ E-Government ไว้แล้วไม่ได้ใช้ ไม่มีคนใช้ หรือใช้ไม่ได้ไปอีก (ทำไมมันคุ้นๆ?)

    .ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ.ฺ

    สำหรับซีซั่น 2 โดยส่วนตัวเราก็ยังชอบเหมือนเดิม เพียงแต่การลดความฉูดฉาดของคดีลงอาจจะทำให้ความน่าตื่นเต้นลดลงไปบ้าง คุณอัยการและผู้หมวดแทบไม่ได้ลงภาคสนามและแทบไม่มีฉากว่าความ
    ในห้องพิจารณาคดีแบบซีซั่นแรกเลย ตัวละครหลักกลับมาทำงานในออฟฟิศ เดินตามหัวหน้าไปประชุมราบเรียบ เหมือนในชีวิตประจำวันปกติ แต่ก็มีบางส่วนที่ส่วนตัวเราคิดว่าดูไม่สมจริง อย่างเช่น
    การประชุมที่ไร้วาระระหว่างอัยการและตำรวจ เหมือนถูกปูมาให้รู้อยู่แล้วว่าจะต้องพังและสุดท้าย
    ต้องมีคนกลางมัน แอบไม่สมเหตุสมผลเลยที่เรื่องแบบนี้จะเจรจาได้โดยไม่มีคนกลาง
    หรือคนเขียนบทตั้งใจจะจิกกัดกระบวนการวางแผนระดับองค์กรที่มีความสำคัญแบบนี้
    ว่ามันไร้ประสิทธิภาพ แต่อาจจะคิดอีกมุมได้ว่า ถ้าต้องเสียเวลามาประชุมแล้วไม่ได้อะไรแบบนี้
    นอกจากคนทำงานเตรียมข้อมูลจะเหนื่อยเปล่าแล้ว ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีก็เกิดค่าเสียโอกาสเหมือนกัน แทนที่คุณอัยการจะได้ไปทำคดีตามปกติ ต้องมานั่งหาข้อมูลและเข้าประชุมให้ปวดหัวเล่น หรือตั้ง Task Force ให้ผู้หมวดมาทำงานออฟฟิศตั้ง 2 ปี แต่สุดท้ายไมไ่ด้งานแถมโดนยุบหน่วยทิ้งอีกทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจการคิดและตัดสินใจของผู้มีอำนาจในองค์กร การเมืองระหว่างองค์กรและปัญหาจากการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร ซึ่งล้วนเป็นผลเสียที่ตกแก่ประชาชนทั้งสิ้น

    สุดท้ายเหมือนใจความหลักของซีซั่นนี้ อาจจะอยู่ในบทสนทนาบนระเบียง EP 6 เรื่องเส้นกั้น
    และฉากเลี้ยงส่งในตอนจบ ที่ผู้หมวดบ่นเรื่องเสียเวลาทำงานออฟฟิศมาเป็นปีแต่ภารกิจของหน่วยงานกลับเสียไปเพราะการคอรัปชั่นข้างใน ที่สู้เอาเวลาการทำงานภาคสนามไปจับคนไม่ดีมาลงโทษแทน
    อาจมีประโยชน์มากกว่ารึเปล่า แต่ฮวังชีมกถามกลับว่า ทำไมคุณถึงคิดว่าทั้งสองอย่างมันไม่เหมือนกัน ระหว่างถ้าคนระดับผู้บริหารปฏิบัติที่มิชอบแล้วทำให้ผลของงานที่ควรจะเป็นมันผิดเพี้ยน
    กับการจับคนไม่ดี
    มาลงโทษในฐานะเจ้าหน้าที่ภาคสนาม  บทสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่คุยกันมันจบลงแค่นี้แล้วตัดไปแต่ถ้าลงมานั่งคิดดู สิ่งที่ผู้หมวดพูดก็ถูกมันอาจจะตอบโจทย์ความรู้สึกของคนทำงาน
    แต่สะท้อนกลับไป
    ที่บทสนทนาที่คุยกับบนระเบียงว่า
    ในฐานะผู้รับใช้กฎหมายตามบทบาทหน้าที่ของทั้งคู่ เราต่างเป็นคนที่ต้องดูแลเส้นกั้นนั้น
    หากมีเรื่องที่ผิดปกติ(ผิดกฎหมาย)เกิดขึ้น ถ้าหากได้รับรู้ก็ควรต้องลงมือจัดการตามหน้าที่ที่ควรต้องทำเราไม่สามารถห้ามหมอกลงจัดจนเป็นอุปสรรคต่อการดูแลเส้นกันได้
    ในที่นี้อาจจะหมายถึงสถานการณ์รอบข้างซึ่งอาจจะเป็นรูปคดี ข้อผิดพลาดต่างๆในระบบการทำงาน
    ที่ต้องรับช่วงต่อๆกันมา(จากเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องจนถึงชั้นศาล) หรือแม้แต่การคอรัปชั่นของผู้มีตำแหน่งในระดับสั่งการก็ตาม สุดท้ายการทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกระบวนการ
    อาจเป็นสิ่งเดียวที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ควรต้องทำและสามารถเลือกทำได้ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ตัวเองมี

    --------------------------------------------------------------

    ถ้าใครอ่านมาจนจบถึงตรงนี้ก็ขอบคุณมากนะคะ 55555555 เป็นบล็อกดองข้ามปี ที่เขียนไว้ครึ่งนึงตั้งแต่ปลายปี 2020 แต่โดนซีรี่ส์เชอร์รี่เมจิคโบกกลับไปติดเกาะญี่ปุ่น
    ติดหล่มรักอยู่นานไม่ได้กลับมาสะสางบล็อกนี้เลยจนวันนี้

    ทีแรกตั้งใจจะกลับมาเขียนช่วง Sisyphus: The Myth ฉาย แต่ก็ไม่ได้ทำ 555555
    ช่วงนี้มีคนกลับมาพูดถึง Stranger ทั้งสองซีซั่น เลยทำให้ระลึกได้ว่า เขียนนี่ค้างไว้นี่นา
    กลับมา Finish it แบบหนัง The Fountain (2006) แล้วในที่สุด
    ขอย้ำอีกรอบว่าที่เขียนมาทั้งหมดเต็มไปด้วยมุมมองและการตีความส่วนตัว 
    หากตรงไหนผิดพลาด ชี้แนะได้เลยนะคะ

    Reference

    Basu, S., 2004.E‐government and developing countries: an overview. InternationalReview of Law, Computers & Technology18(1), pp.109-132.
    Bunn, D.N., Caudill, S.B. and Gropper, D.M., 1992. Crime inthe classroom: An economic analysis of undergraduate student cheatingbehavior. The Journal of Economic Education23(3),pp.197-207.
    Chêne, M., 2016. Literaturereview: The use of ICTs in the fight against corruption. In TransparencyInternational: Anti-corruption Resource Center.
    Galligan, D.J., 2012. Discretionarypowers: A legal study of official discretion. Oxford University Press., pp.7.
    Iqbal, M.S. and Seo,J.W., 2008. E-governance as an anti corruption tool: Korean cases. 한국지역정보화학회지11(2), pp.51-78.
    Marquette, H. andPeiffer, C., 2018. Grappling with the “real politics” of systemic corruption:Theoretical debates versus “real‐world” functions. Governance, 31(3),pp.499-514.
    Persson, A. andSjöstedt, M., 2012. State legitimacy and the corruptibility of leaders. In:Holmberg, S. and Rothstein, B., eds., Good Government. Edward Elgar Publishing., pp.191-209.
    Srivastava, S.C.,Teo, T.S. and Devaraj, S., 2016. You Can't Bribe a Computer: Dealing with theSocietal Challenge of Corruption Through ICT. Mis Quarterly, 40(2), pp.511-526. 
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in